เกิดอะไรขึ้นกับภารกิจส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ของสหภาพโซเวียต

“เราเลือกที่จะไปดวงจันทร์ก่อนสิ้นทศวรรษนี้และทำสิ่งอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ใช่เพราะมันเป็นเรื่องง่ายแต่เพราะมันยากต่างหาก…” ประธานาธิบดีหนุ่มเลือดร้อนไฟแรงของสหรัฐฯ จอห์น เอฟ เคนเนดี้ (John F. Kennedy) ได้กล่าวคำปราศัยอันโด่งดังนี้ ต่อหน้าประชาชนชาวอเมริกัน ณ มหาวิทยาลัยไรซ์ รัฐเท็กซัส เมื่อ 60 ปีที่แล้ว ซึ่งได้สร้างแรงกระเพื่อมไปยังหน่วยงานรัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อพามนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ก่อนที่ปี 1970 จะมาถึง

ในขณะที่ในอีกฟากฝั่งหนึ่งของโลก ณ กรุงมอสโก นั้น ผู้นำของสหภาพโซเวียต นิกิตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) ก็กลับไม่ได้แสดงท่าทางที่จะตอบโต้แผนการไปเหยียบดวงจันทร์ของสหรัฐฯแต่อย่างใด เพราะว่าในขณะนั้น นิกิตา ครุชชอฟ ได้ให้ความสนใจไปกับการพัฒนาขีปนาวุธบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ข้ามทวีป ซึ่งอาจเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการต่อกรกับสหรัฐฯ มากกว่าที่จะเป็นโครงการอวกาศ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีชายผู้มีอำนาจในโซเวียตอีกคนหนึ่งที่ยังคงต้องการเอาชนะสหรัฐฯอยู่ดี

ขีปนาวุธข้ามทวีปเคลื่อนที่ผ่านฝูงชนพิธีสวนสนาม ณ จตุรัสแดง กรุงมอสโก

ชายผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของโครงการอวกาศโซเวียต

ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จในการส่งดาวเทียมดวงแรกของโลก หรือมนุษย์อวกาศคนแรกของโลก ของสหภาพโซเวียตก็ล้วนมีวิศวกรผู้มีวิสัยทัศน์ที่มีชื่อว่า เซอร์เกย์ โคโรเลฟ (Sergei Korolev) อยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น ซึ่งเขายังเป็นบุคคลแรก ๆ ที่ได้นำวิทยาการจรวดของนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2 มาต่อยอดให้กลายเป็นขีปนาวุธข้ามทวีปเป็นครั้งแรกของโลกอีกด้วย จึงทำให้ทางการโซเวียตต้องเก็บตัวตนของเขาไว้เป็นความลับระดับสูงสุด เพื่อป้องกันไม่ให้สายลับของฝ่ายตรงข้ามมาลอบสังหารเขาได้

โดยทันทีที่เรื่องราวการประกาศส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ของสหรัฐฯเดินทางมาถึงหูของ เซอร์เกย์ โคโรเลฟ เขาก็ได้ยื่นเรื่องส่งไปยังเบื้องบนทันที เพื่อขอให้ทางการโซเวียตอนุมัติให้เขาเป็นหัวหน้าโครงการพามนุษย์ไปยังดวงจันทร์ แต่ถึงแม้ว่า โคโลเรฟ จะมีประวัติการทำงานที่ดีเยี่ยม เส้นสายทางการเมือง และการแข่งขันระหว่างวิศวกรในองค์กร ก็กลับไม่สามารถทำให้คำขอของ โคโลเรฟ ถูกอนุมัติได้โดยง่าย เนื่องจากตัว โคโลเรฟ เองมีแนวทางการพัฒนาระบบเครื่องยนต์จรวดที่แหวกแนวไปจากคู่แข่งของเขา ซึ่งมีเส้นสายมากกว่า

เซอร์เกย์ โคโลเรฟ (ขวา) กับ ยูริ กากริน (ซ้าย) มนุษย์คนแรกที่ได้ไปอวกาศ ที่มา Science Musuem

