อย่างที่ทราบกันดีว่า ในปัจจุบัน การสำรวจอวกาศ มีวัตถุประสงค์ทาง ธุรกิจมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ สังเกตจากการที่เอกชนมีส่วนร่วมมากขึ้น รัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มดำเนินแผนการสร้างอาณานิคมบนดวงจันทร์ผ่านโครงการ Artemis และโครงการอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร อย่างเช่น Moon Village Association ที่พยายามพัฒนาระบบเศรษฐกิจบนดวงจันทร์โดยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากทั่วโลก ทำให้วงการอวกาศจะถูกปรับเปลี่ยนเป็นทุนนิยมอย่างเต็มตัว
ดังนั้น ในบทความนี้จะขอเทียบเคียงอุตสาหกรรมอวกาศ กับกลยุทธ์การไล่กวดทางเทคโนโลยีและรายได้ (Catch-up) ของประเทศกำลังพัฒนา โดยอ้างอิงจากบทความของ Poh-Kam Wong แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ หรือ National University of Singapore เรื่อง National Innovation Systems for Rapid Technological Catch-up : An analytical framework and a comparative analysis of Korea , Taiwan and Singapore
โดย ทีม Spaceth ได้ลองร่วมมือกับบริษัท Space Zab ลองถอดบทเรียนจากงานวิจัยดังกล่าว มาลองเป็นกรณีเทียบในสถานการของประเทศไทย ณ ตอนนี้ โดย Space Zab นับว่าเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศของไทย มีความร่วมมือกับหน่วยงานระดับโลก ตั้งแต่ JAXA, ESA และอยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนงานอวกาศในไทยหลายชิ้น (รวมถึงส่งวิศวกรมาช่วยดูโครงการ MESSE ด้วย) ทำให้เห็นถึงโอกาสการพัฒนาที่สำคัญ และ Demand ในตลาดตอนนี้มากกว่าแค่การนำ Buzzword ต่าง ๆ มารวมกัน
ในบทความดั้งเดิมได้แบ่งกลยุทธ์การไล่กวดทางเทคโนโลยีออกเป็น 5 ประเภท แต่ในบทความนี้ เพื่อให้เข้าใจง่าย เราขอยกตัวอย่าง 3 กลยุทธ์ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม
Reverse Value Chain
มาเริ่มต้นที่วิธีแรกคือ การย้อนรอยของห่วงโซ่คุณค่า (Reverse Value Chain) บริษัทที่พัฒนาบนเส้นทางนี้ จะค่อย ๆ พัฒนาตนเองไปตามห่วงโซ่คุณค่า โดยเริ่มต้นจากการรับจ้างผลิตชิ้นส่วน ตามที่บริษัทผู้ว่าจ้างออกแบบไว้ให้ (Original Equipment Manufacturing: OEM) จนกระทั่งตัวเองมีความรู้ ความเข้าใจในเทคโนโลยีมากเพียงพอจึงขยับจาก OEM ไปเป็น บริษัทซึ่งสามารถออกแบบชิ้นส่วนของตัวเอง ้ (Original Design Manufacturers: ODM) และในท้ายสุด เติบโตไปเป็นบริษัทที่พัฒนาแนวคิดเฉพาะตัว (Original Idea Manufacturing: OIM) หรือ ตราสินค้าเป็นของตนเอง (Own Brand Manufacturing: OBM) ได้ในท้ายที่สุด
ตัวอย่างของบริษัทที่ใช้กลยุทธ์ การย้อนรอยห่วงโซ่คุณค่า ในอุตสาหกรรมอวกาศ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทอุตสาหกรรมหนักของประเทศญี่ปุ่นอย่าง Mitsubishi Heavy Industry และ Kawasaki Heavy Industry ถึงแม้ว่าเราจะรู้จักชื่อบริษัทเหล่านี้กันดีในอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่ว่า สองบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอวกาศด้วยเช่นเดียวกัน