ข่าวอวกาศ 2020 สรุปการปล่อย ภารกิจ อัพเดท ทุกเรื่องที่ควรรู้

ในปีแห่งการเริ่มต้นทศวรรษใหม่นี้ ได้มีหลายเรื่องราวที่น่าสนใจในวงการอวกาศ ทั้งการออกเดินทางสู่สถานที่ใหม่ ๆ และการเดินทางกลับบ้านจากแดนไกลโพ้น มาดูเรื่องราวอวกาศ และเทรนด์ที่น่าจับตามองจากทั่วทุกมุมโลก (และจักรวาล) ในศักราชใหม่กัน

ภายในเดือนกุมภาพันธ์ – ภารกิจส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศเป็นครั้งแรกของ SpaceX

เป็นเวลากว่า 9 ปีแล้ว ที่สหรัฐ ฯ ไม่สามารถส่งมนุษย์เดินทางขึ้นสู่อวกาศจากดินแดนประเทศตัวเองได้ และในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ก็อาจเป็นครั้งแรกที่พวกเขาสามารถหยุดสถิติอันเลวร้ายนี้ลงได้เสียที

NASA ได้มอบสัญญาให้กับ SpaceX และ Boeing สำหรับการพัฒนายานอวกาศขึ้น เพื่อใช้สำหรับการส่งมนุษย์อวกาศเดินทางขึ้นและกลับจากสถานีอวกาศนานาชาติ โดยในตอนนี้พวกเขายังต้องพึ่งพายาน Soyuz จากฝั่งรัสเซียเพียงหนึ่งเดียวอยู่

สำหรับภารกิจนี้ จะเป็นเพียงแค่การทดสอบระบบของยานแบบมีมนุษย์ร่วมเดินทางไปด้วย แต่ลูกเรือทั้ง 2 ที่ขึ้นไปจะยังไม่ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานบนสถานีอวกาศนานาชาติระยะยาวแต่อย่างใด

21 มิถุนายน – สุริยุปราคาบางส่วน สังเกตเห็นได้ทั่วประเทศไทย

ในวันที่ 21 มิถุนายน ทั่วประเทศไทยจะสามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนได้ทั่วกัน โดยปรากฏการณ์นี้จะสังเกตเห็นดวงอาทิตย์แหว่งเนื่องจากถูกดวงจันทร์บังไปบางส่วน โดยต้องใช้แผ่นกรองแสงสำหรับดูดวงอาทิตย์ หรืออาศัยการฉายแสงอาทิตย์ลงบนฉากรับภาพ

บริเวณที่แนวเงาของสุริยุปราคาพาดผ่าน ที่มา – Date and Time

เส้นทางของคราสวงแหวนอยู่ห่างจากประเทศไทยขึ้นไปทางทิศเหนือ ดังนั้นภาคเหนือของประเทศไทยจึงจะสังเกตเห็นดวงอาทิตย์แหว่งลึกมากกว่าภูมิภาคอื่น กรุงเทพฯ จะเกิดสุริยุปราคาบางส่วนระหว่างเวลา 13:11 – 16:10 น. โดยประมาณ ดวงอาทิตย์จะแหว่งลึกสุดที่เวลา 14:49 น. หากวัดตามแนวเส้นผ่านศูนย์กลางของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์จะสามารถบังดวงอาทิตย์ไปครึ่งดวง หรือคิดเป็นประมาณ 39.5% ของพื้นที่วงกลมดวงอาทิตย์

17 กรกฏาคม – สหรัฐ ฯ ปล่อยยาน Mars 2020 ออกเดินทางสู่ดาวอังคาร

ยานอวกาศ Mars 2020 เป็นยานสำรวจดาวอังคารในโครงการ NASA’s Mars Exploration Program (MEP) ขององค์กร NASA ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่นาซ่าพยายามที่จะค้นหาความลับของดาวอังคาร ภารกิจนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการศึกษาวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการดำรงชีวิตบนดาวอังคาร

