2025 ใครเดินทางไปถึงไหนแล้วบ้างในอวกาศ

ปี 2024 นั้นเรียกได้ว่าเป็นปีที่ไม่ได้มีอะไรยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ แต่ก็ไม่ได้เงียบจนไม่มีข่าวคราวทางอวกาศเลย ในบทความ สรุปกิจกรรมในวงการอวกาศไทย 2024 เมื่อไทยหันร่วมมือสำรวจอวกาศกับจีนมากขึ้น และ สรุปกิจกรรมด้านการบินอวกาศ 2024 ปีแห่งการผลักดันพรมแดนเทคโนโลยีจรวด ทางทีมบรรณาธิการ Spaceth.co ได้รวบรวมกิจกรรมด้านอวกาศทั้งในประเทศไทยและในระดับนานาชาติมาให้อ่านกันแล้ว แต่อีกหนึ่งคำถามที่สำคัญยิ่งกว่า ใครเดินทางไปถึงไหนแล้วบ้างในเอกภพอันกว้างใหญ่นี้


สุดแสนจะไกล ณ ขอบอวกาศ – Voyager 1

สิ่งที่ Voyager 1 เห็นจากที่ที่มันอยู่ในตอนนี้ไม่ใช่โลก ไม่ใช่ดาวเคราะห์แม้แต่ดวงเดียวแต่เป้นเพียงดาวฤกษ์ที่เรารู้จักกันในชื่อ “ดวงอาทิตย์” ที่ถึงแม้จะแสนใหญ่ในสายตาชาวโลก แต่กลับเล็กเท่าดวงจันทร์ในสายตาของ Voyager 1 หากจะพูดให้ถูกต้อง Voyager 1 ไม่ได้เห็นอะไรเลย เพราะยาน Voyager 1 นั้นแม้จะมีกล้องถ่ายรูป แต่กล้องเหล่านี้ถูกปิดไปอย่างถาวรแล้วเพื่อประหยัดพลังงานที่กำลังร่อยหรอ Voyager 1 ได้แต่รู้ว่าตนกำลังเดินทางออกห่างจากโลกและระบบสุริยะไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีวันหวนกลับ

ระยะห่างจากโลก ณ วันที่ 1 มกราคม 2025 คือ 24.82 พันล้านกิโลเมตร

ตำแหน่งของยาน Voyager 1 ณ วันที่ 1 มกราคม 2025 – ที่มา NASA Eyes on Solar System

ร้อนและใกล้ที่สุด ณ ดวงอาทิตย์ – Parker Solar Probe

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2024 ที่ผ่านมา ยานสำรวจดวงอาทิตย์ Parker Solar Probe ได้บินเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเท่าที่เคยบินมา ที่ความเร็วกว่า 692,017 กิโลเมตร/ชั่วโมง ด้วยอุณหภูมิกว่า 982 องศาเซลเซียส และระยะทางจากดวงอาทิตย์ประมาณ 5.84 ล้านกิโลเมตรเท่านั้น หากเทียบเป็นหน่วย AU (Astronomical Unit) แล้วละก็ จะอยู่ที่ 0.039 AU เท่านั้น ในขณะที่โลกอยู่ห่างออกไปจากดวงอาทิตย์ 1 AU

วงโคจรของ Parker Solar Probe ณ วันที่ 1 มกราคม 2025 หลังจากบินผ่านดวงอาทิตย์ด้วยระยะที่ใกล้ที่สุดเท่าที่เคยมีมา – ที่มา NASA Eyes on Solar System

จะเห็นได้ว่ายาน Parker Solar Probe เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ด้วยระยะที่เรียกได้ว่าแทบจะแตะกับดวงอาทิตย์อยู่แล้ว ณ วันที่ 1 มกราคม 2025 ยาน Parker Solar Probe กำลังเดินทางออกห่างจากดวงอาทิตย์ไปยังจุดที่สูงที่สุดของวงโคจร (Apogee)

ภาพจำลองของยาน Parker Solar Probe ขณะบินเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด – ที่มา NASA Eyes on Solar System

