ทุนนิยมบนดวงจันทร์ ทำไม NASA ให้ SpaceX, Blue Origin ช่วย เศรษฐศาสตร์ของการกลับสู่ดวงจันทร์

เพื่อนของผู้เขียนซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทที่ทำ Deep Science ด้านอวกาศ และเคยมีประสบการณ์ในการส่งของขึ้นสู่อวกาศจริง ๆ มาแล้วเคยเล่าให้ฟังว่า “นัดนนรู้มั้ย แม่งทุนนิยมกันตั้งแต่การคัดเลือก ไปจนถึงการส่งขึ้นสู่อวกาศ แม้ขึ้นไปอยู่บนอวกาศจริง ๆ แล้ว ใครจ่ายเงินมากก็ได้เอาของออกมาก่อนมีอำนาจควบคุม สั่งนักบินอวกาศได้” ด้วยเหตุนี้เอง สมมติว่าเราจะส่งของชิ้นหนึ่งขึ้นไปสู่สถานีอวกาศนานาชาติ เราจำเป็นต้องใช่เงินจำนวนมหาศาล ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ แต่คำถามก็คือ แล้วเงินเหล่านี้เดินทางไปที่ไหนบ้าง

สามารถแอบเล่าให้ฟังว่า เราต้องไปจ้างทำ Process และเอกสารต่าง ๆ ซึ่งก็จะมี Agency คอยช่วยเหลือเพราะการส่งของขึ้นสู่อวกาศต้องมีความปลอดภัยสูง และเราเองไม่สามารถเดินไปคุยกับ Launch Provider อย่าง SpaceX หรือ Blue Origin เองโดยตรงได้ เนื่องจากเราไม่รวยถึงขั้นซื้อการปล่อยทั้งการปล่อย แต่ของของเราจะต้องอัดรวมไปกับ Payload อื่น ๆ ทั้งของ NASA เองที่จ้าง SpaceX และของที่ SpaceX เปิด Slot ให้ ซึ่ง Slot Time ต่าง ๆ ให้ลองนึกภาพเหมือนการซื้อขายตั๋วเครื่องบิน จ่ายก่อนได้ก่อน จ่ายมากได้เลือกที่นั่ง อยากไปแต่งบน้อย ก็นั่ง Low-cost ถึง ISS เหมือนกันแต่เรื่องมากไม่ได้

สถานีอวกาศนานาชาติ ดินแดนในอวกาศแห่งเดียวที่มีกิจกรรมของมนุษย์ ที่มา – NASA

ตั้งแต่ทำเอกสาร ปล่อยขึ้นไป ใช้นักบินอวกาศทำการทดลอง จนถึงกลับลงมา ใช้เงินไม่น้อย แต่สิ่งที่น่าดีใจก็คือ ในโครงการ Apollo มันไม่ได้เป็นแบบนี้ ทุกอย่างถูกควบคุมโดยรัฐบาลหมด

ดังนั้น Economy ของการทำงานวิจัยบนอวกาศนั้นเป็นหัวข้อที่สำคัญมาก โดยเฉพาะในอนาคตอวกาศจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น การสำรวจอวกาศในปัจจุบันต่างจากยุค Apollo อย่างมาก ดังนั้นการกลับสู่ดวงจันทร์ของ NASA ในโครงการ Artemis (อ่านบทความ – เจาะลึกโครงการ Artemis ที่จะพามนุษย์รุ่นใหม่ ออกเดินทางกลับไปสู่ดวงจันทร์) จะมีโมเดลคล้าย ๆ กับ Economic ของสถานีอวกาศนานาชาติในปัจจุบัน

บทบาทของเอกชนในการสำรวจอวกาศมาได้อย่างไร

แล้วถามว่าปัจจุบันสถานีอวกาศนานาชาติเป็นอย่างไร ทุกวันนี้แม้ว่าจะมีแค่ไม่กี่ชาติที่ทำงานอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติแต่ชาติที่ไม่เป็นสมาชิกก็สามารถไปทำการทดลองบนนั้นได้ ด้วยการไปจับมือร่วมกับหน่วยงานเจ้าของ ISS เช่น NASA, JAXA, ESA หรือ Roskosmos

