เจาะเบื้องหลัง จากไอเดีย สู่รางวัล Best New Blog ในงาน Thailand Best Blog Award

จากเว็บที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรวมบทความเกี่ยวกับอวกาศและการสำรวจอวกาศสู่เว็บไซต์รางวัล Best utew Blog ในงาน Thailand Best Blog Award 2017 by CP All วันนี้เว็บ SPACETH.CO ก็เติบโตขึ้นมาอีกนิดนึงแล้ว แต่ความตั้งใจของสมาชิกทุกคนในการสร้างพื้นที่บนโลกออนไลน์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความชอบความสนใจของตนนั้นยังคงไม่หมดไป และหวังที่จะสร้างผลงานออกมาเรื่อย ๆ ในอนาคต

ทีม SPACETH.CO ขณะขึ้นรับรางวัล Best New Blog

ในบทความพิเศษนี้จะเล่าเรื่องราวความเป็นมาเป็นไปของเว็บ SPACETH.CO รวมถึงเรื่องราวของผู้ร่วมก่อตั้งและสมาชิกรุ่นก่อตั้งว่าแต่ละคนมาเจอกันได้อย่างไร และอะไรคือพลังที่ผลักดันพวกเราให้สร้างสรรค์เนื้อหาลงบนพื้นที่ออนไลน์แห่งนี้

จากไอเดียสู่พื้นที่บนโลกออนไลน์

Nutn0n Blog บล็อกส่วนตัวของ เติ้ล (Nutn0n) ที่ใช้เวลาหลังจากเลิกเรียนในการเขียนบอกเล่าเรื่องราวที่เขาสนใจกลายมาเป็นเว็บไซต์ที่มียอดเข้าชมแตะหลักแสนในชั่วข้ามคืนกับบทความเกี่ยวกับยาน New Horizons ที่เดินทางถึงดาวพลูโตในเดือนกรกฏาคมปี 2015 กำลังใจที่จะทำ Content ต่อไปเริ่มเกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ อันที่จริงการเขียนเล่าเรื่องพวกนี้อาจจะไม่จำเป็นต้องมาจากนักดาราศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ เขาคิดเสมอว่าตัวเองก็เป็นแค่เด็กธรรมดาที่อยากถ่ายทอดความชื่นชอบเหล่านี้ออกมา ทั้งนี้ก็ต้องมีการอ้างอิงที่ชัดเจน แม่นยำ และสามารถเชื่อถือได้ Nutn0n.com และ MacThai.com กลายเป็นแหล่งฝึกวิชาสำหรับเขา บทความแล้วบทความเล่าถูกเขียนขึ้นมาด้วยความตั้งใจ

เติ้ล ในชุดนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี

กร (KornKT) เด็กวัย 16 ปี หนึ่งในเด็กที่โชคดีคนหนึ่งที่ได้ผ่านค่าย Junior Webmaster Camp ที่จัดโดยสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยที่พาเยาวชนเข้ามาสู่โลกของคนทำเว็บ กรผ่านการเข้าค่าย Junior Webmaster เป็นรุ่นที่ 9 ผ่านไป 2 ปีหลังจากที่ เติ้ล เข้าค่ายนี้ตอนที่อยู่ ม.4 อันที่จริงถ้าจะเทียบกันแล้วกรมีผลงานโดดเด่นมาก่อนเติ้ลมาก ในตอนที่อายุ 13 ปี กรเป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมแข่งขันแฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะจักรวาลนั่นเป็นช่วงที่เติ้ลกำลังปรับตัวเข้าหาสังคมใหม่ ๆ ในโรงเรียนมัธยม

กร ในวัย 13 ปี กับการแข่งขันแฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะจักรวาล ซึ่งเป็นผู้ร่วมแข่งขันที่อายุน้อยที่สุด

อันที่จริงในทางทฤษฏีแล้ว เติ้ลรู้จักกรฝ่ายเดียวมานานมาก การได้มาเจอกรใน 5 ปีให้หลังทำให้เติ้ลลืมไปเหมือนกันว่าเคยสงสัยว่าทำไมเด็ก 13 คนนี้ถึงมีความชื่นชอบด้านอวกาศจนสามารถไปแข่งรายการแฟนพันธุ์แท้ได้

