ทำไม SLS ถึงเป็นจรวดที่แพงแต่จำเป็น

Space Launch System หรือที่เรารู้จักกันดีอย่าง SLS เป็นที่รู้จักกันมานานในนามของจรวดที่เบิกทางไปสู่การสำรวจอวกาศยุคใหม่และจรวดที่จะมามนุษย์กลับไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้ง แต่กลับถูกตั้งคำถามจากผู้คนที่อยู่ทั้งในและนอกวงการสำรวจอวกาศด้วยคำถามเดียวกันว่า “จรวดอะไรวะ ทำไมแพงขนาดนี้”

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2011 ได้มีการประกาศพัฒนาจรวดรุ่นใหม่จากทาง NASA และสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ เพื่อทดแทนการพัฒนาจรวด Ares I และ Ares IV สำหรับโครงการ Constelletion ที่ล้มไม่เป็นท่าในช่วงปี 2004 ถึง 2010 (โดยในตอนนั้นยังไม่มีแผนที่จะเริ่มโครงการใหม่อย่าง Artemis เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จาก SLS) ซึ่งการที่มีสมาชิกวุฒิสภาเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้หลาย ๆ คนได้กลิ่นของปัญหาที่จะตามมาจากการที่จะมีคนเหล่านี้ได้ประโยชน์จากเกมการเมืองของพวกเขา

จรวด SLS บนฐานปล่อยสำหรับภารกิจ Artemis I ที่มา – NASA

อย่างไรก็ตาม ถ้าให้มาคิดถึงเรื่องของงบประมาณในการพัฒนาทั้งระบบ SLS ตั้งแต่ปี 2011 จนถึง 2021 นั้นถูกใช้ไปเพียง 23,011 ล้าน USD เมื่อเทียบกับการพัฒนาโครงการกระสวยอวกาศที่เปรียบเสมือนเป็นต้นทางให้ SLS นั้นใช้ไปถึง 46,626 ล้าน USD (เทียบกับอัตราเงินเฟ้อปี 2020) หรือถ้าจะให้ Fair หน่อยต้องเทียบกับงบประมาณพัฒนาจรวด Saturn V จรวดที่ได้พามนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์มาแล้วสมัยโครงการ Apollo ได้ใช้งบไปถึง 35,400 ล้าน USD

ชิ้นส่วน Solid Rocket Booster ของ SLS ที่มีพื้นฐานมาจากการออกแบบในโครงการ Constellation และโครงการ Space Shuttle ที่มา – NASA

ซึ่งถือได้ว่างบที่ถูกใช้ไปกับการพัฒนา SLS นั้นถูกกว่าโครงการอื่นพอสมควร แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่งบประมาณในการพัฒนาระบบขนส่งนี้ โดยมันเป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายต่อการส่งจรวดต่อครั้ง สำหรับ SLS ในช่วง Artmeis 1 จนถึง Artemis 4 นั้นถูกประเมินไว้ว่าจะต้องใช้เงินถึง 4.4 พันล้าน USD ต่อภารกิจ ซึ่งทั้งนี้ได้คิดรวมทั้งตัวยาน Orion, European Service Module และระบบ Ground System ไปแล้ว ซึ่งทาง NASA ก็ได้เคลมว่ามันจะถูกทำให้ถูกลงใน SLS Block ใหม่ ๆ ที่จะตามมาในอนาคตอย่าง Block 1B และ Block 2

แต่ถ้าคิดแค่เรื่องของค่าใช้จ่ายแค่ตัวจรวดอย่างเดียว ไม่คิดเรื่องของยาน Orion ไปจนถึง Ground System ที่สามารถใช้ซ้ำได้ตั้งแต่ภารกิจ Artemis 5 ขึ้นไปจะตีเป็นตัวเลขออกมาได้ที่ประมาณ 2 พันล้าน USD ซึ่งก็ยังดูแพงไปอยู่ดีเมื่อนำมาเทียบกับกระสวยอวกาศนั้น ค่าใช้จ่ายต่อการส่งจะอยู่ที่ 592.7 ล้าน USD (เทียบกับอัตราเงินเฟ้อปี 2022) และจรวด Saturn V มีค่าใช้จ่ายต่อการส่งจะอยู่ที่ 1.23 พันล้าน USD (เทียบกับอัตราเงินเฟ้อปี 2020) จะเห็นได้ว่า SLS นั้นดูมีราคาที่สูงพอสมควรและสูงเกินไปในมุมมองของใครหลาย ๆ คน

