พาเที่ยว NASA Kennedy Space Center EP.3 ชม Apollo Center และจรวด Saturn V

บทความนี้เป็นบทความสุดท้ายในซีรียส์พาชม NASA Kennedy Space Center Visitor Complex ซึ่งทุกคนสามารถเข้ามาเยี่ยมชมได้ จากสองตอนที่ผ่านมา พาเที่ยว NASA Kennedy Space Center EP.1 มิวเซียมอวกาศ ลานจรวด และยานอวกาศของจริง และ EP.2 กระสวย Atlantis และซาก Challenger, Columbia เราคงได้เห็นปัจจุบัน อนาคต และอดีตในช่วงปี 1980 เป็นต้นมา แต่อย่าลืมว่า เหตุผลที่ NASA Kennedy Space Center เกิดขึ้นมาได้นั้น ก็คือจากความใฝ่ฝันและการแข่งขันเดินทางสู่ดวงจันทร์ ในโครงการ Apollo นั่นเอง

ในบทความเรื่อง ประวัติศาสตร์ที่ดินของแหลมคะเนอเวอรัล และทำไม NASA ต้องปล่อยจรวดที่นั่น เราได้เล่ากันไปแล้วว่าด้วยแรงผลักดันจากโครงการ Apollo ทำให้ NASA ต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการนำส่งจรวดขนาดยักษ์ที่ชื่อว่า Saturn V ซึ่งเป็นจรวดที่พัฒนาตั้งแต่ก้าวแรก ไม่ได้เป็นการนำเอาขีปนาวุธมาปรับใช้เพื่อนำส่งดาวเทียมหรือยานอวกาศสู่วงโครจร และทำให้ต้องมีการสร้างฐานปล่อย Launch Complex 39 ขึ้นมา พร้อมกับอาคารขนาดยักษ์สูง 150 เมตร ที่ชื่อว่า Vehicle Assembly Building ขึ้นมาเพื่อรองรับการประกอบจรวด Saturn V ในตอนนี้ เราจะพาเดินทางเข้าไปในรั้วของ NASA Kennedy Space Center ไปยังอาคารมิวเซียม Apollo Center ที่บันทึกความยิ่งใหญ่ของยุค Apollo กัน

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า การขึ้นรถบัสหรือที่เรียกว่า “Bus Tours” นั้นมีทั้งหมด 2 แบบ แบบแรกคือการเดินทางไปยัง Apollo Center ซึ่งอันนี้ ใครก็ตามที่มีตั๋วเข้า NASA Kennedy Space Center Visitor Complex จะสามารถขึ้นได้ฟรี รวมอยู่ในค่าตั๋วแล้ว แต่รถบัสก็จะขับตรงไปยัง Apollo Center ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ Banana River เท่านั้น จะไม่ได้พาชมบริเวณอื่น ๆ ในขณะที่แบบที่สองนั้น เราจะเรียกว่า “KSC Explorer Tours” แบบนี้ จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ $25 (ประมาณ 818 บาทต่อคน) ซึ่งจะต้อง “จองล่วงหน้า” ผ่านเว็บไซต์ KSC Spaceial Interest Tours เท่านั้น เพราะไม่แนะนำให้ไปหาเอาหน้างาน เพราะว่าตั๋วจะหมดเกลี้ยงไม่เหลือมาถึงเรา ใครที่จองแบบนี้ไป จะได้นั่งรถบัสไปวนรอบฐานปล่อย LC-39A, LC-39B และรอบเส้นทางต่าง ๆ ที่ทาง Visitor Complex จัดเอาไว้ รวมถึงจะมีการหยุดบริเวณต่าง ๆ ให้ถ่ายภาพกันได้อย่างจุใจ ดังนั้นใครที่พอรู้ว่าตัวเองจะไปช่วงไหน แนะนำให้จองล่วงหน้าเอาไว้ก่อน ยังไงก็คุ้ม

เส้นทางของ Bus Tours รูปแบบต่าง ๆ โดยวันนี้เราจะตรงไปยัง Apollo Center เท่านั้น ที่มา – KSC Visitor Complex

โดยรีวิวในวันนี้ ผมจะยังไม่ได้จองแบบ KSC Explorer Tours ให้ดูนะครับ จะเป็นแบบการนั่งรถไปยัง Apollo Center เฉย ๆ แต่สมาชิกในทีมสเปซทีเอชที่เคยไปแบบ Exploer Tours นั้นก็คือคุณนิก ชินะพงษ์ ไว้รอคุณนิกมาเล่าให้ฟังในโอกาสหน้าครับ

