ทิศทางการพัฒนาด้านอวกาศในไทยควรไปทางไหน อวกาศถูกลงจริง แต่ไม่ได้ง่ายขึ้น

จากเดิมที่การสำรวจอวกาศเป็นเรื่องที่ไกลตัว และเป็นแค่หน้าที่ของประเทศที่เป็นมหาอำนาจ มีอำนาจเงิน อำนาจทางเศรษฐกิจ จีน อเมริกา รัสเซีย กลายเป็นว่าทุกวันนี้ประเทศไหน ใคร หน่วยงานไหน มหาวิทยาลัยหรือเด็กมัธยม เด็กประถม ก็สามารถทำงานอวกาศได้ และมีโครงการอวกาศเป็นของตัวเองได้

การที่บอกว่า “ใครก็ทำงานอวกาศได้” ไม่ได้หมายความว่าใคร ๆ ก็สร้างจรวดได้ หรือทำสถานีอวกาศไปโคจรรอบโลกได้ แน่นอนว่าการที่ประเทศอย่างไทยจะได้ครอบครองเทคโนโลยีอวกาศในแง่ของวิศวกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น จรวด, ฐานปล่อย, ยานอวกาศ หรือสถานีอวกาศ ก็ยังคงยากอยู่ และเราก็ไม่สามารถไปตามประเทศที่เขาเริ่มกันมาครึ่งศตวรรษได้ทันแน่นอน แต่ที่เราบอกว่างานอวกาศ อันนี้หมายถึงกระบวนการคิด การทำงานวิจัย การส่งของขึ้นสู่อวกาศ รวมถึงการค่อย ๆ ก้าวเข้าไปมีส่วนร่วม มีบทบาท มี “ซีน” ในโครงการใหญ่ ๆ ระดับความร่วมมือในระดับโลก

โครงการ Lunar Gateway หนึ่งในความร่วมมือด้านอวกาศที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การก่อสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ ที่มา – NASA

แล้วงานอวกาศสำคัญอย่างไร

ก่อนที่จะรู้ว่างานอวกาศนั้นสำคัญอย่างไร ต้องบอกก่อนว่างานอวกาศนั้นคืออะไร งานอวกาศไม่ใช่การผลิตดาวเทียม (หรือไปซื้อดาวเทียม) หรือการเอา Data ข้อมูลจากยานอวกาศ หรือหน่วยงานของประเทศมหาอำนาจมาวิเคราะห์​อย่างเดียว แต่มันคือการสร้างองค์ความรู้ และกระบวนการคิด โดยเราลองสรุปปัจจัยสำคัญ ๆ มาเป็น 3 ข้อ

  • ปัจจัยด้านการสร้างคน กระบวนการคิด ในทุกการทำงาน แน่นอนว่าเราต้องเจอปัญหา ในการแก้ปัญหาแต่ละขั้นไป จะทำให้เราได้เรียนรู้กระบวนการ และมีประสบการณ์ ถ้านักวิจัยของไทย ได้ทำงานอวกาศพวกเราจะมีกระบวนการคิดที่เทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่มีประสบการณ์ได้ พูดง่าย ๆ ก็คือคุยภาษาเดียวกันรู้เรื่อง
  • ปัจจัยด้านการแก้ปัญหาที่มีอยู่ หรือสร้างงานใหม่ ๆ นอกจากการสร้างคนแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราก็ต้องสร้างงานด้วยเช่นกัน งานที่เป็นงานวิทยาศาสตร์​ (ที่ถูกทำมาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์) มันมีคุณค่าในตัวมันเองอยู่แล้ว แม้ว่ามันจะแก้หรือไม่แก้ปัญหาก็ตาม
  • ปัจจัยด้านการรู้เท่าทันการทูต และอำนาจต่อรอง แม้เราจะบอกว่า อวกาศเป็นการทำเพื่อมนุษยชาติ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทูต การต่อรอง ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ​ สมมติเราต้องการใช้ประโยชน์จากโครงการอวกาศของประเทศมหาอำนาจ แต่เรามีงานชิ้นนี้แค่นี้ เราไม่ได้มีเงินเยอะ เราจะพูดหรือต่อรองยังไงให้เราได้ไปร่วมกับเขา หรือใช้ประโยชน์จากโครงการของเขา (นึกภาพข่าวที่กองทัพบอกว่า จีนเมตตาขายเรือให้ เป็นอะไรที่บอกอะไรหลาย ๆ อย่างต่อมุมมองทางการทูตของผู้พูด)

