ในภารกิจการสำรวจอวกาศ เราอาจะได้เห็นยานอวกาศถ่ายภาพวัตถุต่าง ๆ ตั้งแต่ดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ หรือการถ่ายภาพพื้นผิวของดาวต่าง ๆ กลับมาให้ได้เห็นมากมาย แต่ในหลาย ๆ ครั้งยานอวกาศก็สามารถถ่ายภาพเพื่อนของมันที่กำลังทำภารกิจอยู่ได้เช่นกัน โดยเฉพาะกรณีของดาวอังคาร ซึ่งปัจจุบันมียานอวกาศโคจรอยู่มากกว่า 1 ลำ ทำให้ในบางครั้งพวกมันก็สามารถถ่ายภาพกันเองได้เมื่อโคจรมาอยู่ในระยะที่ใกล้พอ
ก่อนอื่น ต้องพูดถึงจำนวนยานอวกาศที่ถูกส่งไปสำรวจดาวอังคารเสียก่อน ตั้งแต่ปี 1996 ที่ NASA ประสบความสำเร็จในการส่งยาน Mars Global Surveyor ไปเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคาร ด้วยแผนโครงการ Faster Better Cheaper ที่เปลี่ยนปรัชญาการออกแบบภารกิจ ให้มีราคาถูกลง และมีเป้าหมายมากขึ้น ฤดูกาลการสำรวจดาวอังคารยุคใหม่ก็เริ่มต้นขึ้น นำมาสู่โครงการ Mars Pathfinder (1997) และ 2001 Mars Odyssey (2001) ซึ่งเป็นยานอวกาศที่เก่าแก่ที่สุดในปัจจุบันที่ยังคงโคจรรอบดาวอังคารอยู่ และ ESA ก็ได้เริ่มส่งยาน Mars Express ไปในปี 2003 ตามมาด้วย Mars Reconnaissance Orbiter (2005) ยานอวกาศที่ถ่ายภาพดาวอังคารโดยละเอียดไว้มากมายหลายแสนภาพ และยานอีกหลายลำในปัจจุบัน
และหากนับเฉพาะยานอวกาศที่กำลังถูกใช้งานอยู่บนวงโคจรดาวอังคารปัจจุบัน ก็มีมากถึง 8 ลำ ได้แก่
- 2001 Mars Odyssey (2001) ของ NASA
- Mars Express (2003) ของ ESA
- Mars Reconnaissance Orbiter ของ NASA (2005)
- Mars Orbiter Mission หรือมังคลายาน ของอินเดีย (2013)
- MAVEN (2013) ของ NASA
- Trace Gas Orbiter (2016) ของ ESA
- Hope (2021) ของสหรัฐอาหรับเอมริเรตส์
- Tianwen 1 (2021) ของจีน
ยังไม่นับรวมการส่งโรเวอร์และยานลงจอดอีกจำนวนมาก เช่น ภารกิจ Mars Exploration Rover คือ Spirit และ Opporunity (2003) Pheonix (2008) ภารกิจ Curiosity (2012) เป็นต้น ทำให้ตอนนี้ดาวอังคารเป็นดาวที่มียานไปสำรวจเยอะที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในระบบสุริยะ นอกจากดาวเทียมที่โคจรรอบโลกที่นำหน้าดาวอังคารไปหลายพันดวง
และด้วยเหตุนี้เอง ในบางครั้งยานอวกาศเหล่านี้ก็สามารถถ่ายภาพกันเองได้ โดยการถ่ายภาพกันเองครั้งแรกนั้นเริ่มต้นกันในยุคของยาน Mars Global Surveyor ที่ถูกส่งไปในปี 1997 และภาพแรกของยานอวกาศที่ถูกถ่ายด้วยกัน ก็คือการลงจอดของยาน Opprotunity ซึ่งถูกถ่ายไว้ในเดือนเมษายนปี 2004 ไม่กี่เดือนหลังจากที่ยานลงจอดบนดาวอังคาร
อย่างไรก็ตามการที่ Mars Global Surveyor ถ่ายภาพจุดลงจอดของ Opprotunity ก็อาจไม่ใช่เรื่องแปลกมากนัก เพราะ Mars Global Surveyor ถูกออกแบบมาให้สำรวจพื้นผิวดาวอังคารอยู่แล้ว
