SpaceX บริษัทธุรกิจการขนส่งอวกาศที่ตอนนี้กำลังมาแรงมากที่สุด ปัจจุบัน SpaceX ได้ทำการส่ง Falcon 9 จรวดที่ทันสมัยที่สุดในโลกให้บริการลูกค้าต่าง ๆ ทั้งรัฐบาลและเอกชนไปแล้วมากกว่า 50 เที่ยว และในปี 2018 นี้ SpaceX มียอดจองเที่ยวบินสูงถึง 30 เที่ยว เฉลี่ยง่าย ๆ ว่ามีการปล่อย 2-3 ครั้งในแต่ละเดือน ซึ่งเรียกได้ว่าสูงที่สุดและมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกในแต่ละปี
ก็เหมือนจะสมเหตุสมผล ปัจจุบันนอกจากเราจะมีบริษัทด้านดาวเทียมขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงระดับโลกตั้งแต่ Intelsat, Iridium, Inmarsat, SES, AsiaSat หรือ Thaicom ณ ปัจจุบันเรายังมีบริษัทสตาร์ทอัพต่าง ๆ มากมายด้านอวกาศ รวมถึงของไทยที่เพิ่งเปิดตัวไปอย่าง Mu Space และบริษัทอื่น ๆ อีกนับร้อย ยังไม่รวมดาวเทียมทดลองของมหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมที่ต่างต้องการจะส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร นั่นทำให้การแข่งขันทางด้านราคาและการให้บริการของบริษัท Launch Provider (บริการส่งของขึ้นสู่อวกาศ) ดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบัน SpaceX ถ้าเทียบกันกิโลกรัมต่อกิโลกรัมแล้ว ก็กลายเป็นผู้ให้บริการที่มีมาตรฐานสูงแต่มีราคาถูกที่สุด
ผู้เขียนมีโอกาสได้คุยกับสตาร์ทอัพหลายบริษัททั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึง Planet Lab ที่ทำดาวเทียมถ่ายรูปขนาดเล็กบนวงโคจรโลก ก็พบว่าบริษัทพวกนี้จะมีตัวเลือกสำคัญอยู่ 2 ทางคือ SpaceX และจรวดของอินเดีย อย่างไรก็ตามบริษัทสตาร์ทอัพเหล่านี้เป็นการปล่อยดาวเทียมขนาดเล็กฝากขึ้นไปในลักษณะของ Secondary Payload ซึ่งจะส่งขึ้นไปพร้อมกับดาวเทียมดวงใหญ่
ดาวเทียมดวงใหญ่ที่ว่าก็ได้แก่ดาวเทียมจากบริษัทขนาดใหญ่ที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งก็มีเพียงไม่กี่บริษัทด้านการขนส่วอวกาศที่สามารถส่งได้ หลัก ๆ ก็คือ SpaceX, ULA (ความร่วมมือระหว่าง Boeing และ Lockheed Marin), ArianeSpace จากฝั่งยุโรป และจรวดของจีน รัสเซีย บริษัทพวกนี้คือบริษัทที่มีจรวดขนส่งขนาดใหญ่พอที่จะส่งดาวเทียมหลักสิบหรือหลายสิบตันขึ้นสู่วงโคจรได้ ที่เหลืออย่าง Rocket Lab จะสามารถปล่อยดาวเทียมขนาดเล็กเท่านั้น
แน่นอนว่ารายได้หลักของ SpaceX นั้นก็มาจากดาวเทียมขนาดใหญ่ ซึ่งผู้เขียนจะสรุปในบทความนี้ว่ามีบริษัทไหนบ้าง แต่ความจริง จริง ๆ ก็คือ ลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของ SpaceX นั้นไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น NASA องค์การด้านอวกาศของสหรัฐอเมริกานั่นเอง
