ดูดวงใช้ 12 ราศี แต่ทำไมดูดาวใช้ 13 รู้จักกับคนแบกงู ราศีที่ถูกลืม

นักดูดาวมือใหม่ ที่อยากจะหาตำแหน่งดาวเคราะห์ว่าอยู่ตำแหน่งไหนบนท้องฟ้า ซึ่งมักจะใช้กลุ่มดาวจักรราศีเป็นจุดอ้างอิง แต่ในบางครั้งเราอาจจะเจอกลุ่มดาวแปลก ๆ โผล่มา เช่น “ดาวอังคารอยู่ในกลุ่มดาวคนแบกงู” ถ้าหากเราท่องชื่อจักรราศีทั้ง 12 ตั้งแต่ราศีเมษ-แกะ, ราศีพฤษภ-วัว ไปจนถึงราศีสุดท้าย ราศีมีน-ปลา มันไม่มีราศีไหนที่มีสัญลักษณ์เป็นคนแบกงูเลย แล้วมันโผล่มาได้ยังไง

จะบอกว่าจักรราศีที่ท่องกันน่ะ คือจักรราศีในทางโหราศาสตร์ ใช้สำหรับดูดวง ซึ่งมี 12 ราศีน่ะถูกแล้ว แต่จักรราศีในทางดาราศาสตร์น่ะ มี 13 กลุ่มดาว และรวมถึงกลุ่มดาวคนแบกงู (Ophiuchus) ในนั้นด้วย งงอ่ะเด้

606px-Ophiuchus_IAU.svg

ดวงดาวในกลุ่มดาวคนแบกงู โดยมีเส้นสุริยวิถีตัดผ่านตอนล่างของดาว ที่มา -IAU

จักรราศีคืออะไร?

จักรราศีในทางดาราศาสตร์ คือกลุ่มดาวที่เส้นสุริยวิถี (Ecliptic) พาดผ่าน อธิบายคือกลุ่มดาวที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ผ่านจนครบรอบ 1 ปี และสำหรับดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ย่อมเคลื่อนที่ตามเส้นสุริยวิถีด้วย นักดูดาวจึงใช้กลุ่มดาวจักรราศีเป็นหลักในการดูดาวเคราะห์นั่นเอง

ในสมัยก่อนวิชาดาราศาสตร์กับโหราศาสตร์ยังไม่แยกจากกันชัดเจน คนโบราณจับเอากลุ่มดาวที่เห็นได้ชัดบนท้องฟ้ามาแบ่งเป็น 12 กลุ่มดาวเป็นหลักการแบ่งท้องฟ้า คือให้พื้นที่แต่ละกลุ่มดาวครอบคลุมพื้นที่ 30 องศา ทำให้ดวงอาทิตย์อยู่ในแต่ละกลุ่มดาวนานประมาณ 30 วันเท่าๆ กัน ทุกอย่างดูลงตัว เพราะเมื่อรวม 12 กลุ่มดาวแล้วก็จะมีพื้นที่ครบ 360 องศา และ 365 วันใน 1 ปี

astronomytrek

กลุ่มดาวจักรราศีทั้ง 12 ที่เรารู้จักกันดี ที่มา – Astronomy Trek

คนแบกงูเข้ามาแจมตอนไหน?

เรียกได้ว่าตั้งแต่โบราณ เขานับจักรราศีแค่ 12 กลุ่มดาวมาโดยตลอด ขณะที่กลุ่มดาวคนแบกงู ก็เป็นกลุ่มดาวอื่นๆ บนท้องฟ้าที่รู้จักกันตั้งแต่สมัยบาบิโลน, กรีกโบราณ และได้คัดเลือกเป็นหนึ่งในเมมเบอร์ของ PTM48 เอ๊ย 48 กลุ่มดาวของปโตเลมีตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 เลย เรียกได้ว่ามันเองก็ไม่ใช่กลุ่มดาวที่จืดจางจนถูกลืม และกลุ่มดาวทั้ง 12 ราศีก็เป็นเลขลงตัวอยู่แล้ว ดูๆ ไปมันก็ไม่มีปัญหาอะไรเลยนิน่า

จนกระทั่งในปี 1930 สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล International Astronomical Union ได้กำหนดขอบเขตกลุ่มดาวทั้ง 88 กลุ่ม ที่ใช้เป็นมาตรฐานจวบจนปัจจุบันขึ้น และเขตแดนของกลุ่มดาวนี้เอง ทำให้พื้นที่ของกลุ่มดาวคนแบกงูบางส่วนอยู่ในแนวเส้นสุริยวิถีด้วย และปัญหาเรื่องจักรราศีก็เป็นประเด็นถกเถียงขึ้นจนถึงทุกวันนี้ มีทั้งฝ่ายที่ควรจะเอาคนแบกงูเข้าไปเป็นจักรราศีที่ 13 และฝ่ายที่ควรให้จักรราศีมีเพียง 12 กลุ่มดาวก็พอ

