หลายคนถ้าไม่เคยเห็นหมีน้ำก็จะนึกว่ามันก็คือหมีตัวใหญ่ ๆ แต่อยู่ในน้ำเลยเรียกว่าหมีน้ำ แต่จริง ๆ แล้วหมีน้ำที่เรากำลังพูดถึงคือสปีชีส์ที่ชื่อว่า “Tardigrades” แต่ด้วยรูปร่างของมันซึ่งลักษณะเหมือนหมีและอาศัยอยู่ในน้ำจึงทำให้มันถูกรู้จักในชื่อหมีน้ำ (Water Bear) มีขนาดเล็กยาวเพียง 0.5 มิลลิเมตรเมื่อโตเต็มไว มี 8 ขา สามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายต่ำ
Tardigrades นั้นเป็นสปีชีส์ที่เจอได้ทุกที่บนโลกไม่ว่าจะเป็นป่า ทะเล ภูเขาไฟ ทวีตแอนตาร์กติกา และอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้มันถูกเรียกว่าสปีชีส์ที่ทนทานที่สุด โดยมันสามารถอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อสิ่งมีชีวิตแบบที่สปีชีส์อื่นไม่สามารถทำได้ เช่น อุณหภูมิร้อนหรือหนาวแบบสุดขีด ความดันสูงหรือต่ำแบบสุดขึด ไร้อากาศ รังสี การขาดน้ำ การอดอาหาร ซึ่งถ้าเป็นสิ่งมีชีวิตอื่น เจอแค่อันใดอันหนึ่งก็สามารถตายได้แล้ว แต่ Tardigrades สามารถเอาชีวิตรอดได้แม้แต่ในอวกาศเป็นระยะเวลาหนึ่ง
และความสามารถนี้เองที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์สงสัยว่าสิ่งมีชีวิตที่เล็กแค่นี้มีความสามารถมากมายขนาดนี้ได้อย่างไร และหากเราเข้าใจกลไกการเอาชีวิตรอดของมันเราก็จะสามารถนำมาใช้กับมนุษย์ที่ต้องเจอสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายได้ หนึ่งในนั้นก็คืออวกาศ ซึ่งนักบินอวกาศต้องเจอทุกวันนั่นเอง
ในอวกาศนั้นเต็มไปด้วยความไม่เอื้ออำนวยต่อสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสภาวะไร้น้ำหนัก รังสี อุณหภูมิ และอื่น ๆ อีกมากมาย เรียกได้ว่าครบเครื่องสำหรับที่สิ่งมีชีวิตหนึ่งจะเจอ ในภารกิจ Cell Science-04 นั้นจะมีการส่งหมีน้ำไป ISS เพื่อการทดลองและสังเกตว่าหมีน้ำปรับตัวอย่างไรต่อสภาพวะที่มันต้องเจอในอวกาศ
สมมุติฐานเบื้องต้น คือ หมีน้ำมีความสามารถในการสังเคราะห์สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) ในการ Neutralize (ทำลาย) สารอนุมูลอิสระ (Free Radical) ที่มาจากรังสีจำนวนมากซึ่งมีความสามารถในการทำปฏิกิริยา Oxidation กับเซลล์ในสิ่งมีชีวิตและทำให้เกิดปฏิกิริยา Carcinogenesis (การเกิดมะเร็ง)ได้ เนื่องจากการทดลองบนโลกแสดงให้เห็นว่าหมีน้ำมีปฏิกิริยาต่อรังสีที่เพิ่มขึ้น
อ่านบทความเกี่ยวกับสัมผัสรังสีในอวกาศได้ที่นี่ – Radiation in Space เมื่อมนุษย์เจอกับรังสีในอวกาศ เราจะกลายพันธ์ุไหม
นอกจากนี้การสังเกตการเปลี่ยนแปลงของรหัสพันธุกรรมในยีนของหมีน้ำจะช่วยให้เราสามารถรู้ได้ด้วยว่าหมีน้ำปรับตัวอย่างไรต่อสภาพแวดล้อมในอวกาศเพื่อที่จะเอาชีวิตรอด เช่น การติดตามว่ายีนสำหรับการผลิตสารต้านอนุมูลอิสระเปลี่ยนแปลงอย่างไรเปรียบเทียบระหว่างตอนที่อยู่บนโลกกับตอนที่อยู่ในอวกาส แล้วยีนเหล่านี้ส่งต่อไปยังลูกหลานของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ หรือไม่นั่นเอง
ข้อมูลการทดลองจาก Cell Science-04 จะยังช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถวิเคราะห์ได้ด้วยว่าหมีน้ำมีปฏิกิริยาต่างกันหรือไม่หากมันอยู่ในอวกาศจริง ๆ กับอยู่ในสภาพแวดล้อมที่จำลองให้เหมือนอวกาศ พูดง่าย ๆ ก็คือมันรู้หรือไม่ว่าตัวมันอยู่ในอวกาศจริง ๆ หรืออยู่ในห้องทดลองบนโลกที่จำลองสภาพแวดล้อมในอวกาศ
อย่างไรก็ตาม หมีน้ำในการทดลอง Cell Science-04 ไม่ใช่หมีน้ำตัวแรกที่ถูกส่งไปในอวกาศ มีหมีน้ำจำนวนมากที่ถูกส่งไปเพื่อทดลองในอวกาศแล้วแม้แต่ในสูญญากาศของอวกาศหรือดวงจันทร์ในภารกิจ Beresheet ซึ่งเป็นยานลงจอดบนดวงจันทร์ของอิสราเอล พร้อมกับหมีน้ำเป็นจำนวนมาก น่าเสียดายที่ Beresheet เกิดข้อผิดพลาดและตกบนดวงจันทร์
นักวิทยาศาสตร์คาดว่าหมีน้ำบน Beresheet จะมีชีวิตรอดบนดวงจันทร์ได้แค่ระยะหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากถึงมันจะแข็งแรงพอที่จะรอดชีวิตในสภาพแวดล้อมอันเลวร้ายได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันจะรอดแบบนั้นได้ตลอดกาล สุดท้ายมันก็จะตายนั่นเอง
อ่านบทความเกี่ยวกับการทดลองจุลชีวินในอวกาศ – Microorganisms tested in space จุลชีพที่ถูกนำไปทดลองในอวกาศ
เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO
อ้างอิง
Microscopic Superheroes to Help Protect Astronaut Health in Space