แต่อย่าลืมว่า NASA นั้นไม่มีจรวดเป็นของตัวเอง JAXA, ESA มีแต่ส่งไปปีละไม่กี่ครั้ง ในขณะที่รัสเซียใช้ยานลำเล็กที่ต้องบรรทุกคนอย่าง Soyuz ส่วน Progress ก็เน้นใช้ในฝั่งรัสเซีย ทำให้ตอนนี้ถ้าเราจะส่งอะไรขึ้นสู่อวกาศ เราแทบจะต้องส่งกับ SpaceX และ Northrop Grumman อยู่ 2 เจ้า

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2011 NASA ปลดระวางกระสวยอวกาศ เลยมีการจัดตั้งโครงการ Commercial Resupply Program หรือ CRS ขึ้นมา โดยให้หน่วยงานอวกาศเอกชนเสนอโครงการและรับทุนก้อนหนึ่งเพื่อไปวิจัยและพัฒนายานอวกาศของตัวเอง Outcome ของโครงการก็คือ SpaceX ทำยาน Dragon และเข้าเทียบท่าสถานีอวกาศนานาชาติสำเร็จในปี 2012 เพียง 1 ปีหลังจากที่กระสวยอวกาศถูกปลดระวาง จากนั้น NASA ก็ใช้วิธีเซ็นสัญญาระยะยาว ส่งของให้กับ ISS จำนวน 20 ครั้ง ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2020

ยาน Dragon ขณะเทียบกับ ISS ที่มา – NASA

ส่วนอีกบริษัทคือ Orbital Science และยาน Cygnus ซึ่งมองจากมุมเราคือไม่ค่อยเสถียรซักเท่าไหร่ มีการเปลี่ยนมือบ่อย มีอุบัติเหตุร้ายแรง 1 ครั้ง อย่างปัจจุบันเปลี่ยนมือมาอยู่ภายใต้การดูแลของ Northrop Grumman ซึ่งในโครงการ CRS Phase แรก ได้รับการจ้างเพียงแค่ 10 ครั้งเท่านั้น

โครงการ CRS ใน Phase ที่สองงอกขึ้นมาเพื่อรองรับการส่งของไปยัง ISS ต่อจนถึงปี 2024 พร้อมกับมีบริษัทที่เข้าร่วมคือ SpaceX, Northrop Grumman และอีกเจ้าที่ส่ง Proposal เข้ามาและได้ด้วยก็คือ  Sierra Nevada

อีกโครงการที่งอกขึ้นมาอีกก็คือ NASA ต้องการจะส่งนักบินอวกาศกลับขึ้นสู่อวกาศอีกครั้งหลังจากที่ ณ ตอนนี้ต้องไปจ้างรัสเซีย ก็เลยมีโครงการชื่อ Commercial Crew ขึ้นมาและใช้โมเดลเดิม คือการให้เงินไปพัฒนา แล้วเลือกผู้ที่จะมาเซ็นรับงาน ณ ตอนนี้ประกาศชื่อไปแล้วคือ SpaceX และ Boeing

ภาพจำลองการเทียบท่า ISS ของ Dragon 2 ที่มา – Nathan Koga / SpaceFlight Insider

โมเดลแบบนี้ช่วยให้ NASA ไม่ต้องเปลืองทรัพยากรไปกับการปล่อย การบริหารการจัดการ แถมยังช่วยให้การขนส่งของขึ้นไปยังสถานีอวกาศมีต้นทุนที่ถูกลง รวมถึง NASA ก็ไม่ได้ห้าม SpaceX รับงานนอกตราบใดก็ตามที่งานหลักเสร็จ

โครงการ Commercial Lunar Payload Services

ถ้ามาลองย้อนดู ตอนนี้ NASA มีโครงการต่าง ๆ โดยรวมโครงการ Commercial Lunar ไปด้วยได้แก่

  • Commercial Resupply Service (CRS)
  • Commercial Crew
  • Commercial Lunar Payload Service (CLPS)

ซึ่งโครงการ Commercial Lunar หรือ CLPS นี้นั้น ถูกคิดขึ้นมาในปี 2018 โดยมีวงเงินดำเนินงานอยู่ที่ 2.6 พันล้านเหรียญ ในช่วงนั้น NASA มีการฉลองครบรอบ 50 ปีการลงจอดบนดวงจันทร์ของภารกิจ Apollo และ 60 ปีของ NASA พอดี ทำให้เกิดแคมเปญที่ชื่อว่า Moon to Mars และ We are NASA .. we are going