นอกจากนี้ การแบ่งเขตกลุ่มดาวยังทำให้ดวงอาทิตย์อยู่ในกลุ่มดาวจักรราศีมากน้อยต่างกัน ตามความกว้างของกลุ่มดาวอีกต่างหาก โดยดวงอาทิตย์จะอยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาวนานที่สุดคือ 45 วัน (16 กันยายน-30 ตุลาคม) และอยู่ในกลุ่มดาวแมงป่องสั้นที่สุดคือ 7 วัน (23-29 พฤศจิกายน)

2018-08-25_21-23-06

เส้นสุริยวิถี (เส้นสีส้ม) ตัดผ่านส่วนล่างของกลุ่มดาวคนแบกงู และจะเห็นได้ว่าช่วงที่ผ่านกลุ่มดาวแมงป่องสั้นมาก ที่มา-โปรแกรม Stellarium

 

คนแบกงูอยู่ที่ไหนบนท้องฟ้าล่ะ

กลุ่มดาวคนแบกงูอยู่ระหว่างกลุ่มดาวแมงป่อง (Scorpius) และกลุ่มดาวคนยิงธนู (Sagittarius)  ภายหลังขีดเส้นแบ่งเขตกลุ่มดาวในปี 1930 ทำให้ดวงอาทิตย์เข้ามาอยู่ในกลุ่มดาวนี้นาน 18 วัน ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 17 ธันวาคม

แต่กลุ่มดาวนี้นับว่าอาภัพนัก เพราะเส้นสุริยวิถีดันไปพาดผ่านส่วนล่างของกลุ่มดาว ต่างจากกลุ่มดาวจักรราศีอื่นที่เส้นสุริยวิถีพาดผ่านกลางกลุ่มดาว นอกจากนี้คนแบกงูเองก็ไม่ค่อยจะมีความสว่างด้วย ดาวสว่างที่สุดคือ Rasalhague ยังสว่างแค่ 2.08 และเมื่อเทียบกับกลุ่มดาวแมงป่องที่ดาวสว่างที่สุดคือ Antares สว่างถึง 0.96 (ยิ่งเลขน้อยยิ่งสว่างมาก) แถมยังมีอีก 2 ดวงที่สว่างต่ำกว่า 2.00 ทำให้กลุ่มดาวแมงป่องเป็นที่รู้จักมากกว่าคนแบกงูมากกกกกก และได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 12 เซมบัตสึในซิงเกิล Kimi wa Zodiac แทน

ชีวิตจริงก็อย่างงี้ เกิดมาไม่สวย ไม่รวย ต่อให้พยายามมากแค่ไหนคนก็ไม่จดจำ กลุ่มดาวก็เช่นกัน เรามักจะรู้จักกลุ่มดาวที่มีดาวสว่าง ๆ อย่างนายพราน, หมีใหญ่, สิงโต, นกอินทรี, พิณ มากกว่ากลุ่มดาวชื่อแปลก ๆ อย่าง ยีราฟ, ปลาโลมา, โล่, ภูเขาโต๊ะ, ยูนิคอร์น และสำหรับนักดูดาวก็มักจะโอชิกลุ่มแรกมากกว่า เพราะมันเห็นง่ายกว่า ออร่าแรงกว่าไง

OphiuchusOdysseus

ขนาดในเรื่อง Saint Seiya ยังได้รับเลือกเป็นโกลด์เซนต์ ชื่อว่า Ophiuchus Odysseus เลยนะ

คนแบกงูมีตำนานของตัวเองมั้ย?

ถ้าพูดถึงกลุ่มดาวแล้วไม่เล่าเรื่องตำนานที่เกี่ยวข้องด้วยก็ดูจะขาดอะไรไป และคนแบกงูเองก็มีเรื่องเล่าในเทพปกรณัมกรีกด้วย คนแบกงูตามตำนานกรีก มีชื่อว่า Asclepius (อัสคลีปิอุส) เป็นบุตรของอพอลโล เขาได้เรียนรู้วิชาการแพทย์จากเซนทอร์ (คนครึ่งม้า) นาม Chiron และรักษาคนที่เจ็บป่วยให้หายได้ วันหนึ่งขณะที่เขากำลังรักษาคนอยู่ มีงูมาเลื้อยบนคทา เขาเลยฆ่าทิ้งไปซะ เกะกะการทำงาน แต่อยู่ดีๆ มีงูอีกตัวคาบสมุนไพรมาและชุบชีวิตงูที่ตายได้เฉย อัสคลีปิอุสจึงนำสมุนไพรนั้นมารักษารวมทั้งชุบชีวิตคนจากความตายได้จำนวนมาก