ขึ้นรถบัสเดินทางสู่ Apollo Center ผ่านเข้าไปในรั้ว NASA

สำหรับจุดขึ้นรถไปยัง Apollo Center นั้นจะอยู่บริเวณด้านในของ Visitor Complex เลย เราสามารถเดินตามป้ายที่เขียนว่า Bus Tour ได้ โดยจะมีรอบรถตั้งแต่ 9:30 – 14:30 ใครที่ไปช่วงบ่าย แนะนำให้รีบไปขึ้น Bus Tours เป็นอันดับแรกก่อน เนื่องจาก Bus Tours รอบสุดท้ายจะออกก่อน Visitor Complex ปิดประมาณสองชั่วโมง

ป้ายทางเข้าจุดจอดรถบัสสำหรับกิจกรรม Bus Tours ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

เมื่อเข้าไปถึงแล้วก็ให้เดินตามป้ายที่เขียนว่าไป Apollo Center นั่นแหละครับ ไม่สามารถเนียนไปขึ้นแถว Exploer Tours ได้เนื่องจากพนักงานจะมีการตรวจบัตรครับ (ฮา) โดยใครที่ไม่ได้จองแบบออนไลน์มาและต้องการจอง Exploer Tours สำหรับวันอื่นก็สามารถแจ้งพนักงานตรงนี้ได้ด้วยครับ

จะสังเกตว่าเสาแต่ละต้นจะเพ้นท์ลายตามจรวดรุ่นต่าง ๆ ด้วย ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

เราจะเดินเรียงแถวกันไปขึ้นรถบัสที่มีลายสุดเท่ บางคันก็จะเป็นลายเกี่ยวกับโครงการ Artemis บางคันก็จะเกี่ยวกับโครงการสำรวจดาวอังคาร เรียกได้ว่าทุกอย่างจะมีการคุมธีมไว้อย่างดี แม้กระทั่งเสายังเพ้นท์ลายเป็นจรวดรุ่นต่าง ๆ ในภาพเราจะเห็นจรวดลาย Vulcan Centaur และ SLS กันด้วยครับ เนิร์ดมาก ๆ

หากดูจากแผนที่ด้านบน รถจะวิ่งออกมาจากทาง KSC Visitor Complex เข้าทางประตู 3 จากนั้นจะเลี้ยวซ้ายเพื่อวิ่งตรงไปยังบริเวณ Launch Complex 39 ในระหว่างนั่งรถ ก็จะมีผู้บรรยายคอยบรรยายไปเรื่อย ๆ คู่กับวิดีโอแนะนำต่าง ๆ โดยไฮไลต์ก็คือเราจะวิ่งบนเส้นถนนเดียวกับที่เจ้าหน้าที่ NASA หรือผู้รับเหมาต่าง ๆ จะทำงานกัน บางทีก็อาจจะได้สวนกับขบวนรถบรรทุกที่ขนจรวด Falcon 9 วิ่งเข้าออกฐานปล่อย โดยเราจะขับผ่านอาคารที่เป็น “โรงเก็บจรวด Falcon 9” ของ SpaceX ด้วย และที่สำคัญคือ ด้านขวา เราจะมองเห็นอาคาร Vehicle Assembly Building อย่างชัดเจน

ผมเคยเข้าไปเยี่ยมชมในอาคาร VAB แห่งนี้แบบสุด Exclusive และเล่าไว้ในบทความ พาชมด้านในและขึ้นหลังคาอาคาร Vehicle Assembly Building ของ NASA ครับ

อาคาร Vehicle Assembly Building ที่เราขับรถผ่าน ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

นอกจากนี้ ทางไกด์ทัวร์จะชี้ให้เราดูบริเวณต่าง ๆ โดยรอบ เช่น พื้นที่โล่ง ๆ ที่เอาไว้ใช้สำหรับเก็บ Mobile Launcher Platform สำหรับการปล่อยจรวด ๆ ต่าง ๆ ซึ่งบางทีถ้าโชคดีเราก็จะได้เห็นรถ Crawler ขนาดยักษ์ที่ NASA ใช้สำหรับการยกตัว Mobile Launcher และจรวดไปยังฐานปล่อย วิ่งเข้าออกบริเวณนี้ด้วย

Mobile Launcher Platform 2 ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเพื่อใช้กับโครงการ Artemis ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

