การทดสอบ Starship และ Super Heavy ครั้งที่สองน่าจะเป็นเรื่องใหญ่พอสควรที่ไม่สำเร็จ

ปลายปี 2025 คือช่วงเวลาที่ NASA ตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นช่วงเวลาดำเนินภารกิจ Artemis III ซึ่งจะเป็นการนำนักบินอวกาศกลับสู่ดวงจันทร์เป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี และยานอวกาศหนึ่งเดียวที่ได้รับเลือกให้ลงจอดนักบินอวกาศในภารกิจดังกล่าวก็คือยานอวกาศ Starship ของ SpaceX ที่ผ่านการคัดเลือกในโครงการ Human Landing System (HLS) นั่นอาจหมายความว่า นี่เหลือเวลาอีกเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้นที่ SpaceX จะต้องพัฒนายานอวกาศให้สำเร็จ ซึ่งจะกล่าวแบบนี้ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เนื่องจาก Starship เองก็จะต้องผ่านการทดสอบและได้รับการยืนยันจาก NASA ว่าปลอดภัยสำหรับการปฏิบัติภารกิจ ต้องผ่านการทดสอบยานเปล่าโดยไม่มีมนุษย์ ผ่านการทดสอบเชื่อมต่อกับยานอวกาศ Orion ของ NASA ผ่านการทดสอบขึ้นและลงจากผิวดวงจันทร์ อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบันเดือนพฤศจิกายน 2023 SpaceX ยังไม่ประสบความสำเร็จในการนำ Starship ขึ้นสู่วงโคจรจริง ๆ เสียด้วยซ้ำ

และด้วยการวาง Timeline ที่กระชั้นชิดเช่นนี้ ทำให้การทดสอบครั้งล่าสุดในช่วงปลายปี 2023 ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าไว้ น่าจะเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร และแม้เราอาจฉลองความสำเร็จที่ค่อยเป็นค่อยไป แต่ความน่ากังวลก็ยังคงเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้อยู่ดี

จรวด Super Heavy และ Starship บินขึ้นจากฐานปล่อย ที่มา – SpaceX

18 พฤศจิกายน 2023 หลังจากเลื่อนการปล่อย SpaceX มา 24 ชั่วโมง SpaceX ก็ได้ปล่อยจรวด Super Heavy หมายเลข B9 พร้อมกับยานอวกาศ Starship หมายเลข SN25 จากฐานปล่อย Starbase ณ เมือง Boca Chica รัฐเท็กซัส ได้สำเร็จ ณ เวลา ประมาณ สองทุ่มสามนาทีตามเวลาประเทศไทย

เครื่องยนต์ทั้งหมด 33 ตัวได้ถูกจุดติดอย่างเห็นได้ชัด ไม่เหมือนกับครั้งก่อนที่เครื่องยนต์บางตัวได้ดับไปในระหว่างปล่อย

เครื่องยนต์ทั้ง 33 ตัวปรากฎแสงสว่างให้เห็นอย่างชัดเจนในขณะที่ Super Heavy บินขึ้น ที่มา – SpaceX

เป้าหมายของการทดสอบในครั้งนี้คือการบินข้ามโลกประมาณสามส่วนสี่รอบ ใช้เวลาประมาณไม่เกินสองชั่วโมง และให้ยาน Starship ลงจอดบนผิวน้ำบริเวณหมู่เกาะฮาวาย ในขณะที่ตัวจรวด Super Heavy จะถูกบังคับให้ลงจอดนอกชายฝั่งเท็กซัส ในบริเวณอ่าวเม็กซิโก โดย SpaceX ได้ระบุไว้ว่า พวกเขาได้เปลี่ยนการทำงานของ Grid Fin จากเดิมที่ใช้ระบบไฮดรอลิก มาเป็นระบบมอเตอร์ไฟฟ้าแทน ทำให้ลดความซับซ้อนของอุปกรณ์และชิ้นส่วนที่ต้องเคลื่อนไหวไปได้มาก

ในการทดสอบครั้งนี้ SpaceX ยังได้นำเทคนิคการทำ Hot Stage มาใช้ คือการจุดจรวดของ Starship ในระหว่างที่ Starship และ Super Heavy ยังไม่ได้แยกตัวออกจากกันดี โดยเทคนิคดังกล่าวถูกใช้ในจรวดเช่นจรวด Soyuz ของรัสเซีย หรือจรวดที่พัฒนาต่อมาจากขีปนาวุธ ICBM อย่าง Titan 2 ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการนำการทำ Hot Stage มาใช้บนจรวดคุยใหม่ที่หวังให้สามารถใช้ซ้ำได้ทุกส่วน

จรวด Starship ทำ Hot Stage ในเวลาประมาณสามนาทีหลังการปล่อย แยกจรวดท่อนแรกกับท่อนที่สอง ที่มา – SpaceX

3 นาที 20 วินาทีหลังการปล่อย ยานอวกาศ Starship ได้แยกตัวออกจากจรวด Super Heavy ได้อย่างสมบูรณ์ ไม่เหมือนรอบที่แล้วที่จบลงด้วยการระเบิด ทำให้ความหวังในการนำเอา Starship มาใช้ของ SpaceX นั้นใกล้ความจริงมาอีกขั้นหนึ่ง และเราก็ได้เห็นภาพการทำ Hot Stage ที่สวยงามเกิดขึ้น

