เวลาประมาณตี 2 ของวันที่ 4 ธันวาคม 2018 SpaceX ได้สร้างประวัติศาสตร์อีกครั้ง ด้วยการนำจรวด Falcon 9 กลับมาใช้งานใหม่เป็นหนที่สาม ทุบสถิติเดิมที่พวกเขาเคยทำได้เมื่อเดือนมีนาคมปี 2017 ตอนที่พวกเขานำจรวด Falcon 9 กลับมาใช้งานใหม่เป็นรอบที่สอง และเข้าใกล้กับเป้าหมายการนำจรวด Falcon 9 กลับมาใช้งานใหม่มากกว่า 10 ครั้งของบริษัทยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ
การปล่อยในครั้งนี้เป็นภารกิจที่ชื่อ SSO-A หรือ SmallSat Express โดยเป็นภารกิจที่ประกอบไปด้วยดาวเทียม 64 ดวงจาก 17 ประเทศ ทำให้ภารกิจนี้เป็นการปล่อยดาวเทียมมากที่สุดในภารกิจเดียวโดยจรวดของสหรัฐอีกด้วย และหนึ่งใน 64 ดาวเทียมบนนั้นก็คือ Knacksat (ดาวเทียมดวงแรกที่ประกอบขึ้นเองโดยคนไทยในประเทศไทย) ดาวเทียมประเภท CubeSat ขนาด 1U หรือ 10x10x10 เซนติเมตร
จรวด Falcon 9 ที่ใช้ในการปล่อยครั้งนี้คือ Falcon 9 Block 5 ที่เคยใช้ในการปล่อยดาวเทียม Bangabandhu ของบังกลาเทศในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนั้นก็เป็นภารกิจเปิดตัว Block 5 อีกด้วย ก่อนที่มันจะถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งในภารกิจ Merah Putih ของอินโดนีเซีย ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
โดยในครั้งนี้ Falcon 9 ได้ถูกปล่อยขึ้นจากฐานปล่อย SLC-4E ในฐานทัพอากาศ Vandenberg ที่ตั้งอยู่มลรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา และ SpaceX ก็ได้นำตัว First Stage ของ Falcon 9 กลับมาลงจอดบน DroneShip ชื่อ Just Read the Instructions ที่ประจำอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งความพยายามในครั้งนี้ก็ประสบความสำเร็จ
บรรทุกดาวเทียมหลายดวงด้วย SSO-A IPS
ความเจ๋งของภารกิจนี้ก็คือระบบการปล่อย ปกติแล้วเวลาปล่อยดาวเทียมหรือยานอวกาศ เราก็จะคุ้นชินกับการติดตั้งดาวเทียมหรือยานอวกาศไว้บน Payload Adapter บนตัวจรวดที่ถูกครอบไว้ด้วย Payload Fairing อีกที แต่สำหรับภารกิจ SSO-A นี้เราจะเห็นสิ่งที่ต่างออกไป จากสิ่งที่ควรจะเป็นดาวเทียมมันกลับกลายเป็นอุปกรณ์หน้าตาแปลก ๆ สีดำ
เราเรียกอุปกรณ์ตัวนี้ว่า IPS หรือ Integrated Payload Stack ซึ่งจะประกอบไปด้วยอุปกรณ์ย่อยอีก 3 ชั้น ได้แก่ UFF – Upper Free-flyer กับ LFF- Lower Free-flyer ที่แยกตัวออกจากกันได้ และตัว MPC – Multi-payload Stack ที่ติดอยู่กับตัว Adapter ของ Falcon 9
ระบบนี้พัฒนาขึ้นโดย Spaceflight Industry หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Spaceflight ที่ปัจจุบันกลายเป็นผู้ให้บริการการส่งดาวเทียมขนาดเล็กสำหรับ Startup ด้านอวกาศ หรือสถาบันการศึกษาที่ต้องการจะส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรในรูปแบบของ Ride Share หรือการหารค่าส่งกับหน่วยงานอื่น ๆ แม้ว่าบริษัทอวกาศอย่าง SpaceX จะเปิดให้เราสามารถหารค่าส่งกันได้ แต่ก็ต้องเสียเวลาไปหาเพื่อนร่วมปล่อยอีก จึงได้มีบริการแนว ๆ นี้เกิดขึ้น อธิบายง่าย ๆ ก็คือเป็น Uber-pool สำหรับการปล่อยดาวเทียมนั่นเอง
