เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2020 Press Release 20-083 NASA ได้ประกาศคัดเลือกโครงการอวกาศด้านการสำรวจสุริยพลวัตที่เน้นไปที่การสำรวจสภาพแวดล้อมของดวงอาทิตย์ (Dynamics of the Sun) ซึ่งส่งผลต่อมนุษย์เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการป้องกัน นักบินอวกาศ ดาวเทียม สัญญาณการสื่อสารต่าง ๆ อย่าง GPS จากผลกระทบของดวงอาทิตย์ นอกจากนี้ยังเน้นการศึกษาด้าน Heliophysics หรือฟิสิกส์ของดวงอาทิตย์ต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อโลกของเราเป็นอย่างมาก
โดยโครงการนี้เปิดให้แต่ละทีมวิจัยยื่นหัวข้อวิจัยมาหลังจากนั้นจะคัดเหลือแค่ 5 ทีมเพื่อให้ไปทำ Concept study หรือศึกษาความเป็นไปได้ของภารกิจ การดำเนินการ และผลที่จะได้รับกลับมาหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ โดยแต่ละทีมวิจัยจะได้งบประมาณสนับสนุนการวิจัยเป็นเงินทั้งสิ้น 1.25 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีระยะเวลา 9 เดือนในการศึกษา หลังจากนั้น NASA จะทำการคัดเลือกเหลือเพียงแค่ 2 ทีมเพื่อเตรียมพัฒนาและปล่อยโดย 2 ทีมสุดท้ายที่ได้รับการคัดเลือกจะได้งบประมาณสูงสุดอยู่ที่ 250 ล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละทีมวิจัย โดยโครงการที่ได้รับการคัดเลือกเข้ารอบ 5 ทีมสุดท้าย คือ
Solar-Terrestrial Observer for the Response of the Magnetosphere (STORM)
STORM จะเป็นยานสำรวจลำแรกที่ได้ถ่ายรูปสภาพอากาศรอบ ๆ ดวงอาทิตย์แบบเต็ม ๆ รวมถึงการแผ่อนุภาคของดวงอาทิตย์หรือที่รู้จักกันในชื่อลมสุริยะซึ่งมีผลกระทบต่อระบบสนามแม่เหล็กโลกหรือ Magnetosphere โดย STORM จะทำการติดตามเส้นทางของลมสุริยะเมื่อมันเคลื่อนที่เข้าใกล้โลกและเก็บข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้นกับสนามแม่เหล็กโลกบ้างเมื่อลมสุริยะกระทบกับสนามแม่เหล็กโลก นับเป็นครั้งแรกที่เราจะได้เห็นว่าลมสุริยะทำอะไรกับสนามแม่เหล็กโลกด้วยมุมมองจากภายนอกนั่นเอง โดย STORM เป็นโครงการที่นำโดย David Sibeck สังกัด NASA’s Goddard Space Flight Center
HelioSwarm: The Nature of Turbulence in Space Plasmas
HelioSwarm เป็นยานสำรวจที่จะสังเกตการณ์ลมสุริยะในพื้นที่หลายระยะเพื่อศึกษาการเคลื่อนที่ของอนุภาคลมสุริยะว่าอนุภาคเหล่านั้นเคลื่อนที่ผ่านอวกาศอย่างไร และจุดเด่นของ HelioSwarm คือมันไม่ได้มีลำเดียว แต่มียานขนาดเล็กที่เรียกว่า SmallSat อีก 9 ลำ เพื่อที่จะทำการสำรวจแบบเดียวกันในแต่ละจุดที่ต่างกันแล้วจึงนำข้อมูลมาสร้างเป็นโมเดล 3 มิติที่อธิบายฟิสิกส์ของการเคลื่อนที่ของอนุภาคลมสุริยะ โครงการนี้นำโดย Harlan Spence สังกัด University of New Hampshire
Multi-slit Solar Explorer (MUSE)
MUSE เป็นยานสำรวจที่จะจับจังหวะของปฏิกิริยาต่าง ๆ ในชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ที่เรียกว่าโคโรน่าโดยจะเน้นไปที่การสำรวจว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างการลุกจ้า (Solar Flare) Coronal Mass Ejection (CME) และอุณหภูมิของชั้นโคโรน่าเหนือผิวของดวงอาทิตย์ โดย MUSE จะใช้การทำ Imaging Spectroscopy เพื่อสังเกตการในระดับความละเอียดที่เป็น 10 เท่าของของเดิมที่เคยทำและเร็วกว่า 100 เท่า ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถศึกษาปรากฏการณ์ต่าง ๆ บนดวงอาทิตย์ได้ละเอียดขึ้นรวมถึงการใช้เวลาที่น้อยกว่าเดิมในการเก็บข้อมูลซึ่งจะช่วยให้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับสภาพชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์มากขึ้นนั่นเอง MUSE นำโดย Bart De Pontieu เป็นหัวหน้าการวิจัย สังกัด Lockheed Martin
Auroral Reconstruction CubeSwarm (ARCS)
ARCS เป็นโครงการสำรวจแสงออโรร่าในระดับที่ใหญ่กว่าเดิมมากโดยเน้นไปที่การสำรวจการเกิดออโรร่าทั่วโลกซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะในอวกาศ (Space weather) ทำให้เกิดออโรร่าในชั้น Ionosphere และ Thermosphere ซึ่งจะช่วยให้เราเขาใจขอบเขตของชั้นบรรยากาศโลกและอวกาศมากยิ่งขึ้นรวมถึงช่วยสำรวจระบบสนามแม่เหล็กรอบโลกอีกด้วย โดย ARCS จะประกอบไปด้วย CubeSats จำนวนกว่า 32 ตัว และสถานีสำรวจบนโลกอีก 32 สถานีเพื่อใช้ทำงานร่วมกันเป็นโครงข่ายการสำรวจทั่วโลกนั่นเอง โดย ARCS นำโดย Kristina Lynch หัวหน้าทีมวิจัย สังกัด Dartmouth University
Solaris
Solaris เป็นโครงการที่จะสำรวจฟิสิกส์ของระบบสุริยะและดวงอาทิตย์โดยเฉพาะที่ขั้วของดวงอาทิตย์ โดย Solaris จะเก็บทั้งข้อมูลแสง สนามแม่เหล็ก และการเคลื่อนที่ของพื้นผิวและ Photosphere รวมถึงการถ่ายรูปขั้วดาวของดวงอาทิตย์แบบเต็ม ๆ ซึ่งไม่เคยมีภารกิจไหนเคยทำมาก่อน (แต่ยาน Solar Orbiter ของ ESA และ NASA อาจจะได้ทำก่อนในปี 2025 ) ซึ่งการศึกษาขั้วดาวของดวงอาทิตย์จะช่วยให้เราสามารถแก้ไขปริศนาต่าง ๆ เกี่ยวกับพลศาสตร์ของดวงอาทิตย์ได้ซึ่งทุกวันนี้ทำได้เพียงแค่ตั้งสมมติฐานเพียงเท่านั้น โดย Solaris นำโดย Donald Hassler หัวหน้าการวิจัย สังกัด Southwest Research Institute (SwRI)
หลังจากนี้อีก 9 เดือนเราคงได้เห็น Concept ของโครงการดี ๆ เป็นจำนวนมากแน่นอน น่าเสียดายที่จะมีเพียงแค่ 2 โครงการเท่านั้นที่จะได้รับเลือกสำหรับการพัฒนาและการปล่อยซึ่งสนับสนุนงบประมาณโดย NASA
เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO
อ้างอิง
RELEASE 20-083 | NASA Selects Proposals for New Space Environment Missions