ในช่วง ม.5 เติ้ลได้รับโอกาสให้ไปเป็นผู้ร่วมสร้างเนื้อหาบนเว็บไซต์ MacThai.com เว็บข่าว Apple ของคุณขจร หรือพี่เอ็ม (@Khajochi) ซึ่งผลงานที่ไปเข้าตาก็ดันเป็นบทความเกี่ยวกับ iPhone ของ Nutn0n Blog นั่นทำให้เติ้ลได้ฝึกฝนวิชาการทำ content และการสร้างฐานผู้อ่านมาจากหนึ่งในสุดยอดเทพแห่งวงการอินเทอร์เน็ตไทยยุคใหม่

ส่วนกรเนื่องจากเรียนอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ทำให้เคยเดินทางมาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรีของเติ้ลหลายครั้ง แต่สองคนนี้ก็ยังไม่มีโอกาสได้เจอกันซักที แม้ว่าช่วงหลัง ๆ กรจะได้เห็นผลงานของเติ้ลผ่านตาไปแล้ว ทั้งจากบทความบน Nutn0n Blog และ MacThai

สวนกุหลาบวิทยาลัยนนทบุรีคือที่ที่เติ้ลและ อิ้งค์ (Jirasin) รู้จักและสนิทกัน ไม่ใช่แค่เพราะว่าอยู่ชมรมคอมพิวเตอร์โอลิมปิกเหมือนกัน นอกโรงเรียนเติ้ลกับอิ้งค์ยังเป็นเพื่อนสนิทที่พากันไปหลายที่ แม้เติ้ลจะมารู้ในช่วงหลังว่าที่จริงแล้วอิ้งค์ก็มีความชอบด้านอวกาศอยู่เหมือนกัน ไม่ใช่แค่เคมีตรงกันในด้านคอมพิวเตอร์ วันหนึ่งเติ้ลและอิ้งค์ได้มีโอกาสไปฟังการบรรยายในหัวข้อ Gravitational Wave ซึ่ง LIGO ได้ทำให้ทั่วโลกได้รู้จักกับสิ่งนี้ เจมส์ (Sucharn) นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมวิ่งเข้ามาสะกิดหลังเติ้ลพร้อมแนะนำตัวว่ารู้จักเติ้ลจาก Nutn0n Blog

เติ้ล เจมส์ ที่รู้จักกันผ่านอิน (@innneang)เพื่อนของเจมส์ที่โรงเรียนเตรียมอุดม ซึ่งอินมีความขอบด้านการเขียนโปรแกรมและพัฒนาเว็บไซต์ทำให้คุยกับเติ้ลถูกคอ ส่วนคนด้านหลังนี่โดน Photo bomb

เจมส์ อิ้งค์ และเติ้ล ในชุดนักเรียน 3 คนเดินคุยเรื่องฟิสิกส์และอวกาศกันมาตลอดจนถึงทางขึ้น BTS เจมส์เป็นอีกคนหนึ่งที่มีความฝันอยากจะทำงานด้าน Aerospace Engineering ซึ่งก็ดูเหมาะสำหรับเด็กเรียนอย่างเจมส์มาก

อิ้งค์และเติ้ลในงานวันกุหลาบอำลา (นักเรียน ม.6 จบการศึกษา) อิ้งค์เป็นน้องในชมรมคอมพิวเตอร์ที่รู้จักกันมาตั้งแต่ ม.2

หลังจากที่จบ ม.6 เติ้ลได้เลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีในภาควิชา Computer Science ซึ่งก็ติดตั้งแต่ช่วงปีก่อนแล้ว ทำให้เติ้ลใช้ชีวิต ม.6 ในภาคเรียนสุดท้ายไปกับการเขียนบล็อกและทำงานซะส่วนใหญ่ เติ้ลอยากสร้างเว็บใหม่นะ ไม่ใช่ว่าไม่ชอบ Nutn0n Blog แต่การที่เติ้ลเอาเมย์โกะ นักวาดการ์ตูนบนโลกออนไลน์เจ้าของเพจ ว/ด/ป วาดรูปและดองรูปไปวัน ๆ มาช่วยเขียนในช่วงหลัง ๆ เติ้ลไม่อยากให้ เมย์โกะ (Mayko) ต้องมาสร้างคอนเท้นท์ภายใต้ชื่อ Nutn0n Blog ถ้าเรามีเว็บซักเว็บที่เป็นเว็บกลางก็คงดี เติ้ลและเมย์โกะเจอกันในตอนที่เมย์โกะวาดรูปชุด Spacecraft Girl ซึ่งเป็นการนำยานอวกาศและจรวดต่าง ๆ มาสร้างเป็นตัวการ์ตูนมีหน้าตามีชีวิต ซึ่งเป็นอะไรที่ชาวญี่ปุ่นถนัดทำมาก โดยเฉพาะที่โด่งดังใน Kantai Collection การ์ตูนที่สร้างขึ้นมาจากเกมที่นำเรือรบในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มาสร้างเป็นสาวสุดโมเอะ เมย์โกะเลือกที่จะทำแบบนั้นบ้างกับยานอวกาศ เธอเขียนอธิบายสอดแทรกประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจไว้ได้อย่างดีจนเติ้ลรู้สึกว่าจะดีแค่ไหนถ้าได้เธอคนนี้มาช่วยทำบทความ