รวมถึงการถ่ายภาพยาน Mars Polar Lander (1999) ที่ตกลงบนดาวอังคารขณะร่อนลงจอด ที่ยาน Mars Global Surveyor ก็สามารถถ่ายไว้ได้ด้วยเช่นกัน
ในปี 2005 Mars Global Surveyor ได้ถ่ายภาพประวัติศาสตร์เพื่อต้องต้อนรับน้องใหม่ คือยานอวกาศ Mars Express ที่เดินทางถึงดาวอังคารในปี 2003 และนับเป็นการใช้ยานอวกาศบนดาวอังคารถ่ายภาพกันเองครั้งแรกในวงโคจร
ภาพดังกล่าวถูกบันทึกไว้ในวันที่ 20 เมษายนปี 2005 เมื่อยานทั้งสองลำเคลื่อนที่เข้าใกล้กันที่ระยะประมาณ 250 – 370 กิโลเมตร โดยที่ตัวยาน Mars Express นั้นมีขนาดกว้างยาวและสูงประมาณ 1.5 เมตร แต่มีแผง Solar Array ที่กว้างถึง 12 เมตร ทำให้การถ่ายภาพครั้งนี้ อาจเปรียบเสมือนการที่เราอยู่ที่กรุงเทพฯ และถ่ายภาพรถพ่วง 18 ล้อ 1 คัน ที่จอดอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ได้
ซึ่งการถ่ายภาพที่ไกลขนาดนี้ ก็หมายความว่ากล้องที่ Mars Express ใช้นั้นมีประสิทธิภาพสูงมาก โดยตัวกล้องที่ใช้เรียกว่า Mars Orbiter Camera (MOC) ผลิตโดย Malin Space Science Systems (MSSS) ที่ถูกออกแบบให้ถ่ายภาพพื้นผิวดาวอังคารที่ความละเอียด 1.4 เมตรต่อพิกเซล จากระยะ 378 เมตรจากวงโคจร ทำให้การถ่ายภาพ Mars Express เป็นเหมือนการใช้งานกล้องอย่างเต็มประสิทธิภาพจริง ๆ เราจะเห็นว่า แผง Solar Array ของ Mars Express มันจะหยัก ๆ เหมือนเป็นขั้นบันได ซึ่งเกิดจากระบบประมวลผลภาพ (Image Processing) ที่ทำให้เส้นตรงกลายเป็นหยัก ๆ นั่นเอง เราเรียกสิ่งนี้ว่า Jaggies
และหลังจากที่ JPL ประสบความสำเร็จในการถ่ายภาพดังกล่าว ก็เหมือนนึกสนุก ลองเอากล้อง MOC มาถ่ายภาพยานอวกาศลำอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน JPL ก็ได้เผยภาพยานอวกาศ 2001 Mars Odyssey ที่ถ่ายด้วยกล้องตัวเดียวกัน โดยในรอบนี้ ยาน 2001 Mars Odyssey เข้ามาใกล้ยาน Mars Global Surveyor ที่ระยะ 15 กิโลเมตรเท่านั้น (อ้างอิงตัวเลขจาก – Mars Odyssey Seen by Mars Global Surveyor) ซึ่งใกล้กว่ากรณีของยาน Mars Express มาก ๆ
โดยในตอนนั้น JPL ได้ถ่ายภาพ 2001 Mars Odyssey ที่ระยะ 90-135 กิโลเมตร โดยในการถ่ายภาพนี้ก็เกิดปรากฎการณ์ ยาน 2001 Mars Odyssey ปรากฎให้เห็นสองครั้งในชัตเตอร์เดียวกัน คือภาพที่ระยะ 90 กิโลเมตร และภาพที่ระยะ 135 กิโลเมตร
