เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2018 Minor Planet Center ของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล ได้ประกาศการค้นพบวัตถุชนิด Sednoid ดวงที่สามในระบบสุริยะจักรวาล ชื่อว่า 2015 TG387 ซึ่งมันนี้ไม่เคยเข้าใกล้ดวงอาทิตย์เกินกว่าระยะ 9.6 พันล้านกิโลเมตร และมีจุดห่างจากดวงอาทิตย์ที่สุดอยู่ที่หมู่เมฆออร์ตชั้นใน
Sednoid นั้นเป็นชื่อเรียกของวัตถุโพ้นดาวเปนจูน ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์อยู่นอกเขตของแถบไคเปอร์ หรือมีจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด (Periphelion) ไม่น้อยกว่า 50 หน่วยดาราศาสตร์ และวัตถุพวกนี้จะมีวงโคจรที่มีความรีสูง ดังนั้นจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดหรือ Aphelion จะอยู่ที่หลักร้อย-พันหน่วยดาราศาสตร์เลยทีเดียว ซึ่งก่อนการค้นพบ 2015 TG387 นั้นมีวัตถุชนิด Sednoid อยู่แค่ 2 ดวงเท่านั้น ได้แก่ Sedna และ 2012 VP113
สำหรับ 2015 TG387 นั้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 200-600 กิโลเมตร เข้าใกล้ดวงอาทิตย์สุดที่ระยะ 64.8 หน่วยดาราศาสตร์ และจุดห่างที่สุดของมันนั้นอยู่ที่ระยะ 2,300 หน่วยดาราศาสตร์ นั่นทำให้การโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบของ 2015 TG387 ต้องใช้เวลายาวนานถึง 34,000 ปีเลยทีเดียว
มันถูกค้นพบเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2015 โดย David Tholen, Scott Sheppard และ Chad Trujillo ด้วยกล้องโทรทรรศน์ Subaru ที่หอดูดาวบนยอดเขา Mauna Kea เกาะฮาวาย ซึ่งเป็นวันเดียวกัน ทีมเดียวกันและที่เดียวกันที่ค้นพบ V774104 อีกวัตถุที่อาจจะเป็น Sednoid ด้วยเช่นกัน ซึ่งรายหลังนั้นยังไม่ได้รับการยืนยัน เนื่องจากยังไม่มีการส่งข้อมูลให้กับสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลนั่นเอง
สำหรับการค้นพบ 2015 TG387 นี้ไม่ใช่การค้นพบ Planet Nine แต่ก็ยังไม่มีการตัดความเป็นไปได้ของ Planet Nine ออกไปอยู่ดี เนื่องจากกลุ่มของวัตถุโพ้นดาวเนปจูนที่ถูกค้นพบนั้นมีความสอดคล้องกันอย่างมาก (ตามที่เห็นได้ในภาพด้านล่าง) ซึ่งอาจทำให้ค้นพบ Planet Nine ได้ในอนาคต หากมันมีอยู่จริงนั่นเอง
อ้างอิง:
Nature | ‘Goblin’ world found orbiting at the edges of the Solar System