ไป ๆ มา ๆ เมย์โกะดันสนิทกับ ปลา (Restorer37) เพื่อนของเติ้ลที่รู้จักกันผ่านโลกออนไลน์ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า Restorer37 เขาชอบใช้ชื่อนี้มากกว่า เป็นนักวาดการ์ตูนแนวดาร์คไซไฟเจ้าของเพจ Restorer37 จากที่เขาเคยทำบล็อกด้านฟิสิกส์และส่งผลงานไปประกวดกับ CERN องค์กรด้านฟิสิกส์อนุภาคระดับโลกจนได้รับ Certificate จาก CERN มาถึง 2 ใบ และด้วยความชอบในการวาดและอ่านงานแนวไซไฟอวกาศที่มีอยู่แล้ว Restorer37 ก็สนใจด้านอวกาศมากขึ้นและเริ่มศึกษาเกี่ยวกับอวกาศมากขึ้น

พฤษภาคม 2017 ในค่าย Junior Webmaster Camp เติ้ลกับกรเดินสวนกันหลายรอบมากแต่ก็ไม่มีใครทักกัน จนสุดท้ายเติ้ลมาพบว่าน้องค่ายคนหนึ่งที่เติ้ลไม่ได้หันไปมองว่ามันคือเด็กอายุ 13 คนนั้นที่เติ้ลเห็นในทีวีเมื่อเกือบ 5 ปีก่อน คำขอร้องเป็นเพื่อนถูกส่งจากเติ้ลไปหากรเมื่อเติ้ลตาสว่างซะทีว่ากรน้องค่ายนี่แหละคือแฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะในทีวีวันนั้น

เดิมทีเติ้ลกับกรไม่ได้คุยกันเรื่องเว็บ ก็เหมือนคนทั่วไปที่พอเจอคนที่ชอบอะไรเหมือนกันแล้วก็คุยกันถูกคอ กรและเติ้ลคุยกันเรื่องยานโวยาเจอร์ ยานนิวฮอไรซันส์ และยานอวกาศต่าง ๆ ลำแล้วลำเล่า จนในที่สุดเติ้ลก็รู้ว่าแท้จริงแล้วกรก็แอบอ่านผลงานของเติ้ลมาก่อนเหมือนกัน

กร ในค่าย Juniow Webmaster Camp 9 ซึ่งเป็นเวลา 2 ปีหลังจากรุ่นของเติ้ล (รุ่น 7) ภาพโดย – Jaturawit Oat

“พี่อยากทำเว็บว่ะ กร” คำพูดนี้เติ้ลบอกกับกร 3 วิหลังจากที่กรส่งลิ้งค์เล่าเรื่องยาน Solar Probe Plus ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นยาน Parker Solar Probe แล้วมาให้เติ้ลอ่าน กรเขียนได้ดี ได้ดีในฐานะนักเล่าแต่ไม่ใช่ในแบบของคนทำคอนเท้นออนไลน์ เติ้ลรู้สึกว่ามันสามารถดีได้กว่านี้ คำชวนในครั้งนั้นตรงกับความต้องการของเติ้ลที่อยากจะสร้างพื้นที่สำหรับบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอวกาศบนโลกออนไลน์พอดิบพอดี แล้วจะรออะไรอยู่ละผ่านการพรีเซ้นต์โปรเจ็คมหาโหดในค่าย JWC มาแล้ว มาลองทำเว็บจริง ๆ กันดู