เราจะวิ่งตามเส้นทางนี้ไปเรื่อย ๆ จนถึงอาคาร Apollo Center รถก็จะจอดให้เราลงและนำผู้โดยสารกลุ่มใหม่ ขึ้นกลับไปยัง Visitor Complex ซึ่งบริเวณนี้จะอยู่ตรงข้าง ๆ กับ Banana River และอยู่บริเวณจุดที่เรียกว่า “Banana Creek” เป็นหนึ่งในจุดชมการปล่อยที่สำคัญ และบริเวณนี้หากมีการปล่อย ทาง Visitor Complex ก็จะขายตั๋วให้สามารถมารับชมการปล่อยในบริเวณนี้ได้ด้วย

รถบัสจะจอดหน้าทางเข้า Apollo Center ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

ในบริเวณนี้จะเปิดให้เดินเข้าเป็นรอบ ๆ (เนื่องจากจะมีวิดีโอ Presentation ให้ได้ชมก่อน) แต่มีเคล็ดลับว่าถ้าใครไม่ได้อยากรอเข้าเป็นรอบ ๆ ให้เดินอ้อมมาเข้าประตูหลังทางออกแทนครับ (ฮา) ซึ่งบริเวณด้านข้างระหว่างรอเข้าก็จะเป็นสวนที่เก็บ “Moon Tree” เป็นต้นไม้ที่เมล็ดเคยไปโคจรรอบดวงจันทร์มาแล้ว เท่ากับจำนวนของภารกิจในโครงการ Apollo

รูปปั้นของ Collins, Armstrong และ Aldrin สามลูกเรือภารกิจ Apollo 11 ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

และบริเวณนี้ก็จะยังมีอนุเสารีย์ของนักบินอวกาศในภารกิจ Apollo 11 ตั้งไว้อยู่ด้วย รายล้อมไปด้วยต้นไม้ที่เติบโตจากเมล็ดที่ถูกนำไปโคจรรอบดวงจันทร์

บริเวณนี้ถือว่าเป็นบริเวณที่ร่มรืนและเงียบสงบพอสมควร ใครอยากจะเผื่อเวลามานั่งชิลยาว ๆ เอาอาหารมานั่งรับประทานริมแม่น้ำ มองวิวอาคาร VAB และฐานปล่อยจรวดต่าง ๆ ก็สามารถทำได้

ต้นไม้ Moon Tree ต่าง ๆ ด้านหลังจะเห็นอาคาร VAB ที่เราผ่านมาอยู่ไกล ๆ ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

เดี๋ยวเราจะกลับมาพาชมบริเวณโล่ง ๆ ริมแม่น้ำตรงนี้กันอีกรอบหนึ่งแล้วกันนะครับ ตอนนี้เราแค่มารอเวลาประตูทางเข้า Apollo Center เปิดเฉย ๆ

สัญลักษณ์ของโครงการ Apollo บ่งบอกว่านี่คือ Apollo Center ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

ตอนนี้เราจะเดินกลับไปยังประตูทางเข้าหลักของ Apollo Center เพราะประตูได้เปิดออกแล้ว พาให้ลูกทัวร์ในรอบนี้ได้เดินเข้าไปในห้องสี่เหลี่ยมที่มีจออยู่รอบด้าน พร้อมฉายภาพยนตร์ความยิ่งใหญ่และประวัติศาสตร์ของโครงการ Apollo

โดยภาพยนตร์ที่ฉายก็จะเล่าตั้งแต่จุดเริ่มต้นของโครงการ Apollo การสูญเสียลูกเรือ Apollo 1 ทั้ง 3 คน มาจนถึงความพยายามที่เกิดขึ้นในแต่ละภารกิจจนถึง Apollo 11 ก่อนที่ประตูจะเปิดออกเผยให้เราเห็นถึงห้องควบคุมภารกิจ Apollo 11 (จำลอง) ณ NASA Kennedy Space Center แห่งนี้ ในช่วงปี 1969 (ที่จริง ๆ เราก็เพิ่งขับรถผ่านกันมาเมื่อซักครู่) ที่จะจำลองบรรยากาศการปล่อยภารกิจ Apollo 11 เดินทางสู่ดวงจันทร์

ห้องจำลองแต่คอนโซลของจริงของโครงการ Apollo ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

แม้จะเป็นเพียงแค่ห้องจำลอง แต่คอนโซลต่าง ๆ ที่อยู่ในห้องนี้เป็นของจริงทั้งหมด และถูกนำมาจัดแสดงในลักษณะนิทรรศการเสมือนจริง โดยในระหว่างที่เราอยู่ในห้องก็จะมีภาพยนตร์อีกชุดเล่น เล่าบรรยากาศในห้องควบคุมการปล่อย ขณะจรวด Saturn V บินสู่ดวงจันทร์

