การปฏิวัติวิทยาศาสตร์คืออะไรกันแน่ ผ่านมิติประวัติศาสตร์และสังคม

เชื่อว่าทุกคน น่าจะได้ยินคำนี้กันเยอะมากแล้ว สำหรับการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ หรือ Scientific Revolution ที่พูดถึงการทลายกำแพงด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ ที่เกิดขึ้นมากองกันอยู่ในช่วง 1500 – 1600 ที่เราจะพูดถึงตั้งแต่ ความพยายามของกาลิเลโอในการใช้กล้องโทรทรรศน์ค้นหาความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติ ซึ่งมักจะขัดแย้งกับที่สอนไว้ในคัมภีร์ และการปฎิวัติจบลงด้วยทฤษฎีว่าด้วยการเคลื่อนไหวของวัตถุและแรงโน้มถ่วงระหว่างวัตถุของเซอร์ ไอแซคนิวตัน ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของวิทยาศาตร์กายภาพ

สำหรับใครที่อยากเข้าใจบริบทมากขึ้น เราอยากให้ลองฟัง Podcast ตอนที่เราพูดถึงเรื่องการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ ในมิติต่าง ๆ โดยปูพื้นมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ

อย่างไรก็ตาม Steve Fuller นักปรัชญา และนักเขียนชาวอเมริกัน เจ้าของหนังสือชื่อดัง Post-truth Knowledge หรือ Kuhn vs. Popper เคยเสนอข้อโต้แย้งที่น่าสนใจว่า การปฎิวัติวิทยาศาตร์นั้น ไม่ได้เป็นทั้งการปฎิวัติและวิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำ และนักวิชาการในสมัยนั้นก็ไม่ได้มองตัวเองเป็นนักวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้เพราะคำว่านักวิทยาศาสตร์ในฐานะอาชีพเพิ่งปรากฏขึ้นในคริสศตวรรษที่ 19 (ก่อนหน้านี้คอนเซปท์นักวิทยาศาสตร์ในฐานะที่เป็นบทบาททางสังคมเกิดขึ้นเมื่อนักปรัชญาชาวกรีกและผู้ก่อตั้ง Royal Society แสวงหาความรู้ในเวลาว่าง)โดยงานเขียนของ Fuller สามารถศึกษาต่อได้ผ่านหนังสือชื่อ Science (มีการอัพโหลดไว้ใน Open University Press )

งานเขียนหลายชิ้นมีมุมมองเช่นเดียวกัน Steve Shapin ผู้ศึกษารากของวิทยาศาสตร์ ได้เขียนไว้ในหนังสือ The Scientific Revolution (ซึ่งภายหลังถูกนำมาแปลโดย อาจารย์โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ) บอกการมองว่ากาลิเลโอคือนักวิทยาศาสตร์นั้นคือการตีความทางประวัติศาสตร์เท่านั้น นอกจากนี้ผู้ที่ศึกษาค้นคว้าเช่นนี้ก็มิได้มองว่าตัวเองกำลังทำอะไรที่เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบอย่างถอนรากถอนโคน แต่กำลังนำเอาแนวคิดดั้งของคนโบราณกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่ได้ถูกลืมเลือนไปและถูกศาสนจักรและระบบของอริสโตเติลครอบงำ

อีกทั้งผู้ศึกษาธรรมชาติตามวิธีใหม่ (หลายคน) ยังคงเชื่อมั่นต่อศาสาคริสติ์อย่างเคร่งครัด (หรือเป็นนักบวช) ไม่มีการท้าทายศาสนจักรอย่างตรงไปตรงมาด้วยการบอกว่าพระเจ้าไม่มีอยู่จริง แต่พยายามหาช่องทางที่ประสานความเชื่อเรื่องพระเจ้ากับความรู้ที่นักปรัชญาธรรมชาติกำลังเสนอ