สรุปสมาชิกรุ่นก่อตั้ง

คนที่ชอบอวกาศรอบตัวเต็มไปหมดเติ้ลค่อย ๆ ขายไอเดียชักชวนสมาชิกรุ่นก่อตั้งเหล่านี้เข้ามา เพื่อให้พวกเขาได้เข้ามาร่วมสร้างพื้นที่สำหรับการบอกเล่าความชอบบนโลกออนไลน์

  • Nutn0n บล็อกเกอร์ผู้มี Blog เป็นทุนเดิมแต่อยากสร้างพื้นที่บนโลกออนไลน์อีกแห่งไว้บอกเล่าเรื่องอวกาศโดยเฉพาะ
  • KornKT แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ ผู้ชื่นชอบการเล่าเรื่องอวกาศให้กับคนอื่นได้ฟัง
  • Jirasin ผู้มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ มีความฝันอยากเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์
  • Mayko นักวาด เจ้าของเพจวาดภาพบนโลกออนไลน์ ที่มีความชื่นชอบด้านอวกาศ
  • Restorer37 ผู้สนใจด้านวิทยาศาสตร์ และอวกาศใน Popular Culture เช่นภาพยนตร์ การ์ตูน หนังสือ
  • Sucharn มีความฝันอยากทำงานด้านวิศวกรรมเกี่ยวกับอวกาศ และศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของพัฒนาการด้านอวกาศ

เริ่มต้นทำเว็บ

จริง ๆ ตอนแรกเติ้ลคิดชื่อเว็บไว้ 2 แบบคือ thspace และ spaceth ตอนแรกแนวโน้มแถบจะเทไปที่ thspace ด้วยซ้ำ แต่เพื่อนสนิทคนนึงของเติ้ลบอกว่า spaceth น่าจะเป็นชื่อที่ดีกว่า สุดท้ายแล้วเว็บใหม่นี้จึงได้ชื่อว่า spaceth ซึ่งมันก็คือ space thai นั่นเอง (สำหรับคำอ่านสามารถอ่านได้ 2 แบบคือ สเปซทีเอช หรือ สเปซทท์ ก็ได้) สำหรับ domain .co ในช่วงนี้ก็กำลังมาแรง ดังนั้นเว็บใหม่ที่จะมาเป็นพื้นที่แชร์เรื่องราวความสนใจของทั้ง 5 คนนี้จึงชื่อว่า SPACETH.CO

การออกแบบ logo ด้วย Typo ล้วน ๆ เป็นอะไรที่น่าหลงไหลมาก มีตัวอย่างมาจากแบรนด์อื่นเช่น TIME หรือ SCIENTIFIC AMERICAN ทำให้โลโก้ของ SPACETH.CO ถูกออกแบบให้เป็น Typo หรือตัวอักษร พร้อมกับรูปดาวเทียม Sputnik 1 ดาวเทียมดวงแรกของโลก ภายหลังถูกตัดออกให้เหลือเพียงตัวอักษรอย่างเดียว ส่วน Typeface ที่ใช้นั้นมีชื่อว่า Avenir ออกแบบโดยนักออกแบบตัวอักษร Adrian Frutiger ในปี 1988 ชื่อของฟอนต์แปลว่า “อนาคต” ในภาษาฝรั่งเศส Typeface ตัวนี้มีความสมมาตร กลม โดดเด่น แต่ไม่แปลกตามากเกินไป หรือคุ้นตามากเกินไปเหมือนตระกูล Helvetica ทำให้ Avenir ถูกอัญเชิญมาเป็น Typeface ของโลโก้ SPACETH.CO

โชคดีที่เติ้ลเป็น Web Developer การทำเว็บขึ้นมาเว็บนึงจึงใช้เวลาไม่นานมาก ด้านการออกแบบก็เช่นกันเติ้ลชอบการออกแบบแนว Minimalistic จะสังเกตว่าหน้าเว็บต่าง ๆ ที่เติ้ลทำจะถูกออกแบบมาคล้าย ๆ กันหมด ตั้งแต่ www.nutn0n.com , www.fishsix.in.th (เว็บโรงเรียนกวดวิชาที่เติ้ลออกแบบ) และเว็บอื่น ๆ ทำให้หน้าตาของเว็บนั้นเดาไม่ยากว่าจะมาพร้อมกับพื้นหลังสีขาว ตัวอักษรสีดำไม่มีหัว ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกให้หมด มีโลโก้ที่เด่นชัดเจน

