เราไม่ได้สำรวจอวกาศเพื่อทิ้งโลก แต่เพื่อดูแลกันได้ดีขึ้นไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในจักรวาล

มนุษย์ถูกสร้างให้อยู่บนโลกอย่างแท้จริง อย่าลืมว่าโลกของเราคือดินแดนที่เราอยู่อาศัยมาเป็นหมื่นเป็นแสนปี ผู้คนในยุคหิน ผู้คนในยุคกลาง หรือในยุคเรเนซองส์ ล้วนแต่ใช้ชีวิตบนโลกไม่มีมนุษย์คนไหนเคยหลุดออกไปจากชั้นบรรยากาศบาง ๆ ที่ห่อหุ้มโลกของเราไว้อยู่

จนเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา คือสิ่งที่ทำให้เรา เราทุกคนที่กำลังอ่านบทความนี้ เราทุกคนที่อยู่รอบตัวคุณตอนนี้ แตกต่างจากคนในยุคเรเรซอส์ ต่างจากคนในยุคหิน หรือทุกคนที่เคยเกิดขึ้นมาบนโลกและเสียชีวิตไปก่อนปี 1969 วันที่มนุษย์คนแรกเหยียบลงบนผิวของดวงจันทร์ เวลานั้นคือการนับ 1 การนับดาวอีก 1 ดวงที่มนุษย์เคยสัมผัส วันนั้นมันคือการจบสิ้นแห่งยุค จบสิ้นยุคที่โลกคือดาวดวงเดียวที่มนุษย์เคยใช้ชีวิต แต่อย่างที่ Carl Sagan เคยกล่าวไว้ “เราไม่ได้ออกไปไหนเลย เราไปถึงแค่ดวงจันทร์ เมื่อเทียบกับจักรวาลอันกว้างใหญ่ ราวกับเด็กที่วิ่งออกไปไม่กี่ก้าวแล้วรีบหลับเข้ามาหลบใต้กระโปรงแม่”

ภาพถ่ายในภารกิจ Apollo 14 ที่มา – NASA/Apollo Archive

อย่างไรก็ตาม ภารกิจ Apollo บอกทำให้ทุกวันนี้เราใช้เวลาบนพื้นผิวของดวงจันทร์ทั้งหมด 80 ชั่วโมง 32 นาทีเท่านั้นที่มนุษย์เดินบนดวงจันทร์ ตลอดตั้งแต่ Apollo 11 ถึง Apollo 17 และมีมนุษย์เพียงแค่ 12 คนเท่านั้นที่เคยเดินบนดวงจันทร์

80 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับชีวิตสองแสนปีบนพื้นโลก และชีวิตสองแสนปีบนพื้นโลกเทียบกับอายุสี่พันล้านปีของโลก และอย่าลืมว่าจักรวาลของเรามีอายุประมาณหนึ่งหมื่นสี่พันล้านปี ลองคิดดูว่าเวลาของเราบนดาวดวงอื่นนั้นน้อยนิดแค่ไหน

มีเว็บสนุก ๆ ที่ชื่อว่า How many people are there in space right now ที่ให้เรากดเข้าไปแล้วดูว่าตอนนี้มีนักบินอวกาศอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติกี่คน ซึ่งนับรวมคนที่เคยขึ้นไปบนอวกาศทั้งหมด 563 ตั้งแต่วันที่ยูริ กาการิน เดินทางขึ้นไป ในขณะที่ประชากรโลกตอนนี้อยู่ที่ 7 พันล้านคน (และ 1 คนที่ขึ้นไปบนอวกาศ ต้องมีทีมงานบนพื้นโลกดูแล 24 ชั่วโมงมากกว่า 10 คน)

ภาพจำลองการเทียบท่า ISS ของ Dragon 2 ที่มา – Nathan Koga / SpaceFlight Insider

สถานีอวกาศนานาชาติ International Space Station มีมนุษย์ใช้ชีวิตอยู่บนนั้นผลัดเปลี่ยนกันขึ้นและลงมาเป็นเวลา 19 ปีแล้ว และเป็นสถานที่เดียวนอกเหนือจากบนโลกที่มนุษย์สามารถใช้ชีวิตได้โดยมีสภาพที่ใกล้เคียงกับโลกที่สุด มีห้องน้ำ มีอาหาร มีเครื่องออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งมีเครื่องฉายหนังและไอศกรีม

สิ่งนี้สามารถพูดได้ว่าเราเป็นเผ่าพันธุ์นักสำรวจอวกาศแล้วหรือเปล่า ? เพียงแค่เพราะเราสามารถไปยัง Low Earth Orbit 400 กิโลเมตรขึ้นไป หรือคุณปู่ของเราเคยไปเหยียบดวงจันทร์ ?

