GISTDA เปิดภาพแรกจากดาวเทียม THEOS-2

GISTDA เปิดเผยภาพแรก (First Image) ของดาวเทียม THEOS-2 หลังจากที่ปล่อยขึ้นสู่อวกาศไปในวันที่ 9 ตุลาคม 2023 ด้วยจรวด Vega จากฐานปล่อยในเกียนา ดินแดนโพ้นทะเลของประเทศฝรั่งเศส และตัวดาวเทียมได้ผ่านขั้นตอนการ Calibrate และการตรวจรับ รวมระยะเวลากว่า 6 เดือน

วิศวกรของ GISTDA เล่าว่าหลังจากการที่ THEOS-2 แยกตัวจาก Upper Stage ของจรวด Vega ได้มีการทำ Orbit Correction ทั้งหมด 12 จำนวนการ Burn ด้วยกัน และเริ่มทำการ Calibrate ตัว Payload บนยาน

15 พฤษภาคม 2024 GISTDA ได้จัดงานเปิดตัวแสดงภาพแรกของดาวเทียม THEOS-2 ณ Paragon Cineplex สยามพารากอน และได้เชิญชื่อ หน่วยงานวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ เข้าร่วมงาน

สำหรับภาพแรกจากดาวเทียม THEOS-2 คือ กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย นับว่าเป็นภาพถ่ายทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Image) ภาพแรก ซึ่งถ่ายโดยกล้องบนตัวดาวเทียม หลังจากที่ได้ทำการ Calibrate เรียบร้อย เตรียมพร้อมสำหรับการทำงานวิทยาศาสตร์หลังจากนี้

ภาพถ่ายบริเวณวงเวียนใหญ่ของกรุงเทพมหานคร และสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่มา – GISTDA

สำหรับดาวเทียม THEOS-2 เป็นดาวเทียมถ่ายภาพที่พัฒนาโดยบริษัท Airbus Space นั้นโคจรอยู่ที่วงโคจรแบบ Sun-Synchronous Orbit ที่ความสูง 621 กิโลเมตร ตัดขั้วโลกเหนือใต้ มีคาบการโคจร 97.25 นาที และจะโคจรกลับมาอยู่เหนือจุดเดิมบนผิวโลกทุก 26 วัน

ภาพถ่ายบริเวณสถานี MRT ท่าพระ ที่มา – GISTDA

สำหรับ Payload สำคัญบนตัวดาวเทียม จะเป็นกล้องถ่ายภาพแบบ Multi-Spectral ช่วงคลื่นกว้างครอบคลุมตั้งแต่ในย่าน Visible Light ไปจนถึง Near-IR หรืออินฟราเรดย่านใกล้ เพื่อใช้สำหรับการประกอบสร้างข้อมูลทางภูมิสารสนเทศ ผ่าน Detector สองประเภท ได้แก่ Panchromatic ที่มีความละเอียดอยู่ที่ 0.5 เมตร และแบบ Multispectral ได้อยู่ที่ความละเอียด 2 เมตร ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับดาวเทียมถ่ายภาพในประเภทเดียวกัน (ปกติจะอยู่ที่ประมาณ 0.25-0.5 เมตร)

โดยในการทำงาน จะสามารถถ่ายภาพจากมุมบนเหนือหัวพอดี (Nadir) และเอียงตัวเองเพื่อถ่ายภาพบริเวณรอบข้างได้ที่ 30 องศา โดยมีขนาดพื้นที่ในการถ่ายภาพจากมุม Nadir (Swath Wide) อยู่ที่ 10.3 กิโลเมตร

GISTDA ได้ประเมินไว้ว่าดาวเทียม THEOS-2 จะมีอายุการใช้งานอยู่ที่ประมาณ 10 ปี โดยใช้งบประมาณในโครงการอยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านบาท ซึ่งมีดาวเทียมที่เราจะได้รับอยู่ 2 ดวง ได้แก่ THEOS-2 และ THEOS-2A ซึ่งเป็นดาวเทียมขนาดเล็กกว่าและร่วมสร้างโดยวิศวกรไทย ซึ่งมีกำหนดปล่อยในปีนี้กับจรวด PLSV ของอินเดีย

สามารถอ่านคู่มือและเสป็คของตัวดาวเทียมได้ที่ THEOS-2 User Manual

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.