โครงการที่ NASA วางแผนไว้นั้นถูกนำกลับมาจริงจังอีกครั้งคือการกลับไปยังดวงจันทร์ ในครั้งนี้ชื่อว่า Artemis ซึ่งเป็นการไปสำรวจดวงจันทร์ภายในปี 2024 และใช้ดวงจันทร์เป็นฐานปฏิบัติการสำคัญในการเดินทางสำรวจอวกาศแบบ Deep Space เช่น การเดินทางไปดาวอังคาร

รายละเอียดหลัก ๆ ของโครงการ CLPS ระบุว่าคือ End-to-end payload services between Earth and the lunar surface หรือเป็นการขนส่ง payload จากโลกไปสู่พื้นผิวของดวงจันทร์แบบสมบูรณ์ NASA เพียงแค่จ่ายเงินและมีบริษัทเอกชนเช้ามาทำให้ ซึ่งกระบวนการแบบนี้จะเหมือนกับ Commercial Resupply Service ที่ NASA ทำกับสถานีอวกาศนานาชาติ

ยานแบบ Lander สำหรับ Scientific Payload ที่ NASA เลือกในโครงการ CLPS ที่มา – NASA Goddard Space Flight Center

สำหรับนิยามของคำว่า Payload นั้นอาจจะหมายถึงตั้งแต่อาหาร สิ่งของ น้ำ รถสำรวจ ไปจนถึงอุปกรณ์วิทยาศาสตร์เล็ก ๆ ที่สามารถส่งไปกับยานอวกาศแบบ Lander ขนาดเล็กได้เรียกว่า Scienctific Payload ซึ่งในตอนแรก NASA ได้เปิดรับบริษัทที่จะมาร่วมส่ง Scienctific Payload ขนาดเล็กจำนวน 9 บริษัท เช่น Astrobotic Technology, Intuitive Machines รวมถึงยักษ์ใหญ่อย่าง Lockheed Martin

ล่าสุดในเดือนกันยายน 2019 NASA ได้เพิ่มรายชื่อของบริษัทเข้ามาอีก 5 บริษัท ซึ่งที่น่าสนใจก็คือ มีชื่อของ SpaceX และ Blue Origin เข้ามาด้วย

ภาพจำลองยาน Starship กำลังขนส่งรถยนต์แบบ Rover สำหรับคนนั่ง ลงสู่พื้นผิวของดวงจันทร์ ที่มา – SpaceX

ทราบกันดีว่า SpaceX กำลังพัฒนายานอวกาศที่ชื่อว่า Starship ยานขนส่งขนาดใหญ่ที่ Elon Musk ตั้งใจจะให้สามารถเดินทางไปที่ดาวพื้นแข็งดวงใดในระบบสุริยะก็ได้ตั้งแต่ ดวงจันทร์ ดาวอังคาร หรือดวงจันทร์ของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะชั้นนอก เช่น ไททัน หรือยูโรปา ส่วน Blue Origin ก็อยู่ระหว่างพัฒนายาน Blue Moon ที่ใช้ในการส่งสัมภาระในการไปลงจอดบนดวงจันทร์

Jeff Bezos เปิดตัวยานลงจอด Blue Moon ที่มา – Blue Origin

อย่างไรก็ตาม NASA นั้น มีความห่วงด้านการขนส่งมนุษย์เป็นอย่างมาก เนื่องจากมนุษย์ระเบิดแล้วตาย ไม่เหมือนกับสิ่งของที่พอระเบิดแล้วก็พังเสียหายเท่านั้น ทำให้โครงการ CLPS นั้นไม่ได้รวมไปถึงการขนส่งมนุษย์ด้วย และ NASA ก็พัฒนายานของตัวเองขึ้นมาแทน (แม้จะยังไม่เป็นรูปเป็นร่างเท่าไหร่) กรณีนี้คล้ายกับโครงการ Commercial Crew ที่มีเพียงแค่ 2 บริษัทเท่านั้นที่ได้ทำคือ SpaceX กับยาน Dragon 2 และ Boeing กับยาน Starliner ซึ่งตอนนี้ทั้งคู่อยู่ระหว่างทดสอบ ทดสอบ และทดสอบ เพื่อให้ผ่านมาตรฐานของ NASA

