ในปีที่ผ่านมา ดาราศาสตร์และวงการอวกาศก็ได้ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้น เราสามารถส่งยานไปสัมผัสดวงอาทิตย์ได้เป็นครั้งแรก และขณะเดียวกันนั้นก็มียานอวกาศอายุร่วมครึ่งศตวรรษเดินทางออกนอกระบบสุริยะ แต่ในปีนี้ก็ยังมีอีกหลายเหตุการณ์น่าสนใจที่กำลังจะเกิดขึ้น มาดู 10 เรื่องดาราศาสตร์ที่น่าติดตามในปีนี้กันได้ในบทความนี้
ภายในเดือนกุมภาพันธ์ – สหรัฐอเมริกาเปิดตัวจรวดและยานขนส่งลูกเรือไปยังสถานีอวกาศแห่งชาติ
เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปีที่มีการเปิดตัวยานอวกาศของสหรัฐอเมริกาที่มีนักบินอวกาศขององค์กรนาซาเดินทางไปกับยานอวกาศ Dragon ของบริษัท SpaceX ไปยังสถานีอวกาศแห่งชาติ
องค์กรนาซ่าร่วมมือกับบริษัทเอกชน Boeing และ SpaceX ในการสร้างประวัติศาสตร์ เมื่อพวกเขาเตรียมที่จะส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศแห่งชาติ ในเที่ยวบินที่กำลังจะมาถึงของ CST-100 Starliner และ Crew Dragon นี้จะเป็นครั้งแรกที่องค์กรนาซ่าได้ส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศโดยใช้จรวด ที่ดำเนินการโดยบริษัทเอกชน
ในการทดสอบระบบการขนส่งของยานอวกาศของบริษัท SpaceX จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์นี้ องค์กรนาซาจะตรวจสอบข้อมูลและทำการประเมินประสิทธิภาพที่ได้จากการทดสอบการบินแบบไร้มนุษย์ในครั้งนี้ ปัญหาต่าง ๆ และแก้ไขปัญหา เพื่อรองรับภารกิจการปฏิบัติงานต่อไป ก่อนที่จะกำหนดวันส่งมนุษย์เดินทางขึ้นไปในภายหลัง
ในตอนนี้นาซ่าก็ยังไม่ได้ประกาศออกมาอย่างป็นทางการว่าจะเริ่มปฏิบัติงานกับยานอวกาศลำไหนก่อนเป็นอันดับแรก แต่มีแผนกำหนดงานว่าจะเปิดตัวการเดินทางเที่ยวแรกในเดือนสิงหาคม และอีกภารกิจจะเปิดตัวในเดือนธันวาคมในปี 2019
18-23 กุมภาพันธ์ – ยานอวกาศ Hayabusa เก็บตัวอย่างหินจากดาวเคราะห์น้อย
ยานสำรวจดาวเคราะห์น้อย Hayabusa 2 เป็นภารกิจจากสำนักงานสำรวจอวกาศประเทศญี่ปุ่น เพื่อที่จะศึกษาดาวเคราะห์น้อย 1999 JU3 หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า 162173 Ryugu ซึ่งมันจะลงไปสำรวจและทำการเก็บตัวอย่างดินบนดาวเคราะห์น้อย เพื่อจะส่งกลับมายังโลกภายในปี 2020 นี้
เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2018 Hayabusa ได้เดินทางไปถึงดาวเคราะห์น้อย Ryugu และในวันที่ 21 กันยายนต่อมา ก็ได้ปล่อยยานสำรวจขนาดเล็กลงสู่พื้นของดาวเคราะห์น้อยเพื่อทำการสำรวจและขุดเก็บตัวอย่างเพื่อนำกลับมายังโลกในปี 2020 ตามกำหนดการที่วางไว้
ระหว่างวันที่ 18-23 กุมภาพันธ์ ยาน Hayabusa จะเริ่มการเก็บตัวอย่างหินและดินจากพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อย Ryugu เพื่อรอการส่งตัวอย่างกลับมายังโลก เพื่อทำการศึกษาที่มาของระบบสุริยะ การก่อกำเนิดตัวของมันเอง องค์ประกอบต่าง ๆ และอาจจะรวมไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับโลกของเรา การกำเนิดโลกของเรามากขึ้นก็เป็นได้
และในปลายปี 2019 นี้ยาน Hayabsua 2 ก็จะบอกลา Ryugu ด้วยการทำ Departure Burn และนำตัวอย่างของหินเดินทางกลับสู่โลก ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับยาน Hayabusa ที่ Hayabusa 2 ยานอวกาศสำรวจดาวเคราะห์น้อย สรุปทุกข้อมูลที่ควรรู้