และแน่นอนว่าเมื่อภาพยนตร์เล่นเสร็จประตูก็จะเปิดออก เดาไม่ยากว่าภาพที่อยู่ด้านหลังเราคือจรวด Saturn V ลำจริงที่ถูกผลิตขึ้นมาเตรียมสำหรับภารกิจการเดินทางไปยังดวงจันทร์

เครื่องยนต์ F-1 Engine ของจรวด Saturn V ที่รวมแรงขับมากกว่า 35 ล้านนิวตัน ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

โลกนี้ยังมีจรวด Saturn V ของจริงหลงเหลืออยู่ 3 ลำเท่านั้น ที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ประกอบกันครบลำ จัดแสดงอยู่ที่ NASA Johnson Space Center ในเท็กซัส, U.S. Space & Rocket Center ในแอละบามา และ Kennedy Space Center Visitor Complex ในฟรอลิดาแห่งนี้

โดยลำที่สมจริงที่สุดตั้งอยู่ที่ Johnson Space Center ซึ่งเป็น Flight Hardware จริงทั้งหมด ในขณะที่ที่ฟรอลิดาและแอละบามา เป็นการประกอบรวมกันของหลาย ๆ ส่วน ที่บางส่วนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทดสอบ ดังนั้น หากเราต้องการจะใช้งานจรวด Saturn V จริง ๆ ก็สามารถนำเอาของที่ Johnson Space Center มาใช้ได้ (แต่ก็ไม่ได้ง่าย ๆ ทั้งเรื่องระบบคอมพิวเตอร์ ระบบต่าง ๆ ที่ซับซ้อนมาก)

โครงสร้างของเครื่องยนต์ F-1 Engine ที่เราได้เห็นในแบบใกล้ ๆ ผ่านการใช้งานมาแล้ว ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

โดยลำที่เรากำลังเห็นกันอยู่ ณ Kennedy Space Center แห่งนี้เป็นการใช้จรวดท่อนแรก เป็น S-IC-T (Test Stage) ซึ่งถูกใช้งาน All Systems Test ณ Marshall Space Flight Center ดังนั้นเครื่องยนต์จรวดยักษ์ F-1 Engine ทั้งหมด 5 ตัว เป็นของจริง และถูกผ่านการใช้จุดระเบิดมาแล้วจริง ๆ อย่างไรก็ตาม ตัวถังของจรวดนั้นไม่ได้ออกแบบมาสำหรับเดินทางจริง

ตลอดความสูง 110 เมตรของตัวจรวด จะเห็นตราสัญลักษณ์โครงการ Apollo ต่าง ๆ ห้อยอยู่ ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

ส่วนท่อนที่ 2 และ 3 เป็น SA-514 (S-II-14, S-IV-14) ซึ่งเดิมทีถูกผลิตไว้ใช้กับภารกิจ Apollo 18 หรือ 19 ซึ่งยังไม่ถูกผ่านการใช้งานมาก่อน สองท่อนนี้ สามารถเดินทางไปอวกาศได้จริง ๆ หากต้องการ

SA-514 ที่ถูกผลิตไว้เพื่อใช้งานสำหรับภารกิจ Apollo 18 หรือ 19 ที่ถูกยกเลิกไป ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

ในขณะที่ส่วนของยาน Apollo ทั้งตัว Capsule และ Service Module นั้นจะเป็นการจำลองขึ้นมา และเชื่อมต่อเอาไว้กับ SA-514 เพื่อให้เราได้เห็นเสกลจริงเท่านั้น (แต่แคปซูลจริง ๆ เราจะพาไปดูต่อด้านล่าง)

ส่วนของยาน Apollo และ Service Module จำลอง ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

รวมความสูงของจรวด Saturn V ตั้งเครื่องยนต์ F-1 Engine มาจนถึงยอดของระบบ Launch Escape System นั้นรวมความสูงได้ 111 เมตรพอดี ซึ่งฟังดูแล้วอาจจะประเมินไม่ออกว่ามันสูงแค่ไหน แต่ถ้าเรามาลองเดินวนรอบจรวด Saturn V เราจะพบว่าจริง ๆ แล้วมันสูงมาก ๆ เป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่น่ามหัศจรรย์ที่สุดในโลกยุค 1960 เลยก็ว่าได้