ต่อมาในปี 1962 อยู่ ๆ นิกิตา ครุชชอฟ ผู้นำของสหภาพโซเวียต ก็ดูเหมือนจะเปลี่ยนใจกับจุดยืนของเขา แล้วได้มอบหมายงานให้กลุ่มคู่แข่งของ โคโลเรฟ อย่างลับ ๆ ในการออกแบบแคปซูลโดยสารรุ่นใหม่สำหรับให้นักบินอวกาศเดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์ ในขณะที่ให้กลุ่มวิศวกรในความดูแลของ โคโลเรฟ รับงานไป 3 โครงการด้วยกัน ได้แก่ จรวดนำส่งสัมภาระรุ่นใหม่, ดีไซน์สถานีอวกาศขนาดระวาง 75 ตันบนวงโคจรของโลก และยานอวกาศอเนกประสงค์ หรือ โซยุส ที่เรารู้จักกันดีในปัจจุบัน โดยเอกสารของทางการโซเวียตในขณะนั้นก็ยังไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าจะส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์จริง ๆ หรือไม่

หนทางและหายนะ

จนกระทั่งในอีก 3 ปีให้หลัง (ปี 1965) ไม่นานหลังจากที่นักบินอวกาศโซเวียต อเล็กเซย์ ลีโอนอฟ ได้กลายเป็นมนุษย์คนแรกที่เปิดประตูยานอวกาศออกแล้วออกไปโลดแล่นในสภาวะไร้น้ำหนัก ทางการโซเวียตก็ได้ประกาศภายในองค์กรว่า โซเวียตจะต้องส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ให้จงได้ภายในปี 1968 ซึ่งได้ทำให้ เซอร์เกย์ โคโรเลฟ มุ่งความสนใจไปที่การพัฒนาจรวดที่ทรงพลังที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา ซึ่งตัวเขาเองได้ตั้งชื่อจรวดลำนี้ว่า N-1 ในขณะที่ภาคส่วนอื่น ๆ ก็เริ่มรวมตัวช่วยกันพัฒนาโครงการอวกาศโซเวียตอย่างเต็มกำลัง ด้วยความหวังว่าสภาพโซเวียตจะยังคงรักษาตำแหน่งมหาอำนาจด้านอวกาศเอาไว้ได้

แต่แล้ววันหนึ่ง โคโรเลฟ ก็ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่ามีการเจริญเติบโตของติ่งเนื้อเมือกในลำไส้ใหญ่ (Polyp) อย่างผิดปกติเขาจึงต้องถูกส่งตัวไปผ่าตัดเพื่อทำการรักษา ซึ่งผลดันปรากฏว่าอาการของเขาทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็วจนเสียชีวิตลงในเวลาเพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น ไม่มีใครรู้อย่างแน่ชัดกันว่าอะไรทำให้เขาเสียชีวิตกันแน่ บ้างก็ว่าเขาเป็นมะเร็งในลำไส้อยู่แล้ว บ้างก็ว่าหมอผ่าตัดทำงานผิดพลาด แต่ที่แน่ ๆ การตายของเขาได้สร้างผลกระทบที่ใหญ่หลวงต่อโครงการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ของโซเวียตไปเต็ม ๆ

อเล็กเซย์ ลีโอนอฟ มนุษย์คนแรกที่ได้ออกไปเดินในสภาวะสุญญากาศของอวกาศ ที่มา Roscosmos/FAI

โดยลางร้ายแรกที่เกิดขึ้น ก็คือการทดสอบเที่ยวบินแรกของยานโดยสารโซยุส ในภารกิจโซยุส 1 ซึ่งทีมงานของโคโลเรฟได้ดูแลมาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี 1962 ได้เกิดปัญหาการกางร่มชูชีพในขณะที่ตัวยานกำลังตกจากส่วนบนของชั้นบรรยากาศโลก ทำให้ถังเชื้อเพลิงของยานโดยสารระเบิดออกทันทีที่สัมผัสกับพื้นผิวโลก ส่วนสภาพของนักบินอวกาศ วลาดีเมียร์ คามารอฟ นั้น เรียกได้ว่าไม่ชวนให้น่ามองสักเท่าไหร่นัก

อ่านเรื่องราวความล้มเหลวของภารกิจโซยุส 1 เพิ่มเติมแบบละเอียดได้ที่ โซยุส 1 หายนะกลางเวหาในม่านเหล็กสีแดง

