ทำไมรัฐบาลต้องทุ่มเงินไปกับโครงการที่ไม่สร้างกำไร อย่างวิทยาศาสตร์ และวิจัยเชิงลึก

เมื่อประเทศของเรามีโครงการต่าง ๆ มากมายที่ให้การสนับสนุนการปั้นธุรกิจอย่าง Startup หรือการดึงงานวิจัยที่เข้ามามีบทบาทในอุสาหกรรมให้มาอยู่ในแถวหน้า คำว่างานวิจัยขึ้นหิ้งจึงกลายเป็นคำที่เราพบเห็นได้อยู่ทั่วไปในวงการวิทยาศาสตร์ไทย เกิดอะไรขึ้นกันแน่ วันนี้ผมมีเรื่องจะมาเล่าที่จะกระตุกความคิดเราว่า หรือเราอาจจะผิดก็ได้ที่มัวแต่หวังว่างานทางวิทยาศาสตร์จะสร้างกำไร

เมื่อพูดถึงตึกที่สูงที่สุดในโลก หลายคนก็คงจะนึกภาพไปยังมหานครดูไบ จากเมืองกลางทะเลทรายสู่มหานครแห่งความมั่งคัง Burj Khalifa คืออาคารที่สูงที่สุดในโลกปัจจุบัน ความสูงถึง 828 เมตร ทำให้มันยังตั้งตระหง่านอย่างไม่มีใครเทียบได้ ในปี 2010 อาคารได้ถูกเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ เชค เคาะลีฟะฮ์ฯ หนึ่งในเชื้อพระวงศ์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ทรงเสด็จเปิดอาคารที่ตั้งให้กับพระองค์

โครงการ Burj Khalifa ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และรัฐอาบูดาบีถึง หนึ่งหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (มากกว่าสามแสนกว่าล้านบาท) เพื่อให้โครงการนี้สร้างสำเร็จ จากรายงานของ Financial Times

อย่างไรก็ตาม แนวคิดการสร้างตึกที่สูงที่สุดในโลกทุกวันนี้ แตกต่างจากการสร้างตึกสูงทั่วไป เว็บไซต์ Building the Skyline ที่ทำ Research เกี่ยวกับตึกสูงในมหานคร New York ได้พูดถึงเศรษฐศาสตร์ของการสร้างตึกสูง ว่ามีปัจจัยที่ต้องคำนึงคือมูลค่าของที่ดิน และความสูงของตัวตึกที่เป็นพื้นที่การใช้สอย ต่ำเกินไปก็อาจจะไม่ได้กำไร สูงเกินไปก็จะไม่ได้กำไร ดังนั้น เมื่อคิดตามนี้แล้ว อาคารทุกหลังจะมีความสูงที่เป็น Economic Height ไม่เท่ากัน

ตึกระฟ้าในมหานคร New York การจับจองพื้นที่บนอากาศกลายเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อเศรษฐศาสตร์ ที่มา – Tatiana Fet

แล้วอะไรคือเหตุผลที่เราพยายามสร้างตึกที่สูงที่สุดในโลกกันแน่ จริงอยู่ที่ในตอนแรก มนุษย์อาจจะถามหาการสร้างตึกสูงเนื่องจากปัจจัยการขยายตัวของเมืองที่เมืองไม่สามารถขยายตัวไปในแนวราบได้ (ซึ่งก็มาจากปัจจัยทาง Economic เช่นกัน) และต้องเกิดการทับซ้อนพื้นที่บนอากาศ แต่สำหรับ Burj Khalifa และตึกระฟ้าในปัจจุบันกลับสร้างบนพื้นที่ที่มีบริเวณ หรือพูดง่าย ๆ คือ เรากำลังทำสิ่งที่ตรงข้ามกับ Economic Height

คำตอบนี้คงตอบไม่ยาก เนื่องจากตึกที่สูงที่สุดในโลกมันไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ทางเศรษฐศาสตร์ของตัวตึกเอง แต่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตึกที่สูงที่สุดในโลก หรือ “Front-tier Engineering” ที่ต้องอาศัยวิศวกร การคำนวณ สถาปนิก และการออกแบบนานนับ 10 ปี เพื่อมาสร้างสิ่งที่เป็น “Front-tier” สร้างพรมแดนหน้าใหม่ และสุดท้าย เพียงแค่ตัวตึกเองจะไม่ได้มีค่าแค่พื้นที่ใช้สอยที่ไม่ตรงกับ Economic Height อีกต่อไป แต่ตรงกับ Economic ภาพรวม การสร้างตึกที่สูงที่สุดในโลก คือการสร้างวิศวกรที่เก่งที่สุดในโลก คือการสร้างแหล่งท่องเที่ยวที่มีแค่พวกเขาเท่านั้นที่สร้างได้ และสุดท้าย โครงการ Burj Khalifa ก็ทำให้มหานครดูไบกลายเป็นเมืองที่รับนักท่องเที่ยวมหาศาล และพร้อมสู่เศรษฐกิจยุคหลังน้ำมัน และตอนนี้ พวกเขาก็กำลัง เตรียมโครงการอวกาศ อยู่ด้วยซ้ำ