แผนภาพการเดินทางไปดวงจันทร์ของยาน Starship ที่มา – SpaceX

ความคืบหน้าในการกลับไปสู่ดวงจันทร์ในโครงการ Artemis ณ​ ตอนนี้ก็คือ NASA จะทำส่วนที่ยากและ Sensitive ที่สุดคือการขนส่งมนุษย์ ในขณะที่การขนส่งสัมภาระ NASA จะใช้บริการเอกชนในการทำ ซึ่งก็ไม่ได้มีอัตราส่วนมาว่ากี่ % (แต่สำหรับสถานีอวกาศตอนนี้ 100% เอกชนทำ) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ฉลาดมาก ๆ และ NASA เพียงแค่โยนเงินให้ภาคธุรกิจไปจัดการ เหมือนกับ NASA ลงทุนในเทคโนโลยี เอาเข้าจริง ๆ สมมติ NASA เปิดงบ R&D เอง ด้วยกระบวนการที่ยืดยาดของหน่วยงานรัฐอาจจะใช้งบมากกว่าเอกชนหลายเท่า ทำให้งบ R&D เอาไป Invest ในบริษัทเอกชนที่เอา “เงิน” ตัวเองเป็นเดิมพันจะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง และพอ NASA ต้องใช้จริง ๆ ก็ใช้เงินน้อยกว่าทำเองแน่ ๆ

ประกาศอย่างเป็นทางการ 3 บริษัทที่จะพามนุษย์ไปลงดวงจันทร์

อ่านเพิ่มเติม – NASA ประกาศ 3 บริษัทที่จะนำมนุษย์ ลงจอดบนดวงจันทร์ในรอบครึ่งศตวรรษ Blue Origin, Dynetics, SpaceX

3 บริษัทดังกล่าวเดาไม่ยาก เพราะเป็นผู้เล่นเจ้าประจำอย่าง SpaceX ทีม Starship และ Blue Origin ทีม Blue Moon แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ Dynetics บริษัทที่เราอาจจะไม่คุ้นตาแต่มาพร้อมกับ subcontractors อีก 25 เจ้า (ที่จะกระจายงานและภาระต่าง ๆ ไปสู่ตลาดแรงงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย เทคโนโลยีต่าง ๆ ในสหรัฐฯ และทั่วโลกได้อีกมหาศาล) ก็ได้ทุนไปพัฒนาเช่นกัน

มูลค่าของเงินทุนที่ทั้ง 3 บริษัทได้ไปนั้น อยู่ที่ 579 ล้านเหรียญฯ สำหรับ Blue Origin ซึ่งนับว่ามีมูลค่าสูงที่สุด ตามมาด้วย Dynetics ซึ่งอยู่ที่ 253 ล้านเหรียญฯ และน้อยที่สุดคือ SpaceX ได้ไป 135 ล้านเหรียญฯ 

อีกหนึ่งบริษัทที่ยื่นซองเช่นกัน แต่ไม่ได้ก็คือ Boeing อย่างไรก็ดี Boeing มีสัญญาในการพัฒนาจรวด SLS หรือ Space Launch System และสัญญาในการทำยาน Starliner ซึ่งสุดท้ายก็จะมีบทบาทสำคัญในภารกิจ Artemis อยู่ดี

แล้วประโยชน์จากการ Commercialize Moon คืออะไร

อย่าลืมว่า NASA หรือ JAXA หรือ ESA อาจจะมีความร่วมมือกับกี่ประเทศกี่หน่วยงานกี่ Lab วิจัยก็ได้ NASA อาจจะมี Lab ที่เพรียบพร้อมอยู่บนดวงจันทร์ก็จริง แต่ใครจะเป็นคนจ่ายค่าขนส่ง จะให้ NASA จ่ายเองก็ไม่ไหว หรือจะให้ประเทศนั้น ๆ จ่ายเองก็อาจจะไม่ไหวอีก ดังนั้นการ Commercialize ก็เหมือนกับการทำให้โอกาสการที่ประเทศอื่น ๆ หรือแม้กระทั่ง Lab วิจัยเล็ก ๆ โรงเรียนมัธยม สามารถส่งอะไรขึ้นสู่อวกาศได้ในราคาที่จับต้องได้ และทำให้อวกาศไม่ใช่แค่ดินแดนสำหรับประเทศมหาอำนาจอย่างเดียว เราเรียกแนวคิดแบบนี้ว่า democratizing space