สำหรับคำอธิบายว่าทำไมเราจึงเห็นยาน 2001 Mars Odyssey สองภาพในเฟรมเดียวกันนั้นก็เป็นเรื่องความเร็วในการเคลื่อนที่ของวัตถุทั้งสอง ที่หากคิดเป็นความเร็วเชิงสัมพัทธ์ (relative) แล้ว ยานทั้งสองจะเคลื่อนที่เข้าและออกจากกันเร็วมาก ๆ ทำให้กล้อง MOC นั้นเก็บภาพไม่ทัน (CCD ใช้การแสกนแบบบนลงล่างไปเรื่อย ๆ) และยาน Mars Global Surveyor เองก็ต้องหมุนตามเพื่อถ่าย 2001 Mars Odyssey ด้วย โดยตัวยานนั้นหมุนในอัตราการหมุนที่คงที่จากการคำนวณล่วงหน้าเพื่อถ่าย 2001 Mars Odyssey ซึ่งจุดที่ยานปรากฎในแต่ละระยะนั้นจะห่างกันอยู่ประมาณ 7.5 วินาที (ภาพนี้เป็น Long Exposure)
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เราได้ภาพของ 2001 Mars Odyssey ที่ระยะสองระยะใน Exposure เดียวกันนั่นเอง นับว่าเป็นปรากฎการณ์ทางแสงและกล้องถ่ายรูปที่น่าสนใจมากปรากฎการณ์หนึ่ง ซึ่งเราเองก็สามารถทำตามได้ด้วยการเปิดโหมดพาโนรามาแล้วค่อย ๆ หันกล้องเพื่อถ่ายตัวเราเมื่อกล้องถ่ายตัวเราไปแล้วหนึ่งรอบ ให้เรารีบวิ่งไปยังอีกจุดที่กล้องยังไม่ได้ถ่าย เมื่อกล้องหันมาหาเราอีกรอบ จะทำให้เราเข้ามาอยู่ในเฟรมอีกครั้งเหมือนกับมีเราสองคนปรากฎในภาพนั่นเอง
อย่างไรก็ตามในการถ่ายภาพครั้งนี้ JPL และ Lockheed Martin ไม่ได้ระบุเวลาการถ่ายที่ชัดเจนว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ มีเพียงข้อมูลแค่ว่าภาพนี้ถูกอัพโหลดขึ้นระบบในวันที่ 19 พฤษภาคม 2005 (ซึ่งเราจะมาลองหากันว่าภาพนี้ถูกถ่ายในวันที่เท่าไหร่กันแน่)
เราจะสังเกตว่าที่ระยะใกล้ 15 กิโลเมตร ภาพของยาน 2001 Mars Odyssey นั้นเห็นชัดเจนเป็นรูปเป็นร่างมากกว่าการเห็นเป็นพิกเซลแตก ๆ เหมือนกรณีของยาน Mars Express ไม่กี่เดือนก่อนหน้ามาก
ทีนี้ก็อาจมาถึงคำถามที่หลายคนอาจสงสัยว่าทำไม Mars Global Surveyor มีโอกาสเห็นยานลำอื่น ๆ และกลายเป็นลำที่ถ่ายภาพยานลำอื่นได้ ทำไมเราไม่เห็น 2001 Mars Odyssey ถ่ายภาพ Mars Express บ้าง คำตอบก็คือ Mars Global Surveyor นั้นถูกออกแบบให้โคจรในลักษณะตัดขั้วเหนือใต้ของดาวอังคารที่วงโคจรประมาณ 378 กิโลเมตร ในขณะที่ 2001 Mars Odyssey ก็โคจรในลักษณะตัดขั้วเหนือใต้เหมือนกันที่ความสูงประมาณ 400 กิโลเมตร ดังนั้น มีโอกาสที่ยานทั้งสองจะโคจรมาตัดกันและมีระยะห่างอยู่ที่ 400 – 378 ก็คือประมาณ 22 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งไม่ต้องตกใจว่าทำไมไม่เหมือนกับตัวเลขที่ JPL ระบุ นั่นก็เพราะว่าวงโคจรของยานทั้งสองลำไม่ได้ตรงเป๊ะ ๆ เป็นวงกลมสมบูรณ์นั่นเอง
ดังนั้น ตามคณิตศาสตร์แล้ว Mars Global Surveyor กับ 2001 Mars Odyssey จะมีโอกาสเห็นกันเยอะมาก ส่วน Mars Express นั้นเนื่องจากมีวงโคจรในลักษณะวงรี จากระยะ 298 กิโลเมตร จนถึง 10,107 กิโลเมตร ทำให้การที่ Mars Global Surveyor เห็น Mars Express นับเป็นกรณีพิเศษจริง ๆ