โดยเริ่มต้นจากการเป็น OEM ของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในช่วงสงครามโลก สร้างเครื่องบินและส่วนประกอบของเครื่องบินเองได้ หลังจากนั้น ทั้งคู่ได้พัฒนาตัวเองจนสามารถเป็น ODM ในเวลาอันรวดเร็ว และปัจจุบันเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอวกาศของญี่ปุ่นและของโลก จากการเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ เช่น ส่วนประกอบจรวดของญี่ปุ่น และส่วนประกอบยานขนส่งเสบียงไปอวกาศของญี่ปุ่น (H-II Transfer Vehicle: Kounotori) ที่ทั่วโลกมาใช้บริการ เพื่อขนส่งสัมภาระไปสถานีอวกาศนานาชาติ เป็นประจำ
การขยับอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศไทยด้วยวิธีนี้ สามารถทำได้ โดยมุ่งสำรวจผู้ผลิตที่มีศักยภาพผลิตแบบ OEM ในอุตสาหกรรมหลักของไทย เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ หากผู้ผลิตแบบ OEM เหล่านี้ปรับตัวอย่างว่องไวในปัจจุบัน ก็สามารถที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าของเศรษฐกิจอวกาศได้ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดการณ์กันว่า จะเกิดการสร้างฐานการวิจัยบนดวงจันทร์ เพื่อไปต่อยังดาวอังคาร หรือ การเพิ่มขึ้นของความต้องการดาวเทียมขนาดเล็ก ตัวอย่างที่ชัดเจนในแต่ละอุตสาหกรรมมีดังนี้
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย สามารถพัฒนาตัวเอง ให้เป็นผู้ผลิตคุณภาพระดับอวกาศ (Space Grade) ได้ด้วยการเร่งทำวิจัยในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ เลียนแบบสภาพในอวกาศ ให้เร็วที่สุด เพื่อให้ตัวเองขยับจาก OEM สู่ ODM ในสายอุตสาหกรรมอวกาศ เช่น ส่งการทดลองอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปสถานีอวกาศ เพื่อให้ผ่านมาตรฐานเกี่ยวกับอุณหภูมิและรังสีนอกโลก เป็นต้น
อุตสาหกรรมอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย หากมีการสร้างระบบขนส่งบนดวงจันทร์ ความต้องการของการสร้างระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ นั้นจะเพิ่มสูงมาก ดังนั้นหากต้องการเข้าสู่อุตสาหกรรมอวกาศ ต้องเร่งกระบวนการวิจัยในสภาวะอวกาศเช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
เงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับ กลยุทธ์การย้อนรอยห่วงโซ่คุณค่านี้ คือ การสร้างนิเวศนวัตกรรม (System Innovation) ที่เหมาะสมทั้งระบบ ยกตัวอย่างเช่น หากมีการลงทุนตัวเงินเป็นมูลค่าสูง แต่ไม่มีวิศวกรที่สามารถทำได้ ไม่มีทรัพยากรมนุษย์ที่เพียงพอ ก็จะไม่สามารถทำวิจัยในอวกาศได้อย่างเต็มศักยภาพ อีกตัวอย่างหนึ่งคือ หากไม่มีความร่วมมือในระดับนานาชาติ ก็จะเข้าไม่ถึงผู้บริโภคปลายน้ำ เช่น สถานีอวกาศ หรือ บริษัทผู้สร้างยานอวกาศ เป็นต้น ดังนั้น การผลักดันกลยุทธ์ ย้อนรอยห่วงโซ่มูลค่าจึงต้องทำงานให้ครบทั้งระบบจึงจะสำเร็จ
กล่าวถึงสภาพปัจจุบันของไทย ว่าเหมาะสมกับวิธีการนี้หรือไม่ ในความเห็นของผู้เขียนคือ หากพูดถึงกรณี การสร้างดาวเทียมหรือการสร้างหุ่นไปลงดวงจันทร์นั้น ไทยมีศักยภาพเพียงพอ เพียงแต่ต้องยกระดับเป็นงานทางด้านอวกาศ และ คงต้องลงงบประมาณในการวิจัยมากขึ้นจากฝั่งเอกชน มิเช่นนั้น จะไม่มีที่ยืนอีกต่อไปในวงการอวกาศโลก ถึงแม้เราจะเป็น OEM ที่เก่งมาก่อนก็ตาม
