ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ปี 2019 จันทรุปราคา สุริยุปราคา ฝนดาวตก สรุปทุกข้อมูล

1 ปี เท่ากับ 365.25 วัน ในแต่ละวันเราเจอเรื่องราวใหม่ได้ไม่ซ้ำเรื่องราวเก่า ในปี 2562 นี้เราอยากให้ทุกคนได้เตรียมพร้อมพบกับเรื่องราวใหม่ ๆ ที่น่าติดตามมากที่สุด อาจจะไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับใครหลาย ๆ คนเพราะเหตุการณ์ต่อไปนี้เกิดขึ้นทุกปี แต่ประสบการณ์ที่เราจะได้รับนั้นยังคงเป็นสิ่งใหม่ที่สร้างขึ้นมาทดแทนกันอีกไม่ได้

อุปราคาที่สังเกตได้ในไทยในปี 2019

เมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมานั้น เราได้ตื่นตาตื่นใจกันไปแล้วกับปรากฏการณ์ Super Blue Blood Moon ที่หาชมได้ยากมากเพราะปรากฏการณ์นี้มีการเกิดของ 3 เหตุการณ์พร้อมกันคือ  นี้จะมีปรากฏการณ์อะไรน่าติดตามบ้าง เรามาดูกัน

17 กรกฏาคม – จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Lunar Eclipse)

ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นในคืนวันที่ 17 กรกฎาคม 2562 โดยจะเกิดขึ้นตามเวลาของไทย ดังนี้

  • 01:43 น. – ดวงจันทร์เริ่มเคลื่อนที่เข้าสู่เงามัว
  • 03:01 น. – ดวงจันทร์เริ่มเคลื่อนที่เข้าสู่เงามืด
  • 04:30 น. – ดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้าสู่เงามืดเยอะมากที่สุด เกิดเป็นจันทรุปราคาบางส่วน
  • 05:59 น. – ดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามืดทั้งหมด (สังเกตไม่ได้ที่ประเทศไทย)
  • 07:17 น. – ดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามัวทั้งหมด สิ้นสุดปรากฏการณ์ (สังเกตไม่ได้ที่ประเทศไทย)

โชคไม่ค่อยดีที่เราไม่สามารถดูปรากฏการณ์นี้จนจบได้เพราะดวงจันทร์ตกดินไปเสียก่อน แต่ถ้าใครอยู่แถวทวีปแอฟริกาฝั่งตะวันออกจะสามารถดูปรากฏการณ์นี้ได้ตั้งแต่เริ่มจนจบเลย

26 ธันวาคม – สุริยุปราคาบางส่วน (Partial Solar Eclipses)

ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นในปลายปี 2562 คือวันที่ 26 ธันวาคม โดยจะเกิดขึ้นตามเวลาของไทย ดังนี้

  • 09:29 น. – โลกเริ่มเคลื่อนที่เข้าสู่เงามัวของดวงจันทร์
  • 10:34 น. – โลกเริ่มเคลื่อนที่เข้าสู่เงามืดของดวงจันทร์
  • 12:17 น. – โลกเคลื่อนที่เข้าสู่เงามืดของดวงจันทร์มากที่สุด
  • 14:00 น. – โลกเคลื่อนที่ออกจากเงามืดของดวงจันทร์ทั้งหมด
  • 15:05 น. – โลกเคลื่อนที่ออกจากเงามัวของดวงจันทร์ทั้งหมด สิ้นสุดปรากฏการณ์

สุริยุปราคาครั้งนี้ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่กินเวลานานมากพอสมควร โดยเริ่มตั้งแต่สายยันบ่าย ก็ใช้เวลาไปแค่ห้าชั่วโมง (เอง)

ปรากฏการณ์ฝนดาวตกที่จะเกิดขึ้นในปี 2019

การนั่งเฝ้าดูเศษหินของดาวหางที่เมื่อโคจรมาใกล้ดวงอาทิตย์แล้วปล่อยเศษหินและฝุ่นทิ้งไว้ตามทางที่มันโคจร กำลังพุ่งใส่บรรยากาศของโลกตามแรงโน้มถ่วงแล้วเกิดไฟลุกวาบเป็นสีสวยงามบนท้องฟ้า คือความอัศจรรย์ตาอย่างหนึ่งที่เราไม่อยากให้พลาดสักครั้งในชีวิตเดียวของเรานี้ ดังนั้น เตรียมปฏิทินให้พร้อมกับปรากฎการณ์ฝนดาวตกที่เกิดขึ้นในปี 2562 นี้

  • 3-4 มกราคม – ฝนดาวตกควอดแดรนต์ (Quadrantids) อัตราการตก 110 ดวงต่อชั่วโมง
  • 22-23 เมษายน – ฝนดาวตกไลริดส์ (Lyrids) อัตราการตก 20 ดวงต่อชั่วโมง
  • 6-7 พฤษภาคม – ฝนดาวตกอีต้า-อควอริดส์ (Eta Aquarids) อัตราการตก 60 ดวงต่อชั่วโมง
  • 28-29 กรกฎาคม – ฝนดาวตกเดลต้า-อควอริดส์ (Delta Aquarids) อัตราการตก 20 ดวงต่อชั่วโมง
  • 12-13 สิงหาคม – ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ (Perseids) อัตราการตก 60 ดวงต่อชั่วโมง
  • 8 ตุลาคม – ฝนดาวตกดราโคนิดส์ (Draconids) อัตราการตก 10 ดวงต่อชั่วโมง
  • 21-22 ตุลาคม – ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ (Orionids) อัตราการตก 20 ดวงต่อชั่วโมง
  • 5-6 พฤศจิกายน – ฝนดาวตกทอริดส์ (Taurids) อัตราการตก 5-10 ดวงต่อชั่วโมง
  • 17-18 พฤศจิกายน – ฝนดาวตกลีโอนิดส์ (Leonids) อัตราการตก 15 ดวงต่อชั่วโมง
  • 13-14 ธันวาคม – ฝนดาวตกเจมินิดส์ (Geminids) อัตราการตก 120 ดวงต่อชั่วโมง
  • 21-22 ธันวาคม – ฝนดาวตกเออร์ซิดส์ (Ursids) อัตราการตก 5-10 ดวงต่อชั่วโมง