และคงเดาไม่ยากว่า การที่ JPL ออกแบบวงโคจร 2001 Mars Odyssey กับ Mars Global Surveyor นั้นอยู่ห่างกันประมาณ 22 กิโลเมตร ก็เพราะป้องกันยานอวกาศทั้งสองชนกันนั่นเอง แม้โอกาสนี้จะเกิดขึ้นได้น้อยมาก ๆ ก็ตาม (และถ้ารู้ว่าทั้งสองจะชนกัน JPL ก็จะสั่งให้ยานลำใดลำหนึ่งปรับวงโคจรเพื่อหลีกเลี่ยงการชน เหมือนกรณีที่ยาน MAVEN เคยต้องปรับวงโคจรเพื่อป้องกันการชนกับดวงจันทร์ MAVEN ในปี 2017)
ทีนี้ที่ติดค้างกันว่า การถ่ายภาพ 2001 Mars Odyssey นั้นเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เราสามารถย้อนเวลาไปดูการเข้าใกล้กันของยานอวกาศเหล่านี้ได้ด้วยโปรแกรม Eyes on Solar System ของ JPL ได้ และหากย้อนเวลากลับไปวันที่ 20 เมษายนปี 2005 เราจะเห็น Mars Express เข้าใกล้ยาน Mars Global Surveyor มาก ๆ และใกล้กันถึงระยะ 98 กิโลเมตร (ซึ่งตัวเลขนี้ไม่อาจบอกได้ว่าตรงกับความเป็นเรื่อง เพราะเป็นตัวเลขจากการคำนวณ) แสดงว่าแท้จริง ในวันที่ 21 เมษายน 2005 เวลาประมาณ 9:32 GMT ยานทั้งสองเข้าใกล้กันที่ระยะหลักร้อยกิโลเมตรเท่านั้น และสาเหตุที่ JPL บันทึกว่าเป็นวันที่ 21 ก็เพราะว่าเวลาที่แสดงนี้เป็นเวลา GMT ดังนั้นจะตรงกับวันที่ 20 เมษายนของ JPL ตามเวลา Pacific Time
และสำหรับกรณีของ 2001 Mars Odyssey เข้าใกล้ Mars Global Surveyor ในไม่กี่เดือนต่อมานั้น หากเราลองจำลองด้วยโปรแกรม Eyes on Solar System เราจะเห็นยานทั้งสองโคจรใกล้กันมาก ๆ ในช่วงวันที่ 15-18 พฤษภาคม 2005
ซึ่งมีนับกว่า 10 เหตุการณ์ที่ตัวยานเข้ามาใกล้กันในระยะน้อยกว่า 90 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะที่ JPL บอกว่าสามารถถ่ายภาพได้ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถหาข้อมูลต่อได้ว่าแล้วแท้ที่จริง วันและเวลาที่ถ่ายภาพนั้นคือวันที่เท่าไหร่เวลาอะไร แต่หากอ้างอิงจากตัวเลข 15 กิโลเมตรที่ JPL บอกนั้น เราลอง Simulate ดูในช่วงวันที่ดังกล่าว พบว่าการเข้าใกล้กันของยานทั้ง 2 นั้น ใกล้กันสุดอยู่ที่ระยะ 34 กิโลเมตรเท่านั้น
วันที่ 16 พฤษภาคม เวลาประมาณบ่ายโมง GMT ยาน Mars Global Surveyor กับ 2001 Mars Odyssey อยู่ห่างกันที่ระยะ 34 กิโลเมตร
แต่หลังจากเหตุการณ์ในช่วงปี 2005 NASA และ JPL เอง ก็ไม่ได้เอายานอวกาศบนดาวอังคารมาถ่ายภาพกันเองอีก (ซึ่งก็สมควรแล้ว เอาเวลาไปถ่ายภาพพื้นผิวดีกว่า)
จนกระทั่งในเดือน จนกระทั่งในเดือนมีนาคมปี 2006 ยานอวกาศลำใหม่ก็ได้เดินทางถึงดาวอังคาร นั่นก็คือยาน Mars Reconnaissance Orbiter ที่มาพร้อมกับกล้องตัวใหม่ที่ชื่อว่า HiRISE ซึ่งจวบจนปัจจุบันก็ยังเป็นกล้องถ่ายภาพที่ความละเอียดสูงที่สุดอยู่ที่โคจรรอบดาวอังคาร High Resolution Imaging Science Experiment (HiRISE) ถูกออกแบบให้ถ่ายภาพพื้นผิวดาวอังคารที่ความละเอียด 0.3 เมตรต่อพิกเซล นั่นหมายความว่าหากมีคนไปยืนบนดาวอังคารมันจะสามารถถ่ายภาพเห็นเป็นตัวคนได้เลยทีเดียว
