วิเคราะห์ : เมื่อ Boeing ขอท้า ไปดาวอังคารก่อน SpaceX แล้วใครจะไปถึงก่อน 

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา CEO ของ Boeing บอกว่าจรวดที่จะพามนุษย์ไปยังดาวอังคารจะต้องเป็นของ Boeing แน่นอน ด้วยความเกรียนของ Elon Musk เขาไม่ช้าที่จะตอบโต้ว่า “ก็ลองดูสิ” ความเดือดด่านระหว่างบริษัทหน้าใหม่ของ Elon Musk ที่หวังสูงไปถึงดาวอังคารกับ Boeing หนึ่งในบริษัทอุตสาหกรรมคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งแต่เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ ยานอวกาศ ดาวเทียม ที่สำคัญคือมีสัมพันธ์อันแนบแน่นกับรัฐบาลสหรัฐตั้งเป้าที่จะโค่น SpaceX แผนการนี้จะเป็นไปได้จริงหรือไม่

เวลาผ่านไป 50 ปีนับจากยุคแห่งการแข่งขันเดินทางไปยังดวงจันทร์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ปัจจุบันบริษัทเอกชนหลายบริษัทกลายเป็นเจ้าของเทคโนโลยีอวกาศ การเดินทางไปยังอวกาศไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะหน่วยงานรัฐบาลที่ใช้ทุนจากภาษีประชาชนจุดจรวดลำใหญ่เพื่อเดินทางสู่อวกาศประกาศศักดาความยิ่งใหญ่อีกต่อไป บริษัทเอกชนหลายแห่งที่เป็นเข้าของทั้งจรวดขนาดเล็กจนถึงขนาดกลางก้าวเข้ามาเป็นผู้เล่นสำคัญ หลังจากในปี 2012 ที่ SpaceX ประสบความสำเร็จในการส่งยาน Dragon ยานอวกาศไร้ขนขับที่ SpaceX พัฒนาขึ้นเองเดินทางไปเทียบยังสถานีอวกาศนานาขาติได้สำเร็จ ทำให้ NASA อนุมัติทุนหนึ่งหมื่นหกพันล้านเหรียญลงทุนในโครงการที่ชื่อว่า CRS หรือ Commercial Resupply Service เป็นการจ้างบริษัทเอกชนให้ใช้ยานของพวกเขานำพาสิ่งของและเครื่องใช้ที่จำเป็นไปส่งให้กับนักบินอวกาศนานาชาติ ผลงานชิ้นแรกของ SpaceX ที่ทำให้ทั่วโลกเริ่มมาจับตามองการสำรวจอวกาศโดยเอกชน

ยาน Dragon พร้อมแขนกลของสถานีอวกาศที่จะจับยานเข้ามาเชื่อมต่อกับสถานี ที่มา – NASA

อันที่จริง SpaceX ไม่ใช่บริษัทเดียวที่ชนะการประกวดครั้งนี้ อีกหนึ่งบริษัทคือ Orbital ATK เจ้าของยาน Cygnus ที่รับทุนแบบเดียวกับ SpaceX แต่เซ็นสัญญาเดินทางกับ NASA เพียงแค่ 10 ครั้งเท่านั้น (SpaceX เซ็นสัญญาเดินทางไปและกลับ 20 เที่ยวในราคาเดียวกัน ทำให้ราคาของ SpaceX ถูกกว่าครึ่ง ๆ) แต่ Elon Musk มหาเศรษฐีเจ้าของ SpaceX ไม่ได้มอง NASA เป้าหมายของเขาเลย ความต้องการเริ่มแรกของ SpaceX คือการพามนุษย์ให้ก้าวข้ามขีดจำกัดของดวงดาวและมาเป็นสิ่งที่เขาเรียกว่า multi-planetary life หรือสิ่งมีชีวิตระหว่างดาวเคราะห์

