ในวงการที่เต็มไปด้วยความวิริยะอุตสาหะอย่างอวกาศ เรามักจะเห็นการสอดแทรกสัญญะ (Semiology) ไว้ในภาพ ข้อความ การบันทึกจารึก เพื่อนำไปสู่การตีความต่าง ๆ หนึ่งในสัญญะที่เราอยากหยิบยกมาเล่าให้ฟังกันในวันนี้ก็จะเกี่ยวข้องกับธงชาติ โดยเฉพาะธงชาติสหรัฐอเมริกา ที่เรามักจะเห็นกันได้บ่อย ๆ ในการสำรวจอวกาศ ตั้งแต่การติดอยู่บนเครื่องบิน จรวด ยานอวกาศ ไปจนถึงการนำไปปักบนดวงจันทร์
ก่อนอื่น อาจจะต้องบอกเล่าบริบทกันเล็กน้อย ในสังคมอเมริกัน ธงชาติเป็นสิ่งที่พบเจอได้บ่อยมาก หากเราเดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา วินาทีแรกที่เราลงจากเครื่องบินธงชาติอเมริกันอาจะเป็นวัตถุแรก ๆ ที่เรามองเห็น หากเราเดินไปยังบ้าน ร้านตลาดต่าง ๆ ทั่วสหรัฐฯ เราก็มักจะพบเห็นธงอเมริกาห้อยประดับอยู่ตามที่ต่าง ๆ เสมอ ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่าในวัฒนธรรมอเมริกัน ธงชาติเป็นสิ่งที่ผู้คนมักจะให้ความสำคัญอยู่ไม่น้อย
ธงชาติของสหรัฐฯ นั้นเรียกว่า Stars and Stripes (ดาวและแถบ) หรือ The Star-Spangled Banner (ธงอันแพรวพราวด้วยดวงดารา) ซึ่งจะประกอบไปด้วยด้านธงและด้านแถบสี โดยหากมองจากมุมปกติเราอาจเห็นว่าด้านดาวนั้นจะอยู่ฝั่งซ้าย และแถบสีนั้นอยู่ฝั่งขวา เรียกได้ว่าเป็นธงแบบไม่สมมาตรซ้ายขวา ซึ่งประเทศไทยของเราจะไม่ค่อยมีปัญหาเนื่องจากธงไตรรงค์ (ธงสามสี) ของเรามีความสมมาตรทั้งบนล่างและซ้ายขวา
ลักษณะการใช้ธงชาติอเมริกานั้น แถบดาวจะไม่ได้อยู่ทางซ้ายเสมอไป แต่จะมีทิศทางชี้ไปยังทิศของการเคลื่อนที่ ยกตัวอย่างเช่น บนเรือหรืออากาศยาน หากมีการวาดภาพธงสหรัฐฯ เราจะเห็นว่าทิศที่ดาวอยู่ จะมีทิศทางเดียวกับทิศที่จะเคลื่อนไปข้างหน้าเสมอ
แต่สิ่งที่เรามักจะเห็นกันในวงการอวกาศก็คือ การหันธงชาติด้านด้านดาวชี้ขึ้นบนฟ้า ซึ่งเป็นการแสดงสัญญะหมายถึงว่าการเดินทางสำรวจอวกาศมีทิศชี้ขึ้นไปยังข้างบน (อวกาศ) หรือบนฟ้านั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เราอาจบอกได้ว่า การหันธงด้านดาวชี้ขึ้นฟ้านั้น อาจไม่จำกัดเฉพาะในวงการอวกาศเสมอไป เพราะในสถานที่อื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอวกาศ เราอาจได้เห็นการประดับธงสหรัฐฯ ในลักษณะเอาด้านดาวชี้ขึ้นฟ้าเช่นกัน ดังนั้นอาจต้องวิเคราะห์หรือตีความกันตามบริบท ซึ่งในบทความนี้เราจะยกตัวอย่างการประกอบธงสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับอวกาศให้ฟังกัน
หากพูดถึงธงสหรัฐฯ กับ NASA ภาพแรกที่เราน่าจะนึกถึงกันก็คือธงบนอาคารประกอบจรวด Vehicle Assembly Building ของ NASA ใน Kennedy Space Center ฟลอริดา ซึ่งมีทิศหันขึ้นชี้ฟ้าเสมอ โดยเราได้เห็นการตกแต่งในลักษณะนี้สืบต่อมาตั้งแย่ยุคโครงการ Apollo จนถึงปัจจุบัน ก็ยังมีการประดับด้วยลวดลายเดียวกันอยู่
เกร็ดความรู้ที่น่าสนใจก็คือ ธงที่วาดลงบน VAB นั้นมีขนาดใหญ่มาก สูง 63 เมตร กว้าง 33 เมตร เลยทีเดียว ในภาพเราจะลองสามารถเปรียบเทียบขนาดของคนกับดาวบนธงชาติสหรัฐฯ ได้