Archaeological Museum of Epidaurus

รูปปั้น Asclepius กับงูพันคทา จากพิพิธภัณฑ์โบราณคดี Epidaurus ประเทศกรีซ ที่มา -Wikipedia

พลังในการรักษาของอัสคลีปิอุส สร้างความเดือดร้อนให้เทพแห่งยมโลกอย่างฮาเดส (โรมันเรียกพลูโต) เพราะหน้าที่เขาคือต้อนรับดวงวิญญาณคนตาย แต่พอไม่มีใครตาย ฮาเดสก็ตกงานสิ เห็นดังนั้นจึงร้องไปถึงเทพสูงสุดอย่างซุสให้ฆ่าไอ้นี่ซะ ไม่งั้นคนเกิดกันรกโลกกันพอดี ซุสเลยจัดให้ ปล่อยไฟฟ้าแสนโวลต์ช็อตอัสคลีปิอุสจนตายคาที่ (นึกถึง Mercy ในเกม Overwatch ก็ได้ สกิลฮีลและชุบชีวิตของนางโหดมากจนถูกเนิฟแล้วเนิฟอีกนั่นแหละ) แต่คุณความดีของอัสคลีปิอุสที่ทำไว้กับมนุษย์นั้น ซุสจึงตอบแทนเขาด้วยการนำร่างของเขาไปประดับบนฟ้าในกลุ่มดาวคนแบกงู เฉกเช่นฮีโร่คนอื่นๆ ที่ได้เป็นชื่อกลุ่มดาวอย่าง Hercules, Cassiopeia, Perseus

ด้วยพลังรักษาของอัสคลีปิอุส ทำให้สัญลักษณ์งูพันคทาหรือ Rod of Asclepius จึงเป็นที่แพร่หลายในองค์กรทางการแพทย์ เช่นธงขององค์การอนามัยโลก (WHO) หรือสัญลักษณ์ดาวแห่งชีวิต (Star of Life) ที่เป็นสัญลักษณ์ของหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน          

WHO

ธงองค์การอนามัยโลก กับสัญลักษณ์ Rod of Asclepius

อย่าสับสนกับจักรราศีทางโหราศาสตร์

แม้ว่าคนแบกงูจะเป็นสมาชิกจักรราศีแล้ว แต่เป็นเพียงในสำนักดาราศาสตร์เท่านั้น ซึ่งมีหลัก, นิยามและขอบเขตที่แน่นอน แต่สำหรับสำนักโหราศาสตร์แล้ว ปล่อยให้มี 12 ราศีเหมือนเดิมเถอะ เอาแค่นี้ทางโหราศาสตร์ก็ยังมีนับราศี 2 แบบให้งงเล่นเลย แบบ Tropical ที่นิยมใช้ในประเทศตะวันตกและจีน กับแบบ Sidereal นิยมใช้ในไทยและอินเดีย ถ้ามี 13 ราศีคงปวดหัวพิลึก

เพราะฉะนั้น อย่าเอาดาราศาสตร์ Astronomy มาปนกับโหราศาสตร์ Astrology นะเห้ย แค่จุดมุ่งหมายของทั้งคู่ก็ไปคนละทางแล้ว ดาราศาสตร์มุ่งศึกษาวัตถุท้องฟ้าด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ แต่โหราศาสตร์คือเน้นทำนายดวงชะตาชีวิตคนโดยใช้กลุ่มดาวเป็นเครื่องมือ แต่ไม่มีหลักการวิทยาศาสตร์รองรับใด ๆ ทั้งสิ้น

อย่าลืมว่าดวงดาวราศีไม่ได้กำหนดชีวิตคุณ แต่คุณต่างหากที่กำหนดชีวิตของตัวเอง เพราะพี่ตูนกล่าวไว้ว่า “ชีวิตจะเป็นแบบไหน คงต้องเลือกเอา … ก็ชีวิตมันเป็นของเรา”

อ้างอิง

Constellation | Constellation guide

Ophiuchus | Constellation guide

Asclepius | Encyclopedia Mythica

สื่อออนไลน์ คอนเทนต์ด้านอวกาศ การสํารวจอวกาศ และการค้นพบใหม่ ๆ โดยเน้นสร้างสรรค์เนื้อหาที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย และสนุกไปกับความรู้ที่ได้รับ