เราได้รับเกียรติอย่างมากจาก NASA Kenndy Space Center และ Johnson Space Center ให้ได้พูดคุยกับนักบินอวกาศลูกเรือภารกิจ Artemis II ที่จะเดินทางกลับสู่ดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2025 หลัวจากที่ในปี 2023 ได้มีการประกาศรายชื่อของลูกเรือทั้ง 4 คนออกมา ได้แก่ Christina Koch, Victor Glover, Gregory Wiseman จากฝั่งสหรัฐอเมริกา และ Jeremy Hansen จาก Canadian Space Agency
5 พฤษภาคม 2024 เราเดินทางไปยัง NASA Kenndy Space Center เพื่อร่วมชมการปล่อยนักบินอวกาศในโครงการ Commercial Crew ในเที่ยวบินทดสอบที่สองของบริษัท Boeing ซึ่งในโอกาสนี้ นักบินอวกาศจากหลากหลายภารกิจ ได้เข้าร่วมชมการปล่อยด้วย ทาง NASA ได้อนุญาตให้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับสองนักบินแห่งภารกิจ Artemis II ได้แก่ Victor Glover และ Jeremy Hansen
Victor Glover รับหน้าที่ Pilot แห่งภารกิจ Artemis II ผู้ช่วย Commander สำหรับภารกิจ ก่อนหน้านี้เขาเคยเดินทางไปอวกาศในภารกิจ Crew-1 กับยาน Dragon ของ SpaceX ในปี 2020 โดยเขาได้รับเลือกให้เป็นนักบินอวกาศของ NASA ตั้งแต่ปี 2013 ปัจจุบัน Victor อายุ 48 ปี และเขาจะกลายเป็นชายผิวสีคนแรกที่จะเดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์
เราเจอกับ Victor และได้ทักทายว่า สวัสดีครับกัปตัน Glover ก่อนที่ Victor จะรีบแก้บอกว่าให้เรียกเขาว่า Victor เท่านั้นพอ เราได้แนะนำตัวเองว่ามาจากสื่อออนไลน์สเปซทีเอช และเป็นตัวแทนคนไทยที่จะมาร่วมพูดคุยกับนักบินในภารกิจประวัติศาสตร์ครั้งนี้ Victor ยินดี และได้เริ่มต้นบทสทนา
“คุณอาจจะได้ยินคำนี้มาเป็นล้านรอบแล้ว แต่ขอแสดงความยินดีที่ได้เลือกให้บินกับ Artemis นะครับ มันน่าจะต้องเป็นการปล่อยครั้งประวัติศาสตร์เลย”
Victor ยิ้มก่อนที่จะรีบกล่าวเป็นภาษาไทย พร้อมทำท่ายกมือไหว้ ว่า “ขอบคุณครับ” เขาพูดภาษาไทยได้ดีพอสมควรเลยทีเดียว เหมือนกับชาวต่างชาติหลายคนที่ได้เดินทางมายังประเทศไทย เราจึงชวนเขาพูดคุยต่อถึงประสบการณ์ในประเทศไทย
“ก่อนหน้านี้เราคุยกันเรื่องประสบการณ์ของคุณในประเทศไทย คุณทำอะไรในประเทศไทยมาครับ แล้วทำไมคุณถึงมีโอกาสได้มาที่ประเทศไทย”
“ก่อนที่จะมา NASA ผมเป็นและตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่ คือทหารเรือครับ ผมประจำการบนเรือบรรทุกเครื่องบิน และเราก็เข้าเทียบท่าที่แหลมฉบัง เรามีโอกาสได้ใช้เวลาสี่ถึงห้าวันที่นั่น ผมก็ได้ไปพัทยา ได้ไปกรุงเทพ ได้ไปดูวัดสวย ๆ และกินอาหาร ผมรักอาหารไทย แล้วผมก็ยังได้ไปเรียนกับทหารเรือไทยด้วย ผมสนุกมากตอนนั้น ได้ไปเรียนดำน้ำ มันสนุกจริง ๆ”