ภายในอาคารบริเวณที่มีการประกอบจรวด ในบางครั้งก็จะมีการประดับธงในลักษณะชี้ขึ้นฟ้าด้วยเช่นกัน
ต่อมาจะเป็นภาพในห้อง Clean Room ของ Jet Propulsion Laboratory หรือ JPL ในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นห้องประกอบยานอวกาศโดยหลังห้องเราจะเห็นได้ว่ามีการประดับตราสัญลักษณ์หรือ Insignia ของภารกิจต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน เราจะเห็นธงชาติสหรัฐฯ ประดับในลักษณะชี้ขึ้นฟ้า ทั้งที่แท้จริง หากวางแนวนอนก็จะมีพื้นที่เหลืออีกเยอะได้เล่นกัน
ในขณะที่บนยานอวกาศอย่างกระสวยอวกาศ เราเองก็จะเห็นธงชาติสหรัฐฯ ประดับอยู่หลายจุดด้วยกัน และความน่าสนใจก็คือไม่ว่ากระสวยอวกาศจะอยู่ในท่าขนาดกับพื้นโลก (ระหว่างร่อนลงจอด หรืออยู่บนพื้น) หรือระหว่างถูกตั้งขึ้นเพื่อเดินทางไปยังอวกาศ ทิศทางของธงสหรัฐฯ ก็จะยังถูกต้องอยู่เสมอด้วยเช่นกัน
โดยธงที่อยู่บริเวณปีกนั้น จะไม่เป็นปัญหาซักเท่าไหร่ และเมื่อกระสวยอวกาศถูกตั้งขึ้นบนฐานก็จะปรากฎเป็นธงถูกด้านสวยงามพร้อมกับตราของ NASA และชื่อกระสวยอวกาศ แต่จะมีธงที่ประดับอยู่บริเวณลำตัวของกระสวยทั้งฝั่ง Port (ฝั่งซ้าย) และฝั่ง Starboard (ฝั่งขวา) ซึ่งฝั่ง Starboard นั้น จะหันธงกลับด้านเพื่อให้ด้านดาวชี้ไปข้างหน้าเหมือนกับกรณีของอากาศยานหรือเรือ
หากมองกระสวยอวกาศในแนวนอนฝั่ง Starboard เราอาจรู้สึกว่าธงนั้นกลับด้านแปลก ๆ เหมือนกับการมองธงบนอากาศยานหรือเรือ แต่หากหันขึ้นเราจะไม่รู้สึกขัดตาอะไร เพราะธงมีทิศชี้ขึ้นฟ้าเหมือนธงบนอาคาร VAB ของ NASA
และกรณีสุดท้ายที่เราจะยกตัวอย่างกันในตอนนี้เป็นกรณีที่ทั้งน่าประทับใจและน่าสะเทือนใจไปพร้อมกัน คือการจัดแสดงเศษซากของกระสวยอวกาศ Challenger ที่หลงเลือจากอุบัติเหตุวินาศกรรมครั้งสำคัญในภารกิจ STS-51-L ในวันปี 1986 ที่นำไปสู่การเสียชีวิตของลูกเรือทั้ง 7 ซึ่งหลังจากการเก็บกู้ซากเพื่อมาวิเคราะห์หาสาเหตุการระเบิดนั้น NASA ก็ได้นำชิ้นส่วนบางชิ้นมาจัดแสดงเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ณ NASA Kenndy Space Center
โดยหนึ่งในชิ้นส่วนที่หลงเหลือจากกรระเบิดนั้น คือชิ้นส่วนบริเวณด้านข้างของลำตัวฝั่งซ้าย (ฝั่ง Port) ซึ่งเป็นส่วนที่มีธงสหรัฐฯ ประดับอยู่ ความบังเอิญก็คือ บริเวณนั้นธงชาติสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์เต็มผืน ไม่ฉีกขาดจนแหว่ง
NASA ได้จัดแสดงชิ้นส่วนที่น่าทึ่งนี้ในลักษณะหันธงสหรัฐฯ ขึ้นฟ้า เหมือนกับว่ากระสวยอวกาศ Challenger จะยังคงมีทิศทางหันขึ้นฟ้า เพื่อพามนุษย์ก้าวเดินสู่พรมแดนใหม่ ๆ ของการเดินทางอยู่เสมอ แม้เวลาจะผ่านไปเกือบ 40 ปีให้หลัง
อย่างที่เราได้บอกไป แม้การหันด้านดาวขึ้นฟ้าจะไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวงการอวกาศ แต่หากมองถึงการตีความสัญญะแล้ว การหันด้านดาวขึ้นฟ้าก็เปรียบเสมือนทิศทางของการเดินทางขึ้นสู่เบื้องบน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเดินทางสู่อวกาศเพื่อก้าวข้ามและพาเราไปยังพรมแดนใหม่ ๆ นั่นเอง
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co