สุดท้ายแล้วเติ้ลก็ดันถูกใจ Theme สำหรับ WordPress ตัวหนึ่งเขียนโดย themeskingdom.com ที่ออกแบบมาให้คล้ายกับการอ่าน Magazine ตัดส่วนอื่นที่ไม่จำเป็นให้หมดให้เหลือสิ่งที่แสดงผลน้อยที่สุดแต่ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้เช่นเว็บปกติ

Nutn0n Blog ใช้ CMS หรือระบบจัดการเนื้อหาเป็น Ghost ที่รันบน Node.js แม้ว่า Ghost จะเป็น CMS ที่เติ้ลเชื่อว่าแทบจะดีที่สุด ทั้งในด้านของความเบา การกินทรัพยากรที่น้อย การรองรับ MongoDB และ SEO ที่เรียกได้ว่าระดับเทพโดยที่ไม่ต้องไป Config อะไรมาก (ดีพอที่จะทำให้ Nutn0n Blog ขึ้นผลการค้นหาแรกของ Google ด้วยหลาย keyword ที่กว้างมาก ๆ) แต่สำหรับระบบ Multiple user และ revision นั้นยังทำได้ไม่ดีเท่า WordPress ซึ่ง Spaceth.co ต้องถูกออกแบบมาให้สามารถใช้งานได้หลายคนโดยที่เกิดปัญหาน้อยที่สุด ดังนั้นตัวเลือกเดียวที่เหลืออยู่ก็คือ WordPress

จริง ๆ แล้ว WordPress ไม่ได้แค่ขนาดนั้น ด้วยการ config ที่ดีเราสามารถทำให้ WordPress กลายเป็นเว็บเว็บหนึ่งที่ทรงพลังได้ รวมถึงการเลือกลง Plug-in เฉพาะที่จำเป็นเท่านั้นจะช่วยให้ WordPress ไม่โตจนเกินไป

Cloudflare บริการ CDN ฟรีที่ดีมาก ๆ ช่วยลดการประมวลผลของ Server ลงไปได้เยอะแถมยังช่วยให้เราทำเว็บแบบ SSL หรือ HTTPS ได้ง่าย ๆ โดยที่ไม่ต้องยุ่งกับตัว Web Server เองอีกด้วย

เริ่มจากสร้าง Awareness สู่การ Launch เว็บ

ในช่วงแรก SPACETH.CO เริ่มต้นด้วยการเปิดแฟนเพจบน Facebook พร้อมกับลง content บ้าง ซึ่งผลตอบรับก็ค่อนข้างดีพอสมควร หลังจากที่ได้เล่าเรื่องเปิดประเด็นอย่าง “สปุทนิก จริง ๆ ไม่ใช่ชื่อแต่แปลว่าดาวเทียม” หรือ “ไลก้าตายก่อนจะได้ขึ้นสู่อวกาศ” ยอดไลค์ก็เพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็วเกินคาด รวมถึงดันไปเข้าตากับบรรณาธิการสำนักคอนเท้นออนไลน์แห่งหนึ่ง และถูกนำไปแนะนำว่า SPACETH นั้นน่าจะเป็นเว็บไซต์ที่น่าติดตามพอสมควรเลยทีเดียว

ในช่วงแอบมีการใช้โฆษณาไปบ้างตามสูตร ซึ่งผลที่ได้ก็นับว่าดีพอสมควรเพราะคอนเท้นที่ลงไปไม่ใช่ภาพ แต่เป็นวิดีโอชุดนึงที่บอกว่าก่อนปลายปีนี้จะมีเว็บใหม่เกี่ยสวกับอวกาศให้ได้อ่านแล้วนะ ตามความประสงค์ของพี่มาร์คที่ต้องการให้เราลงวิดีโอ ทำให้วิดีโอนั้นมียอดแชร์อยู่มากพอสมควรพอที่จะสร้าง Awareness บนโลกออนไลน์ได้บ้าง

