จุดกำเนิดของการสำรวจอวกาศในสหรัฐฯ จากดาวเทียมดวงแรกที่ประสบความสำเร็จ สู่การส่งยานอวกาศไปลงจอดยังดาวอังคาร และยานอวกาศลำแรกที่เดินทางออกนอกระบบสุริยะ นี่คือศูนย์กลางที่มนุษย์เฝ้ามองจักรวาล นี่คือหน่วยงานวิจัยที่ตั้งอยู่ในหุบเขาชานเมืองแพซาดีนา สามสิบนาทีจากนครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย
วันนี้เราได้รับโอกาสในการเป็นสื่อไทยเจ้าแรกที่ได้เข้าไปในห้องควบคุมภารกิจ ห้องที่เราคุ้นเคยจากภาพบรรยากาศการลงจอดดาวบนอังคารของยานอวกาศลำแล้วลำเล่า ได้เปิดโรงเก็บโรเวอร์ แทบจะสัมผัสกับ Optimism ฝาแฝด Enginnering Model ของ Perseverance ที่ปัจจุบันกำลังทำงานอยู่บนดาวอังคาร
นี่คือการพาทัวร์ NASA Jet Propulsion Laboratory
สำหรับการเดินทางของเราในรอบนี้ เรายังได้มีโอกาสคุยกับดร.ปุณณทัศน์ บดีนิธิเกษม นักวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ของ JPL ที่เป็นหนึ่งในผู้พาเราเข้าชม ร่วมกับฝ่าย Media ของ JPL คือคุณ Mark Petrovich ที่ได้ให้โอกาสเราเข้าชมทุกซอกทุกมุมของสถานที่ที่เราคุ้นเคยกัน แต่อาจจะยังไม่เคยได้ไปเยื่ยมเยือนของจริง
ต้องเคลียร์กันก่อนว่า ในบทความนี้เราจะมีการพูดถึง Flight Model, Engineering Model, และ Replica
Flight Model คือยานอวกาศลำจริงที่จะถูกส่งไปยังอวกาศ ในขณะที่ Engineering Model คือยานอวกาศที่ถูกสร้างขึ้นมาแบบเหมือนจริง ขาดแต่อุปกรณ์บางชิ้นที่อันตรายหรือไม่จำเป็นเท่านั้น แต่เพื่อการทดสอบและวิจัย หรือเป็นตัวเก็บไว้บนโลกหากลำจริงมีปัญหา และ Replica คือแบบจำลองที่ทำขึ้นเลียนแบบของจริงเฉย ๆ
สำหรับประวัติที่มาของ JPL คงไม่ต้องกล่าวเพิ่มเติม สามารถอ่านได้ในบทความ JPL จากเด็ก Caltech ที่แอบทำจรวดจนหอพักระเบิด สู่ห้องวิจัยหนึ่งเดียวที่ลงจอดดาวอังคารสำเร็จ
23 กรกฎาคม 2023 เติ้ล ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน และ น้ำหวาน พิรมล กำเนิดมณี เริ่มต้นการเดินทางจาก University of California Santa Cruz ลงใต้บนถนนทางหลวงสายแคลิฟอร์เนีย 101 เลียบชายฝั่งแปซิฟิกสู่แคลิฟอร์เนียตอนใต้ เข้าสู่นครลอสแอนเจลิส ตัดเข้าสู่ชานเมืองแพซาดีนา
ที่ตั้งของ JPL นั้นอยู่ข้างทางหลวงระหว่างรัฐหมายเลข 210 บนถนนที่ชื่อว่า Oak Grove Drive ซึ่งตัดตรงเข้าสู่ JPL ด้านในจะมีการตั้งชื่อถนนตามชื่อที่เกี่ยวข้องกับโครงการอวกาศ เช่น DSN (Deep Space Network) Road, Exploror Road, Pioneer Road, และ Mariner Road เป็นต้น ซึ่งที่ตั้งโดยรวมจะอยู่บริเวณตีนเขาที่ตั้งขวางไว้ระหว่างความเขียวชะอุ่มของแคลิฟอร์เนียฝั่งตะวันตก กับพื้นที่ทะเลทรายตอนกลางของรัฐ