และในขณะเดียวกันนี้เอง แคปซูลโดยสารสำหรับเดินทางไปดวงจันทร์ของทีมงานคู่แข่งของ โคโรเลฟ นั้น ก็ยังต้องเลื่อนการทดสอบออกไปเนื่องจากอุบัติเหตุของภารกิจโซยุส 1 ด้วย แต่เมื่อมาถึงวันทดสอบจริง ๆ แล้ว จรวดนำส่งรุ่นใหม่ ก็กลับเกิดปัญหาขึ้นอีก ทำให้ไม่สามารถส่งแคปซูลโดยสารไร้คนขับไปยังวงโคจรของโลกได้ ไม่เหมือนกับของทางฝั่งสหรัฐฯที่ได้ประสบความสำเร็จในการทดสอบยานโดยสารบนอวกาศในภารกิจอะพอลโล 6 แล้ว

สภาพของยานโซยุส 1 ที่ตกกลับมายังพื้นโลก ที่มา Roscosmos

ความพยายามตัดหน้าสหรัฐฯไปโคจรรอบดวงจันทร์

เมื่อเป็นเช่นนั้น ทางการโซเวียตก็รู้ทันทีว่าพวกเขาไม่อาจส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ได้ภายในเดือน พฤษภาคม ปี 1968 แน่ ๆ แต่ก็ยังพอมีความหวังเฮือกสุดท้ายที่จะส่งมนุษย์ไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้ก่อนสหรัฐฯในปลายปีเดียวกัน ภายใต้โครงการที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีชื่อว่าโครงการ L1 โดยทางโซเวียตก็ได้ปล่อยตัวเที่ยวบินทดสอบยานโดยสารไร้คนขับไปยังดวงจันทร์ด้วยจรวด UR-500K เป็นครั้งแรกในภารกิจ Zond-4 ในเดือน มีนาคม ปี 1968 แต่ก็ดันพบกับความล้มเหลวในขณะที่ตัวยานกำลังฝ่าชั้นบรรยากาศโลกกลับมาอีกเช่นเคย ซึ่งได้คร่าสิ่งมีชีวิตทดลองที่อยู่ในยานโดยสารไปทั้งหมด

ก่อนที่ต่อมาในความพยายามครั้งที่ 2 ได้เกิดการระเบิดขึ้นคาฐานปล่อยขณะทดสอบเติมเชื้อเพลิง ซึ่งได้ทำให้พนักงานภาคพื้นเสียชีวิตลงไป 3 นายในทันที เนื่องจากความดันในแทงค์เชื้อเพลิงสูงเกินไป โดยมีสาเหตุมาจากความสะเพร่าของวิศวกรที่ต้องทำงานภายใต้ความกดดันสูง ซึ่งได้เกิดเหตุลักษณะเดียวกันนี้อยู่หลายรอบช่วงปี 1967-1969 อีกด้วย

แคปซูลโดยสารในโครงการ L1 ของสหภาพโซเวียต ที่มา RKK Energiya

ส่วนภารกิจทดสอบครั้งที่ 3 ก็ได้จบลงด้วยความล้มเหลวด้วยกันในขณะที่ตัวยานกลับมายังโลกเหมือนกับครั้งแรกอย่างไม่มีผิดเพี้ยน ก่อนที่ต่อมาช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 1969 สภาพโซเวียตก็ได้ประสบความสำเร็จในการส่งยานโดยสารไร้คนขับเดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์แล้วกลับมาได้อย่างปลอดภัยในที่สุด แต่ทว่าองค์กรนาซาของสหรัฐฯก็ได้ส่งนักบินอวกาศ 3 คนเดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์ในภารกิจอะพอลโล 8 เมื่อช่วงปลายปี 1968 แล้ว ทำให้นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาโครงการ L1 ของโซเวียตก็ถูกลดความสำคัญลงมา และรัฐบาลโซเวียตก็หันไปโฟกัสกับการทดสอบยานลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์แทน ซึ่งเป็นโครงการที่ได้พัฒนาตีคู่มากับ L1