จากทั้ง 3 ข้อที่ผ่านมานี้ ถ้าเราเอามาประกอบกับแนวคิดที่ว่า ปัญหาบางอย่าง เราพึ่งพาการแก้ไขปัญหาด้วยข้อมูลจากต่างประเทศไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาจีนกักเก็บน้ำทำให้แม่น้ำโขงแห้งแล้ง เราอาจะคิดว่าเรามีโครงการอย่าง NASA SERVIR-Mekong ที่ทำข้อมูลลุ่มน้ำโขงจากดาวเทียมของ NASA แล้วเรารอรับข้อมูลเหล่านั้น .. คำถามก็คือ ถ้าเรายังใช้ข้อมูลจากคนอื่น เราจะยังมีอำนาจต่อรองอยู่หรือเปล่า? แล้วถ้าคนอื่นเขาไม่ช่วยเรา (ซึ่งก็เป็นงานด้านการทูต) แล้วเราจะพึ่งพาตัวเองได้จริง ๆ เหรอ ?

กรณีนี้ในต่างประเทศจะเห็นได้ชัดมาก สหรัฐอเมริกาพัฒนาดาวเทียม GPS ขึ้นมาเพื่อระบุตำแหน่งบนโลก แต่ประเทศอื่น ๆ ก็แข่งกันทำระบบระบุตำแหน่งบนโลกของตัวเองขึ้นมา เช่น Galileo ของยุโรป หรือ Quasi-Zenith ของญี่ปุ่น คำถามก็คือ แล้วเราต้องรอใช้ของคนอื่นอย่างเดียวเหรอ ?

แค่นึงถึง Position ของการเป็น ผู้ใช้ ผู้ร่วมทำ ผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน ผู้รอรับผลประโยชน์​ ก็มีอำนาจที่แตกต่างกันแล้ว

ในฐานะประเทศที่ไม่ได้มีอำนาจ และขนาดของเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก เราทำอะไรได้บ้าง

แม้ว่าเราจะบอกว่าการทำงานอวกาศง่ายขึ้นในยุคนี้ แต่ในการก้าวขึ้นมามีอำนาจนั้น “ไม่ได้ง่าย” และซับซ้อนขึ้นด้วยซ้ำ เราไม่สามารถแค่ทุ่มเงินเหมือนอเมริกา ขนวิศวกรมาทำงานเหมือนโซเวียตได้อีกต่อไปแล้ว เพราะเมื่อเกิดการแข่งขันโครงสร้างของระบบและเกมก็ซับซ้อนมากขึ้น “อวกาศถูกขึ้นจริง แต่ก็ต้องแลกมากับการใช้สมองที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน”

ลองวิเคราะห์กันก่อนว่าทำไมอวกาศถูกขึ้น ทุกวันนี้สมมติเราต้องการจะซื้อเที่ยวบินขึ้นไปปล่อยดาวเทียม SpaceX เพิ่งเปิดตัวโครงการ Small Sat Ride Share โดยเปลี่ยนจากโมเดลเดิมที่เป็นการเช่าเหมาลำจรวดหรือซื้อจรวด กลายเป็นการจองที่นั่งในจรวด (เพราะคนซื้อไม่ได้อยากได้จรวด คนซื้อแค่อยากนำดาวเทียมไปปล่อย) ทำให้ธุรกิจการเป็น Launch Provider เกิด Business Model ใหม่ขึ้นมา และสามารถตั้งราคาได้ถูกลงเหลือแค่เริ่มต้น 32 ล้านบาท รวมถึงการส่งของขึ้นไปทดลองบนอวกาศก็มีบริษัทต่าง ๆ ทั้งเป็น Agency

โครงการ Smallsat Rideshare ของ SpaceX บริการส่งดาวเทียมที่ราคาถูกเพียงแค่เริ่มต้นที่ 32 ล้านบาท

นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมการไปอวกาศถึงได้ถูกลงและใกล้ตัวมากขึ้น เพราะมันไม่ใช่การทำจรวด การทำจรวดยังแพงอยู่ แต่มันคือการได้ทำงานอวกาศต่างหาก สมมติเรายังติดภาพว่า ถ้าไทยจะมี Space Agency เราจะต้องมีจรวด จะต้องมีฐานปล่อย จะต้องมีทีมวิศวกรเยอะแยะนู่นนี่ แต่ตัดภาพมาที่ GDP และอำนาจต่อรองของประเทศก็ดูไม่สมสัดส่วนกัน ดังนั้น ถามว่าเราจะเริ่มต้นอย่างไร การเริ่มต้นให้ “วิศวกร” “นักเรียน” “นักวิจัย” “นักศึกษา” หรือบุคคลที่มีความสนใจ รวมไปถึงศิลปิน นักปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์ ได้มาลิ้มลองการทำงานอวกาศ และได้เรียนรู้วัฒนธรรมเหล่านี้ ทำให้เกิด Mindset ใหม่ๆ และไม่แน่ว่า Mindset ใหม่ ๆ นั้นแหละที่จะพาเราให้มีจรวดของตัวเองซักวัน

นักปรัชญาก็จะได้เข้าใจจุดหมายอันไกลโพ้นหรือพรมแดนสุดท้าย นักเศรษฐศาสตร์จะได้ออกแบบกระบวนการคิดสำหรับยุค Space Economy วิศวกรจะได้ออกแบบงานที่ขึ้นสู่อวกาศจริง ๆ นักวิจัยก็จะได้มี Platform การทดลองที่มากกว่าแค่บนโลก และควบคุมความต้องการได้เองไม่ต้องรอให้ JAXA หรือ NASA, ESA มา Offer ให้ได้ส่ง นักเรียนนักศึกษาก็จะได้โตมาขับเคลื่อนกระบวนการคิดเหล่านี้ต่อไป สิ่งนี้จะทำให้เกิด Space Ecosystem ในไทย

พอมองย้อนกลับมาตอนนี้ สิ่งที่เป็นอยู่จริง ๆ คือ เรากำลังรอให้ต่างประเทศ Offer โอกาสในการได้ไปอวกาศ เรากำลังซื้อดาวเทียม ตัวอย่างสำคัญคือการซื้อดาวเทียม THEOS ในปี 2007 การที่เราแค่มี ไม่ได้หมายความว่าเราจะใช้ประโยชน์จากมัน หรือสร้าง Momentum ในเชิงคุณค่าของมันต่อ ส่วนในการส่งงานวิจัยขึ้นสู่อวกาศ ถ้าเรากำลังรอให้ชื่อของเราถูกเรียก แล้ววันไหนล่ะ ที่เราจะลุกขึ้นมาแล้วตะโกนให้โลกรู้ว่า Thailand ทำอะไรได้ ?

แคนาดา ประเทศที่ได้ซีนเยอะเหลือเกินในการสำรวจอวกาศ เพียงเพราะ CSA หรือหน่วยงานด้านอวกาศของแคนาดาได้สร้างแขนกล Canadarm ซึ่งใช้ตั้งแต่ภารกิจกระสวยอวกาศของสหรัฐอเมริกา ในรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ปัจจุบันติดต้ังอยู่ที่สถานีอวกาศนานาชาติ เป็นผลงานที่ทำให้ Canada มีความสำคัญในการร่วมสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ เพราถ้าไม่มีแขน Candadarm สถานีอวกาศนานาชาติก็คงจะประกอบกันเองไม่ได้ รวมถึงในการทำงานบนนั้นก็จะไม่สะดวกแน่ ๆ

แขนกล Canadarm 2 ที่ติดตั้งบนสถานีอวกาศนานาชาติ สิ่งที่เปิดทางสู่การสำรวจอวกาศกับประเทศแคนาดา ที่มา – NASA

เรากำลังรอวันที่ประเทศไทยกำลังจะได้ขายตัวเองในฐานะหนึ่งในผู้เล่นที่มี Position ชัดในการทำงานอวกาศ ถ้าเราลองดูโมเดลความร่วมมือต่าง ๆ อย่างเช่นตอนนี้ โครงการที่กำลังจะมาแรงแน่ ๆ ก็คือ Artemis การพามนุษย์กลับไปสู่ดวงจันทร์อีกครั้ง ถ้าย้อนกลับไปตอน Apollo เป็นไปได้น้อยมากที่ไทยจะได้มีส่วนร่วม เราทำได้แค่รอรับธงชาติที่อเมริกาเอาไปให้ และรับมอบหินกลับมา (ซึ่งเราคงไม่ต้องอธิบายว่าหินก้อนนี้หายไปไหนแล้ว) ถ้าเรายังไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรซักอย่างกับ Artemis เราอาจจะเป็นประเทศที่แค่ให้คนอื่นมา Offer อะไรให้อีก แล้วสิ่งเหล่านั้นก็คงไม่มีค่าเหมือนกินก้อนนั้นจากภารกิจ Apollo