Boeing เริ่มต้นธุรกิจด้านอวกาศมาตั้งแต่สมัยที่ SpaceX ยังไม่เกิดด้วยซ้ำ เป็นเวลากว่า 50 ปีที่ Boeing ผลิตชิ้นส่วนสำคัญให้กับยาน Mercury ยานอวกาศรุ่นบุกเบิกของสหรัฐในสมัยที่แข่งกับโซเวียต จนไปถึงชิ้นส่วนของ International Space Station ยังไม่รวมจรวด SLS ของ NASA ที่แม้จะไม่นับว่าเป็นผลงงานของ Boeing โดยตรงแต่ด้วยประสบการณ์ที่เรียกได้ว่าช่ำชองของ Boeing เป็นไปได้ไหมว่า Boeing จะเป็นบริษัทแรกที่สามารถส่งคนไปยังดาวอังคารได้

การปล่อยดาวเทียม Skynet-1A ของ Delta-M จรวดของ Boeing ในปี 1969 ที่มา – USAF/CCAFS

Boeing ไม่เป็นเพียงแต่ผู้ผลิตชิ้นส่วน พวกเขายังมีจรวดเป็นของตัวเองชื่อว่า Delta หนึ่งในรุ่นย่อยของมัน Delta IV คือจรวดหนักที่มีพลังมากที่สุดในโลกปัจจุบัน มันใช้ในการส่งดาวเทียมขนาดใหญ่รวมถึงอุปกรณ์ทางการทหารให้กับของทัพสหรัฐ Delta II ก็เป็นจรวดอีกรุ่นหนึ่งที่ NASA เคยใช้ในการส่งยานอวกาศไปยังดาวอังคารมาแล้ว เมื่อช่วง 10 ปีที่ผ่านมาด้วยความร่วมมือกับ Lockheed Martin อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมทหารในชื่อ ULA – United Launch Aliance พวกเขาครองส่วนแบ่งการตลาดครึ่ง ๆ กับ SpaceX ในปีที่ผ่านมา แม้ราคาของ SpaceX ต่อการปล่อยหนึ่งครั้งจะต่ำเพียง 62 – 100 ล้านเหรียญ ในขณะที่ Boeing นั้นคิดค่าส่งอยู่ที่ 400 ล้านเหรียญ ลูกค้าบางส่วนก็ยังคงต้องการชื่อเสียงอันเลื่องลือของ Boeing ในการเป็นผู้ส่งดาวเทียมอยู่

เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา SpaceX ได้รับ Certificate ให้สามารถปล่อยดาวเทียมลับให้กับกองทัพกาศสหรัฐได้ ซึ่ง SpaceX ก็ทำสำเร็จไปแล้ว 1 ครั้งนับจากวันที่เขียนบทความนี้ ทำให้ในอนาคตแนวโน้มที่ SpaceX จะครองส่วนแบ่งการตลาดโดยเฉพาะการปล่อยดาวเทียมทางการทหารนับว่ามีสูงมาก

จรวด Delta IV ในเที่ยวบินทดสอบยาน Orion ให้กับ NASA ที่มา – NASA/ULA

นับว่าทั้งสองบริษัทเป็นผู้เล่นที่เทียบกันได้สูสีบนโลก แต่สำหรับการเดินทางไปยังดาวอังคารนั้นบริษัทใดจะนำพารอยเท้าของมนุษย์ไปเหยียบนดินสีแดงของดาวเคราะห์ที่ในอนาคตอาจจะเป็นที่พึ่งพิงของเผ่าพันธุ์เรา นักวิเคราะห์และนักดาราศาสตร์หลายคนมองกว่าหนึ่งในเทคโนโลยีที่จะพาเราไปสู่ดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบสุริยะได้ก็คือ จรวดหรือยานที่สามารถใช้งานได้นับครั้งไม่ถ้วนราวกับเครื่องบินโดยสารในปัจจุบัน หากยาน Melinium Falcon จะต้องถูกโยนทิ้งทุกครั้งหลังจากผ่านการใช้งานก็คงจะดูตลกไม่น้อย แต่ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเราทำเช่นนั้นกับยานอวกาศและจรวด ในการส่งของไปยังสถานีอวกาศนานาชาติปัจจุบัน ยาน Cygnus ไม่สามารถนำสิ่งของกลับมายังโลกได้ หลังจากที่มันถูกถอดออกจากท่าเทียบ มันจะถูกลดระดับลงและค่อย ๆ แหลกสลายไปในชั้นบรรยากาศของโลก