แต่หลังจากนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่ Super Heavy จะต้องลงจอด เราได้เห็นภาพจรวด Super Heavy ตกกลับลงมาพร้อมกับเครื่องยนต์บางตัวที่ถูกจุดเพื่อทำ Boost Back Burn และระบบ Reaction Control จาก Cold Gas Thruster ที่คอยปรับทิศทางการหมุนของตัวจรวด จนสุดท้ายได้มีการระบุว่าจรวด Super Heavy ถูกทำลายในระหว่างที่ตกกลับลงสู่ผิวโลก ณ ความสูงประมาณ 90 กิโลเมตร ปรากฎเป็นภาพการระเบิดของตัว Super Heavy ทำให้เราไม่ได้เห็นการลงจอดของ Super Heavy อย่างที่ตั้งใจไว้

ข้อมูล Telemetry ยังคงโชว์ตัวเลขของความสูงและความเร็วของ Starship อย่างต่อเนื่องจนถึงความสูงประมาณ 148 กิโลเมตร ในประมาณนาทีที่ 8 ของการปล่อย สัญญาณ Telemetry ก็ได้หยุดไป ซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปว่าตัวยานอวกาศ Starship ได้ถูกทำลายลงแล้ว เหนืออ่าวเม็กซิโก และหลังจากนั้นไม่กี่นาที SpaceX ก็จบสิ้นการถ่ายทอดสดการทดสอบในครั้งนี้

ภาพจากข้อมูลของดาวเทียม NOAA ที่ใช้ในการตรวจอวกาศ ที่มา – Jonathan McDowell

แม้ SpaceX จะยังไม่ได้บอกว่าซากจากการระเบิดของ Starship จะตกลงในบริเวณไหน แต่นักวิเคราะห์อย่าง Jonathan McDowell ก็ได้ออกมา เปิดเผยผลการคำนวณ ร่วมกับข้อมูลตรวจอากาศจาก Kenneth Howard เจ้าหน้าที่ NOAA พบการกระจายตัวของเศษซากเหนือบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติก ใกล้กับหมู่เกาะ British Virgin ซึ่งอยู่เหนือบริเวณแคริบเบียน

นั่นหมายความว่าแม้จรวด Starship จะโคจรอยู่ ณ ความสูงที่ออกแบบไว้ แต่แรงขับที่ไม่เพียงพอจากระยะเวลาการติดเครื่องยนต์ที่ไม่ครบตามที่กำหนดไว้ทำให้ Starship เองไม่สามารถส่งตัวเองไปได้ถึงครึ่งโลกด้วยซ้ำ ซึ่งจากการระเบิดก็จะนำไปสู่แรงต้านจากบรรยากาศ (Atmospheric Drag) ที่ทำให้ชิ้นส่วนตกลงเพียงแค่ไม่กี่พันกิโลเมตรจากฐานปล่อย

ณ ปัจจุบัน (19 พฤศจิกายน 2023) SpaceX หรือ Elon Musk เอง ยังไม่ได้ออกมากล่าวให้ความเห็นหรือสรุปการทดสอบใด ๆ มีเพียงข้อมูลจากบรรดานักวิเคราะห์ด้านอวกาศ ที่พยายามนำเอาข้อมูล Telemetry และข้อมูลประกอบอื่น ๆ มาพยายามอธิบายความล้มเหลวในการทดสอบครั้งนี้

หากมองเหนือประเด็นด้านวิศวกรรมแล้ว การทดสอบครั้งนี้จะนำไปสู่การตัดสินใจอย่างไรของ NASA ก็เป็นเรื่องที่น่าติดตามมากเช่นกัน หลังจากการทดสอบ Bill Nelson ผู้อำนวยการ NASA ก็ได้ออกมาส่งข้อความชื่นชม SpaceX ผ่าน X (อดีต Twitter) บอกว่า “ขอแสดงความยินดีกับทีมกับความคืบหน้าในการทดสอบครั้งนี้ การสำรวจอวกาศเป็นการผจญภัยที่อาศัยจิตวิญญาณและความกระหายนวัตกรรม การทดสอบครั้งนี้คือการเรียนรู้เพื่อการกลับมาบินอีกครั้ง NASA และ SpaceX จะพามนุษย์กลับสู่ดวงจันทร์ ไปดาวอังคาร และที่ห่างไกลอื่น ๆ ร่วมกัน”

การดำเนินการผลิตยานอวกาศ Starship และ Super Heavy ยังคงดำเนินต่อไป และเราก็เชื่อว่าเราจะได้เห็นการทดสอบ Starship ที่เข้มข้นขึ้นในปี 2024 ข้างหน้านี้ เพื่อเร่งเดินหน้าให้ทันการส่งนักบินอวกาศกลุ่มแรกกลับสู่ผิวดวงจันทร์ในปี 2025

ในทางสถิติ SpaceX เองก็ได้สร้างประวัติศาสตร์อีกครั้งด้วยการนำเอายาน Starship บินสู่ความสูงที่สุดที่เคยทำมา ซึ่งก็คือความสูง 148 กิโลเมตร ในขณะที่ตัวจรวด Super Heavy ก็ได้รับการขนานนามว่าเป็นจรวดระดับ Orbital Class เรียบร้อย หลังจากที่มันได้ส่งยานอวกาศสู่ความสูงที่ถูกนิยามว่าเป็นอวกาศได้สำเร็จ แม้เส้นทางขากลับของมันเป็นการระเบิดก็ตาม แต่อย่าลืมว่าจรวดลำอื่น ๆ หน้าที่หลังจากการปล่อยก็คือระเบิดและตกกลับสู่โลกอยู่แล้ว ทำให้ครั้งนี้น่าจะเรียกได้ว่า Super Heavy ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อีกต่อไป จะเป็นห่วงก็แต่ยาน Starship ที่ยังไปไม่ถึง 10% ของเส้นทางระหว่างโลกกับดวงจันทร์ด้วยซ้ำ

และการทดสอบจะเป็นอย่างไรต่อไปก็คงต้องติดตามกันว่า SpaceX จะออกมาประกาศวันทดสอบอีกครั้งวันไหน

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.