การสำรวจอวกาศในอนาคตที่ไม่ใช่แค่เยี่ยมเยือน แต่ใช้ชีวิต ถูกจำกัดด้วยอะไร

เมื่อพูดถึงสิ่งมีชีวิต ปัจจัยสำคัญที่ต้องพูดถึงเลยก็คือวิวัฒนการ และการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ซึ่งสิ่งนี้คือสิ่งที่ทำให้เราเป็นเราในทุกวันนี้ ร่วมกับอีกสิ่งหนึ่งก็คือมนุษย์สามารถถ่ายทอดความรู้ให้กันและกันได้ และมี “ความรู้ร่วม” ที่ถูกตั้งขึ้นมา

เริ่มต้นจากปัจจัยทางวิวัฒนาการ มนุษย์ใช้ชีวิตบนโลกมาเป็นเวลาแสน ๆ ปี ถูกปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมบนโลก เราใช้ชีวิตตอนกลางวัน พักผ่อนตอนกลางคืนเมื่อไม่มีแสง เราสร้างบ้านเราก็ติดหลอดไฟไว้ข้างบน ไม่มีใครเอาหลอดไฟไว้ที่พื้น แม้กระทั่งบนสถานีอวกาศนานาชาติก็มีการออกแบบให้ “มีพื้น” แม้ว่าการมีพื้นจะไม่มีความหมายเลยก็ตาม

รวมถึงถ้าเราดูหนัง Sci-fi ก็ยังมีการพยายามสร้างแรงโน้มถ่วงจำลองเพื่อให้มนุษย์สามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับบนโลกมากที่สุด ขนาดจะไปดาวอังคารเรายังต้องทำ Terraforming เพื่อให้ใกล้เคียงกับโลก ทุกอย่างล้วนแล้วแต่พยายามสร้างเพื่อเลียนแบบสภาพแวดล้อมบนโลก แล้วแบบนี้เราจะนับเป็นเผ่าพันธุ์ที่ใช้ชีวิตในอวกาศได้จริง ๆ หรือเปล่า ?

ยานอวกาศยักษ์ในเรื่อง Interstellar ที่รองรับการเดินทางของมนุษย์ ที่มา – Interstellar/WB

ต้องเล่าให้ฟังว่าปัจจัยทางวิวัฒนาการนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์อาจจะยังไม่สามารถก้าวข้ามได้ในทันที เพราะกว่าเราจะมาถึงตรงนี้ต้องใช้เวลาระหว่างกระบวนการคัดสรรโดยธรรมชาตินานมาก โดยที่เราต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้น ๆ เป็นเวลานานเช่นกัน ดังนั้นถ้าจะรอการคัดสรรโดยธรรมชาติให้มนุษย์สามารถอยู่ในอวกาศได้จริง ๆ เราก็คงไม่ได้ไปอวกาศกันซักที ทำให้เราต้องออกแบบการอาศัยอยู่ในอวกาศให้ใกล้เคียงกับที่ร่างกายเราถูกออกแบบมามากที่สุด

แต่ก็อย่าลืมว่าเราสามารถควบคุม 2 สิ่งได้ สิ่งแรกคือการดัดแปลงร่างกายของเราผ่านเทคโนโลยี Biotech ต่าง ๆ ตั้งแต่การตัดต่อพันธุกรรม ไปจนถึงการทำให้ร่างกายมนุษย์กลายเป็น Superhuman ตัวอย่างเช่นตอนที่ผู้เขียนไปงานประชุม Beyond the Cradle ที่ MIT Media Lab มีการพูดถึงว่าเราอาจจะ Re-engineer ความสามารถบางอย่างของสัตว์ที่สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมสุดขั้วอย่าง Tardigrade หรือหมีน้ำ มาใส่มนุษย์เพื่อให้เราสามารถทนต่อสภาพแวดล้อมในอวกาศได้ หรือแม้กระทั่งการนำมนุษย์กับเครื่องจักรมารวมกัน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ Max Texmark นักฟิสิกส์ก็เคยพูดถึงไว้ในหนังสือ Life 3.0 ของเขา ทำให้เราสามารถโปรแกรมร่างกายของเราได้

สิ่งที่สองก็คือ เราสามารถมีเซ็ตของความรู้ที่ถูกส่งต่อ ๆ กันมาได้ จาก Kepler สู่ Newton จาก Newton สู่ Goddard สู่ Von Braun สู่ Elon Musk และมนุษย์อีกพันล้านคนทั่วโลก โดยที่ไม่ว่าจะ Elon Musk หรือลิงก็ไม่ได้มีลักษณะทางร่างกายที่แตกต่างกันมาก แต่เพราะเราสามารถส่งต่อความรู้กันได้ การสำรวจอวกาศจึงไม่ได้เกิดขึ้นด้วยน้ำมือของคนคนเดียว แต่เกิดจากสมองของคนนับล้านนับสิบล้านที่ถูกเชื่อมเข้าด้วยกัน

วันนึงเราอาจจะไปตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคาร ที่มา – SpaceX

Niel Armstrong ไม่อาจไปเดินบนดวงจันทร์ได้ถ้าไม่มีคนอีกนับล้านนับสิบล้านคอย support การกระทำของเขาอยู่ ดังนั้นไม่แปลกใจที่ Niel เลือกที่จะพูดว่าก้าวเล็ก ๆ ของเขาคือก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ

มนุษย์คือชุดเรื่องเล่าที่ถูกเล่าต่อ ๆ กันมาเป็นมหากาพย์นิทานที่บางครั้งก็อาจทำให้เราลืมว่าเราเป็นเพียงเศษผงในโรงละครมหึมาที่ชื่อว่าเอกภพ เราโดดเดี่ยวจนบางครั้งเราก็สงสัยว่าสิ่งที่เราทำทั้งหมดนี้ มันเพื่ออะไรกันแน่

แล้วเราสำรวจอวกาศไปเพื่ออะไรกันแน่

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน บนโลกไม่ว่าเราจะมีร่างกายเป็นแบบไหน จะเป็น Superhuman หรือจะมียานอวกาศลำยักษ์ที่สภาพแวดล้อมภายในไม่ต่างจากโลก จะเปลี่ยนดาวอังคารให้กลายเป็นโลกใบที่สอง หรือเราจะสามารถเดินทางไปยังดวงจันทร์ของดาวเสาร์ หรือแม้กระทั่งไปอาศัยอยู่บน Exo-planet ดวงใด เราก็คือมนุษย์ ยังคงเป็นผลผลิตของดาวเคราะห์สีฟ้าลำดับที่ 3 แห่งดวงอาทิตย์ ระบบสุริยะจักรวาล แขน Orion ของกาแล็กซี่ทางช้างเผือก

ภาพจำลองดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่โคตรรอบ ดาวฤกษ์แบบ Cool Star ซึ่งเป็นดาวที่พบมากในกาแล็กซี่ ที่มา – NASA/JPL-Caltech/T. Pyle (SSC)

หนัง Sci-fi หลายเรื่อง อาจจะนำเสนอมุมมองการสำรวจอวกาศของมนุษย์ว่าคือการหาโลกใบใหม่เมื่อโลกของเราเกินเยียวยา จนสุดท้ายเราต้องทิ้งโลก ดาวดวงนี้ไปในที่สุด แต่อย่าลืมว่าสุดท้ายเราไม่มีทางทิ้งโลกได้ เพราะเราไม่ได้เป็นเจ้าของโลกแต่โลกสร้างเราขึ้นมาต่างหาก

ไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรการสำรวจอวกาศนับตั้งแต่วันแรกที่มนุษย์มองขึ้นไปบนท้องฟ้า จนถึงวันที่เราก้าวเท้าลงบนดาวดวงที่สองเพื่อไปเยี่ยมเยือนด้วยเวลาอันเป็นเศษเสี้ยวของระยะเวลาที่มนุษย์ถือกำเนิดขึ้นมา หรือกำลังพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ มากมาย มนุษย์ไม่อาจทิ้งความสามารถหนึ่งที่ในจักรวาลนี้อาจจะมีแค่เราเท่านั้นที่ทำได้ คือการใช้ความคิดร่วมกัน

Kepler-69c ดาวเคราะห์คล้ายโลกขนาดยักษ์ ที่มา – NASA/Ames/JPL-Caltech

ความคิดของมนุษย์ สิ่งที่เราสื่อสารกับกัน เชื่อมโยงกัน เกิดเป็นเรื่องเล่าที่มีทั้งฝันดีที่สดสวยและฝันร้ายที่หลอกหลอนผ่านหน้าประวัติศาสตร์ ด้วยอารมณ์ รัก เกลียด อิจฉา กระหายอำนาจ โศกเศร้า โดดเดี่ยว ทั้งหมดคือสิ่งที่ทำให้เราเป็นเราทุกวันนี้

ดังนั้นเหตุผลที่เราสำรวจอวกาศจึงอาจไม่ใช่เพื่อหนีไปจากโลก ดาวดวงเดียวที่สร้างเราขึ้นมาและยอมให้เราหายใจ แต่เพื่อดูแลเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองให้ดีขึ้นเพราะเพื่อนมนุษย์คือสิ่งที่ทำให้เรามาอยู่ตรงนี้

ถ้าจะมีมนุษย์คนใดที่เห็นแย้งกับคุณ ก็จงปล่อยเขา ในจักรวาลนี้คุณคงจะไม่เจอใครอื่นอีกแล้ว

– Carl Sagan

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.