เฮือกสุดท้ายก่อนปราชัย

แต่อย่างไรก็ตามการที่จะส่งยานไปลงจอดบนดวงจันทร์นั้น ย่อมยากกว่าส่งยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์แบบในโครงการ L1 อยู่มาก เนื่องจากไม่มีจรวดลำไหนของสหภาพโซเวียตที่พร้อมใช้งานในขณะนั้น ที่จะสามารถรองรับน้ำหนักของยานลงจอดดวงจันทร์ที่ต้องแบกขึ้นไปเพิ่มได้ ดังนั้นทางการโซเวียตจึงไม่มีทางเลือกอื่นอีกต่อไปนอกจากจะรีบสานต่อดีไซน์จรวด N-1 ที่ เซอร์เกย์ โคโรเลฟ ทิ้งไว้ก่อนเสียชีวิตนั่นเอง

ด้วยความสูงกว่า 105 เมตร และเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 17 เมตร ณ บริเวณฐาน ทำให้จรวด N-1 นั้นมีศักยภาพมากพอที่จะบรรทุกสัมภาระมากกว่า 23.5 ตันเดินทางไปยังดวงจันทร์ได้ ซึ่งถือว่ามีความสามารถใกล้เคียงกับจรวดแซทเทิร์น 5 ของนาซาเลยทีเดียว

จรวด N-1 ที่ เซอร์เกย์ โคโรเลฟ ได้ออกแบบไว้ก่อนเสียชีวิต ที่มา Roscosmos

และถ้าหากเรามาดูพิมพ์เขียวจรวด N-1 ที่ โคโรเลฟ ออกแบบไว้ดี ๆ แล้วละก็ เราก็จะพบว่ามีเครื่องยนต์ถึง 30 เครื่องยนต์ในจรวด N-1 ท่อนที่ 1 เพียงท่อนเดียว ซึ่งทำให้ระบบปั๊มอัดฉีดเชื้อเพลิงไปยังเครื่องยนต์ต้องมีความซับซ้อนสูงตามไปด้วย ไม่เหมือนกับทางฝั่งสหรัฐฯ ที่เลือกใช้เครื่องยนต์ขนาดยักษ์ 5 เครื่องในจรวดแซทเทิร์น 5 ท่อนที่ 1 แทน ซึ่งถึงแม้จะสร้างแรงขับดันได้น้อยกว่า แต่ก็เชื่อถือได้มากกว่าว่าจะไม่มีปัญหาตามมามากนัก

โดยการทดสอบจรวด N-1 ครั้งแรกนั้น ก็ได้เกิดขึ้นในเดือน กุมภาพันธ์ ปี 1969 พร้อมกับเป้าหมายในการส่งยานอวกาศไร้คนขับไปบินโฉบดวงจันทร์ ซึ่งเพียงไม่กี่วินาทีหลังปล่อยตัว เครื่องยนต์หมายเลข 12 ก็ได้ดับลง ระบบคอมพิวเตอร์บนยานเลยสั่งให้เครื่องยนต์หมายเลข 24 ในด้านตรงข้ามดับลงเช่นกัน เพื่อรักษาสมดุลของตัวจรวด ทันใดนั้นเครื่องยนต์หมายเลข 2 ก็เริ่มพ่นชิ้นส่วนของมันเองออกมาจากปากปล่องเครื่องยนต์ ทำให้เชื้อสายเชื้อเพลิงเกิดการรั่วไหลและระเบิดขึ้นกลางอากาศ หลังจากนั้นจรวดก็ตกลงกระแทกเข้ากับพื้นดินเบื้องล่างเข้า เพียงแค่ 183 วินาที นับตั้งแต่ขึ้นบิน

จรวด N-1 ก่อนการระเบิดไม่กี่วินาทีในการทดสอบครั้งที่ 1 ที่มา Roscosmos

ส่วนความพยายามครั้งที่ 2 นั้นเกิดขึ้นในเดือน กรกฎาคม ในอีก 5 เดือนต่อมา โดยในขณะที่จรวดกำลังทะยานขึ้นจากฐานปล่อย อยู่ ๆ ก็ได้มีแสงสว่างวาบปรากฏขึ้น ซึ่งมีพยานบางส่วนรายงานว่าเห็นชิ้นส่วนเครื่องยนต์พังทลายลงมาจากส่วนล่างสุด ทำให้ตัวจรวดเริ่มเอียงข้าง 45 องศา และล้มลง จนกระทั่งระเบิดคาฐานปล่อย พร้อมกับเชื้อเพลิงทั้ง 2,300 ตัน ซึ่งมีพลังทำลายล้างพอ ๆ กับระเบิดปรมาณูขนาดเล็ก ก่อนที่จะตามมาด้วยคลื่นกระแทกกระจายตัวเป็นวงกว้างและทำให้กระจกทั่วศูนย์ควบคุมการปล่อยแตกกระจายเป็นเสี่ยง ๆ ในที่สุด โดยเศษซากของจรวด N-1 นั้น ได้กระเด็นไปไกลจากจุดเกิดเหตุถึง 10 กิโลเมตร