อาจารย์โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ เอง ยังได้พูดถึงกรณีนี้ใน หนังสือวิทยาศาสตร์ในสังคมและวัฒนธรรมไทย ว่า “Revolution” มีอีกความหมายหนึ่งซึ่งมาจากคำกริยา “To Revolve” หมายความว่าหมุน หรือโคจรรอบ ๆ ในความหมายนี้ “Revolution” จึงหมายถึงการการหมุนกลับมาที่เดิม หรือการรื้อฟื้นของเก่าที่เคยมีมาก่อนแต่ได้สูญหายหรือผู้คนลืมเลือนไปในเวลาถัดมา

วิชาวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นนั้นมีกระแสผูกผันกับความเชื่อในคริสต์ศาสนาและแนวคิดเดิมของคนโบราณอยู่อย่างแน่นแฟ้น อย่างน้อยก็ในกระแสสำนึกของนักปรัชญาธรรมชาติ เช่น โหราศาสตร์ของเคปเลอร์ และการเล่นแร่แปรธาตุของนิวตันที่ปัจจุบันไม่ได้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาศาตร์อีกต่อไป

ในช่วงการปฏิวัติวิทยาศาสตร์มีบุคคลสำคัญอยู่จำนวนมาก เช่น นิโคลัส โคเปอร์นิคัส, ไทโค บราฮ์, โยฮันเนส เคปเลอร์, กาลิเลโอ กาลิเลอี แต่ที่เราเห็นว่าควรกล่าวถึงบุคคลคนนี้เป็นสำคัญคือ เรอเน เดส์การ์ตส์ (René Descartes) นักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ผู้ได้รับการยกย่องจากการค้นพบเรขาคณิตวิเคราะห์ ทฤษฎีของเดการ์ตเป็นพื้นฐานของแคลคูลัสของนิวตันและไลบ์นิซ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของคณิตศาสตร์สมัยใหม่

เดส์การ์ตส์กับกระบวนการในการได้มาซึ่งความรู้ Discourse on the Method

วิธีของเดส์การ์ตส์เริ่มจากการสงสัยทุกอย่างรอบตัว เดส์การ์ตส์สมมุติว่าทุกสิ่งที่เขารับรู้มาอาจเป็นเท็จทั้งหมด ความรู้ของเขาอาจถูกกำหนดจากการศึกษาและความรู้ที่มีอยู่ก่อนเดิม ในการนี้เดส์การ์ตส์ละทิ้ง ปรัชญาของโสคราติสที่มีอิทธิพลมากกว่า 2 ศตวรรษอย่างสมบูรณ์ (หากสนใจ แนะนำให้อ่านงานเขียนชื่อ Discourse on the Method)

เดส์การ์ตส์ต้องเปลี่ยนวิธีคิดเพื่อที่จะได้เข้าใกล้ความจริงมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น การที่เขาอยู่ข้างเตาไฟ ประสาทสัมผัสที่รับรู้จากการนั่งข้างเตาไฟ สิ่งนั้นอาจเกิดจากภาพหลอนความฝัน หรือปีศาจที่มาควบคุมความคิดของเขาให้คิดเช่นนั้นอยู่ หลังจากเดส์การ์ตส์สงสัยสิ่งรอบตัว เขาได้พบว่าสิ่งที่เขาไม่สามารถสงสัยได้เลยก็คือความสงสัยของเขาเอง ในขณะที่เขากำลังสงสัยอยู่นั้น เขารู้ตัวแน่นอนว่ากำลังสงสัยอยู่ เดส์การ์ตสรุปว่า แม้ว่าเขาไม่แน่ใจว่าเขาไม่ได้กำลังฝันอยู่หรือมีปีศาจมาหลอกหลอนก็ตาม แต่เขาแน่ใจว่าในขณะนี้เขากำลังใช้ความคิดในการสงสัยอยู่ Cogito, ergo sum (เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่) เดส์การ์ตส์สรุป