NASA กับเงินก้อนมหาศาล
SpaceX นั้นมีความสัมพันธ์กับ NASA มาอย่างยาวนาน NASA ได้ให้ทุน SpaceX ในโครงการ Commercial Resupply เพื่อจัดหายานอวกาศในการส่งของขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ SpaceX ได้สร้างยาน Dragon และจรวด Falcon 9 ขึ้น ซึ่งก็มีการพัฒนาและใช้งานในโครงการ CRS มาจนถึงปัจจุบัน และมีกำหนดสิ้นสุดสัญญาที่ 20 ครั้ง สัญญานี้ทำให้ SpaceX มีรายได้เข้ามา หนึ่งหมื่นสี่พันล้านเหรียญ ประมาณ สี่แสนสามหมื่นล้านบาท แลกกับการส่งของให้ ISS 20 ครั้ง
ในตอนนั้น NASA ยังได้มอบทุนเท่ากันให้กับบริษัท Orbital ATK เจ้าของยานอวกาศชื่อ Cygnus แต่ Orbital สามารถส่งยานให้กับ NASA ได้เพียงแค่ 10 ครั้งเท่านั้น (ทำให้เมื่อเทียบกัน flight ต่อ flight แล้ว SpaceX ถูกกว่าถึง 2 เท่า)
ล่าสุดกับทาง NASA SpaceX ได้รับทุนก้อนที่สองได้แก่ทุน Commercial Crew หรือการส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่สถานีอวกาศ ณ ตอนนี้ 3,144 ล้านเหรียญหรือเกือบหนึ่งแสนล้านบาท จำนวนนี้เพียงเพื่อพัฒนายานอวกาศสำหรับคนนั่ง ซึ่งตามแผนของ SpaceX คือยาน Drago 2 สัญญานี้ยังไม่รวมการส่ง ซึ่งถ้า SpaceX ทำสำเร็จก็อาจจะมีรายได้เข้ามาแตะถึงหลักล้านล้านบาท ในเวลาประมาณ 5-10 ปี
นั่นทำให้รายได้อันดับหนึ่งของ SpaceX มาจาก NASA เป็นหลักอย่างชัดเจน ส่วนอันดับถัด ๆ ไปนั้นก็จะมาจากการให้บริการการปล่อยดาวเทียม (เรียกกลุ่มนี้รวมว่าบริษัทดาวเทียม) ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว SpaceX จะคิดราคาการปล่อย Falcon 9 อยู่ที่ประมาณ 60 ล้านเหรียญต่อเที่ยว บวกลบหลักล้าน และหากมีการใช้จรวดที่ผ่านการใช้งานแล้วก็จะได้ราคาที่ถูกลง รวมถึงหากเป็นการปล่อยสัญญาระยะยาวก็จะไ้ด้รับส่วนลดเช่นกัน เหมือนที่ Iridium เลือก SpaceX ในการปล่อยดาวเทียมชุด Iridium NEXT
อีกหนึ่งวิธีที่บริษัทดาวเทียมนิยมทำกันคือการหารค่าปล่อย เช่น EutelSat และ ABS เคยทำการหารค่าปล่อยกันด้วยการติดตั้งดาวเทียมซ้อนกัน แล้วปล่อยขึ้นไปกับจรวดลำเดียว ในเดือนมิถุนายนปี 2016
ซึ่งเมื่อเรียงตามลำดับครั้งการปล่อยแล้ว (จริง ๆ ผู้เขียนอยากจัดเรียงตามรายได้ แต่ SpaceX ไม่มีการเปิดเผยรายได้ตามสัญญา ทำให้ไม่สามารถเรียงตามราคาได้ แต่ราคาต่อ Flight ก็จะไม่ต่างกันมาก ทั้งนี้จะมีการบอกว่าเป็นการใช้จรวดซ้ำกี่ครั้ง เพื่อหักส่วนลดได้)
Iridium ดีลใหญ่ 7 เที่ยวบิน