ยาน Dragon ของ SpaceX ถูกเก็บกู้ขึ่นเรือหลังจากกลับมาจากอวกาศ ที่มา – SpaceX

Dragon กลายเป็นยานลำแรกที่แก้ปัญหานี้ เดิมทียานอวกาศที่สามารถลงจอดยังโลกได้มีแต่เพียงยานที่คนนั่งเท่านั้น กระสวยอวกาศเป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้ แน่เนื่องจากเหตุผลด้านความคุ้มทุน Space Shuttle ต้องถูกปิดตำนานลงในปี 2011 หลังจากที่ NASA ล้มโครงการ และผุดโครงการใหม่มาในชื่อ SLS – Space Laucnh System จรวดแบบดั้งเดิมที่ใช้แล้วทิ้ง แต่ผู้เขียนมองว่า SLS นั้นเป็นชื่อสวยหรูที่ NASA ต้องการเอาชิ้นส่วนที่ผลิตแล้วของกระสวยอวกาศมาใช้เป็นจรวดมากกว่า ยังไม่รวมโครงการ Areas ที่เป็นจรวดที่สร้างขึ้นมาจากจรวด Booster ของกระสวยกวกาศยังไงยังงั้น

ยาน Boeing CST-100 ที่จะพานักบินอวกาศเดินทางสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ที่มา – Boeing

แม้แนวคิดการนำยานอวกาศจะกลับมาใช้จะไม่ใช่อะไรใหม่ แต่การนำจรวดกลับมาใช้นับว่าเป็นอะไรที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จรวดนั้นถูกพัฒนาขึ้นมาจากขีปนาวุธคงไม่มีขีปนาวุธที่ถูกออกแบบมาให้ลงจอดอย่างสวยงามในแดนศัตรู SpaceX เริ่มพัฒนาจรวดที่ลงจอดได้มาตั้งแต่ตั้น พวกเขารู้ว่านี่คือกุญแจกสำคัญที่จะลดขีดจำกัดของการเดินทางระหว่างดาวได้ ทรัพยากรที่เป็นเชื้อเพลิงของจรวดอาจจะได้จากการทำเหมืองหรือแร่ธาตุบนดาวเป้าหมาย แต่งานออกแบบที่ปราณีตและกลไกลซับซ้อนเกิดขึ้นบนโลกเท่านั้น ณ ปัจจุบัน SpaceX พัฒนา Falcon 9 ให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ตั้งแต่แรกเริ่ม สามารถอ่านประวัติการพัฒนาของ Falcon 9 ได้ที่ nutn0n.com/falcon9r พวกเขาใช้อัลกอริทึมที่ซับซ้อนที่ได้มาจาก Open Source ของ NASA ที่ใช้ในการส่งยานสำรวจไปลงจอดที่ดาวอังคารมาเป็นต้นแบบ การพัฒนาเป็นไปอย่างก้าวกระโดด ไม่ถึง 4 ปีหลังจากที่ Falcon 9 รุ่นแรกบินขึ้น Falcon 9 ประสบความสำเร็จในการลงจอดบนพื้นดินหลังจากการส่งดาวเทียมได้ปลายปี 2015