ในแง่ของประวัติศาสตร์วิทยาศาตร์ เดส์การ์ตส์กำลังต่อสู้กับอำนาจของประเพณีวัฒนธรรมในการกำหนดว่าอะไรเป็นหรือไม่เป็นความรู้ จะเห็นว่ายุโรปก่อนหน้ามีทัศนคติชัดเจนว่าอะไรเป็นความรู้ ได้แก่ การเปิดเผยของพระเจ้าและการประกาศของศาสนาจักร รวมทั้งตำราของอริสโตเติลและกระบวนการอ้างเหตุผลตามหลักตรรกวิทยาของอริสโตเติล 

การเสนอนี้ทำให้ความรู้ไม่ได้ขึ้นกับกระบวนการแต่ขึ้นกับผู้หาความรู้นั้นเอง ในแง่ที่ว่าคุคคลแต่ละคนไม่จำเป็นต้องพึ่งปัจจัยอื่นภายนอกในการหาความรู้ แต่สิ่งเดียวที่พึ่งได้คือตัวเขาเอง ความเชื่อนี้มีบทบทสำคัญต่อพัฒนาการของแนวคิดแบบสมัยใหม่นิยม ซึ่งสืบเนื่องมากจากแนวคิดของเดส์การ์ตส์นี้เอง

ภาพวาด School of Athens ที่ถูกเขียนขึ้นมาในยุคเรเนซองส์ แสดงถึงนักปรัชญาธรรมชาติในสมัยกรีกโบราณ

ในบท Natural Knowledge and State Power จากหนังสือ The Scientific Revolution โดย Steven Shapin ได้พูดถึงสาเหตุหลักในการปฎิวัติวิทยาศาสตร์ว่า เป็นเรื่องยากที่จะสรุป เราอาจเรียกสภาพที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า “permanent crisis” (Permacrisis เป็นคำที่ Collins Dictionary ยกให้เป็น word of the year ในปี 2022 ซึ่งใช้ในการอธิบายความรู้สึกที่เราได้ผ่านช่วงเวลาของสงคราม ความไม่มั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งจริง ๆ แล้วเราเห็นว่าในช่วงเวลานั้นก็น่าจะพังพอกัน จึงที่จะนำคำนี้มาเสนอควบคู่กันไปด้วย คิดอย่างไรกันบ้าง ?) โดยเกิดตั้งแต่ช่วงปลายยุคกลางจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ความขัดแย้งระหว่างศาสนาคริสนิกายคาทอลิกกับโปรเตสแตนต์ ทำให้ศูนย์กลางอำนาจในยุโรปกระจายออกไป เกิดการปะทะระหว่างพระเจ้าและความคิดทางการเมืองจากประชาชน 

โดยเฉพาะสงคราม 30 ปี (the Thirty Years’ War of 1618-1648) ซึ่งทำให้มุมองที่มีต่อบทบาทของความรู้เปลี่ยนไป โดยพระสันตปาปามีอำนาจน้อยลงในการกำหนดว่าอะไรเป็นที่คนชาวยุโรปควรเชื่อ การที่ความรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กับพระหรือขุนนางอย่างที่เป็นมาในยุคกลาง แต่ระบบใหม่นี้เปิดกว้างสำหรับทุกคนให้สามารถหาความรู้ได้อย่างเท่าเทียมกันเพราะแนวคิดพื้นฐานคือการรับรองความรู้อยู่ที่ประสบการณ์และเหตุผลส่วนบุคคลเป็นหลัก ทำให้ชนชั้นกลางเป็นแรงผลักดันสำคัญในการปฎิวัติวิทยาศาสตร์ที่สถานะของตนไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ด้วยปัจจัยทางความเชื่อและระบบความคิดทางสังคมเพียงเท่านั้น

สิ่งนี้จึงอาจทำให้เราสรุปได้ว่า แท้จริงแล้วการมองการปฏิวัติวิทยาศาสตร์นั้นไม่อาจมองได้ด้วยมุมมองในเชิงว่าอะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่ต้องมองลงลึกในมิติทางสังคม และวัฒนธรรมในช่วงนั้นด้วยนั่นเอง

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

naturalist, novice birder, part time journalist