29 พฤษภาคม – ครบรอบ 100 ปี สุริยุปราคาเต็มดวงพิสูจน์ทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไป
เรามีทฤฎีควอนตัมที่ได้อธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติของสิ่งเล็ก ๆ ในระดับอะตอมได้เป็นอย่างดี และอีกทฤษฎีหนึ่งคือทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ที่ได้อธิบายเรื่องแรงโน้มถ่วงในเอกภพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่มีความโน้มถ่วงสูงมาก ๆ
ในปี 1915 อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังได้เสนอทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไป เขาได้ใช้เวลามากกว่า 10 ปีในการคิดและศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติของแรงโน้มถ่วง ซึ่งทฤษฎีนี้ก็ได้เปลี่ยนมุมมองของมนุษย์ที่มีต่อแรงโน้มถ่วงและเอกภพไปตลอดกาล เขาได้บอกว่า มวลของวัตถุทำให้กาลอวกาศในอวกาศเกิดการโค้งงอ ยิ่งวัตถุมีมวลมากยิ่งทำให้กาลอวกาศบริเวณนั้นโค้งงอมากยิ่งขึ้นไปด้วย ซึ่งแสงที่เดินทางผ่านบริเวณนี้ก็จะเกิดความโค้งงอเช่นเดียวกัน
ทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไปได้แก้ไขปัญหาที่ก่อกวนใจของนักดาราศาสตร์เป็นอย่างมาก เช่นปัญหาเรื่องของการส่ายของดาวพุธที่มีมาตั้งแต่สมัยของนิวตันก็ได้รับการคลี่คลายลง อีกทั้งยังช่วยให้นักดาราศาสตร์ได้รู้ว่าดาวเคราะห์ดวงอื่นก็มีการส่ายเช่นเดียวกัน แต่มันน้อยมาก เพราะดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากกว่าดาวพุธมีคาบการโคจรมากกว่า ทำให้สังเกตการส่ายได้ยากเช่นกัน แต่ในปัจจุบันหลังจากทำการวัดโดยละเอียด พบว่าโลกมีการส่าย 3.82 อาร์กเซคทุกร้อยปี ส่วนดาวศุกร์ส่าย 8.62 อาร์กเซคทุกร้อยปี
เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีดังกล่าว Arthur Stanley Eddington นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ จึงได้ออกแบบการทดลองจากการสังเกตสุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 1919 เมื่อดวงจันทร์เลื่อนเข้ามาบังดวงอาทิตย์จนมิด แสงจากดาวฤกษ์ที่อยู่ด้านหลังดวงอาทิตย์จะเดินทางโค้งผ่านกาลอวกาศรอบ ๆ ดวงอาทิตย์ ทำให้ตำแหน่งของดาวที่ปรากฎเปลี่ยนตำแหน่งไปตามที่ไอน์สไตน์ได้ทำนายไว้
แต่ที่จริงแล้วก่อนหน้านี้ก็ได้มีการทำการพิสูจน์ทฤษฎีนี้โดยใช้วิธีการเดียวกันกับสุริยุปราคาในวันที่ 8 มิถุนายน 1918 โดย U.S. Naval Observatory แต่ก็ล้มเหลวเพราะว่าในระหว่างที่ทำการสังเกตการณ์อยู่นั้นก็มีเมฆเข้ามาปกคลุมบริเวณดวงอาทิตย์พอดิบพอดี จึงเป้นเหตุที่ทำให้ต้องยกเลิกไป
และในปีนี้ก็จะครบรอบ 100 ปีในการพิสูจน์และยืนยันทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไปของนักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง อัลเบิร์ต ไอน์สไตล์ ที่ได้ฝากเอาไว้ให้ลูกหลานได้นำมาคิดและปรับใช้เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและความก้าวหน้าของวงการดาราศาสตร์ การศึกษาอวกาศต่อไปในอนาคต
21 กรกฏาคม – ครบรอบ 50 ปี ยานอพอลโล 11 นำมนุษย์เหยียบดวงจันทร์ครั้งแรก