พรมแดนสุดท้าย คือสิ่งที่ควรถูกสำรวจแม้ว่าจะแลกกับมูลค่าเท่าใดก็ตาม

การเล่าเรื่องของตึกที่สูงที่สุดในโลก พาเราย้อนกลับมาถึงโครงการที่พาเราไปได้ไกลที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยเดินทางไป โครงการ Apollo ของสหรัฐอเมริกาที่ใช้เงินไปกว่าสองหมื่นห้าพันล้านเหรียญ (ด้วยค่าเงิน ณ ตอนนั้น) นำมาซึ่งคำถามมากมายจากประชาชนว่าเงินจำนวนนี้คุ้มแค่ไหนที่พามนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ แต่เมื่อเวลาผ่านไป 50 ปี ผลจากโครงการ Apollo ไม่ได้แต่พามนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ แต่ทำให้เรามีเทคโนโลยีที่เราใช้กันทุกวันนี้

เราอาจจะไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้ว หลังจากที่โครงการ Apollo ถูกตั้งขึ้นบรรดานักวิทยาศาสตร์ วิศวกร ต่างศึกษาถึงการใช้งานคอมพิวเตอร์ ไมโครชิป (อ่านบทความ Apollo Guidance Computer ในวันที่โลกยังไม่รู้จักคอมพิวเตอร์ ) จนเชี่ยวชาญพอที่จะมาก่อตั้งบริษัทต่าง ๆ และอุตสาหกรรม, สถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ ก็ได้ลงหลักปักฐาน ณ Silicon Valley ที่กลายเป็นแหล่งทำกำไรมหาศาลให้กับอเมริกา บ้านของบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกอย่าง Apple, Google, Amazon ก็เกิดขึ้นจากผลพวงของโครงการ Apollo นี้เอง

ณ วันนี้ Apollo ไม่ได้เป็นเพียงแค่โครงการมูลค่าสองหมื่นห้าพันล้านเหรียญ แต่มันกลับ Priceless หรือไม่อาจถูกตีค่าราคาได้ หลายคนอาจจะถามว่าต่อให้ไม่มี Apollo เราก็อาจจะมี iPhone และซื้อของจาก Amazon ได้อยู่ดี แต่ถามว่า แล้วเราต้องรอให้ใครเริ่ม ? ถ้าไม่สนับสนุนคนที่บอกว่าพวกเขาทำได้

ถ้าจะมีใครทำสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน จงถามเขาว่า ทำไปเพื่ออะไรวะ

ปัจจุบันโครงการแนว ๆ นี้มีชื่อเรียกเท่ ๆ ว่า “Front-tier Science” ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ (Pure Science) ศาสตร์พวกนี้ จะเอาไปพูดกับคนทั่วไปไม่ค่อยรู้เรื่อง โครงการ Artermis น้องสาวฝาแฝด Apollo นี่จริง ๆ นี่นับว่าพูดกับชาวบ้านรู้เรื่องแล้ว (อ่านบทความ ทุนนิยมบนดวงจันทร์ ทำไม NASA ให้ SpaceX, Blue Origin ช่วย เศรษฐศาสตร์ของการกลับสู่ดวงจันทร์ ) แต่ยังมีโครงการที่ถ้าเอาไปพูดหลายคนอาจจะถามว่า “ทำไปเพื่ออะไรวะ” ซึ่งคำถามนี้หลายคนถามแบบไม่ต้องการคำตอบ ดังนั้น เราอยากให้คุณลองเปลี่ยนทัศนคติแล้วลองฟังพวกเขาบ้างว่า พวกเขา “ทำไปเพื่ออะไรวะ” แบบที่ต้องการคำตอบ