เราจอดรถบริเวณที่จอดสำหรับผู้มาเยือน (Visitor Parking) ในขั้นตอนนี้เราจะต้องผ่านด่านตรวจที่ค่อนข้างเข้มงวด จะต้องแสดงเอกสารหรืออีเมลว่าเรามีนัดหรือธุระเข้ามาติดต่อจริง จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ยื่นบัตรจอดให้แขวนไว้บริเวณหน้ากระจก เราจึงจะมีสิทธิ์นำรถเข้ามาจอดและมุ่งหน้าเข้าสู่บริเวณต้อนรับ ก่อนที่เราจะเจอกับโฮสต์ ได้แก่ ดร.ปุณณทัศน์ และคุณ Petrovich ซึ่งจะเป็นผู้ดูแลเรา ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะยื่นบัตรจอดรถให้แขวนไว้บริเวณหน้ากระจก ก่อนที่จะนำรถเข้ามาจอด และมุ่งหน้าเข้าสู่บริเวณต้อนรับ ก่อนที่เราจะเจอกับโฮสต์ของเราได้แก่ ดร.ปุณณทัศน์ และคุณ Petrovich ที่จะเป็นผู้ดูแลเรา โดยกฎสำคัญของที่นี่ก็คือ ห้ามถ่ายรูปหรือวิดีโอติดป้ายพนักงานเป็นอันขาด และเราอยู่ในสถานะถูกคุ้มกัน (Escort) โดยตลอดเวลา ไม่สามารถเดินไปไหนเองได้
ที่ JPL นี้ ไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาเยี่ยมชมได้ แต่บ่อยครั้งที่ JPL จะต้อนรับคณะทัวร์ที่มีการนัดหมายล่วงหน้าไว้ หรือจัดกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชน บริเวณแห่งนี้จึงมีลักษณะกึ่งปิดกึ่งเปิด และมีสถานที่เช่น โถงต้อนรับ ห้องประชุม และร้านขายของฝาก หรือพนักงานของ JPL เองนั้นก็สามารถพาสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนมาทัวร์ได้เช่นกัน แต่วันนี้เรามากันในฐานะ Media จึงต้องมีการเตรียมเอกสารและการตรวจสอบที่ค่อนข้างรัดกุม
หลังจากที่ลงทะเบียนตรวจเอกสารกันแล้ว คุณ Petrovich ก็แจกแจงรายการสถานที่ที่เราจะไปถ่ายทำกันในวันนี้ ได้แก่
- JPL Museum และห้อง Von Karman Auditorium
- Spacecraft Assembly Facility หรือห้อง Cleanroom ที่ใช้ประกอบยานอวกาศ
- Space Flight Operations Facility และห้องควบคุม Charles Elachi Mission Control Center
- Mars Yard ลานจำลองดาวอังคาร และโรงเก็บตัวโรเวอร์
รวมถึงบริเวณต่าง ๆ ที่เราเดินผ่าน ซึ่งภายใน Spacecraft Assembly Facility ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการประกอบยาน Europa Clipper ที่จะเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี ที่มีแผนปล่อยในปี 2024
ประวัติศาสตร์ของ JPL ผ่านต้นไม้และแผ่นป้ายของผู้ก่อตั้ง
เมื่อเดินออกจากบริเวณต้อนรับแขก สิ่งแรกที่เราจะเจอก็คือต้นไม้ที่ด้านล่างมีแผ่นป้ายสลักชื่อของผู้ก่อตั้ง หากใครที่อ่านบทความที่เรากล่าวถึงข้างต้นกันไปแล้ว ก็น่าจะพอรู้ที่มาที่ไปของ JPL แต่อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ถูกบอกเล่าโดยคนหลากหลายยุคหลากหลายสมัย แผ่นป้ายเดิมถูกจัดทำขึ้นในปี 1968 การจดบันทึกและลำดับความสำคัญตัวบุคคล ยังคงมีบริบททางประวัติศาสตร์ยุคนั้น ภายหลัง (2023) จึงได้มีการจัดทำแผ่นป้ายอะคริลิกขึ้นมาแสดงรายชื่อของผู้ก่อตั้ง JPL ที่รวมถึงดร.เฉียน เสวียเซิน ที่ภายหลังถูกบีบให้ออกจากสหรัฐฯ และกลับสู่บ้านเกิดจนภายหลังกลายเป็นบิดาแห่งโครงการอวกาศจีน และ Weld Arnold ที่ในตอนนั้นเป็นนักศึกษาหนึ่งในผู้ให้ทุนสนับสนุนรายแรก ๆ ของ JPL ก็ได้ถูกนำกลับมาใส่อีกครั้ง