จรวด Falcon 9 ทำการลงจอดหลังจากการส่งดาวเทียม Thaicom 8 ที่มา – SpaceX

ตามมาด้วยในเดือนเมษายน 2016 Falcon 9 ลงจอดสำเร็จบน DroneShip หรือแพกลางน้ำ สถิติของ Falcon 9 ทิ้งห่างจากหลายบริษัทที่บริษัทเหล่านี้ยังไม่แม้แต่จะทดสอบด้วยซ้ำ รวมถึง Boeing ก็เช่นกัน SpaceX มีจรวดที่ผ่านการใช้งานแล้วเกือบ 20 ลำ ณ ปัจจุบัน รวมถึงภารกิจที่ใช้งานจรวดซ้ำอีกจำนวนหนึ่ง SpaceX ได้เปลี่ยนนิยามของคำว่าจรวดไปตลอดกาล จากท่อนเหล็กขนาดใหญ่ถังน้ำมันและกลไกลเครื่องยนต์ที่ซับซ้อนที่ต้องใช้งานแล้วทิ้ง กลายเป็นพาหนะที่วันหนึ่งอาจจะพามนุษย์ทุกชีวิตเดินทางออกจากโลกสู่อวกาศอันกว้างใหญ่

Falcon 9 กับการบินครั้งที่ 2 ของมัน ในภารกิจ SES-10 ที่มา – SpaceX

อีกหนึ่งกุญแจสำคัญคือยานอวกาศคือขนาดที่ใหญ่พอที่จะนำพามนุษย์เดินทางไปยังดาวอังคารและกลับมาในช่วงแรก ทั้ง SpaceX และ Boeing กำลังพัฒนายานที่จะพามนุษย์ขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติคือยาน Dragon 2 และ CST-100 Starliner ที่ยังไม่มีกำหนดบินจริงทั้งคู่ แต่ก็เป็นหนึ่งใน 3 จตุรเทพยานแห่งอนาคต (อีกลำหนึงคือ Orion ของ NASA) ที่เป็นที่ภาคภูมิใจของชาวอเมริกันว่าจะต้องพานักบินอวกาศของพวกเขาเดินทางสู่อวกาศอีกครั้ง แทนที่จะต้องใช้ยาน Soyuz ของรัสเซียแถมเสียเงินให้หมีขาวอีกต่างหาก

การทดสอบเครื่องยนต์ของ Dragon 2 ที่มา – SpaceX

การพัฒนายาน Dragon 2 เหมือนจะคืบหน้าที่สุด SpaceX มีแผนการทดสอบยาน Dragon 2 ในอีกไม่ถึงปีนับจากนี้ ในขณะที่ยาน Orion ของ NASA ผ่านการทดสอบเที่ยวบินแรกในเดือนธันวาคม 2014 แล้วก็หายหน้าหายตาไปจากวงการจนแทบลืมว่ามียานชื่อนี้อยู่ Boeing ยังไม่เผยโฉมหน้าตาที่แท้จริงของ Starliner แต่เดา ๆ กันว่าลักษณะก็จะไม่แตกต่างจาก Orion มากนัก เทคโนโลยีของยานเหล่านี้ยังคงตาม SpaceX อยู่ แม้ว่า Dragon 2 เดิมทีจะถูกออกแบบมาให้ลงจอดด้วยเครื่องยนต์ แต่เป็นที่ชัดเจนแล้ว่าในการทดสอบและใช้งานช่วงแรก Dragon 2 จะต้องลงจอดด้วยร่มชูชีพกลางมหาสมุทรแบบเดิม ๆ แต่ในอนาคตเราอาจจะเห็นยาน Dragon 2 ลงจอดบนพื้นโลกด้วยความแม่นยำราวกับเฮลิคอปเตอร์

ภาพจำลองยาน Dragon 2 เข้าสู่ช้นบรรยากาศดาวอังคาร ที่จะไม่มีวันเกิดขึ่นเพราะ SpaceX ยกเลิกภารกิจ

ในขณะที่ Boeing ยังไม่มีแผนการที่เป็นรูปเป็นร่างในการพัฒนาและส่งคนไปยังดาวอังคาร SpaceX ได้วางแผนมาแล้วราว 2-3 ปี แต่ไม่รู้ว่าด้วยเหตุอันใด SpaceX นั้นมีการเปลี่ยนแผนบ่อยมาก ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกภารกิจ Red Dragon ที่จะส่งยาน Dragon 2 ไปลงยังดาวอังคารภายในปี 2018 แล้ว ในเดือนกันยายน 2017 เพียง 1 ปีนับจากที่ SpaceX เปิดตัวโครงการ ITS ยานขนาดยักษ์ที่จะพาคนไปลงจอดยังดาวอังคาร พวกเขากลับเปลี่ยนแผนและทำการ redesign ยาน ITS ใหม่ให้มีขนาดเล็กกว่าเดิม แต่ก็มาพร้อมฟีเจอร์ใหม่ที่พาให้คนเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ของโลกในเวลาอันสั้นได้ด้วย