โดยผู้ที่ได้พัฒนา HiRISE ขึ้นมาก็คือ University of Arizona ดังนั้น แม้ในบทความนี้เราจะใช้การอ้างอิงไปยัง JPL-Caltech เป็นหลัก แต่ในเชิงวิชาการ เราจะต้องอ้างอิงจาก University of Arizona ด้วยเช่นกัน
สาเหตุที่ HiRISE มีประสิทธิภาพสูงขนาดนี้ ก็เพราะว่ามันใช้กระจกสะท้อนขนาดถึง 0.5 เมตร เรียกได้ว่าเป็นขนาดของกล้องที่ใหญ่ที่สุดที่เคยเดินทางไปยังดาวอังคารด้วย เป้าหมายของ Mars Reconnaissance Orbiter ก็คือการทำแผนที่ดาวอังคารที่ละเอียดกว่า Mars Global Surveyor และ 2001 Mars Odyssey เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจสำรวจดาวอังคารต่อ ๆ ไป
และแน่นอนว่า หลังจากที่ NASA และ JPL ได้กล้อง HiRISE ของเล่นใหม่ที่ดีกว่าเดิม ชัดกว่าเดิม ประสิทธิภาพดีกว่าเดิมก็คือแม่งเอามาถ่ายยานอวกาศอื่น ๆ กันยับเลย เริ่มต้นจากการถ่ายภาพยานอวกาศ
เริ่มต้นจากการเอามาถ่ายภาพโรเวอร์ Spirit ฝาแฝดของ Opportunity ที่ถูกส่งไปยังดาวอังคารในปี 2003 โดยในการถ่ายภาพนี้นั้น เกิดขึ้นในวันที่ 29 กันยายน 2006 โดยในภาพจะเป็นการถ่ายภาพจากมุมกว้าง ซึ่งบริเวณต่าง ๆ ที่ปรากฎนั้น แสดงให้เห็นร่องรอยการลงจอดของ Spirit
โดยรายละเอียดในการถ่ายภาพครั้งนี้นั้นได้แก่
- จุด A คือบริเวณที่ฝาครอบและตัวร่มชูชีพที่ตัวยานใช้ในการเข้าบรรยากาศของดาวอังคารตก
- จุด B คือบริเวณที่ยาน Spirit ลงจอด พร้อมกับตัว Lander
- จุด C คือจุดที่ Heatshield หรือฝาครอบด้านล่างเพื่อกันความร้อนระหว่างเข้าบรรยากาศตก
- จุด D คือจุด ณ ปัจจุบันที่ Spirit เดินทางห่างออกไปจากจุดลงจอด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ปีหลังจากลงจอด
นี่นับว่าเป็นครั้งแรกที่ NASA ได้อวดภาพหลักฐานการลงจอดของยาน Spirit จริง ๆ จากการถ่ายโดยยานลำอื่น ซึ่งต้องขอบคุณ HiRISE ที่ทำให้ได้ภาพความละเอียดสูงขนาดนี้ และในเดือนมกราคมปี 2007 เราก็ได้บอกลายาน Mars Global Surveyor ในที่สุดเนื่องจากมียานอวกาศลำใหม่มาทดแทน ซึ่งเราจะเห็นว่าการถ่ายภาพ Spirit ของ Mars Reconnaissance Orbiter นั้น ชัดกว่าการถ่าย Opportunity ของ Mars Global Surveyor ในปี 2004 มาก
ซึ่งกล้อง HiRISE นั้นก็ได้ถูกนำมาใช้บันทึกเหตุการณ์สำคัญ ๆ บนดาวอังคารหลังจากนั้นเป็นต้นมา โดยทั้งหมดจะเป็นการบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นบนพื้นผิว เช่น ยานอวกาศ Phoenix ที่ NASA ส่งไปลงจอดในปี 2008 โดยเราสามารถดูได้จากคลังภาพ รวมภาพยาน Phoenix ที่ถ่ายโดย Mars Reconnaissance Orbiter