Iridium บริษัทดาวเทียมเก่าแก่ของโลกผู้สร้างโครงข่ายสื่อสารบน Low Earth Orbit ด้วยกลุ่มดาวเทียมหลาย ๆ ดวง ในปี 2015 Iridium ได้ทำการพัฒนาดาวเทียมชุดใหม่เพื่อทดแทนดาวเทียมกลุ่มเก่าในชื่อว่า Iridium NEXT โดย Iridium จะมีดาวเทียมทั้งหมด 70-75 ดวงตลอดการปล่อยทั้งหมด 7-8 ครั้งของ Falcon 9 โดยใน 1 เที่ยว Falcon 9 จะทำการบรรทุกดาวเทียมจำนวน 10 ดวง ขึ้นสู่วงโคจร
สัญญาที่ Iridium ได้ทำไว้กับ SpaceX สำหรับการปล่อย 7 เที่ยวนี้อยู่ที่ 492 ล้านเหรียญ หรือ หนึ่งหมื่นห้าพันล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นเงินก้อนใหญ่ที่สุดจากบริษัทให้บริการดาวเทียมที่มอบให้กับ SpaceX ปัจจุบัน SpaceX ณ วันที่เขียนบทความได้ทำการส่งดาวเทียมให้กับ Iridium ไปแล้ว 5 ดวง ดังนั้นเหลืออีกแค่ 2 เที่ยว ก็จะครบตามสัญญา ส่วนในด้านของการลดต้นทุนนั้น SpaceX ได้ใช้จรวดซ้ำในการส่งไปแล้ว 2 ลำ และเป็นที่ค่อนข้างชัดเจนว่า SpaceX จะใช้จรวดซ้ำกับ Iridium ในรอบถัดไป
SES 4 เที่ยวบิน
SES บริษัทดาวเทียมยักษ์ใหญ่ของโลกจากประเทศลักเซมเบิร์กเจ้าของดาวเทียม SES ซึ่งเป็นดาวเทียมสื่อสารขนาดใหญ่ให้บริการลงมาจากวงโคจร Geostationary Orbit หรือวงโคจรค้างฟ้า ปัจจุบัน SES ทำการปล่อยดาวเทียมกับ SpaceX ไปแล้ว 4 ครั้ง โดยในครั้งแรก การส่งดาวเทียม SES-8 ในเดือน ธันวาคมปี 2013 และก็ได้ทำการปล่อยเรื่อยมาตั้งแต่ SES-9 , SES-10, SES-11 และ SES-16 ครั้งล่าสุด
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ SpaceX มีการใช้จรวดที่ผ่านการใช้งานแล้วในการปล่อยดาวเทียม SES-10, SES-11, 12 รวมถึงในการปล่อย SES-16 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2018 ก็จะเป็นการใช้งานจรวดซ้ำเช่นเดียวกัน
SES นั้นเป็นบริษัทที่ใช้งานผู้ให้บริการปล่อยค่อนข้างหลายเจ้า ดังนั้นเราจะเห็นดาวเทียมของ SES ปล่อยกับผู้ให้บริการรายอื่นอยู่บ้าง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะ SES ปล่อยดาวเทียมมาก่อนที่จะมี Falcon 9 เสียอีก
Orbcomm 3 เที่ยวบิน
บริษัทให้บริการดาวเทียมบน Low Earth Orbit สัญชาติอเมริกาในดาวเทียมชุด Orbcomm-OG2 ซึ่งมีการเซ็นสัญญากันในปี 2009 ว่าจะมีการปล่อยกับ SpaceX จำนวน 18 ดวง ในราคา 42.6 ล้านเหรียญ (ซึ่งนับว่าถูกมาก) และมีการปล่อยครั้งแรกเมื่อปี 2012 เป็นเที่ยวบินทดสอบที่ Orbcomm ยอมจ่ายถึง 10 ล้านเหรียญเพื่อให้มั่นใจว่าเทคโนโลยีจรวดของ SpaceX นั้นใช้งานได้จริง
