เป้าหมายใหม่ของยานนิว ฮอไรซอนส์ได้ชื่อเล่นใหม่แล้ว (ชื่อจริงยังต้องรอต่อไปนะ)

หลังจากต้องนั่งจำชื่อประหลาด ๆ ของมันมาสักพักหนึ่ง ในวันนี้ทีมงานของภารกิจนิว ฮอไรซอนส์ (New Horizons) ก็ได้เลือกชื่อ Ultima Thule (อ่านว่า อัล-ติ-มา ทู-ลี) มาตั้งเป็นชื่อเล่นให้กับ 2014 MU69 วัตถุในแถบไคเปอร์ที่อยู่ไกลออกไปจากวงโคจรของดาวพลูโตประมาณ 1,600 ล้านกิโลเมตร

ภาพจำลองการบินผ่าน Ultima Thule ของยานนิว ฮอไรซอนส์ ในวันที่ 1 มกราคม 2019 – ที่มา NASA/JHUAPL/SwRI/Steve Gribben

สำหรับความหมายของชื่อ Ultima Thule นั้นมาจากเกาะในความเชื่อของคนสมัยก่อนที่อยู่เหนือที่สุดในโลก จะไม่มีดินแดนไหนที่เราเคยรู้จักอยู่พ้นไปจากเกาะ Thule นี้ และเมื่อเอามารวมกับคำว่า Ultima ที่หมายถึงไกลกว่า ก็จะได้ความหมายในแนวที่ว่า เราเคยไปสำรวจถึงแค่ดาวเนปจูน 2015 นิว ฮอไรซอนส์ทำลายสถิตินั้นด้วยการสำรวจพลูโต ที่เปรียบเสมือนเกาะ Thule แต่สำหรับ 2014 MU69 มันคือการเดินทางออกไปสำรวจไกลเกินกว่าจะเคยมียานลำไหนทำมาก่อน “ยานอวกาศของเราเดินทางไปไกลเกินกว่าขอบเขตที่เราเคยรู้จัก ที่ตรงนั้นมีเป้าหมายของเรากำลังรออยู่” คือส่วนหนึ่งจากคำพูดของ Alan Stern หัวหน้าของทีมภารกิจนิว ฮอไรซอน

เกาะ Thule (ในภาพเขียนเป็น Tile) จากแผนที่ปี 1539 – ที่มา: Olaus Magnus

ภารกิจการตามหาชื่อเล่นจ๊าบ ๆ มาแทน 2014 MU69 นั้นมีมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนของปีที่แล้ว ซึ่งการค้นหานี้จัดขึ้นโดยทีมงานภารกิจนิว ฮอไรซอนส์และ SETI Institute of Mountain View ซึ่งในระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือนที่เปิดรับการเสนอชื่อก็ได้มีผู้เข้าร่วมกว่า 115,000 คนกับชื่อทั้งสิ้น 34,000 ชื่อ ก่อนจะถูกคัดมา 29 ชื่อเพื่อมาให้คนทั่วไปได้โหวตเลือก นอกเหนือจาก Ultima Thule ก็ยังมีชื่อ Pangu ที่อาจถูกนำไปตั้งเป็นชื่อจริง Mjölnir ที่ชนะคะแนนโหวตจากสาธารณะ Tiramisu ของหวานแสนอร่อย และ Año Nuevo ที่แปลว่าปีใหม่ในภาษาสเปน เป็นต้น (ดูรายชื่อทั้งหมดได้ที่นี่) และแม้ว่ามันจะไม่ได้เข้าป้ายอันดับ 1 ในรอบการโหวต แต่คะแนนจากทีมงานก็มากพอที่จะส่งให้ Ultima Thule มาเป็นชื่อเล่นให้กับวัตถุชิ้นนี้ ซึ่งวิวัฒนาการมาจาก 1110113Y มาเป็น PT1 ก่อนจะได้ชื่อทางการในตอนนี้ว่า 2014 MU69 ในรหัส 486958 (ไม่รับรองว่าจะถูกหวยนะ แต่ก็ลองเสี่ยงได้)

ก่อนที่นิวฮอไรซอนจะมาถึง Ultima Thule ในวันปีใหม่ที่จะถึงนี้ มันได้ทุบทำลายสถิติต่าง ๆ ไปมากมายระหว่างทาง ทั้งการทำ course-correction maneuver ที่ไกลที่สุด (จุดเครื่องยนต์เพื่อเปลี่ยนทิศทางการเดินทาง) ถ่ายภาพที่ไกลจากโลกมากที่สุดและทำลายสถิติเดิมของตัวเองใน 2 ชั่วโมงให้หลัง (ใช่แล้ว ไกลกว่าภาพถ่าย Pale Blue Dot เสียอีก) ยังไม่รวมการสำรวจดาวพลูโตครั้งแรกและการตั้งเป้าหมายที่จะสำรวจวัตถุในแถบไคเปอร์เป็นครั้งแรกอีกเช่นกัน

วิถีการสำรวจของนิว ฮอไรซอนส์ ที่ผ่านดาวพลูโต และกำลังเดินทางไปยัง Ultima Thule – ที่มา: NASA/JHUAPL/SwRI/Alex Parker

แต่ก่อนอื่นนั้นนิว ฮอไรซอนส์จำเป็นที่จะต้องถูกปลุกจากนิทราขึ้นมาก่อน เพราะหลังจากโชว์ถ่ายภาพที่ไกลจากโลกมากที่สุดไป มันก็เข้าจำศีลยาวถึงเดือนมิถุนายน ก่อนจะตื่นขึ้นมาเตรียมพร้อมพบกับ Ultima Thule ดินแดนแสนไกลที่ยังไม่มีใครรู้ว่ามันมีอะไรบ้าง และเฉียดเข้าไปใกล้เพียง 3,500 กิโลเมตรจากพื้นของมันในวันที่ 1 มกราคม 2019 อีกไม่นานต่อจากนี้มนุษย์เราก็กำลังจะได้รู้จักเกาะ Thule แห่งใหม่ ที่ซึ่งเหล่านักสำรวจจะต้องออกเดินทางลึกเข้าไปในไกลกว่าเดิมเพื่อตามหา Ultima Thule ดวงต่อไป ในขณะที่ Ultima Thule ก็จะได้ชื่อเท่ ๆ เหมือนกับหมู่เพื่อนของมันแล้ว

อ่านเรื่องของ Ultima Thule (2014 MU69) เพิ่มเติมได้ที่นี่
อ่านเรื่องการถ่ายภาพที่ไกลจากโลกมากที่สุดได้ที่นี่

ที่มา:

NASA

SETI Institute

อวกาศ การเมือง กีฬา เพลง | Spaceth.co | Main Stand | แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ | Bangkok Uni. Int'l | OSK138