บริเวณด้านข้าง ๆ ของจรวด Saturn V ก็จะเป็นนิทรรศการจัดแสดงย่อย ๆ ในแต่ละประเด็น รวมถึงจะมี Moon Rock Cafe (น่าจะตั้งชื่อล้อ Hard Rock Cafe) ขายขนม อาหารต่าง ๆ (และขายเบียร์ด้วยนะจ๊ะ) สำหรับนำมานั่งกินไปชมจรวด Saturn V ไป เป็นบรรยากาศที่ฟินมากสำหรับคนชอบอวกาศ

Lunar Roving Vehicle จำลองที่นักบินอวกาศใช้ขับบนดวงจันทร์นับตั้งแต่ภารกิจ Apollo 15 ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

โดยวัตถุที่มีการนำมาจัดแสดงรอบ ๆ ก็เช่น ชุดนักบินอวกาศ หรือชุด EVA สำหรับการเดินบนผิวดวงจันทร์ หรือรถยนต์ Lunar Roving Vehicle (LRV) ที่ใช้สำหรับการเดินทางบนผิวของดวงจันทร์ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้จะเป็นเพียงแค่แบบจำลองเท่านั้น

มาจับหินดวงจันทร์กัน จับได้จริง ๆ แต่อย่าขโมยไปทิ้งลงแม่น้ำ Banana ก็พอ ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

หินดวงจันทร์ น่าจะเป็นสิ่งที่ล้ำค่ามากที่สุดอย่างหนึ่งบนโลก ตอนที่ทาง CNSA นำมาจัดแสดงที่ประเทศไทยในงานนิทรรศการของ NARIT ในช่วงปี 2024 ที่ผ่านมา ถึงกับต้องมีสารวัตทหารถือปืนเฝ้า และจัดแสดงในห้องกระจกอย่างมิดชิด ในขณะที่ NASA ผู้นำหินดวงจันทร์กลับมามากกว่า 382 กิโลกรัม ก็นำมาจัดแสดงและให้จับกันแบบนี้ไปเลย (และแน่นอนว่า สหรัฐฯ นั้นมีเคสหินดวงจันทร์หายไปเยอะมาก ๆ – ทั่วโลกก็มีรายงานการหายไปของหินดวงจันทร์ไม่น้อย ไทยเราไม่ใช่ที่เดียว – Stolen and missing Moon rocks)

การรำลึกถึงนักบินอวกาศในโครงการ Apollo 1 และประตูยาน

ปูเรื่องกันมาถึงขนาดนี้ พูดเรื่อง Apollo 1 กันมามาก แน่นอนว่า ต้องมีนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับ Apollo 1 แน่นอน ซึ่งก็ใช่ โซนต่อไปที่เราจะพาไปดูกันก็คือนิทรรศการที่ชื่อว่า Ad Astra Per Aspera ที่จัดทำขึ้นเพื่อรำลึกเหตุการณ์ Apollo 1 ที่นักบินอวกาศ 3 คนได้แก่ Gus Grissom, Roger Chaffee และ Ed White เสียชีวิตขณะทดสอบในยานอวกาศ Apollo 1 ณ ฐานปล่อย LC-34 ใน Cape Canaveral Air Force Station ในปี 1967 โดยทั้งสามถูกไฟครอกจนเสียชีวิต เนื่องจากประตูของยานไม่สามารถเปิดออกได้จากด้านใน

ทางเข้านิทรรศการ Ad Astra Per Aspera ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

ด้านในเราก็จะพบกับการเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ว่านักบินอวกาศทั้งสามเป็นใคร และโครงการ Apollo 1 ต้องการทดสอบลยานอวกาศ Apollo ที่เพิ่งถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ และเตรียมพร้อมสำหรับการปล่อยสู่อวกาศจริง ๆ ในช่วงต้นปี 1967

การจัดแสดงเรื่องราวต่าง ๆ ของ Apollo 1 ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของนิทรรศการนี้ก็คือ ฝายานของยาน Apollo 1 ในวันนั้น ที่เป็นสาเหตุให้ลูกเรือทั้งสามเสียชีวิต นี่คือฝายานที่ปิดตายขังนักบินอวกาศทั้งสามไว้ในยาน ในขณะที่ไฟค่อย ๆ ลามจากแผงวงจนไปทั่วทั้งตัวยาน เนื่องจากออกซิเจนปริมาณมหาศาลในตัวยาน (Pure Oxygen) จนสุดท้ายกว่าทีมกู้ภัยจะไปถึง ทั้งสามก็เสียชีวิตไปแล้ว

ฝายานที่เกิดเหตุการณ์ในวันนั้น ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