ในปลายปี 2014 จรวด Falcon 9 ก็ทำการนำส่งดาวเทียมชุด Orbcomm-OG2 จำนวน 6 ดวง (ซึ่งเที่ยวบินนั้นเป็นเที่ยวบินแรกที่ SpaceX ทำการลงจอดจรวดสำเร็จ) และหนึ่งปีหลังจากนั้นในเดือนธันวาคมปี 2015 SpaceX ก็ได้ทำการปล่อยดาวเทียมชุด OG-2 ให้กับ Orbcomm เพิ่มอีก 11 ดวง
นั่นทำให้ Orbcomm กลายเป็นลูกค้ารายสำคัญของ SpaceX ด้วยการซื้อการปล่อยถึง 3 ครั้งด้วยกัน โดย Orbcomm นั้นเป็นบริษัทที่ค่อนข้างไว้ใจ SpaceX และรับความเสี่ยงสูง เพราะเที่ยวบินแรกของ OG-2 นั้นเกิดขึ้นหลังการระเบิดของจรวด Falcon 9 ในภารกิจ CRS-7 เมื่อกลางปี 2015
Thaicom 3 เที่ยวบิน
Thaicom บริษัทดาวเทียมสัญชาติไทยผู้ผ่านการใช้บริการจาก SpaceX ถึง 3 ครั้ง เดิมทีนั้นดาวเทียม Thaicom ชุดแรก ๆ จะถูกปล่อยด้วยจรวด Ariane ของ ESA แต่หลังจากที่ SpaceX ได้พัฒนาจรวด Falcon 9 รุ่น 1.1 ดาวเทียม Thaicom 6 ก็เป็นดาวเทียมดวงแรกที่ถูกปล่อยด้วยจรวด Falcon 9 ของ SpaceX เมื่อช่วงต้นปี 2014 ในราคาที่ถูกกว่าของ ESA ทำให้ SpaceX ได้แย่งลูกค้าเจ้าสำคัญนี้ไป Thaicom นั้นมีชื่อเสียงมาจากดาวเทียม Thaicom 4 IPSTAR ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นดาวเทียมที่ใหญ่ที่สุดในโลก หนักที่สุดในโลก และช่องสัญญาณกว้างและเร็วที่สุดในโลก
ดาวเทียม Thaicom 7 นั้นเป็นความร่วมมือโดยใช้ดาวเทียมดวงเดียวกับ AsiaSat-8 แต่อย่างไรก็ตาม Thaicom ก็ต้องเป็นผู้ชำระค่าบริการส่วนหนึ่ง ทำให้ผู้เขียนนับครั้งนั้นว่าเป็นการซื้อบริการจาก SpaceX เช่นกัน และดวงล่าสุด Thaicom 8 ที่ปล่อยไปเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมาก็เป็นการปล่อยอีก 1 ครั้ง
ทำให้ปัจจุบัน Thaicom ใช้บริการจาก SpaceX มาแล้วถึง 3 ครั้ง
AsiaSat, EutelSat, ABS, EcoStar เจ้าละ 2 เที่ยวบิน
ไม่ว่าจะเป็นบริษัท AsiaSat บริษัทดาวเทียมจากประเทศฮ่องกง EutelSat จากประเทศฝรั่งเศส ABS จากอังกฤษ และ EchoStar จากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ล้วนแล้วแต่เคยผ่านการปล่อยกับ SpaceX มาแล้วเจ้าละ 2 ครั้ง ซึ่ง AsiaSat นั้นก็ดังที่บอกไปว่ามีการใช้ดาวเทียมร่วมกับ Thaicom จำนวน 1 ครั้ง (Thaicom 7)
ดีลของบริษัทพวกนี้จะไม่มีอะไรพิเศษมากนักเนื่องจากเป็นการปล่อยแบบครั้งต่อครั้งไม่มีการเซ็นสัญญาระยะยาว แม้ว่าบริษัทเหล่านี้ในอนาคตอาจจะมีการซื้อบริการจาก SpaceX อีกครั้ง แต่ก็ยังไม่เอามานับรวมเนื่องจากยังไม่เกินขึ้น ซึ่งหลายเจ้าก็มีโอกาสที่จะได้ใช้บริการจรวด Falcon Heavy จรวดรุ่นใหม่ที่ทรงพลังที่สุดของ SpaceX
บริษัทดาวเทียมอื่น ๆ อีก