ในบริเวณโดยรอบนี้มีชื่อว่า JPL Mall ซึ่งเป็นเหมือนลานอเนกประสงค์ที่สามารถมาเดินเล่น รับประทานอาหาร (ในบริเวณนี้จะมี JPL Cafeteria หรือโรงอาหารอยู่ด้วย) เป็นเหมือนพื้นที่ส่วนกลาง Common Area ให้กับทั้งพนักงานและผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม สิ่งที่ทำให้เราสะสุดตาก็คือ ป้ายบอกทางที่ไม่ได้บอกทางใน JPL แต่ชี้ไปยังเทหวัตถุบนท้องฟ้า เช่น ดาวเคราะห์ ระบบดาวฤกษ์อื่น ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ หรือยานอวกาศต่าง ๆ
ซึ่งป้ายเหล่านี้มีกลไกที่สามารถขยับชี้ไปยังบริเวณจุดพิกัดในทรงกลมท้องฟ้าที่วัตถุเหล่านั้นอยู่จริง ๆ ได้ เป็นสัมผัสของความเนิร์ดแรกที่เราจะเห็นเมื่อเข้ามาเยือน JPL ที่เรารู้สึกว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะมันแสดงถึงความอินในสิ่งที่ตัวเองทำ ไม่ได้แค่เป็นหน่วยงานที่ทำงานไปตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย แต่มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความขี้เล่น อยากทำ
เราเดินเข้าสู่ JPL Museum และ Von Karman Auditorium ซึ่งอยู่ในอาคารเตี้ย ๆ ไม่ไกลจากโถงต้อนรับมากนัก ซึ่งบริเวณนี้จะเป็นมิวเซียม จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับอวกาศ แบบจำลองยานอวกาศต่าง ๆ และแสดงเรื่องราวของ JPL ว่ามีบทบาทในการสำรวจอวกาศตั้งแต่ดวงอาทิตย์ไปจนถึงดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะได้อย่างไรบ้าง ในขณะที่ห้อง Von Karman Auditorium นั้นก็เป็นห้องที่มีประวัติศาสตร์อันยานนานและผ่านเหตุการณ์สำคัญมามากมาย
Von Karman Museum และ Auditorium
Von Karman นั้นก็ตั้งชื่อตามนักฟิสิกส์ชาวฮังการี Theodore von Karman ที่ในยุคของการก่อตั้ง JPL เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ Caltech และถือว่าเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง JPL โดยชื่อของ Von Karman นั้นเราจะได้ยินกันบ่อยจากเส้น Karman Line ซึ่งเป็นเส้นที่ถูกขีดขึ้นเพื่อแบ่งระหว่างโลกและอวกาศที่ความสูง 100 กิโลเมตรนั่นเอง