Reverse Product Life Cycle
กรณีที่ 2 การย้อนวงจรผลิตภัณฑ์ (Reverse Product Life Cycle) เป็นกลยุทธ์ที่เรียกสั้นๆว่า Late-Follower to Fast-Follower โดยบริษัทที่จะทำเช่นนี้ได้ ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เร็ว ถูก มีประสิทธิภาพเพียงพอ ขายให้ไวในช่วงแรก โดยใช้ความรู้ที่ได้จากการทำสินค้าให้แบรนด์ใหญ่ ในช่วงแรกบริษัทจะผลิตสินค้าที่ไม่ค่อยทันสมัยนัก แต่เน้นซื้อง่าย ขายเร็วไปก่อน หลังจากนั้นต้องทุ่มให้กับกระบวนการวิจัยเพื่อให้กวดทันเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น เช่น ธุรกิจรถยนต์ของเกาหลีใต้ ที่เน้นขายถูกก่อนในช่วงแรก และรีบขยับให้ไวขึ้นจากการวิจัย
สิ่งที่แตกต่างจากวิธีแรก คือ กระบวนการนี้ต้องพัฒนาทั้งผลิตภัณฑ์ และ กระบวนการผลิต ไปพร้อมๆกัน และต้องพยายามขายสินค้าให้กับผู้ใช้งานจริงของผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ (End User) ให้ได้ตั้งแต่ต้น ไม่ใช่เพียงแต่เป็น OEM ขายต่อให้ผู้ผลิตในห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) เท่านั้น นอกจากนี้ยังต้องลงเงินไปกับการตลาด เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้โดยตรง
ข้อเสียของวิธีการนี้คือ เมื่อตราสินค้าถูกตระหนักแล้วว่า มีราคาถูก จะไม่สามารถขายแพงขึ้นได้ ดังนั้นต้องทำการปรับทัศนคติต่อตราสินค้าใหม่ (Rebrand) อย่างรวดเร็ว ในระหว่างที่ผลิตสินค้าซึ่งมีมูลค่าสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ และกลายเป็น Fast Follower ในวงการ
ในวงการอวกาศ ประเทศที่มีลักษณะแบบนี้คือ บริษัทขนาดกลางของอินเดียและจีน ซึ่งสามารถขายสินค้าและบริการไปอวกาศได้ด้วยงบประมาณที่ไม่แพงมากนัก แต่หากจะขายราคาแพงขึ้น คงต้องทำการปรับภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ และลงทุนในเชิงการตลาดมากกว่านี้แน่นอน แต่แอบบอกว่า นี่คือกลยุทธ์หลักของอินเดียเลย เรื่องการทำอวกาศให้ถูกจนน่าตกใจ
กรณีที่ไทย หากจะใช้วิธีนี้ คงต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยเราสามารถผลิตสินค้าปลายน้ำได้เอง ไม่ได้เป็น OEM ให้ใคร และราคาเข้าถึงไม่แพงมากนัก เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เกษตรกรรม ชีวภาพ เป็นต้น
อุตสาหกรรมอาหาร สามารถดันตัวเองให้เป็นอาหารอวกาศได้ โดยผ่านมาตรฐานอันเข้มงวดของ องค์กรอวกาศโลก หลังจากนั้นพัฒนาเทคโนโลยีที่ตัวเองถือให้เป็น ครัวอวกาศ แทนที่จะเป็นแค่ครัวในไทยอย่างเดียว รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการสร้างอาหารนอกโลกอีกด้วย
อุตสาหกรรมเกษตรกรรม ก็เช่นเดียวกัน ตอนนี้องค์กรอวกาศทั่วโลก กำลังพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกพืช การผลิตอาหาร และ การกำจัดของเสียจากกระบวนการเกษตรกรรมบนอวกาศอย่างแข็งขัน นี่ถือเป็นช่องที่ไทยจะขยับจากเทคโนโลยีที่มีอยู่ และค่อย ๆ พัฒนาตนเองเข้าไปสู่อุตสาหกรรมอวกาศได้ ในอนาคตเราอาจจะเห็น หุ่นยนต์ผลิตอาหาร ปลูกต้นไม้ หรือ เครื่องพิมพ์อาหารสามมิติ (3D food printer) ผลิตอาหารบนดวงจันทร์ โดยแบรนด์ของประเทศไทยก็เป็นไปได้