ดังนั้นถ้าจะให้สรุปประเด็นสำคัญ ๆ ของการ Commercialize Moon ก็ได้แก่

  • การที่ NASA เปิดโครงการ CLPS เป็นตัวอัดฉีนให้หน่วยงานอวกาศเอกชนมีเทคโนโลยีที่ทำให้การส่งสิ่งของไปยังดวงจันทร์ง่ายขึ้น
  • พอไปได้ง่ายขึ้น ราคาก็ถูกลง เพราะการไปและกลับดวงจันทร์จะเป็นเรื่องปกติ ในปีนึงอาจจะมีเที่ยวบินไปกลับระหว่างโลกกับดวงจันทร์มากถึง 10 ครั้ง
  • พอราคาถูกลง มีรอบมากขึ้น การทำงานวิจัยต่าง ๆ ก็จะมากขึ้น และ Lab วิจัย รวมถึงบริษัทต่าง ๆ แม้กระทั่งโรงเรียนมัธยมหรือมหาวิทยาลัยก็สามารถไป Partner กับหน่วยงานอวกาศอย่าง NASA และทำการทดลองในอวกาศได้มากขึ้นเท่านั้น
  • ให้เราลองนึก Cycle นี้เป็น Loop ดู ยิ่งเรามีการทดลองมากขึ้น ก็แปลว่าเราเข้าใจอวกาศมากขึ้น การสำรวจอวกาศก็จะง่ายขึ้น เป็นการ Win ทั้ง 3 ฝ่าย ทั้ง NASA, บริษัทอวกาศ และใครก็ตามที่จะส่งของขึ้นสู่อวกาศเพื่อการวิจัย ทดลอง หรือ R&D Product ต่าง ๆ
Elon Musk บอกว่ายิ่งจำนวนครั้งการปล่อยมากขึ้น การขนส่งสิ่งของสู่อวกาศก็ถูกลง ที่มา – SpaceX

อย่าลืมว่า Model นี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอย ๆ แต่ถูกทดสอบไปเป็นเวลากว่า 5 ปีกับสถานีอวกาศนานาชาติ ในสองถึงสามปีที่ผ่านมาเราเห็นเด็กนักเรียนสามารถส่งการทดลองไปยังอวกาศได้ง่ายขึ้น มหาวิทยาลัย Lab วิจัย สามารถทำงานด้านอวกาศได้โดยที่ไม่ต้องใช้ต้นทุนมากเหมือนเมื่อก่อน เพราะ SpaceX ปล่อยจรวดขึ้นสถานีอวกาศแทบจะสองเดือนครั้ง ในขณะที่ Northrop Grumman ก็ปล่อยยาน Cygnus ซึ่งล้วนแต่เป็นผลมาจากการ Commercialize การเดินทางสู่สถานีอวกาศ

วันนึงเราอาจจะไปตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคาร ที่มา – SpaceX

ลองนึกภาพดูว่าครั้งหนึ่งการเดินทางข้ามทวีปกลายเป็นเรื่องที่ยากลำบากและต้องใช้เรือสำเภาขนาดยักษ์ มีความเสี่ยงมากมาย แต่ตอนนี้เรานั่งเครื่องบินไปอีกฟากนึงของโลกใช้เวลาไม่ถึงวัน เราสามารถไปอเมริกาวันไหนก็ได้ มีเที่ยวบินออกจากสุวรรณภูมิแทบทุกชั่วโมง ไปเปลี่ยนเครื่องในประเทศที่เราต้องการ แถมยังสามารถขนของไปได้เท่าที่เราต้องการ ทำให้ใครก็ได้ (ที่มีเงิน) สามารถเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อทำธุรกิจ เกิดธุรกิจใหม่ ๆ เกิดโอกาสใหม่ ๆ มากมาย รวมถึงสามารถเกิดการท่องเที่ยว มีการการบิน Low-cost มีชั้นต่าง ๆ First Class, Business Class

เราไม่ได้สำรวจอวกาศเพื่อทิ้งโลก แต่เพื่อดูแลกันได้ดีขึ้นไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในจักรวาล

อวกาศก็เหมือนกัน ในอนาคตถ้าเราสามารถเดินทางไปยังดวงจันทร์ หรือแม้กระทั่งดาวอังคาร ได้กันเป็นเครื่องปกติ มีเที่ยวบินออกทุกเดือน สามารถไปท่องเที่ยว ทำงานหรือทำวิจัยต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ โอกาสในอนาคตนี้จะทำให้เกิดงานใหม่ ๆ ธุรกิจใหม่ ๆ และอวกาศจะไม่ได้กลายเป็นแค่ดินแดนแห่งการผจญภัยแต่กลายเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันเราจริง ๆ

บทความที่ควรศึกษาต่อ

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.