ในฐานะที่ผู้เขียนติดตาม SpaceX มาตั้งแต่แรก ๆ ผู้เขียนเห็นความเปลี่ยนแปลงในแผนการต่างของ SpaceX มามากพอควร และแน่นอนว่า SpaceX ยังคงขาดความชัดเจนในภารกิจต่าง ๆ ภาพ Render อาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงเสมอไป ซึ่งก็เห็นกันมามากแล้ว การเลื่อนนั้นแทบจะเป็นเรื่องปกติของ SpaceX ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนการปล่อย Falcon Heavy จรวดหนักรุ่นใหม่ของ SpaceX ที่ควรจะมาให้บริการเป็นปีแล้วแต่ก็ถูกเลื่อนมาหลายต่อหลายครั้ง

จรวด ITS รุ่นเดิมของ SpaceX ทำการลงจอดบนดาวอังคาร แน่นอนว่าแผนนี้ถูกยกเลิกแล้ว ที่มา – SpaceX

เรามักตื่นเต้นกับคำต่าง ๆ ของ Elon Musk แต่หากมองย้อนกลับไปแล้ว SpaceX ไม่เคยมีครั้งใดที่ทำได้ตามแผนโดยไม่มีการเลื่อนเลย ล่าสุด Elon Musk ตั้งใจจะนำยาน 2 ลำลงจอดบนดาวอังคารในปี 2022 ซึ่ง ณ ตอนนั้น เราน่าจะมีข้อมูลเกี่ยวกับดาวอังคารมากพอสมควรแล้ว แต่ก็ยังไม่ทราบว่า SpaceX จะสามารถทำตามที่บอกได้จริงหรือเปล่า

สิ่งที่น่าอุ่นใจก็คือ SpaceX เริ่มทำการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ของยานใหญ่ยักษ์ลำนี้เรียบร้อยแล้ว และบางส่วนก็ได้ถูกทดสอบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นถังน้ำมัน เครื่องยนต์ และส่วนประกอบอื่น ๆ ในขณะที่ Boeing นั้นยังไม่มีผลงานออกมาอย่างเป็นรูปเป็นร่างเท่า SpaceX

ยานรุ่นใหม่ของ SpaceX ทำการลงจอดบนดาวอังคาร ที่มา – SpaceX

ดังนั้นถ้าจะถามว่าใครที่จะสามารถพามนุษย์ไปยังดาวอังคารได้เป็นคนแรกนั้นก็อาจจะยังฟันธงไม่ได้ แต่แนวโน้มและประสบการณ์ของ SpaceX นั้นมีมากอยู่พอสมควร แต่ไม่แน่ว่าด้วยความเป็นยักษ์ใหญ่อย่าง Boeing อาจจะสามารถรวบรวมเงิน ทุน ทรัพยากรต่าง ๆ และพัฒนายานอวกาศหรือจรวดที่ทรงพลังพอที่จะพามนุษย์ไปยังดาวอังคารได้

อย่าลืมว่าอีกสิ่งหนึ่งนอกจากแข่งกับคนอื่น Elon Musk ยังคงมีระเบิดเวลาที่เขาต้องแข่งกับคำพูดตัวเองที่ว่าจะนำมนุษย์เดินทางไปยังดาวอังคารให้ได้ภายในปี 2020 หรือปี 2025 ไม่ว่าจะแข่งกับอะไรก็ตาม Elon Musk คงต้องเอาชนะตัวเองให้ได้ก่อน ทางเราก็ได้แต่หวังว่าทั้ง SpaceX และ Boeing วันหนึ่งจะพามนุษย์เดินทางสู่ดาวอังคารได้ในเร็ววัน

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.