ในทางปฏิบัติ เราสามารถยกระดับอุตสาหกรรม ด้วยวิธีย้อนรอยวงจรผลิตภัณฑ์แบบนี้ ได้โดยการส่งงานวิจัยที่ตัวเองมีความรู้ ไปทดลองในอวกาศ เพื่อทดสอบไอเดียและรีบขายให้กับองค์กรอวกาศก่อนในราคาไม่แพง หลังจากนั้นพัฒนาเทคโนโลยีที่มี know-how อยู่แล้ว ให้เพิ่มราคาสินค้าตัวเองให้ได้
Process Specialist
วิธีที่ 3 คือ การสร้างความเชี่ยวชาญ ในกระบวนการผลิต (Process Specialist) กลยุทธ์นี้ ผู้ผลิตจะวางเป้าหมาย เป็นผู้เชี่ยวชาญในกระบวนการใดกระบวนการหนึ่งของการผลิตสินค้าไปเลย โดยไม่จำเป็นต้องผลิตสินค้าทางอุตสาหกรรมอวกาศเป็นเองทั้งระบบ หรือทั้งหมด ทุกชิ้น เพียงใใช้ความเชี่ยวชาญเดิมของบริษัท ที่มีอยู่ พัฒนากระบวนการผลิต กระบวนการต่าง ๆ ให้สามารถใช้ได้จริง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียเวลาทำการตลาดและสร้างแบรนด์เองใหม่ทั้งหมด จะได้นำมาโฟกัสที่งานวิจัยในบริษัท และลดต้นทุน เพิ่มปริมาณการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการให้ได้มากที่สุด เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ยกตัวอย่าง เช่น การที่บริษัทไม่จำเป็นต้องสร้างตึกให้เป็นทั้งหมด แต่มีผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการวิจัยถึงขั้นตอนการติดตั้งระบบใดระบบหนึ่งในตึกนั้น จนเชี่ยวชาญ และโดดเด่นกว่าผู้ขายรายอื่นๆ ทำให้มีอำนาจในการต่อรอง หรือ อาจจะมีเทคโนโลยีที่ลดต้นทุนได้มากกว่ารายอื่นๆ จึงมีโอกาสในการขายของได้มากกว่า ไม่จำเป็นต้องสร้างตึกทั้งตึกเป็นด้วยตัวเอง เป็นต้น
บริษัทที่ใช้กลยุทธ์นี้ จำเป็นต้นลงทุนในการวิจัยอย่างสม่ำเสมอ ในกระบวนการผลิต เพื่อรักษาระดับความทันสมัยและความเชี่ยวชาญเฉพาะของตนเองใน Supply Chain ของอุตสาหกรรมเอาไว้ให้ได้ และจำเป็นต้องร่วมมือกันกับผู้ผลิตอื่น ๆ (Suppliers) เพื่อการพัฒนากระบวนการผลิตให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งต้องใกล้ชิดกับลูกค้าเพื่อศึกษาความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันและในอนาคต จะได้พัฒนากระบวนการผลิตตามได้ทัน
ในวงการอวกาศ ประเทศที่นิยมทำแบบนี้คือ ในโซนยุโรปแทบทั้งหมด และในญี่ปุ่น (ในบริษัทขนาดกลาง) เนื่องจากยุโรป มีองค์กรอวกาศที่รวมทั้งสหภาพยุโรป จึงจำเป็นต้องขยายโครงข่ายการผลิตมากมายทั่วยุโรป เกิดเป็น ความร่วมมือระหว่างบริษัทเล็กน้อยจำนวนมาก ที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตบางชิ้นส่วนแตกต่างกันไป แต่เป็นชิ้นที่จำเป็นอย่างมาก เช่น บริษัท Berlin Space Technologies ที่เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันนี ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตดาวเทียมขนาดกลางและส่วนประกอบสำคัญของดาวเทียมขนาดกลาง เป็นต้น หรือ ในฝั่งญี่ปุ่น ที่บริษัทที่เราไม่เคยคิดว่าจะทำชิ้นส่วนอวกาศ แต่มีความสามารถสูงมากในกระบวนการผลิตความละเอียดสูง ก็ทำชิ้นส่วนจรวด หรือดาวเทียม ก็มีเยอะแยะ เช่น จากประสบการณ์ของผู้เขียน เคยเห็นบริษัท LIXIL ภายใต้แบรนด์ TOSTEM ที่เชี่ยวชาญทำประตู หน้าต่าง เก่งในเรื่อง Precision Manufacturing มากพอที่จะทำ ชิ้นส่วนเครื่องยนต์จรวดได้เช่นเดียวกันนะครับ