ในตอนที่แล้ว เราได้พาทุกคนไปดูนิทรรศการความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับโครงการกระสวยอวกาศ ในตอนนี้ก็เช่นกัน เรียกได้ว่าในทุกย่างก้าวของการเดินทางสู่อวกาศนั้นแลกมาด้วยชีวิตของคนจริง ๆ มามากมาย ในโอกาสนี้เราจึงอยากบอกว่า “อวกาศนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย” ใครที่จะบอกว่าการไปดวงจันทร์ไม่ใช่เรื่องจริง หรือด้อยค่าโครงการอวกาศต่าง ๆ ก็อยากให้รู้ว่า เบื้องหลังความสนุกเหล่านั้น มีชีวิตจริงของคนที่ต้องแลกมา เพื่อความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ทำให้เรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในทุกวันนี้

การจัดแสดงสิ่งของล้ำค่าในโครงการ Apollo

นอกจากการจัดแสดงจรวด Saturn V และนิทรรศการ Apollo 1 แล้ว ยังมีการจัดแสดงวัตถุต่าง ๆ จากโครงการ Apollo ในห้องจัดแสดงพิเศษบริเวณด้านข้างจรวด Saturn V ด้วย โดยก็จะประกอบไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ อุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดจะเป็นของจริง ที่ทั้งมีการยืมมาจัดแสดง หรือนับว่าเป็นทรัพย์สินของ NASA เอง

นิทรรศการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในโครงการ Apollo ต่าง ๆ ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

ตัวอย่างของสิ่งของที่จัดแสดงก็เช่น ถุงมือของชุดนักบินอวกาศที่ใช้ (ฝึกซ้อม) ในโครงการ Apollo 11 ธงชาติสหรัฐฯ ที่ถูกนำไปบินวนรอบดวงจันทร์, Flight Plan ของภารกิจ Apollo 7, ไปจนถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดเก็บตัวอย่างหินดวงจันทร์ต่าง ๆ

Flight Plan ของภารกิจ Apollo 7 ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth
กล้อง TV Camera ที่ใช้ในการถ่ายทอดสดภารกิจ ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

ส่วนชุดนักบินอวกาศที่นำมาจัดแสดงจะเป็นชุดสำหรับการทำ EVA หรือการเดินบนดวงจันทร์ด้วย ซึ่งการจัดแสดงชุดนักบินอวกาศแบบนี้ เราจะพบเจอได้ตามมิวเซียมอวกาศที่สำคัญ ๆ ในสหรัฐฯ

ชุดนักบินอวกาศของ Alan Shepard ในภารกิจ Apollo 14 ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

แต่ที่เรียกได้ว่าไฮไลต์ที่สุดในโซนนี้เลยก็คือแคปซูลยานของภารกิจ Apollo 14 ที่ชื่อว่า “Kitty Hawk” จัดแสดงอยู่ด้วย (สามารถดูยาน Apollo ในภารกิจต่าง ๆ ว่าจัดแสดงไว้ที่ไหนได้ที่ Apollo Currunt Locations) ซึ่ง Apollo 14 นั้นเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 31 มกราคม 1971 จนถึง 9 กุมภาพันธ์ 1971 เป็นเวลาปีกว่า ๆ หลังจากภารกิจ Apollo 11

ยาน Command Module ภารกิจ Apollo 14 “Kitty Hawk” ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

นอกจากที่ผมหยิบมาเล่าให้ฟังนี้ อาจจะยังมีวัตถุอื่น ๆ มาจัดแสดงหมุนเวียนกันไปเรื่อย ๆ แล้วแต่ฤดูกาล ซึ่งถ้าใครจะเข้ามาช่วงไหนก็อาจจะได้เห็นอะไรแตกต่างกัน แต่วัตถุชิ้นหลัก ๆ อย่างเช่น ชุดนักบินอวกาศหรือ Command Module ของภารกิจ Apollo ก็จะเป็นวัถุจัดแสดงที่ (ค่อนข้าง) ถาวรอยู่ที่ Apollo Center แห่งนี้