รูปยาน Mars 2020 ที่ออกแบบไว้ล่วงหน้า ที่มา – NASA

ด้วยดีไซน์ที่ถอดแบบมาจากยาน Curiosity ที่อยู่บนดาวอังคารมานานกว่า 8 ปีแล้ว Mars 2020 จะตามไปสำรวจเพื่อหาร่องรอยและสัญญาณของสิ่งมีชีวิต ทั้งในอดีตและปัจจุบัน พร้อมกับเก็บตัวอย่างดินจากดาวอังคารไว้ เพื่อให้ภารกิจในภายหลังสามารถนำกลับมาตรวจสอบที่โลกได้อีกด้วย โดยบนยานก็จะมีเฮลิคอปเตอร์ลำจิ๋วสำหรับใช้บินสำรวจพื้นผิวร่วมเดินทางไปพร้อมกัน

26 กรกฏาคม – ยุโรป ฯ ปล่อยยาน Rosalind Franklin ออกเดินทางสู่ดาวอังคาร

นอกจากที่สหรัฐจะปล่อยยานออกเดินทางไปสำรวจดาวอังคารแล้ว ทางองค์การอวกาศยุโรปและรัสเซียก็ยังใช้โอกาสนี้ในการส่งยาน Rosalind Franklin ไปลงวิ่งสำรวจบนดาวอังคารด้วยเช่นกัน โดยยานลำนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ExoMars

Image result for Rosalind Franklin lander
รูปจำลองของยาน Rosalind Franklin – ที่มา ESA

ในปี 2016 ได้มีการส่งยาน Schiaparelli ไปลงจอดบนดาวอังคาร ทว่าก็จบลงด้วยความล้มเหลว ทำให้ในภารกิจนี้ ESA หรือองค์การอวกาศยุโรป ได้พัฒนาระบบลงจอดที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น เพื่อให้การลงจอดในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ

Rosalind Franklin จะลงจอดที่บริเวณ Oxia Planum ในช่วงเดือนมีนาคม 2021 และถูกวางแผนไว้ให้สำรวจได้ราว 7 เดือนตลอดอายุภารกิจของมัน

ภายในเดือนพฤศจิกายน – อินเดียปล่อยยาน Chandrayaan-3 ไปลงจอดและสำรวจดวงจันทร์

เมื่อช่วงเดือนกันยายนในปีที่ผ่านมา ยาน Vikram ที่แยกตัวออกจากยาน Chandrayaan-2 ได้พุ่งชนเข้ากับพื้นผิวของดวงจันทร์เข้าอย่างจัง หลังจากสัญญาณขาดหายไปในช่วงไม่กี่วินาทีก่อนลงจอดเพียงเท่านั้น แต่ทางอินเดียก็ไม่ได้ยอมแพ้ มีการรายงานจาก The Times of India ว่าได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสำหรับการตรวจสอบภารกิจใหม่ของหน่วยงาน นั้นก็คือ Chandrayaan-3 และตอนนี้ก็ได้มีแบบแผนคร่าว ๆ ของภารกิจขึ้นมา 

รูปจำลองของยาน Chandrayaan-3 – ที่มา ISRO

ตัวของยาน Chandrayaan-3 จะไม่มียานไปโคจรรอบดวงจันทร์ เนื่องจากยานโคจรรอบดวงจันทร์ของ Chandrayaan-2 ยังใช้งานได้อยู่ตามปกติ ดังนั้นตัวของยาน Chandrayaan-3 จะมีเพียงแค่ยานลงจอดและรถโรเวอร์สำหรับลงพื้นผิวเท่านั้น

ซึ่งยานลงจอดใหม่ลำนี้จะมีการปรับตัวฐานลงจอดให้มีความแข็งแรงเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม 

เดือนพฤศจิกายน – ภารกิจแรกของโครงการ Artemis ออกเดินทางสู่ดวงจันทร์

หลังจากเว้นว่างไปนานกว่าครึ่งศตวรรษ NASA ได้วางแผนให้โครงการ Artemis เป็นโครงการที่จะพามนุษย์ออกเดินทางกลับสู่ดวงจันทร์อย่างเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา และในเดือนพฤศจิกายนนี้ ภารกิจแรกของโครงการก็จะได้เริ่มออกเดินทางกันแล้ว

Image result for artemis 1
ภาพจำลองของจรวด SLS สำหรับภารกิจ Artemis 1 – ที่มา NASA

ภารกิจแรกนี้จะทดสอบความสามารถของจรวด SLS จรวดที่ NASA พัฒนาขึ้นให้ทรงพลังที่สุดในโลก พร้อมกับนำยาน Orion ไปทดสอบในวงโคจรรอบดวงจันทร์เป็นระยะเวลาเกือบ 1 เดือนด้วยกัน