Moon Rover ของ JAXA ที่พัฒนาร่วมกับ Toyota ที่จะนำไปใช้ในภารกิจการสำรวจดวงจันทร์ ที่มา – JAXA

หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือญี่ปุ่น ซึ่งลำพังเองก็มีโครงการอวกาศที่มีพลังมาก ๆ อยู่แล้วคือ JAXA แต่แม้กระทั่ง JAXA เองก็ต้องหาจุดยืนให้กับตัวเองในโครงการ Artemis การเซ็นความร่วมมือระหว่าง JAXA และ NASA ในการทำภารกิจการสำรวจดวงจันทร์เกิดขึ้นเมื่อปี 2019 พูดถึงโครงการ Smart Lander for Investigating the Moon, การทำ CubeSat ไป Relay สัญญาณให้ภารกิจ Artemis 1 การทำ Payload วิทยาศาสตร์และงานวิจัยซึ่งเป็นผลพวงมาจากโครงการ Commercial Lunar Payload Services

หรือแม้กระทั่งการที่ JAXA ร่วมมือกับ Toyota ทำรถยนต์ไปวิ่งบนดาวอังคารเพื่อชิงโอกาสในการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีด้านยานยนต์บนดวงจันทร์​ (หรือดาวอังคารในอนาคต)

ภาพ Render ของ Moon Habitat โดย Moon Village Association ที่มา – MVA

จะเห็นว่าโมเดลนี้เกิดจากการได้ผลประโยชน์ร่วมกัน มากกว่าการ Offer หรือมอบอะไรให้ฟรี ๆ (ของฟรีไม่มีในโลก) สิ่งสำคัญคือการวาง Position นอกจากนี้ยังมีโครงการ Moon Village Association ซึ่งเป็น NGO รวมกลุ่มกันของธุรกิจและผู้เล่นที่เป็นทั้ง Space และ Non-Space เพื่อหาโมเดลในการทำงานร่วมกันในการสำรวจดวงจันทร์

เรากำลังอยู่ในจุดออกตัวที่มี Potential สูงมาก การดำเนินนโยบายที่ชาญฉลาดคือสิ่งที่กำหนดเป้าหมายในการทำงานอวกาศของเรา

อย่างแรก เราต้องลบภาพอวกาศแบบเดิม ๆ ที่มี Apollo มี Niel Armstrong ไปปักธงบนดวงจันทร์ แต่เราต้องนึกภาพการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และโอกาสที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ การออกแบบและกำหนดกิจการด้านงานอวกาศในไทยควรเล็กให้ สร้างคน สร้างงาน สร้างอำนาจ และสุดท้ายเราจะเกิดเป็น Ecosystem ในไทย

ลองสมมติแบบเล่น ๆ ว่าเรามีโครงการความร่วมมือ (ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมี ๆ บ้างแล้ว เช่นโครงการ Thai Space Consortium ที่เราเองก็ติดตามมาซักพัก แต่ก็ยังงง ๆ เรื่องทิศทาง) เราทำดาวเทียมง่าย ๆ ปล่อยทุกปี เป็น Platform กลางสำหรับการให้งานวิจัย, งานศิลปะ, การทดลองและการเรียนรู้ต่าง ๆ ควบคู่กันไป ใช้งบในการพัฒนา Platform และปล่อยไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจำนวนเงินแค่ 100 ล้านบาท (นี่คงไม่ต้องให้ไปเทียบกับรถถังหรือเรือดำน้ำ) จะสร้าง Impact, แรงบันดาลใจ และทำให้งานอวกาศมาใกล้ตัวขนาดไหน ยิ่งเกิดผลงานเร็วแค่ไหน เราก็ยิ่งพาตัวเองเข้าไปสู่เวทีโลกได้เร็วขึ้นเท่านั้น