บริเวณ Banana Creek Viewing Point และนั่งรถกลับ

อย่างที่บอกบอกไปในช่วงต้นบทความ บริเวณที่ Apollo Center แห่งนี้ตั้งอยู่นั้น มีชื่อว่า Banana Creek ที่เป็นบึงในลักษณะลากูนที่แยกออกมาจากแม่น้ำ Banana โดยบริเวณนี้ จะอยู่ห่างจากฐานปล่อย LC-39A และ LC-39B ที่ใช้สำหรับการปล่อยโครงการ Apollo, กระสวยอวกาศ และในปัจจุบันได้กลายเป็นฐานปล่อยของ SpaceX และโครงการ Artemis ตามลำดับ ทำให้ในบริเวณนี้เป็นจุดชมการปล่อยยอดฮิตจุดหนึ่งก็ว่าได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าใครอยู่ดี ๆ จะเข้ามาได้ เนื่องจากบริเวณนี้อยู่ในรั้วของ NASA ทำให้การเข้ามาชมการปล่อยในบริเวณนี้จะต้องเป็นแขก VIP ของ NASA หรือเป็นคนที่ซื้อบัตรเข้ามาดูกับ NASA Kennedy Space Center Visitor Complex เท่านั้น

หากเราเดินออกมาจากด้านในอาคาร Apollo Center เราจะพบกับสนามหญ้าขนาดใหญ่ และแสตนด์สำหรับชมการปล่อย ซึ่งเป็นจุดที่เหมาะสมที่เราจะมาส่องฐานปล่อยกันครับ

ฐานปล่อย LC-39A ที่ปัจจุบันใช้โดย SpaceX ในภาพเราจะเห็นหอคอยสำหรับปล่อย Starship ด้วย ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

ในภาพด้านบน เรามองไปยังฐานปล่อย LC-39A ของ SpaceX หากวัดจากตรงนี้ ฐานปล่อยจะอยู่ห่างจากเราประมาณ 6 กิโลเมตรเท่านั้นเอง เรียกได้ว่าใกล้มาก ๆ ส่วนฐานปล่อย LC-39B ที่ปัจจุบันใช้สำหรับการปล่อยจรวด SLS ก็จะอยู่ห่างออกไปประมาณ 5 กิโลเมตรเท่านั้น เรียกได้ว่า ในยุคกระสวยอวกาศใครได้มาดูตรงนี้ก็คือเสียงดังสั่นหวั่นไหวแน่นอน

ฐานปล่อย LC-39B ที่ใช้สำหรับโครงการ Artemis โดยเราจะเห็น Mobile Launcher Tower ได้อย่างชัดเจน ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

ใครที่อยากรู้ว่าการชมการปล่อยจากบริเวณนี้เป็นอย่างไร แนะนำให้ลองค้นหา YouTube ด้วยคีย์เวิร์ดว่า Banana Creek Launch View ดูก็ได้ หรือถ้าใครอยากจะมาชมการปล่อยบริเวณนี้ ก็แนะนำให้ติดตามข่าวสารว่าจะมีการเปิดขายตั๋วให้มาชมการปล่อยต่าง ๆ ได้ผ่านทางเว็บไซต์ของ See A Live Rocket Launch ซึ่งทาง Visitor Complex จะเปิดให้เราซื้อตั๋วเข้ามาชมได้ (รายละเอียดยิบย่อยเยอะพอสมควร แนะนำให้ลองอ่านจากในเว็บไซต์ดู)

นอกจากนิทรรศการแล้ว ในโซน Apollo Center ตรงนี้ ก็จะยังมีร้านค้า Gift Shop ให้สามารถซื้อของที่ระลึกได้เช่นกัน ซึ่งของที่ระลึกก็จะเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามฤดูกาล หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ช่วงไหนมีการปล่อยภารกิจอะไร ก็จะมีสินค้าเกี่ยวกับภารกิจนั้น ๆ มาขาย

และสุดท้ายเราก็จะได้นั่งรถเดินทางกลับตัวโซนหลักของ NASA Kennedy Space Center Visitor Complex กัน โดยทางที่เรามาก็จะเป็นทางเดียวกับขากลับ ซึ่งธีมของขากลับผู้บรรยายของเราก็จะบรรยายเกี่ยวกับเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า Merrit Island ที่ NASA Kennedy Space Center แชร์พื้นที่ด้วย โดยจะพูดถึงสัตว์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น จระเข้, เหยี่ยว, หมาป่าไคโยตี (ใช่ครับ มันมีหมาป่าจริง ๆ ผมเคยถูกคน NASA เตือนในขณะไปตั้งกล้องถ่ายจรวด ณ​ ฐานปล่อยว่าระวังหมาป่าด้วย), สล็อต, ชะนี และสัตว์อื่น ๆ อีกมากมาย นี่มัน NASA หรือสวนสัตว์ เป็นการจบ Bus Tours ของเราในวันนี้

The World Largest Space Shop ร้านขายที่ระลึกสองชั้นที่ Visitor Complex ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