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 1969 มนุษย์สามารถเดินทางไปถึงดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรก นับเป็นก้าวเล็ก ๆ ของมนุษย์คนหนึ่งแต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติเลยทีเดียว ความสำเร็จครั้งนี้ก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโลโนยีใหม่อย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นแผนที่บนดวงจันทร์แบบละเอียด องค์ความรู้ใหม่ ๆ จากตัวอย่างหินและดินที่เก็บมาจากดวงจันทร์ ระบบเทคโลโนยีการบิน รวมไปถึงระบบขนส่งต่าง ๆ
ภารกิจนี้ทางองค์กรนาซาได้ทำการศึกษาพื้นผิวของดวงจันทร์เป็นเวลานานกว่า 2 ปี โดยใช้ภาพถ่ายคุณภาพสูงจากดาวเทียม Lunar Orbiter กับรูปถ่ายจากยาน Surveyor เพื่อแสวงหาพื้นที่ที่ดีที่สุดที่จะทำการสร้างประวัติศาสตร์ในการลงจอดยานอพอลโล 11 และประทับรอยเท้าของมนุษย์โลกลงบนพื้นผิวอื่นนอกเหนือจากโลกเป็นครั้งแรก
และในปีนี้จะครบรอบ 50 ปีของภารกิจอพอลโล 11 ที่นีล อาร์มสตรองและบัซ อัลดริน ได้ลงเดินบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรก และแน่นอนว่าเนื่องในโอกาสอันแสนพิเศษครั้งนี้ หน่วยงานอวกาศจากทั่วทุกมุมโลกก็ย่อมจะมีการเฉลิมฉลองเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้อย่างแน่นอน
25 กรกฎาคม – เปิดหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดสงขลา
ในประเทศไทยมีการสร้างหอดูดาวขึ้นมาเพื่อใช้ในการศึกษา เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ และให้การบริการทางวิชาการทางด้านดาราศาสตร์ ของครู อาจารย์ นักเรียน และนักศึกษา เช่น หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษาที่บนดอยอินทนนท์ และอีกที่คือหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา
และล่าสุดได้มีการสร้างหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนเพิ่มอีกที่นั่นก็คือ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา ไว้ที่ เขารูปช้าง ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ด้วยกันทั้งหมด 25 ไร่ นับว่าเป็นหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนแห่งที่ 3 ของไทยเราเลยก็เป็นได้
ที่ตั้งของหอดูดาวแห่งนี้อยู่บริเวณละติจูดที่ 7 องศาเหนือ ทำให้สามารถสังเกตวัตถุท้องฟ้าในซีกฟ้าใต้ได้ดีกว่าในภูมิภาคอื่น ๆ อีกทั้งสภาพท้องฟ้ายังเอื้อต่อการสังเกตปรากฎการณ์ดาราศาสตร์ได้ดีในช่วงฤดูฝนของไทย มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม มองเห็นทะเลสาบสงขลาและอ่าวไทย จังถือว่าเป็นหอดูดาวที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
หอดูดาวแห่งนี้ถือเป็นศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์ที่สำคัญในภาคใต้ มีภารกิจหลักคือ สนับสนุนงานบริการวิชาการดาราศาสตร์แก่ชุมชน งานวิจัยดาราศาสตร์สำหรับนักเรียน นักศึกษา สถาบันการศึกษา และยังคงเป็นศูนย์เรียนรู้ดาราศาสตร์มุสลิมอย่างเต็มรูปแบบอีกด้วย
ในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา สงขลาก็จะได้เปิดให้ประชาชนได้เข้ามาใช้บริการ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานทางด้านวิจัย ให้ความรู้แก่เยาวชนที่สนใจ และเป็นศูนย์รวมการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ของไทยอีกแห่งด้วย
ระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน – CHEOPS Probe ศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบ
โครงการ CHEOPS วางแผนที่จะปล่อยตัวในระหว่างวันที่ 15 ตุลาคมจนถึงวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ มันเป็นโครงการแรกที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อทำการหาดาวเคราะห์นอกระบบโดยวิธี Transit Photometry และมันจะสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลก
เป้าหมายหลักทางวิทยาศาสตร์ของภารกิจนี้คือการวัดความหนาแน่นของ Super-Earth ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ที่สว่างและจัดหาเป้าหมายที่เหมาะสมสำหรับการศึกษาลักษณะเชิงลึกในอนาคตของดาวเคราะห์นอกระบบในช่วงมวลและขนาดที่ใกล้เคียงกับโลกของเรา
การปล่อยตัว CHEOPS นั้นจะปล่อยตัวไปกับจรวด Soyuz และร่วมเดินทางสู่อวกาศกับดาวเทียม Cosmo-SkyMed ของประเทศอิตาลี โดยดาวเทียมทั้งสองจะแยกเป็นวงโคจรของตัวเองในไม่ช้าหลังจากการ CHEOPS ไปถึงที่ปฏิบัติการใน low-Earth orbit ที่ระดับความสูง 700 กม.
หนึ่งในทีม CHEOPS ได้พูดว่าการวิจัยดาวเคราะห์นอกระบบนั้น สามารถกระตุ้นความสนใจในการล่าอาณานิคมของมนุษย์ได้ หนึ่งในสิ่งที่ทำให้การสำรวจอวกาศเป็นไปอย่างราบรื่นก็คือ เมื่อผู้คนรู้ว่าว่าดาวศุกร์เป็นเหมือนกับนรกและดาวอังคารคล้ายกับทะเลทราย และมันก็เห็นได้ชัดว่ามีดาวเคราะห์จำนวนมากที่ยังมีอยู่และมีลักษณะคล้ายโลกมาก แค่รอวันเราค้นพบ
ดาวเคราะห์ใกล้โลก
นอกจากปรากฏการณ์อุปราคาและฝนดาวตกแล้ว ยังมีสิ่งที่น่าสนใจและเหมาะแก่การตั้งกล้องถ่ายรูปไว้อวดเพื่อน ๆ อีกอย่างนั้นก็คือปรากฏการณ์ดาวเคราะห์เคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุด (Opposition) โดยดาวเคราะห์จะปรากฏให้เห็นใหญ่กว่าปกติ และสว่างมากกว่าปกติบนท้องฟ้าในยามกลางคืน
- 10 มิถุนายน ดาวพฤหัสใกล้โลกมากที่สุด
- 9 กรกฎาคม ดาวเสาร์ใกล้โลกมากที่สุด
- 9 กันยายน ดาวเนปจูนใกล้โลกมากที่สุด (จะสามารถสังเกตได้ดีในกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดกำลังขยายเยอะ ๆ เท่านั้น)
- 27 ตุลาคม ดาวยูเรนัสใกล้โลกมากที่สุด (ไม่สามารถสังเกตเห็นได้)
สามารถตรวจสอบปรากฎการณ์อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นได้ที่ ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ปี 2019 จันทรุปราคา สุริยุปราคา ฝนดาวตก สรุปทุกข้อมูล
ฝนดาวตกเหนือท้องฟ้าไทย
เมื่อโลกเดินทางเข้าสู่เส้นทางของดาวหางที่เคยผ่านเข้ามาบนโลก เศษหินของดาวหางที่เมื่อโคจรมาใกล้ดวงอาทิตย์แล้วปล่อยเศษหินและฝุ่นทิ้งไว้ตามทางที่มันโคจร กำลังพุ่งใส่บรรยากาศของโลกตามแรงโน้มถ่วง เกิดเป็นไฟสว่างวูบวาบ สีสันสวยงามบนท้องฟ้า
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและน่าจับตามองเป็นพิเศษคือฝนดาวตกที่ปรากฎในทุกช่วงเดือนของปี 2019 ซึ่งมีตั้งแต่เดือนมกราคมจนไปถึงเดือนธันวาคมปิดท้ายปีเลยก็ว่าได้ มีอะไรบ้างนั้นดูกันได้ที่ ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ปี 2019 จันทรุปราคา สุริยุปราคา ฝนดาวตก สรุปทุกข้อมูล
อุปราคาเหนือฟ้าเมืองไทย