ปรากฏการณ์เกี่ยวกับดาวเคราะห์ที่น่าสนใจในปี 2019

นอกจากปรากฏการณ์อุปราคาและฝนดาวตกแล้ว ยังมีสิ่งที่น่าสนใจและเหมาะแก่การตั้งกล้องถ่ายรูปเก็บไว้เป็นคอลเลคชั่นมาก ๆ เลยก็คือ ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์เคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุด (Opposition) โดยดาวเคราะห์จะปรากฏให้เห็นใหญ่กว่าปกติ และสว่างมากกว่าปกติบนท้องฟ้าในยามกลางคืน

เราสามารถมองเห็นดาวเคราะห์ได้ตลอดทั้งคืน จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก ๆ สำหรับคนที่ชอบตามเก็บภาพดาวเคราะห์ แม้กระทั่งดวงจันทร์บริวารของมันเราก็ส่องเห็นได้โดยใช้แค่กล้องสองตาหรือกล้องส่องทางไกล (Binoculars) ดี ๆ สักตัว

10 มิถุนายน – ดาวพฤหัสใกล้โลกมากที่สุด ถ้าใช้กล้องสองตาส่องเราจะเห็นดวงจันทร์กาลิเลียนทั้งสี่ดวงเป็นจุดสี่จุดโคจรรอบ ๆ ดาวพฤหัส แต่ถ้าใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดกลางหรือใหญ่กว่านี้เราจะสามารถเห็นจุดยักษ์แดงได้ชัดเจนมากขึ้น

9 กรกฎาคม – ดาวเสาร์ใกล้โลกมากที่สุด ดาวเสาร์เป็นดาวที่มีวงแหวนขนาดใหญ่มากที่สุดในระบบสุริยะ ถ้าใช้กล้องสองตาส่องจะเห็นดาวเสาร์สว่างจ้ามากจนดูไม่ออกว่าอันไหนคือวงแหวนของมัน จึงควรใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ส่อง

9 กันยายน – ดาวเนปจูนใกล้โลกมากที่สุด แต่ยังดูแสนไกลสุด ๆ สำหรับเรา เพราะด้วยระยะห่างของดาวเนปจูนกับโลกนั้นไกลมาก เราจะเห็นดาวสีฟ้านี้เป็นจุดเล็ก ๆ ในกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดกำลังขยายเยอะ ๆ เท่านั้น

27 ตุลาคม – ดาวยูเรนัสใกล้โลกมากที่สุด เป็นกรณีเดียวกันกับดาวเนปจูน แม้ว่าดาวยูเรนัสจะอยู่ห่างจากโลกน้อยกว่าดาวเนปจูน แต่กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ก็ใช้ส่องหาได้ยากเช่นกัน เพราะดาวมีขนาดเล็กและไกลเกินกว่าจะสังเกตเห็นได้

11 พฤศจิกายน (ดูไม่ได้ แต่ใส่มาเพราะน่าสนใจมาก) – ดาวพุธเคลื่อนที่ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ เป็นปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยากมาก ๆ อีกปรากฏการณ์หนึ่ง เพราะไม่ได้เกิดขึ้นทุกปี และนาน ๆ ทีจะมีให้ชมครั้งหนึ่ง โดยบริเวณที่จะสามารถมองเห็นปรากฏการณ์นี้ได้คือ อเมริกาใต้, อเมริกากลาง, บางพื้นที่ของอเมริกาเหนือ, ยุโรป, ฝั่งตะวันออกกลาง และแอฟริกา ส่วนทางฝั่งประเทศไทยเรานั้นไม่สามารถสังเกตเห็นได้ เพราะมืดก่อน (อดดูเลย)

สุดท้ายนี้ แม้ว่าเราจะคอยเฝ้าดูวัตถุท้องฟ้าอยู่ทุกวันทุกคืน เราก็อย่าลืมหันมาดูคนรอบข้างเราด้วย เพราะสิ่งที่ดีที่สุดไม่ใช่การได้ขอพรจากดาว แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือการได้ใช้เวลาร่วมกันกับครอบครัวของเราหรือคนที่เรารัก ทำวันนี้ให้ดีที่สุดแล้ววันพรุ่งนี้ก็จะดีตาม สวัสดีปีใหม่ค่ะ

 

อ้างอิง

Time and Date 

Sea Sky

 

อัน อธิยาภรณ์ ลุล่วง จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนยโสธรพิทยาคม นักศึกษาปี 1 ม.ขอนแก่น คณะวิทยาศาสตร์ ชอบดาราศาสตร์ ดูหนัง และเล่นเกม