ให้บริบทเพิ่มเติมคือ Victor Glover นั้น ประจำการอยู่บนเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Gorge Washington ซึ่งเคยเดินทางมาเทียบท่าที่แหลมฉบังในปี 2011 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่เขาจะเริ่มมาสมัครเป็นนักบินอวกาศที่ NASA
“แล้วอาหารไทยที่คุณชอบคืออะไรครับ” เราถามด้วยความสงสัยและตื่นเต้น
“โอ้ ผมชอบอาหารเผ็ด อะไรก็ได้ที่เผ็ดเช่นแกงต่าง ๆ ผมชอบแกงที่เผ็ด ๆ เช่นแพนง หรือมัสมัน มันเผ็ดมาก แล้วรู้มั้ยผมชอบสะเตะมากเลย กินง่าย ๆ ถือไม้เดินไปกินไปได้ ผมรักสะเตะไก่สุด ๆ”
“กลับมาที่เรือภารกิจกันครับ เกี่ยวกับภารกิจของนักบินอวกาศ นักบินอวกาศไปท่องอวกาศอันนั้นคืองานหลัก แต่งานอื่นก็คือการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ แบบการไปสอนในโรงเรียนหรืออะไรทำนองนี้ พวกเด็ก ๆ ถามคำถามอะไรคุณมากที่สุดเหรอครับ”
“โอ้ ว้าว คุณรู้มั้ย คำถามที่ผมได้รับช่วงหลัง ๆ นี้ก็คือ “คุณจะบอกอะไรกันตัวเองในวัยเด็ก” มันเป็นคำถามที่น่าสนใจนะ แล้วผมก็คิดว่ามันเป็นข้อความที่สำคัญโดยเฉพาะในเวลาที่เรากำลังเผชิญกับความยากลำบากหลายอย่างในโลกนี้ และทุกอย่างก็ดูไม่แน่นอน คุณก็รู้ว่าคนหนุ่มสาวสมัยนี้ต้องผ่านช่วงสถานการณ์โควิด มันส่งผลต่อการเรียน ความสัมพันธ์ ผมก็เลยคิดเยอะมากกับคำถามนี้ “ผมจะบอกอะไรกับตัวเองในวัยเด็ก” แล้วผมก็อยากจะแชร์คำตอบนี้กับพวกคนในวัยหนุ่มสาวด้วยเช่นกัน ก็คือ “ทุกอย่างมันจะไม่เป็นไร มันจะออกมาดี แต่มันจะไม่เป็นไรก็ต่อเมื่อคุณพยายามอย่างมาก” และนั่นก็เพราะว่าตอนผมยังเด็กนั้น มันแทบไม่มีทางรู้เลยว่าทุกอย่างจะออกมาโอเคหรือเปล่า แต่คนในวัยหนุ่มสาวนี้จะมีเครื่องมือต่าง ๆ ที่ตอนนั้นยุคเราแทบจินตนาการไม่ถึงด้วยซ้ำ ในการนำมาใช้แก้ปัญหาในอนาคต และมันก็จะออกมาดีเพราะคนในวัยหนุ่มสาวเหล่านี้”
“คุณได้ผ่านการฝึกหลายอย่างกับยาน Orion อะไรคือฟีเจอร์ที่เด็ดที่สุดของยานสำหรับคุณ อาจจะเปรียบเทียบกับยาน Dragon ก็ได้นะ”
“โอ้ เปรียบเทียบกับ Dragon เหรอ ผมว่านะ ..” เขาทำท่าครุ่นคริดอย่างเคร่งเครียด
“ห้องน้ำมันดีกว่ามั้ย หรือมีเครื่องเสียง มี Bluetooth หรือ Apple CarPlay มั้ย?” เรารีบเสริม ในขณะที่เขายิ้มแหละหัวเราะออกมา