โดยภาพถ่ายของ HiRISE นั้น ก็ได้เผยให้เห็นความเสียหายที่เกิดขึ่นกับ Phoenix ที่ได้เกิดน้ำแข็งแห้ง (คาร์บอนไดออกไซด์) ไปจับตัวกันที่แผง Solar Array ของยาน จนทำให้ตัวแผงเกิดงอหรืออาจหัก จนนำไปสู่การสิ้นสุดภารกิจในที่สุด จากคำอธิบายของ JPL ใน Phoenix Mars Lander is Silent, New Image Shows Damage
ในปี 2012 ยาน Mars Reconnaissance Orbiter ก็ได้เป็นสักขีพยานของเหตุการณ์สำคัญคือการลงจอดของภารกิจ Mars Science Laboratory หรือยานโรเวอร์ Curiosity ที่เราคุ้นเคยกันดี ซึ่งในตอนนั้น กล้อง HiRISE สามารถถ่ายภาพในระหว่างที่ Curiosity กำลังกางร่มชูชีพเพื่อร่อนลงจอดได้อย่างชัดเจน ในวันที่ 5 สิงหาคม 2012
และหลังจากการลงจอด Mars Reconnaissance Orbiter ก็ยังได้ถ่ายรูปบริเวณที่ชิ้นส่วนต่าง ๆ จากการลงจอดไปตกอยู่ ไม่ว่าจะเป็น Sky crane หรือตัวร่มชูชีพ รวมถึงบันทึกร่องรอยบนพื้นผิวได้อย่างชัดเจน
ซึ่งหลังจากนั้น Mars Reconnaissance Orbiter ก็ได้กลายเป็นเหมือนเพื่อนของ Curiosity ที่คอยถ่ายภาพและชี้ทางให้กับการสำรวจดาวอังคารมาโดยตลอด ซึ่งในบทความนี้เราอาจจะไม่ได้หยิบยกภาพอื่น ๆ มาเล่า เนื่องจากสามารถไปหาดูเองได้ในบันทึกของ HiRISE ได้ไม่ยากมากนัก
และการเข้ามาของกล้อง HiRISE นี่เองที่ทำให้เราสามารถยืนยันจุดตกของยาน Beagle 2 ของอังกฤษ (ซึ่งตอนนั้นยังอยู่ภายใต้ ESA) ที่เดินทางไปลงจอดดาวอังคารในปี 2003 แต่สัญญาณกลับขาดหายไปในขณะร่อนลง ทำให้สามารถอนุมานได้ว่าตัวยานตกกระแทกผิวดาวอังคารด้วยความเร็วสูง และเสียหายไปในที่สุด ซึ่งภาพถ่ายยืนยันการตกนี้ ก็ออกมาให้เราได้เห็นในอีกราวทศวรรษให้หลัง
ภาพดังกล่าวถูกถ่ายในวันที่ 16 มกราคมปี 2015 และได้ถูกร่วมยืนยันโดย University of Leicester ผู้พัฒนาตัวยาน Beagle 2 และเลือกจุดลงจอดของยานนั่นเอง ที่มา – NASA/JPL-Caltech, University of Arizona
อีกหนึ่งภาพที่โด่งดังก็คือการถ่ายภาพยาน InSight ที่เดินทางไปลงจอดบนดาวอังคารในปี 2018 และถูกถ่ายภาพไว้โดย Mars Reconnaissance Orbiter ในวันที่ 29 กันยายน 2019 ซึ่งเราจะเห็นบริเวณโดยรอบที่เป็นร่อยรอยจากตัวเครื่องยนต์เพื่อพยุงยานลงจอด
และเหตุการณ์สำคัญล่าสุดที่ Mars Reconnaissance Orbiter สามารถบันทึกได้ก็คือ การลงจอดของ Perseverance ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2021 ณ บริเวณ Jezero Crater ซึ่งจะคล้ายกับกรณีการถ่ายภาพ Curiosity เมื่อเกือบสิบปีก่อน
และ 24 กุมภาพันธ์ Mars Reconnaissance Orbiter ก็ได้ถ่ายภาพ Perseverance อีกครั้ง เพื่อยืนยันว่าตัว Perseverance นั้นปลอดภัยดี ก่อนที่ Perseverance จะเริ่มต้นการสำรวจดาวอังคารตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