ที่เหลือนี้ก็จะเป็นบริษัทดาวเทียมที่ผ่านการดีลกับ SpaceX เพียงครั้่งเดียว เช่น Paz ของสเปน, FermoSat ของไต้หวัน, Inmarsat และ IntelSat ของสหรัฐอเมริกา รวมถึงบริษัทอื่น ๆ และองค์กรของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา (NOAA หรือกองทัพอากาศ) อีกนับ 10 เจ้าที่เคยผ่านการปล่อยกับ SpaceX มีเรื่องที่น่าจับตามองก็คือ หลังจากที่ SpaceX มีจรวด Falcon 9 Block 5 ที่ทรงพลังกว่าเดิมและจรวดอย่าง Falcon Heavy เราจะเห็นผู้ให้บริการดาวเทียมขนาดใหญ่หันมาใช้ SpaceX กันมากขึ้น โดยเฉพาะ Inmarsat และ Intelsat ที่ตอนแรกก็ book เที่ยวบินกับ Falcon Heavy ไว้ แต่พอ Faclon 9 มีพลังแรงขึ้นจากการพัฒนาต่าง ๆ ก็กลายเป็นว่าสามารถใช้ Falcon 9 ปล่อยได้ในราคาที่ถูกลงไปอีก
SpaceX นั้นจะมีข่าวออกมาเรื่อย ๆ ว่าได้รับสัญญาจากเจ้าต่าง ๆ ซึ่งก็แน่นอนว่าเป็นเม็ดเงินมหาศาลให้กับ SpaceX อีก และหลังจากที่ SpaceX ได้รับ Certificate จากกองทัพอากาศสหรัฐ ทำให้การรับงานต่าง ๆ จากทางกองทัพนั้นสามารถทำได้ ในส่วนของภารกิจลับต่าง ๆ ซึ่ง SpaceX ก็ได้ทำภารกิจลับไปแล้วถึง 2 ภารกิจ และไม่มีการเปิดเผยจำนวนเงิน
เนื่องจาก SpaceX นั้นต้องการคงสถานะเป็น Private Company จึงไม่มีการเปิดให้มีหุ้นแต่อย่างไร แต่ก็จะมีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ร่วมลงทุนในโครงการต่าง ๆ ย่อยไป เช่นในปี 2015 Alphabet (บริษัทแม่ของ Google) ที่ได้ส่วนแบ่งไปถึง 7.5% มีบางบทความก็บอกว่าถ้าอยากลงทุนใน SpaceX ก็ให้ไปลงทุนกับ Google ซึ่งจะบอกว่า Make-sense ก็ Make-sense แต่จะบอกว่าไม่ก็ไม่ (ฮา)
ปัจจุบัน SpaceX อยู่ระหว่างการพัฒนาจรวดรุ่นใหม่หรือ BFR ที่จะมาพร้อมกับบริการใหม่ก็คือการขนส่งคนข้ามทวีป หาก SpaceX สามารถพัฒนาระบบการขนส่งนี้ได้สำเร็จก็จะทำให้ SpaceX มีรายได้จากการขนส่งระหว่างทวีปนอกเหนือจากการปล่อยดาวเทียมอย่างเดียว
แม้ SpaceX จะไม่ใช่บริษัทที่เติบโตมากในด้านของผลกำไรเนื่องจากจริง ๆ แล้ว SpaceX ก็สร้างขึ้นมาเพื่อสนองความอยากของ Elon Musk ในการไปดาวอังคาร ทำให้ในเรื่องของการบริการนั้นเหมือนกับทำเอามันส์ไม่ได้เอารวย แล้วเอาเงิน เทคโนโลยี คน มามุ่งพัฒนาเพื่อให้มนุษย์ได้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่เดินทางไปมาระหว่างดาวได้อย่างอิสระ
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co
อ้างอิง
Why Google invested $1 billion in SpaceX – Business Insider
SpaceX Wins Orbcomm Contract to Launch 18-Satellite
Commercial Resupply Services Overview | NASA
Mission Awards Secure Commercial Crew Transportation – NASA