อุปราคาในปีที่แล้วเรามีโอกาสได้เห็นปรากฎการณ์ Super Blue Blood Moon ที่หาชมได้ยากมาก และในปีนั้นยังมีปรากฎการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงอีกครั้งอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นปีของปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์จริง ๆ แต่ในปีนี้ก็ไม่น้อยหน้าไปกว่าปีที่แล้ว ทั้งสุริยุปราคาและจันทรุปราคาที่เราสามารถสังเกตเห็นได้ในบริเวณประเทศไทยของเรา
- 17 กรกฎาคม จันทรุปราคาบางส่วน เวลาประมาณ ตี 3 จนถึง 6 โมงเช้าตามเวลาประเทศไทย
- 26 ธันวาคม สุริยุปราคาบางส่วน เวลาประมาณ 10.18 น. จนถึง 13.57 น. ตามเวลาประเทศไทย
- 20-21 มกราคม จันทรุปราคาเต็มดวง เวลาประมาณ 09.00 จนถึง 14.00 ตามเวลาประเทศไทย (ไม่สามารถสังเกตเห็นได้)
- 2 กรกฎาคม สุริยุปราคาเต็มดวง เวลาประมาณ เที่ยงคืนของวันที่ 2 จนถึงเช้าวันที่ 3 (ไม่สามารถสังเกตเห็นได้)
และในวันที่ 26 ธันวาคม จะเกิดปรากฎการณ์สุริยุปราคาวงแหวน แต่น่าเสียดายที่ประเทศไทยเราไม่สามารถสังเกตเห็นปรากฎการณ์นี้ได้ ซึ่งเราได้จะเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วนแทน สามารถสังเกตได้ทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยที่ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดบริเวณภาคใต้ ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา
สามารถตรวจสอบอุปราคาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นได้ที่ ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ปี 2019 จันทรุปราคา สุริยุปราคา ฝนดาวตก สรุปทุกข้อมูล
ข่าวที่น่าทึ่งจากอวกาศ ในวันที่ 1 มกราคมยาน New Horizons ได้เดินทางออกนอกระบบสุริยะและได้จับภาพวัตถุขนาดเล็ก ในระยะ 4 พันล้านไมล์ห่างจากโลก ในวันต่อมาประเทศจีนมีรถแลนด์โรเวอร์ Chang’e 4 ชื่อ Jade Rabbit 2 เดินเล่นอยู่อีกฟากหนึ่งของดวงจันทร์ ด้วยเหตุการณ์พวกนี้ชี้ให้เห็นว่าในปี 2019 จะเป็นปีที่ยิ่งใหญ่สำหรับทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ
Trend อวกาศที่น่าสนใจในปีนี้ยังคงพูดถึงกันในเรื่องของการเดินทางไปในอวกาศของมนุษย์โลกกับการท่องอวกาศของบริษัท SpaceX และ Blue Origin การเริ่มใช้ชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงอื่นที่นอกเหนือจากโลก การค้นหาสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนดาวเคราะห์ดวงอื่นรวมไปถึงเรื่องเชื้อโรคและสารเคมีที่อาจจะปนเปื้อนมาได้ ติดตามเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายอวกาศนานาชาติ และสุดท้ายคือเรื่องของขยะอวกาศและดาวเคราะห์น้อยต่าง ๆ
การศึกษาเรื่องราวอวกาศ การเดินทางในอวกาศ ข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอวกาศล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว รวมไปถึงการดำเนินชีวิตบนโลกของมนุษย์ที่ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีต่าง ๆ การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ระบบขนส่งที่ก้าวไกลขึ้นกว่าเดิมได้
เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO
อ้างอิง
Mark Your Calendars for These Space Events in 2019
Space subjects that will get the world’s attention in 2019 and beyond