สำหรับในอุตสาหกรรมของบ้านเรานั้น หากจะทำแบบนี้ได้ เราต้องผลิตส่วนที่คิดว่ามีความจำเป็นสูงใน Supply Chain ทั้งหมด แบบขาดเราไม่ได้ ขาดเราแล้วจะตาย เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ทรัพยากร พลังงาน สิ่งก่อสร้าง รวมถึงอุตสาหกรรมการแพทย์ เป็นต้น โดยบทความจะลองยกตัวอย่างที่ละเอียดมากยิ่งขึ้นในรายอุตสาหกรรม ดังต่อไปนี้
อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ทรัพยากรและพลังงาน ค่อนข้างมีความจำเป็นยิ่งยวดในช่วงแรกของการไปดวงจันทร์ เพื่อทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้นั้น ต้องอาศัย พลังงานและหาทรัพยากรให้เจอ ดังนั้นหากเราหา know-how ของชิ้นส่วนสำคัญ หรือ จิ๊กซอว์บางชิ้นของ supply chain ให้เจอ เราก็อาจจะสร้างเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับยุคแรกของดวงจันทร์ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก เช่น การทำละลายน้ำแข็งดวงจันทร์ การถลุงแร่จากทรายดวงจันทร์ ที่มีองค์ประกอบของโลหะหลายชนิด การพัฒนาแบตเตอรี่ที่ทนต่อสภาพแวดล้อมดวงจันทร์ได้
อุตสาหกรรมก่อสร้าง ในไทยเราค่อนข้างเก่ง มีบริษัทขนาดใหญ่ระดับประเทศ เช่น เครือซีเมนต์ไทย หากต้องการที่จะเล่นกับวงการอวกาศ แน่นอนว่า know-how การใช้คอนกรีตดวงจันทร์ การก่อสร้าง ค่อนข้างจำเป็นอย่างยิ่งยวดในยุคตั้งต้น หรือวัสดุป้องกันอุณหภูมิ รังสี ก็จำเป็นสำหรับคน และ หุ่นยนต์ ที่ปฏิบัติงานอยู่นอกโลก (สามารถนำกลับมาขายได้ในโลกด้วยซ้ำ)
อุตสาหกรรมการแพทย์ ถึงแม้ว่าในยุคแรกจะมีคนไม่มากบนดวงจันทร์หรือนอกโลกก็ตาม และเราคงไม่สามารถแบกทุกเครื่องมือทางการแพทย์ไปอวกาศได้ แต่ทุก ๆ ชีวิตมีค่า แม้ 1 คนป่วยหนัก ก็จำเป็นต้องรักษาอย่างดีที่สุด โจทย์สำคัญจึงเป็นการคิดค้นกระบวนการ ยา เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ใด ๆ ก็ตามที่สามารถใช้ได้บนข้อจำกัดในอวกาศ มากไปกว่านั้น นวัตกรรมเหล่านี้สามารถนำกลับมาใช้ได้ในโลกเช่นเดียวกัน เช่น Lab-On-Chip ที่ใช้ในอวกาศสำหรับตรวจรักษาโรคก็ใช้ได้ในโลก เป็นต้น
โดยสรุปแล้ว ทุกคนจะเห็นว่า อวกาศไม่ใช่เรื่องของจรวดหรือยานอวกาศ เสมอไป และไม่ว่าจะอุตสาหกรรมไหนก็ตาม อาจจะใช้หนึ่งใน 3 สูตรลัดที่ว่ามาข้างต้นเพื่อเปลี่ยนตัวเองให้เป็นอุตสาหกรรมอวกาศก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือ ต้องเริ่มต้นตอนนี้เนื่องจาก การวิจัยทางวงการอวกาศ ใช้เวลาหลายปี ในการพัฒนาทรัพยากรจนได้สิ่งที่ต้องการ “หากไม่เริ่มต้นลงทุนด้านอวกาศตั้งแต่ตอนนี้ เราจะต้องพึ่งพิงต่างประเทศในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับอวกาศไปตลอด และไม่มีที่ยืนในอุตสาหกรรมอวกาศให้แก่บริษัทไทยในอนาคต”
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co และ Space Zab