ระบบ Ground Control ของ SLS และ Artemis ใน Kennedy Space Center ที่มา – NASA

และถึงแม้จะยกประเด็นมาถกกันเรื่องของค่าใช้จ่ายในการพัฒนาจรวดและยานที่ต้องทำให้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยที่มีต่อชีวิตนักบินที่ต้องปฏิบัติการณ์ในอวกาศห้วงลึกที่ต้องปลอดภัยมากขึ้นเมื่อเทียบกับ Saturn V ก็ตาม พอเรารู้แล้วว่า SLS นั้นดูมีราคาที่แพงเกินความจำเป็น ก็มักจะมีคำถามตามมาอีกว่า “ทำไมไม่ให้ Starship ทำหน้าที่นี้แทน ใช้ซ้ำได้ทุกส่วนและถูกกว่าด้วย”

อย่างแรกคือเราต้องปิด Kerbal Space Program แล้วอยู่กับความเป็นจริงให้มากขึ้นกันก่อน ในความเป็นจริงแล้ว โครงการ Starship ในตอนนี้ยังอยู่ในขั้นพัฒนาที่ถึงแม้จะเข้าใกล้ความเป็นจริงแล้วก็ตาม (ในแง่ของการทำให้ขึ้นสู่วงโคจร) แต่กว่าที่ Starship และระบบของมันจะได้ผ่านเกณฑ์ Human Rate ที่เข้มงวดของ NASA ก็ยังต้องอาศัยเวลาพัฒนาไปอีกหลายปีกว่าที่มันจะพร้อมส่งมนุษย์บินขึ้นจากพื้นผิวโลก

รวมทั้งการที่มันต้องเติมเชื้อเพลิงบนวงโคจรจะทำให้ระบบซับซ้อนมากขึ้นที่อาจเพิ่มโอกาสให้เกิดอันตรายระหว่างภารกิจ แต่ก็ต้องเข้าใจกันด้วยว่า Starship ก็ยังมีความจำเป็นต่อโครงการ Artemis ในฐานะยาน Lander ที่จะพามนุษย์ลงจอดบนดวงจันทร์ และในแง่ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในจรวดท่อนบนของ SLS ทำให้มันมีประสิทธิภาพในการส่งของไปสู่อวกาศห้วงลึกมากกว่าจรวดที่ใช้เชื้อเพลิงไหน ๆ อย่างไฮโดรเจน ทำให้ SLS ยังคงความได้เปรียบเมื่อวัดกันในแง่ของส่ง Payload ขึ้นไปในระดับที่เหนือกว่าวงโคจรต่ำของโลก ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อโครงการ Artemis ที่จะไม่ได้หยุดกันแค่ที่ดวงจันทร์หรือดาวอังคารอย่างแน่นอน

จรวด SLS ถูกย้ายไปยังฐานปล่อยจากอาคารประกอบจรวด ที่มา – NASA

สุดท้ายแล้วเท่ากับว่า SLS ที่ถึงแม้จะเป็นผลพวงมาจากเกมการเมืองในสหรัฐฯ จนทำให้มีค่าใช้จ่ายที่แพงแสนแพง แต่มันก็ยังเป็นจรวดที่ยังจำเป็น พร้อมพามนุษย์บินขึ้นจากผิวโลกไปสู่ดวงจันทร์มากกว่าจรวดลำไหน ๆ ในตอนนี้ และคุ้มค่าต่ออนาคตที่ไม่ได้จะหยุดกันที่ดวงจันทร์ไปอีกนาน

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

19 y/o Just mechanical engineering student, hobbyist illustrator, amateur writer who wanted to be a rocket propulsion engineer.