“ไม่ ผมกำลังคิดถึงในมุมที่กว้างกว่านั้น อยากให้ลองนึกภาพว่ามันเป็นยานที่ออกแบบมาสำหรับการอยู่อาศัย ส่วน Dragon นั้นออกแบบสำหรับพาเราไปยังสถานีอวกาศนานชาติ ดังนั้นฟีเจอร์ของมันคือการเดินทาง ส่วน Orion มันพาคุณเดินทางก็จริงแต่ก็เป็นบ้านของคุณด้วย ดังนั้นแน่นอนว่ามันมีห้องน้ำที่ดีกว่า ก็จัดว่าเด็ดแต่มันก็มีอิทธิพลในแง่ยุทธศาสตร์ด้วย คือตัวยานอวกาศมันแตกต่างจากยานลำอื่น ๆ ในตอนนี้ คุณจะเห็นว่าในส่วน Service Module นั้นมันมีแผง Solar Array ยื่นออกมาแบบล้าสมัยหน่อย ๆ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมตัวยานสามารถให้ลูกเรืออาศัยอยู่ได้ถึง 21 วัน แต่อีกอย่างที่เป็นแบบนั้นก็เพราะว่าส่วนนี้ถูกสร้างโดยบริษัทอวกาศในประเทศอื่น มันถูกสร้างโดยบริษัท Airbus ร่วมกับองค์การอวกาศยุโรป (ESA) นั่นคือส่วนที่จับต้องได้ของยานที่สะท้อนถึงความร่วมมือนานชาติ และชัยชนะในทางการเมืองของโครงการ Artemis คุณรู้มั้ยว่าตอนนี้ประเทศมากกว่า 40 ประเทศ ลงชื่อในข้อตกลง Artemis แล้ว ผมรู้ว่าคุณถามว่ามันต่างกันอย่างไรแต่เอาจริง ๆ นะ ผมชอบยาน Dragon ที่มันถูกสร้างในแคลิฟอร์เนีย และผมเป็นคน California ผมชอบนะ ส่วน Orion มันถูกสร้างจากที่ต่าง ๆ ในสหรัฐฯ และจากที่ต่าง ๆ ทั่วโลกเลย ซึ่งผมก็ชอบมันเหมือนกัน”
“คุณได้ร่วมการฝึกการเดินทางกลับโลก (Recovery) บนเรือของกองทัพเรือฯ พวกเขาต้อนรับคุณดีมั้ย”
“ใช่ โอ้ มันเป็นการฝึกที่ดีมากเลยนะ ช่วงเวลานั้นกับพวกทหารเรือ คุณก็รู้ว่าผมเป็นทหารเรือด้วย ดังนั้นมันรู้สึกเหมือนได้กลับบ้านเลย ได้กลับไปอยู่บนท้องทะเลสองสามวัน แล้วพวกทหารเรือก็ตื่นเต้นมาก พวกเขาแบบ “เห้ย NASA!” เราก็แบบ “เห้ยทหารเรือ!” มันดีมากเลยที่เราได้ทำงานร่วมกัน แล้วการฝึกก็ประสบความสำเร็จด้วย จริง ๆ แล้วการฝึกนั้นมันไม่ได้สำหรับพวกเราลูกเรือหรอกนะ เราแค่โชคดีที่ได้ไปด้วย จริง ๆ การฝึกมันสำหรับกองทัพเรือ และกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (Department of Defense) เพื่อให้พวกเขาปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ และเพื่อให้ทีมเก็บกู้ของ NASA ได้ฝึก การที่เราไปอยู่ตรงนั้นเหมือนเป็นโบนัส แต่ก็ดีมากเลยที่ได้เจอพวกเขา แล้วพวกเขาก็จัดพิธีต้อนรับสไตล์พรมแดง แบบทหารเรือให้เราด้วย”
“ว้าวยอดเลย ทีนี้มาถึงคำถามสุดท้ายแล้วครับ แต่ก่อนอื่น ผมต้องขอขอบคุณ ขอบคุณอย่างมาก ในฐานะตัวแทนคนไทย ผมขอให้ภารกิจทุกอย่างลุล่วงไปด้วยดี ทั้งเพื่อนร่วมทีมของคุณ เพื่อนลูกเรือของคุณ ทีนี้คุณอยากฝากข้อความอะไรให้พี่น้องคนไทยบ้างครับ”