CERN กำลังฉลองการค้นพบอนุภาค Higgs Boson ถ่ายทอดสดไปทั่วโลก โดยที่ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครตอบได้ว่าเราค้นพบอนุภาคนี้แล้วจะทำให้เราได้กำไรกี่บาทกันแน่ ที่มา – CERN

Front-tier Science นั้นพบเจอได้อยู่ทั่วไป พวกเขาพยายามถ่ายภาพหลุมดำ – ทำไมไปทำไมวะ? พวกเขานำอนุภาคมูลฐานมาชนกันเพื่อสร้างอนุภาคชนิดใหม่ที่มีชีวิตเพียงแค่เสี้ยวของเสี้ยววินาที – ทำไปทำไมวะ? พวกเขาตรวจจับคลื่นที่เกิดจากการกระเพื่อมของกาลอวกาศ – ทำไปทำไมวะ? พวกเขาศึกษาอนุภาคที่แทบจะไม่มีมวลและต้องซ่อนเครื่องตรวจจับไว้ใต้แผ่นน้ำแข็งที่ขั้วโลกใต้ – ทำไปทำไมวะ? หรือจริง ๆ พวกเขากำลังขอพรอยู่ ( อ่านบทความ พรที่นักวิทยาศาสตร์ขอจากดวงดาว )

จริง ๆ แล้ว พวกเขากำลังทำสิ่งที่พวกเขาทำได้ยังไงล่ะ … คุณคาดหวังอะไรกับคนที่เข้าใจกลศาสตร์ควอนตัมเชิงลึก คุณคาดหวังอะไรกับคนที่สร้างสมการอธิบายการกำเนิดจักรวาล คุณคงไม่คาดหวังให้เขาไปทำ Startup หรือเขียนแผนธุรกิจเพราะในการมีอยู่ของมนุษยชาติแล้วธุรกิจเป็นเพียงแค่แนวคิดช่วงหนึ่ง ซึ่งเราไม่ได้บอกว่ามันไม่ถูก มันถูก เพราะมันขับเคลื่อนโลก ณ ทุกวันนี้ แต่อะไรที่ขับเคลื่อนมนุษย์ สิ่งนั้นไม่ใช่ปัญญาหรอกหรือ ?

นักวิจัยที่ LIGO ดีใจที่เครื่อง Interferometer สามารถทำงานได้ปกติตามที่ออกแบบไว้ ภาพนี้ถ่ายเมื่อปี 2014 เพียงแค่ 2 ปีก่อนที่จะมีการค้นพบคลื่นความโน้มถ่วงตัวแรก ที่มา – LIGO/Caltech

แล้วถ้ามันจะมีการนำความเจริญทางวัตถุ ทางเศรษฐศาสตร์ มาแปลเปลี่ยนเป็นปัญญาที่ขับเคลื่อนมนุษย์ เหตุใดเราจึงเพิกเฉยที่จะทำมัน

ทำไปเพื่ออะไรวะ – คุณได้คำตอบมันหรือยัง

วิทยาศาสตร์กำลังขับเคลื่อนสิ่งที่มองไม่เห็น แต่เราจะสัมผัสได้ในซักวัน

นักปราชญ์ในยุคกรีกโบราณตั้งคำถามต่อสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม และวงกลม หรือพยายามสร้างนิยามของการสื่อสาร พวกเขาถกเถียงกันว่าอะไรคือการมีอยู่ พวกเขาทำสิ่งที่อาจจะถูกคนในยุคนั้นถามว่าทำไปทำไมวะเช่นกัน แต่ถามว่าวันนี้ ใครบ้างที่ไม่ใช่ประโยชน์จากสิ่งที่เรียกว่า เรขาคณิต, การเจรจาต่อรอง หรืออื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นผลผลิตจากแนวคิดเหล่านั้น

เป็นไปได้ว่าวันหนึ่ง มนุษย์ในยุคข้างหน้าจะได้ใช้ประโยชน์จาก คลื่นที่เกิดจากการกระเพื่อมของกาลอวกาศเช่นเดียวกัน หรืออย่างน้อย วันนี้มันก็ได้แปรเปลี่ยนมาเป็นความรู้ที่สามารถจับต้องได้เช่นกัน ไม่ใช่ที่ตัวชิ้นงาน แต่ในตัวคนต่างหาก

อาจจะถามต่อว่าแล้วใครที่ต้องเป็นคนทำ หรือถ้าเราไม่ทำคนอื่นก็จะทำมันอยู่ดี … แล้วถ้าเราเลือกมันได้ เหตุใดเราจึงจะไม่ทำเลย ?

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.