และที่รู้กันดีนั้นว่า Perseverance เองนอกจากตัวมันเองเดี่ยว ๆ แล้ว มันยังมีเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กอย่าง Ingenuity เดินทางไปด้วย และหากเราจะนับการถ่ายภาพ ingenuity ของ Perseverance นับเป็นการถ่ายภาพกันเองด้วยแล้ว ในบทความนี้เราเองก็อยากพูดถึงการถ่ายภาพ Ingenuity ด้วยเช่นกัน
โดยในการขึ้นบินของ Ingenuity นั้นหลายครั้งถูกบันทึกเอาไว้ได้โดย Perseverance ด้วยกล้อง Mastcam-Z ซึ่งเป็นกล้องถ่ายภาพหลักบนยาน และหลายครั้ง สามารถบันทึกภาพและนำมาเรียงต่อกันเป็นวิดีโอแสดงการบินของ Ingenuity ได้ด้วยเช่นกัน
และภาพสุดท้ายที่เราจะหยิบยกมาเล่ากัน ก็คือกรณีการที่จีนได้กลายเป็นชาติที่ 2 ที่สามารถลงจอดยานอวกาศบนดาวอังคารได้สำเร็จ โดยการลงจอดของโรเวอร์จู้หรง (Zhurong) นั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2021 บริเวณพื้นที่ที่ชื่อว่า Utopia Planitia
ภาพนี้ถ่ายในวันที่ 11 มีนาคม 2022 เป็นเวลาประมาณ 8 เดือนหลังจากที่ลงจอด โดย Mars Reconnaissance Orbiter เจ้าเก่าเจ้าเดิม ซึ่ง ณ ปัจจุบันโรเวอร์จู้หรงก็ยังคงอยู่ตรงนี้ หมายความว่าตัวโรเวอร์ไม่สามารถเอาชีวิตรอดจากอากาศที่โหดร้ายของดาวอังคารได้
เราจะสังเกตว่าช่วงหลัง ๆ เราจะนำเอายานอวกาศมาถ่ายภาพพื้นผิวมากกว่าเอามาถ่ายยานอวกาศด้วยกันเอง และอุปกรณ์ HiRISE ก็ถูกออกแบบมาให้ถ่ายภาพพื้นผิวบนดาวอังคาร ทำให้เราไม่ได้เห็นภาพเหมือนกรณียาน Mars Global Surveyor ที่เอามาถ่ายยานลำอื่นเล่น เหมือนในอดีต ทำให้กรณีการถ่ายภาพยานลำอื่นบนวงโคจรของ Mars Global Surveyor นั้นกลายเป็นตำนานไปแล้ว
และประกอบกับการที่ยานอวกาศลำอื่น ๆ เช่น Trace Gas Orbiter หรือ MAVEN เป็นยานที่เน้นใช้เพื่อศึกษาอง์ประกอบบรรยากาศเป็นหลัก ทำให้มันไม่ได้มีกล้องถ่ายภาพความละเอียดสูงเหมือน HiRISE ภาพบนดาวอังคารที่เห็นเกือบทั้งหมดจึงมาจาก HiRISE มากกว่า
ในอนาคตหากมียานไปสำรวจดาวอังคารมากขึ้น เราอาจจะได้เห็นกรณีการถ่ายภาพกันเองมากขึ้นด้วยเช่นกัน และอีกหนึ่งกรณีการถ่ายภาพที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตก็คือภารกิจ Mars Sample Return ซึ่งจะต้องใช้ยานอวกาศมากถึง 3 ลำในการช่วลำเลียงตัวอย่างหินกลับสู่โลก
และสุดท้ายเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่มีภาพถ่ายยานอวกาศที่ถูกถ่ายโดยยานอีกลำนึงนั้นก็ช่วยให้เรารู้สึกว่าอวกาสเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น และเป็นของแปลกที่นาน ๆ จะได้เห็นทีด้วยเช่นกัน
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co