แน่นอนว่าเนื่องจากตอนนั้นอยู่ในช่วงทำคอนเท้นเปิดเว็บกันทำให้หน้าเว็บจริง ๆ ยังไม่มี ซึ่งการมีหน้าที่เป็น coming soon น่าจะช่วยสร้าง first impression ได้ดีกว่าการที่ผู้อ่านเปิดเว็บเข้าไปแล้วเจอหน้าเว็บที่มีเมนูทุกอย่างพร้อม มีระบบอะไรพร้อมแต่ไม่มีบทความอยู่เลย ในช่วงแรกหน้าเว็บของ SPACETH.CO จึงเป็นหน้า coming soon พร้อมกับ link ไปยัง Social Media ต่าง ๆ ให้กดติดตามกันเอาไว้ (พลาดเล็กน้อยที่ไม่ได้ใช้ระบบ Email อย่าง Mailchimp ด้วย) แต่ในระหว่างนั้นรู้หรือไม่ว่าบทความบางส่วนที่จะใช้เป็น hilight ช่วงเปิดเว็บได้ถูกอัพขึ้นไว้แล้วบน Production Server (ภายใต้ sub-domain beta) ที่อยู่บนบริการ AWS Lightsail บริการ VPS ของ AWS บริการ Cloud ที่ใช้โคตรยากที่ตอนแรกถ้าไม่มี Lightsail จะไปใช้ Google Cloud แล้ว แต่ Lightsail นี่ต้องยอมรับว่าใช้งานง่ายจริงแม้จะไม่ดีเท่า Digital Ocean ก็ตาม

เหตุผลที่เลือกใช้ Amazon Lightsail ก็เพราะว่า credits สำหรับนักเรียนบน Digital Ocean นั้นหมดไปแล้ว (หน้า coming soon รันอยู่บน Digital Ocean Droplet เดียวกับ Nutn0n Blog) ส่วนเหตุผลที่ไม่เอา SPACETH.CO ไว้ใน Droplet เดียวกับ Nutn0n Blog ก็เพราะว่าไม่อยากให้ service 2 ตัวรันพร้อมกัน (Nutn0n Blog เป็น Node.js แต่ SPACETH.CO เป็น PHP)

ย้อนกลับไปที่เนื้อหาช่วงแรก ตอนแรกต้องการให้มีบทความอย่างน้อยซัก 5 บทความในวันเปิดเว็บ โดยหวังให้บทความชูโรงเป็นเรื่องราวของยานแคสสินี ซึ่งเป็นช่วงที่ยานแคสสินีจะพุ่งตัวลงไปทำลายตัวเองบนดาวเสาร์พอดี ทีมคอนเท้นจึงต้องเขียนบทความแข่งกับเวลา เพื่อให้แคสสินีกลายเป็นบทความเปิดเว็บที่ถูกพูดถึงบนโลกออนไลน์เป็นการดึงคนเข้าเว็บ (จากประสบการณ์ตรงโดย Nutn0n Blog ที่ยอดเข้าชมจะสูงในช่วงข่าวในกระแสอย่างตอนยาน New Horizons เดินทางถึงดาวพลูโตเมื่อ 2 ปีก่อน หรือยาน Juno เดินทางถึงดาวพฤหัสเมื่อปีก่อน) ทั้งทีมบทความและทีม Dev จึงต้องแข่งกับเวลา ยิ่งยานแคสสินีเข้าใกล้ดาวเสาร์มากเท่าไหร่เวลาของพวกเขาก็น้อยลงเท่านั้น จนในที่สุดเว็บก็เปิดตัวก่อนยานแคสสินีจะดำดิ่งลงสู่ชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์ได้ประมาณ 3-4 วัน

เนื้อหาที่เขียนโดยคนที่ชอบจริง ๆ

บทความในช่วงแรกนั้นได้รับเสียงตอบรับที่ดีพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องราวของยานแคสสินี ที่เขียนโดย Mayko ย้อนกลับไปตอนที่กำลังปั่นบทความกัน แต่ละคนกระจายหน้าที่กันว่าใครจะเขียนเรื่องอะไร แต่ละคนค่อย ๆ ทะยอยอัพบทความกันคนละเรื่องสองเรื่องแต่ Mayko กลับเงียบ ไม่นานหลังจากนั้นเธอก็ทำสิ่งที่ทำให้ทีมทุกคนต้องอึ้งด้วยบทความยานแคสสินีที่เขียนได้ดิบดีเช่นเนื้อหาระดับชาติ (ไม่ได้คิดเองนะ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์คนนึงที่ทำ Podcast ชื่อดังส่งคำชมมา)

ด้วยความที่ Mayko เรียนกฏหมาย ทำให้การใช้ภาษาของเธอนั้นสละสวยมาก แถมลำดับการเล่าเรื่องก็ทำได้อย่างดี Nutn0n Blog ถึงกับต้องอาย