ณ ตอนนี้ถือว่าเราเริ่มต้นได้ดีมาก ๆ หนึ่งในโมเดลที่ประสบความสำเร็จได้แก่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT ที่พัฒนาคนจนเกิดศัยภาพด้านการทำงานดาราศาสตร์ในระดับสูง มีการใช้โมเดลความร่วมมือระหว่างประเทศในการสร้างความน่าเชื่อถือ ทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านดาราศาสตร์ทั่วโลก มีทั้งคนที่เก่ง ผลงานที่ประจักษ์ และอำนาจในการต่อรอง ณ ตอนนี้ ประเทศไทยก็ได้มีหอดูดาวภูมิภาค ที่มีเด็ก ๆ ไปใช้ทำโครงงานในระดับมัธยม มีเวทีให้มานำเสนอกับนักดาราศาสตร์ มีหอดูดาวบนดอยอินทนนท์ที่คิวยาวมีนักวิจัยมาใช้

กล้องโทรทรรศน์วิทยุของไทย หนึ่งในผลสำเร็จของโมเดล Ecosystem การพัฒนาคนไปพร้อมกับการสร้างจุดยืนในวงการดาราศาสตร์โลก ที่มา – NARIT

และล่าสุดเราก็มี Radio Telescope Facility ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างของอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ที่ซับซ้อน และแม้กระทั่งต่างประเทศเองก็ยังตื่นเต้นและต้องพึ่งพา Facility เหล่านี้ของเรา ให้เราลองนึกย้อนกลับไปว่าถ้าอยู่ ๆ NARIT รวยมาก มีเงินแสนล้าน แล้วมาสร้างหอดูดาว มาสร้าง Radio Telescope เลย แล้วบอกว่าให้นักวิจัยมาใช้ … นักวิจัยจะรู้ไหมว่าจะใช้ทำอะไร แต่จากการที่ค่อย ๆ สร้างคน สร้างงาน เริ่มมีอำนาจ ทำให้ NARIT มี Ecosystem ด้านการทำ Fron-tier Science ได้ดีมาก ๆ เจ้าหนึ่งในไทย

โครงการขนส่งสิ่งของไปยังดวงจันทร์ โดย SpaceX ทำเพื่อสนับสนุนภารกิจ Artemis ของ NASA

ณ ตอนนี้ เรามีหลาย ๆ ผู้เล่นสำคัญที่มองเกมด้านอวกาศหรือ The New Space Race ออกแล้ว ก็ต้องร่วมกันส่งเสียงไปทางผู้กำหนดนโยบาย หรือรัฐบาล (ซึ่งผลงานของรัฐบาลนี้หลายอย่างก็อาจจะยากหน่อย) เพื่อให้เปิดทางการสำรวจอวกาศให้กับไทย โดยมุมมองแบบ Space Economy และ Space Ecosystem ที่ไม่ใช่แค่การมองว่าอวกาศคือดาวเทียม คือยานอวกาศ หรือคือการปักธงบนดวงจันทร์อย่างเดียว ไทย ณ ตอนนี้โชคดีที่เรามีส่วนประกอบหรือ Ingredient ที่ค่อนข้างครบ มีบริษัทอวกาศ, มีหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์, มีมหาวิทยาลัยมากมายที่ได้รับการยอมรับ และมีความร่วมมือกับหน่วยงานทั่วโลก เริ่มเกิดกระแสในความตื่นตัวด้านอวกาศ แม้กระทั่งบริษัทเอกชนยังสนใจด้านอวกาศ การจะนำ Ingredient เหล่านี้ มา Cook รวมกันให้เป็น Ecosystem ได้ ต้องอาศัยความเข้าใจและมุมมองที่ชาญฉลาดซึ่งเราไม่คาดหวังจากรัฐบาลนี้เท่าไหร่ แต่ถ้าทำได้เราก็คงชม

ถามว่าไทยจะเป็นมหาอำนาจด้านอวกาศได้ไหม อันนี้ตอบได้เลยว่าไม่ และคงต้องรออีกซักพักใหญ่ เพราะอย่างไรก็ตาม อเมริกา, จีน, รัสเซีย, ญี่ปุ่น, อินเดีย และยุโรป ก็จะกลายเป็นมหาอำนาจและเจ้าของโครงการต่าง ๆ อีกซักพักใหญ่เลยทีเดียว แต่โอกาสของเรา​ ณ ตอนนี้คือการได้มี Position ในโครงการเหล่านี้ต่างหาก

สุดท้ายแล้ว สร้างคน สร้างงาน สร้างอำนาจ คือการสร้าง Ecosystem ในการทำงานอวกาศในไทยที่ถ้าเราไม่เริ่มตอนนี้ก็ไม่รู้แล้วว่าจะเริ่มตอนไหน

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.