ดังนั้นการทำงานของมันก็เข้าใจง่าย ๆ ว่าอุปกรณ์ตัวนี้หลังจากที่ Falcon 9 พามันขึ้นสู่อวกาศแล้ว มันจะดีดตัว Free-flyer 2 ตัวด้านบนออกเพื่อปล่อยดาวเทียมที่ติดตั้งไว้ ส่วนตัว MPC ก็จะปล่อยดาวเทียมที่ติดตั้งมาออกเช่นเดียวกัน
อุปกรณ์เหล่านี้การทำงานจะคล้าย ๆ กับตัวปล่อยดาวเทียมของบริษัท Orbcomm หรือ Iridium ที่ใช้การปล่อยครั้งเดียว แต่ส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรได้หลายดวง
จริง ๆ แล้วการส่ง CubeSat หรือดาวเทียมขนาดเล็กนั้นสามารถส่งได้หลายวิธี ตั้งแต่การฝากขึ้นไปบนสถานีอวกาศนานาชาติหรือ ISS แล้วปล่อยออกมา หรือแม้กระทั่งการฝากไปกับภารกิจปล่อยดาวเทียมในฐานะ Secondary Payload แต่การที่ผู้สร้าง CubeSat สามารถเลือก Book การปล่อยด้วยจรวด Falcon 9 ได้นั้นก็ทำให้ การปล่อยในครั้งนั้น CubeSat ของเราจะมีความสำคัญไปโดยปริยาย และมีสิทธ์ติดธงชาติใน Badge ของภารกิจด้วย (ซึ่งในครั้งนี้ก็ได้มีธงชาติไทยแปะอยู่เช่นกัน)
ดาวเทียมนักเรียนและโอกาสของ CubeSat
Spaceflight บอกว่าในการปล่อยดาวเทียมภารกิจ SSO-A ครั้งนี้ มีดาวเทียมร่วมปล่อยมากถึง 64 ดวง จากลูกค้ากว่า 35 ราย ประกอบไปด้วย Microsat หรือดาวเทียมขนาดเล็ก 15 ดวง และ CubeSat ดาวเทียมจิ๋วอีก 49 ดวง จาก 17 ประเทศ เช่น สหรัฐฯ เกาหลี สเปน แคนาดา และประเทศอื่น ๆ รวมถึงไทยด้วย
ความน่าสนใจก็คือ ดาวเทียมที่ถูกปล่อยมากกว่า 24 ดวงนั้น เป็นดาวเทียมที่ถูกทำขึ้นโดยนักเรียนและนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลก โดยมีดาวเทียมที่ถูกทำขึ้นโดยนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย 23 ดวง และดาวเทียมที่ถูกทำโดยนักเรียนมัธยม 1 ดวง สำหรับดาวเทียมนักศึกษามหาวิทยาลัยนั้นรวมถึง Knacksat
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับภารกิจนี้เลยก็คือ มันเป็นสัญลักษณ์ของอนาคตวงการอวกาศและดาวเทียมอย่างแท้จริง Falcon 9 คือจรวดที่ทันสมัยที่สุดในโลก และในภารกิจนี้มันก็ถูกใช้งานให้เห็นแล้วถึง 3 ครั้ง เป็นการนำจรวดในระดับ Orbital Class มาใช้งานซ้ำมากที่สุด Elon Musk เคยบอกว่า จรวด Falcon 9 ถูกออกแบบมาให้ลงจอดและบินขึ้นใหม่ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งเหมือนเครื่องบินโดยสาร ซึ่งก็จะทำให้การเดินทางสู่อวกาศถูกลงไปอีกเยอะ
อีกสิ่งหนึ่งก็คือ Trend การทำดาวเทียมขนาดเล็ก เดิมทีแล้วผู้ครอบครองเทคโนโลยีดาวเทียมอาจต้องเป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบัน Startup หรือแม้กระทั่งสถาบันการศึกษาก็สามารถ Book เที่ยวบินเพื่อส่งดาวเทียมได้ไม่ต่างจากการ Book ตั๋วเครื่องบิน เป็นสัญญาณว่าในอนาคตเราจะได้เห็นการเติบโตของดาวเทียมที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างแน่นอน
อ้างอิง