สำหรับแนวทางการเล่าเรื่องของแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน อย่าง Nutn0n จะเล่าแบบใส่อารมณ์ร่วมเข้าไปเยอะมาก ระดับที่ว่าแต่งกลอนอำลายานอวกาศก็มี รวมถึงจะพยายามเชื่อมโยงเนื้อหาในวิชาเรียนต่าง ๆ เข้ามาอธิบาย โดยเฉพาะในวิชาฟิสิกส์ หรือวิทยาศาสตร์ (เพราะไม่ชอบคำว่า เรียนไปไม่เห็นจะได้ใช้เลย) แม้ว่าคะแนน GAT เชื่อมโยงของ Nutn0n จะห่วย แต่การเชื่อมโยงเนื้อหาที่เรียนมาเข้ากับข่าวสารต่าง ๆ นั้น นับว่าทำได้ดีทีเดียว

เติ้ลกับกรที่ Co-Working Space แห่งหนึ่งขณะนัดคุยเรื่องการก่อตั้งเว็บไซต์

ส่วน Jirasin จะมีวิธีการเขียนที่ลงเจาะลึก ไม่กระจายเท่า Nutn0n แต่จะเน้นเจาะไปที่เรื่องใดเรื่องนึงมากกว่า เช่นบทความเรื่องวงแหวนของดาวเสาร์ ที่ใช้เวลาในการ Research ข้อมูลอยู่หลายอาทิตย์จนจะออกมาเป็นบทความนี้

Restorer37 ผู้ชื่นชอบ Culture ต่าง ๆ จากทั้ง Anime และชีวิตจริง จะชอบเขียนบทความในมุมที่ต่างออกไป รวมถึงข้อมูลบางอย่างก็เป็นอะไรที่ Exclusive มาก ๆ เช่นเรื่องราวของ Copenhagen Suborbitals บริษัท startup ด้านจรวดที่ Restorer37 นั้นเคยพูดคุยกับเจ้าของเป็นการส่วนตัวมาแล้ว

KorkKT แฟนพันธุ์แท้ย่อมชอบเล่าเรื่องราวที่คนอื่นหรือแม้กระทั่งสมาชิกในทีมยังไม่รู้ แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็น่าสนใจและบางอย่างก็เป็นถึงคำตอบของคำถามว่าทำไมสิ่งนี้ต้องเป็นเช่นนี้

รูปถ่ายขณะที่ GISTDA นัดเราไปพูดคุยและพาชมสำนักงาน

สำหรับ Sucharn ผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์และวิศวกรรมก็จะเขียนเจาะไปในเรื่องราวนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเล่าประวัติศาสตร์ที่มาที่ไปของภารกิจต่าง ๆ การเปรียบเทียบช่วงเวลา การวิเคราะห์การเมืองในสมัยนั้น ๆ ว่ามีผลต่อพัฒนาการด้านอวกาศต่าง ๆ อย่างไร

จะสังเกตว่าเป็นการใช้ความชอบและทักษะส่วนตัวของแต่ละคนมาประกอบกันโดยมี Nutn0n ผู้วนเวียนในวงการอินเทอร์เน็ตไทยมานานกว่าทุกคนคอยช่วยดูและปรับเนื้อหาให้เข้ากับจริตของคนอ่านคอนเท้นมากขึ้น วิธีการต่าง ๆ ที่ Nutn0n ได้เรียนรู้จากการทำ Nutn0n Blog และ MacThai ตั้งแต่การนำเสนอจนไปถึง SEO ถูกขุดมาใช้ให้เข้ากับ SPACETH.CO

รางวัล Best New Blog ในงาน Thailand Best Blog

ไม่กี่เดือนหลังจากที่ SPACETH.CO เปิดตัว ทาง CP All ร่วมกับสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยและ PIM ก็จัดงานมอบรางวัล Thailand Best Blog Award  2017 ขึ้นมา Nutn0n จึงได้ลองส่งชื่อเว็บเข้าร่วมด้วยในสาขา Best New Blog เนื่องจาก SPACETH.CO เป็นเว็บใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งพอดี