และสุดท้ายแนะนำให้ทุกคนมาซื้อของฝากกันที่ NASA’s the World’s Largest Space Shop ซึ่งจะเต็มไปด้วยทั้งเสื้อ กระเป๋า แก้วน้ำ พวงกุญแจ สายห้อยคอ และอุปกรณ์ต่าง ๆ มากมาย ที่ใครชอบอวกาศแนะนำว่าให้มาแล้วคุณจะหมดเงินไปจำนวนมากกับสิ่งเหล่านี้ เอาเงินมาแค่ไหนหมดแน่นอน โดยผมอาจจะไม่ได้เอาของต่าง ๆ มาแสดงให้ดูเนื่องจากของบางชิ้นก็จะแตกต่างกันไปตามฤดูกาล ดังนั้น แนะนำให้ไปชมกันเองได้เลยครับ แต่ที่แน่ ๆ สนุกสะใจแน่นอน

ที่สำคัญคือไม่ใช่แค่ของ NASA แต่บริษัทอวกาศต่าง ๆ ทั้ง SpaceX, Boeing, Lockheed Martin ก็ร่วมเอาของมาขายในร้านแห่งนี้ด้วยนะ

สรุปการเที่ยวชม NASA Kennedy Space Center Visitor Complex

จากในบทความทั้ง 3 ตอน พาเที่ยว NASA Kennedy Space Center EP.1 มิวเซียมอวกาศ ลานจรวด และยานอวกาศของจริง , พาเที่ยว NASA Kennedy Space Center EP.2 กระสวย Atlantis และซาก Challenger, Columbia และในตอนนี้ ที่เราพานั่งรถมาชม Apollo Center และ Banana Creek ก็สรุปจบได้เป็นหนึ่งซีรีส์ พาชมส่วนที่ ทุกคนสามารถมาเยี่ยมชมได้หากเดินทางมายัง Orlando หรือ Canaveral ใครที่จะมาขึ้นเรือสำราญ หรือผ่านไปผ่านมา หรืออยู่บริเวณใกล้เคียงในสหรัฐฯ แนะนำให้มาอย่างมาก แม้ค่าตั๋วจะค่อนข้างสูงเกือบ 100 เหรียญ แต่เรียกได้ว่าประสบการณ์ที่ได้คุ้มค่ามาก ๆ ที่สำคัญ อย่าลืมว่า Visitor Complex แห่งนี้อยู่ได้ด้วยเงินค่าชมของเราทุกคน ไม่ต้องไปเบียดเบียนงบประมาณ (ที่ถูกตัด) ของ NASA ก็ยิ่งทำให้เราอยากสนับสนุนมิวเซียมดี ๆ แบบนี้

จบทริป NASA Kennedy Space Center Visitor Complex ผมและคุณปั๊บ ผู้ร่วมเดินทางในทริปนี้ครับ ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

สรุปราคาให้ฟังอีกครั้ง

  • ตั๋วผู้ใหญ่ (อายุ 12 ปีขึ้นไป) ราคา $75 (ประมาณ 2,500 บาท)
  • เด็ก (อายุ 3-11 ปี) ราคา $65 (ประมาณ 2,200 บาท)

สามารถเข้ามาชม NASA Kennedy Space Center Visitor Complex กันได้เวลา 9 โมงเช้า จนถึง 5 โมงเย็น ทุกวันไม่มีวันหยุด (สามารถตรวจสอบได้จากทางเว็บไซต์อย่างเป็นทางการอีกที)

และสุดท้าย ใครที่เป็นอินฟลู เป็นนักรีวิว เป็นบล็อกเกอร์ต่าง ๆ เขามีตั๋ว Complmentary ให้ด้วยนะครับ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดในการขอได้ที่ Media Ticket Requests ซึ่งตัวผมเอง ก็เคยขอมาแล้ว แล้วก็ได้ตั๋วฟรีมา 2 ใบด้วยครับ (แต่ผมไปมาแล้วหลายครั้ง ส่วนมากก็จะจ่ายเองแฟร์ ๆ ครับ)

ใครที่อยากดูเนื้อหาพาชมสถานที่ต่าง ๆ ในสหรัฐฯ แบบ Exclusive ชวนอ่านบทความเหล่านี้เพิ่มเติมครับ

เยือน NASA Jet Propulsion Laboratory จากห้องควบคุม สู่โรงเก็บโรเวอร์

พาชมด้านในและขึ้นหลังคาอาคาร Vehicle Assembly Building ของ NASA

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.