“ทุกคนครับ เราเดินทางกลับไปดวงจันทร์เพื่อคุณนะ เพื่อมนุษยชาติ เพื่อตอบคำถามอันยิ่งใหญ่เกี่ยวกับระบบสุริยะของเรา และดาวเคราะห์โลกบ้านเกิดของเรา จริงอยู่ที่ผมติดธงอเมริกาอยู่บนแขน แต่เวลาเราอยู่นอกโลกแล้ว เราคือตัวแทนของมนุษยชาติ เราคือตัวแทนของทุกคน ดังนั้นขอบคุณทุกคนมากที่ให้ความสนใจ แรงสนับสนุน คำอวยพร และถ้อยคำแสดงความยินดี และถึงคนวัยหนุ่มสาวทั้งหลาย ผมอยากบอกสิ่งที่ผมมักจะพูดเป็นประจำว่า จงลุกยืนขึ้นให้ได้อีกครั้ง ขยันทำงานอย่างหนักเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ อย่างที่สองคือจงเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งสิ่งที่เราเรียนในโรงเรียนและนอกโรงเรียน และอย่างสุดท้ายคือ เป็นเพื่อนร่วมทีมที่ดีให้แก่กัน ถ้าเราเป็นเพื่อนร่วมทีมที่ดีให้แก่กันได้ โลกนี้จะดีขึ้นทันตาเห็นเลยถ้าพวกเราเรียนรู้ตลอดชีวิต ล้มเร็วลุกเร็ว และเป็นเพื่อนร่วมทีมที่ดีให้แก่กัน แล้วพวกเราจะอยู่ร่วมกันได้ เผ่าพันธุ์ของเราจะรอดไปด้วยกัน ในฐานะมนุษยชาติ ขอบคุณครับ”
“สร้างแรงบันดาลใจมากเลย ขอบคุณสำหรับเวลาที่มีมาแบ่งปันกับเรา” Victor รีบตอบกลับมาอย่างรวดเร็ว “ขอบคุณครับณัฐ”
สำหรับเรา เราเชื่อว่าคำตอบเหล่านี้มาจากสิ่งที่ Victor นั้นเชื่อและคิด นักบินอวกาศ NASA ที่ได้รับเลือกให้ทำภารกิจประวัติศาสตร์อย่างการกลับสู่ดวงจันทร์อีกครั้งนั้น ไม่ใช่ว่าจะต้องมีความพร้อมเพียงแค่ด้านความรู้หรือร่างกายอย่างเดียว แต่ทัศนคติที่ Victor มองโลกนี้ รวมถึงแพชชันในการปลูกฝังแนวคิดค่านิยมที่ดีให้แก่เด็ก ๆ เยาวชนและวัยรุ่นหนุ่มสาว ทำให้เราไม่แปลกใจที่ได้เห็นเขาได้ขึ้นบินกับภารกิจประวัติศาสตร์
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ ประสบกาณณ์เกี่ยวกับเมืองไทยที่ Victor เล่าให้เราฟัง ถ้าสังเกตจะเห็นว่า เรามักจะได้รับเชิญจากสถานทูตสหรัฐฯ และกองทัพเรือสหรัฐฯ ให้เยี่ยมเยือนเวลามีเรือบรรทุกเครื่องบินเข้าเทียบท่าที่ประเทศไทยอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องสนุกอย่างเดียว ที่เราได้เห็นทหารเรือมาเที่ยวเมืองท่องเที่ยวอย่างพัทยา แต่จริง ๆ นั่นคือจุด Touch Point ที่สำคัญที่ทำให้ชาวต่างชาติได้รู้จักกับประเทศของเรามากแค่ไหน
ทั้งนี้เราก็ขออวยพรให้ Victor และเพื่อน ๆ ลูกเรือทั้ง 3 เดินทางอย่างปลอดภัยในภารกิจครั้งประวัติศาสตร์ครับ
ขอบคุณ NASA Kennedy Space Center และ NASA Johnson Space Center ที่ร่วมทำให้การสัมภาษณ์ครั้งนี้เกิดขึ้น
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co