กล่าวได้ว่าแรงระเบิดในครั้งนั้นได้ทำลายฐานปล่อยจรวดไบโคนัวร์ลงอย่างราบคาบกลายเป็นหน้ากลอง ซึ่งทำให้โครงการอวกาศของโซเวียตต้องหยุดชะงักลงไปเป็นเวลาเกือบ 2 ปีเต็ม ๆ โดยเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากโศกนาฎกรรมครั้งนี้ นีล อาร์มสตรอง และ บัซ อัลดริน ก็ได้กลายเป็นมนุษย์คู่แรกในประวัติศาสตร์ที่ได้สัมผัสกับพื้นผิวดวงจันทร์ สหรัฐอเมริกาจึงกลายเป็นผู้ชนะในการแข่งขันด้านอวกาศในที่สุด

ความลับที่ปิดไม่ได้

ในอีก 2 ปีต่อมา เมื่อฐานปล่อยจรวดของสหภาพโซเวียตได้รับการซ่อมแซมเรียบร้อยแล้ว โซเวียตก็ยังคงดำเนินการทดสอบจรวด N-1 ต่อไป เพราะถึงแม้โซเวียตจะไปได้ส่งมนุษย์ไปเป็นคนแรกแล้ว โซเวียตก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นไปคานอำนาจสหรัฐบนนั้นอยู่ดี แต่ก็กลับกลายเป็นว่าในการทดสอบครั้งที่ 3 และ 4 จรวด N-1 ก็เกิดข้อผิดพลาดขณะขึ้นบินทุกครั้งไป มำให้จรวด N-1 ของโซเวียตไม่ต่างอะไรไปจากดอกไม้ไฟราคาแพง

และเมื่อสหรัฐอเมริกาประกาศยุติโครงการอะพอลโลลงที่ภารกิจอะพอล 17 ในปี 1972 ทางการสหภาพโซเวียตก็ได้ยกเลิกการพัฒนาจรวด N-1 เจ้าปัญหาลงไปอย่างถาวร พร้อมหันไปแข่งขันกับสหรัฐฯในการสร้างสถานีอวกาศบนวงโคจรของโลกและพัฒนากระสวยอวกาศที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้แทน เพราะทั้งสองฝ่ายเล็งเห็นว่าสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญทางด้านความมั่นคงของตนมากกว่าที่จะเป็นการสำรวจดวงจันทร์

กระสวยอวกาศ Buran ของสหภาพโซเวียตในปี 1988

ส่วนด้านเรื่องความพยายามการแข่งขันไปดวงจันทร์กับสหรัฐฯ รัฐบาลโซเวียตก็ได้เก็บเรื่องราวทั้งหมดเอาไว้เป็นความลับ เพื่อให้ทั้งโลกเชื่อว่าสหภาพโซเวียตไม่ได้สนใจเข้าแข่งขันไปดวงจันทร์กับสหรัฐฯตั้งแต่แรก หรืออีกนัยหนึ่งก็คือสหภาพโซเวียตไม่เคยแพ้ (เพราะไม่เคยแข่ง) นั่นเอง จนกระทั่งเมื่อผู้นำโซเวียตคนสุดท้าย มิคาอิล กอร์บาร์ชอฟ (Mikhail Gorbachev) เริ่มดำเนินนโยบายเปิดประเทศ และนำเอกสารเก่า ๆ ออกมาเผยแพร่สู่สาธารณชนเพื่อแสดงความโปร่งใสของการทำงานภาครัฐ ช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 ผู้คนทั่วโลกจึงได้รู้ถึงความพยายามในการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ของสหภาพโซเวียตนั่นเอง

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

อ้างอิง

THE SOVIET MANNED LUNAR PROGRAM

Sergei Korolev: the rocket genius behind Yuri Gagarin

Mostly being a space-nerd who dreamt to work at NASA, but now a 21 years old Film Student dedicating to generalize space communication.