นอกจากจะทดสอบระบบต่าง ๆ ที่จำเป็นแล้ว ในภารกิจนี้ยังได้นำดาวเทียม CubeSat ขนาดเล็กจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมเดินทางไปปล่อยให้ที่ดวงจันทร์อีกด้วย

ไตรมาสที่ 4 ของปี – จีนปล่อยยาน Chang’e 5 ไปสำรวจและเก็บตัวอย่างหินจากดวงจันทร์กลับโลก

ประเทศจีนยังคงประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์อย่างต่อเนื่อง ไล่ตั้งแต่ Chang’e 3 ที่ลงจอดได้สำเร็จ Chang’e 4 ที่ไปลงจอดบริเวณด้านไกล และกับภารกิจ Chang’e 5 พวกเขาจะไปนำตัวอย่างหินจากดวงจันทร์กลับสู่โลกให้ได้

จรวด Long March 5 ของจีน หนึ่งในจรวดที่ทรงพบังที่สุดที่จีนมีอยู่ ณ ตอนนี้

เป็นเวลานานกว่า 44 ปีแล้วที่ตัวอย่างหินกลุ่มสุดท้ายถูกนำกลับมาโลก ซึ่งในตอนนั้นคือภารกิจ Luna 24 ของสหภาพโซเวียต และหากจีนสามารถนำกลับมาได้สำเร็จ พวกเขาจะเป็นชาติที่ 3 ในโลกเท่านั้น ที่สามารถเก็บตัวอย่างหินจากดวงจันทร์กลับมาได้

นี่จะเป็นภารกิจเก็บตัวอย่างแรกของจีนอีกด้วย และเป็นหนึ่งในก้าวที่สำคัญของโครงการส่งมนุษย์ไปลงจอดบนนั้น รวมทั้งตั้งฐานปฏิบัติการในบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ในอนาคต


นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการที่ประเทศจีนปล่อยยาน Huoxinh ออกเดินทางไปลงจอดบนดาวอังคาร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ปล่อยยาน Hope Mars ออกเดินทางไปลงจอดบนดาวอังคาร จีนและอินเดียทดสอบยานอวกาศสำหรับมนุษย์ โดยในปีนี้จะทดสอบรุ่นต้นแบบก่อน หรือยาน OSIRIS-REx ลงไปเก็บตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อย Bennu องค์การอวกาศยุโรปปล่อยยาน Solar Orbiter ไปสำรวจรอบดวงอาทิตย์ และยังมียาน Hayabusa 2 นำตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อย Ryugu กลับถึงโลก

ซึ่งจะเห็นได้ว่า Trend อวกาศที่น่าสนใจในปีนี้ยังคงพูดถึงกันในเรื่องของการเดินทางไปในอวกาศของมนุษย์โลกกับการท่องอวกาศของบริษัท SpaceX และ Boeing การเริ่มใช้ชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงอื่นที่นอกเหนือจากโลก เช่นดาวอังคารและดวงจันทร์ การค้นหาสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนดาวเคราะห์ดวงอื่นรวมไปถึงเรื่องเชื้อโรคและสารเคมีที่อาจจะปนเปื้อนมาได้ เรียกว่าปีนี้เป็นปีแห่งการสำรวจและค้นหาแหล่งที่อยู่อาศัยต่อไปของมนุษย์โลกอย่างแท้จริง

การศึกษาเรื่องราวอวกาศ การเดินทางในอวกาศ ข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอวกาศล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว รวมไปถึงการดำเนินชีวิตบนโลกของมนุษย์ที่ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีต่าง ๆ การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ระบบขนส่งที่ก้าวไกลขึ้นกว่าเดิมได้

เรียบเรียงโดยทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง

Mars Missions Are One Year Away from Launching to the Red Planet in July 2020 – Space.com

SpaceX Could Launch NASA Astronauts Into Space in Early 2020 – Space.com

Chang’e 5 & Chang’e 6 – Gunter’s Space Page

Artemis-1 – NASA

มายด์ - บรรณาธิการและนักเขียน นิสิตปี 1 ภาคฟิสิกส์ จุฬาฯ สนใจเรื่องอวกาศ วิทยาศาสตร์ BLACKPINK อดีตไอดอลที่ออกวงการมาแล้ว และในปัจจุบันนี้เป็น Atomic Queen Ambassador of Physics 2019