ยานสำรวจดวงจันทร์ยูโรปา – Europa Clipper

ยาน Europa Clipper ของ NASA ถูกปล่อยเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2024 ไปยังดาวพฤหัส เพื่อศึกษาดวงจันทร์ยูโรปา (Europa) ของดาวพฤหัส ในปัจจุบัน ยาน Europa Clipper กำลังอยู่ในระหว่างการเดินทางไปยังดาวอังคารเพื่อเตรียมการทำ Gravity Assist ไปยังดาวพฤหัส โดยคาดว่าจะเดินทางถึงดาวอังคารในวันที่ 1 มีนาคม 2025 ก่อนที่จะเดินทางกลับมายังโลกเพื่อ Gravity Assist อีกครั้งในช่วงปลายปี 2026 และจะเดินทางถึง Europa ในปี 2030

ณ วันที่ 1 มกราคม 2025 ยาน Europa Clipper อยู่ห่างออกไปจากโลก 42.94 ล้านกิโลเมตร

ภาพแสดงวงโคจรของยาน Europa Clipper ณ วันที่ 1 มกราคม 2025 – ที่มา NASA Eyes on Solar System

ยานเอเลี่ยนเยี่ยมเยือนโลก? – 1I/2017 U1 (ʻOumuamua)

หลายคนเคยอาจจะได้ยินข่าวว่ามีดาวเคราะห์น้อยหน้าตาแปลกประหลาดชื่อว่า “Oumuamua” ซึ่งอ่านว่าอะไรก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัด ซึ่งบินผ่านระบบสุริยะและโลกด้วยวงโคจรที่อยู่ ๆ ก็โผล่มาจากไหนไม่รู้ แถมยังมีเส้นทางการโคจรที่ผิดปกติ ทำให้ต่างก็มีทฤษฎีมากมายที่ถูกสมมุติฐานขึ้นมาเกี่ยวกับ Oumuamua บางก็ว่ามันอาจจะเป็นดาวเคราะห์น้อยในคราบยานอวกาศของเอเลี่ยนที่ถูกส่งมาสำรวจโลก

ณ วันที่ 1 มกราคม 2025 ยานเอเลี่ยน Oumuamua อยู่ห่างออกไปจากโลก 6.69 พันล้านกิโลเมตร

ภาพจำลอง 1I/2017 U1 (ʻOumuamua) และระบบสุริยะ – ที่มา NASA Eyes on Solar System

ดาวหางที่กำลังกลับมาหาเราอีกครั้ง – 1P/Halley

ดาวหาง 1P/Halley หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ดาวหางฮัลเลย์” ได้หยุดหนีไปจากเราแล้ว เพราะว่ามันได้ผ่านจุดสูงสุดของวงโคจร (Apogee) ไปแล้ว และมันกำลังย้อนกลับมาหาโลกเราที่ระบบสุริยะอีกครั้ง หลังจากที่ผ่านมาให้มนุษย์เราได้เห็นในปี 1986 ดาวหางฮัลเลย์กำลังเดินทางกลับมาให้เราได้เห็นด้วยตาตัวเองในปี 2061 โดยการเดินทางระหว่างครั้งที่แล้วที่ฮัลเลย์มาโลกจนถึงครั้งต่อไป คือ ประมาณ 75 ปี ทำให้ดาวหางฮัลเลย์ จนถึงปัจจุบัน เป็นดาวหางดวงเดียวที่มีโอกาสได้เห็นสองครั้งในช่วงชีวิตหนึ่ง

ณ วันที่ 1 มกราคม 2025 ดาวหางฮัลเลย์อยู่ห่างออกไปจากเรา 5.13 พันล้านกิโลเมตร

วงโคจรของ 1P/Halley สัมพัทธ์กับระบบสุริยะ – ที่มา NASA Eyes on Solar System

เช่นนี้เอง ในฐานะทีมบรรณาธิการ Spaceth.co จึงขออวยพรให้ทุกคนมีชีวิตยืนยาวสุขภาพแข็งแรงและได้เห็นการมาถึงของดาวหางฮัลเลย์อีกครั้งในปี 2061 หรือในอีก 36 ปี

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Editor of Spaceth.co | A 21-year-old biologist with a passion for space exploration, science communication, and interdisciplinarity. Dedicated to demystifying science for all - Since 2018.