ตอนแรกไม่ได้หวังอะไรเลยเพียงแค่อยากไปดูงานประกาศรางวัลเท่านั้น แต่ในที่สุดหลังจากที่คณะกรรมการได้คัดเลือก SPACETH.CO ก็ติด 50 อันดับเว็บที่เข้ารอบ สมาชิกทุกคนไม่รอช้ารีบกดบัตรเข้างานเพื่อรอลุ้นรางวัล ถึงตอนนั้นก็ยังพูดได้ไม่เต็มปากอยู่ดีว่าหวังว่าจะได้รับรางวัล

ก่อนหน้างานประมาณ 1 อาทิตย์ Nutn0n ได้รับโทรศัพท์จากทีมงานว่าเว็บ SPACETH.CO เป็นหนึ่งในเว็บที่เข้ารอบ 3 เว็บสุดท้ายที่จะได้รับรางวัลในสาขาที่เข้าประกวด นั่นยิ่งทำให้สมาชิกทุกคนสงสัยขึ้นไปอีกว่าหรือว่า SPACETH.CO จะเป็น Best New Blog ในปีนี้ แล้วในที่สุดผลก็เป็นไปตามคาด Best New Blog ประจำปี 2017 ตกเป็นของ SPACETH.CO เว็บอวกาศใหม่ที่ก่อตั้งด้วยความต้องการในการสร้างพื้นที่ไว้บอกเล่าเรื่องราวความชอบเกี่ยวกับอวกาศของเด็ก ๆ กลุ่มนี้

ทีม SPACETH.CO พร้อมรางวัล Best New Blog ที่มาภาพ – CP All

ไม่อาจน้อมรับคำว่า Best

หนึ่งในบทสัมภาษณ์ของ Nutn0n กับเว็บไซต์ Marketing Oops

“ชอบเรื่องอวกาศ เทคโนโลยีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และในไทยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ยังถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เลยทำบล็อกขึ้นมาร่วมกับเพื่อน ๆ โดยนำเรื่องที่น่าสนใจมาย่อยให้น่าอ่านมากยิ่งขึ้น สำหรับรางวัลที่ได้รับไม่อยากมองแค่เป็นรางวัล แต่มันคือกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งคำว่า Best แปลว่าดีที่สุด แต่ไม่ได้หมายถึงตัวเราเองดีที่สุด แต่ตัวเองเป็นเพียง Best among the other ซึ่งทุกคนเป็น Best ได้ในด้านของตัวเอง และที่สำคัญการได้รับรางวัลเป็นเหมือนตัวแทนของเยาวชนรุ่นใหม่ด้วย ที่กล้าลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำจริง ๆ”

ก็ตามที่กล่าวไว้ SPACETH.CO ไม่อาจน้อมรับคำว่า Best ไว้ได้แต่เพียงผู้เดียว พวกเราเป็นเพียง Best amog the others เว็บอื่น ๆ ที่มีเนื้อหาต่างจากเรา เว็บอื่น ๆ ที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกับเรา แต่เราเชื่อว่าเว็บทุกเว็บนั้นถ้าเพียงแค่ถูกสร้างขึ้นทาบนพื้นฐานของควาชอบ ความหลงไหล และไม่ทิ้งวัตถุประสงค์แต่แรกแล้ว ทุกเว็บนั้นเป็น Best ในแบบของตัวเอง ที่ไม่อาจมีกฏเกณฑ์มานิยามได้ว่าดีที่สุด

Nutn0n ขณะกล่าวแสดงความรู้สึกบนเวทีหลังรับรางวัล ที่มาภาพ – Mango Zero

ในอนาคต SPACETH.CO จะยังคงเป็นพื้นที่สำหรับการบอกเล่าเรื่องราวความชอบและความหลงไหลนี้ต่อไป ส่วนรางวัลที่ได้นั้น “ไม่อยากมองว่าเป็นรางวัล แต่อยากมองว่าเป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ที่มอบให้โดย ผู้ใหญ่ พี่ ๆ และเพื่อน ๆ ในวงการอินเทอร์เน็ตไทยที่จะช่วยพาเยาวชนไทยให้สร้างสรรค์ผลงานจากความชื่นชอบ ความหลงไหล ต่อไป”

 

บทความพิเศษโดยทีมงาน SPACETH.CO

สื่อออนไลน์ คอนเทนต์ด้านอวกาศ การสํารวจอวกาศ และการค้นพบใหม่ ๆ โดยเน้นสร้างสรรค์เนื้อหาที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย และสนุกไปกับความรู้ที่ได้รับ