เมื่อเดินเข้ามาสิ่งแรกที่เราจะเจอก็คือโมเดลจำลอง (Replica) ของจรวดและดาวเทียม Explorer 1 ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกของสหรัฐฯ หลังจากที่กองทัพอากาศประสบความล้มเหลวในการส่งดาวเทียม Vanguard ไปยังอวกาศ จน JPL ได้เข้ามาช่วยเหลือในการส่งดาวเทียม Explorer 1 สำเร็จ ท่ามกลางความตึงเครียดในยุคสงครามเย็น โดย Engineering Model ของ Explorer 1 (ซึ่งเป็นตัวสำรองด้วยหากตัวจริงเกิดข้อผิดพลาด) ได้ถูกเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ที่นี่ด้วย
หลังจากนั้นเราก็ได้เข้ามาในห้อง Von Karman Auditorium ซึ่งห้องนี้ บุคคลสำคัญอย่าง Carl Sagan, Charles Elachi, หรือ Edward Stone เคยขึ้นเวทีแถลงข่าวสำคัญ ๆ หลายครั้ง
เวลาที่มีแถลงข่าวภารกิจปัจจุบัน ใครที่ติดตามข่าวสารก็น่าจะคุ้นเคยกับห้องนี้กันดี การได้เข้ามาอยู่ในห้องนี้จึงนับว่าน่าตื่นเต้นมาก เป็นห้องประชุมที่เล็ก และจุคนได้เพียงแค่หลักร้อยคนเท่านั้น แต่นับว่าเป็นอีกหนึ่งห้องประชุมเปลี่ยนโลกอีกห้องหนึ่งของโลกใบนี้ก็ว่าได้ โดยรอบข้างจะมีการตกแต่งไปด้วยโมเดลจำลองของยานอวกาศต่าง ๆ เช่น ยาน Voyager อัตราส่วน 1:1 พร้อมด้วยแผ่นเสียงทองคำจำลอง
เราเคยเล่าเรื่องของแผ่นเสียงทองคำไว้ในบทความ “สวัสดีค่ะ สหายในธรณีโพ้น” เสียงคนไทยในยาน Voyager ที่เดินทางไปนอกระบบสุริยะ ซึ่งก็ได้มีเสียงภาษาไทยถูกบันทึกลงไปไว้ด้วย
เราเดินกลับออกมาบริเวณประตูทางเข้าห้อง Von Karman Auditorium อีกด้านก็จะเป็นโซนจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการสำรวจอวกาศ สาเหตุที่ออกแบบมาแบบนี้ก็เพราะว่าหากมีการจัดกิจกรรมในห้อง Von Karman Auditorium นักเรียนหรือเด็ก ๆ ก็จะสามารถเข้าชมนิทรรศการด้านข้างได้ด้วย ซึ่งภายในก็จะเรียงตามลำดับ ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ไปจนถึงนอกระบบสุริยะ
โดยภายในห้องนี้สิ่งที่เห็นเด่นชัดที่สุดก็คือยาน Galileo ยานสำรวจดาวพฤหัสบดีที่ถูกปล่อยไปในปี 1989 พร้อมกับเสาอากาศที่กางไม่สุด ที่เราเคยเล่าไว้ในบทความ ทำไมจานรับสัญญาณของยานกาลิเลโอถึงเสีย กับอนาคตของวงการสื่อสารที่สุดท้ายทาง JPL ก็แก้ปัญหาด้วยการใช้เสาอากาศขนาดเล็กแทน แม้จะมีอัตราการรับส่งข้อมูลที่น้อยกว่าแต่ก็ทำให้ไม่ต้องเสียยานอวกาศลำนี้ไป
เราอาจจะไม่ได้ใช้เวลาในห้องนิทรรศการแห่งนี้มากนัก เพราะของจริงรออยู่ที่ด้านหน้า หลังจากที่ถ่ายทำเรียบร้อยก็แจ้งคุณ Petrovich ให้พาไปยังเป้าหมายต่อไปของการทัวร์ในรอบนี้ซึ่งก็คือ Spacecraft Assembly Facility หรือห้องสำหรับประกอบยานอวกาศ หรือที่เรามักจะเรียกกันชินปากว่าห้อง Cleanroom นั่นเอง
อาคาร Spacecraft Assembly Facility ของ JPL นั้นอยู่ห่างออกไปพอสมควรจากบริเวณโถงต้อนรับ ในการเดินทางเราจำเป็นต้องนั่งรถกอล์ฟไป ซึ่งคนที่ขับรถให้เราก็ไม่ใช่ใครแต่เป็นคุณ Petrovich นั่นเอง
ซึ่งก็ทำให้เราได้เห็นบริเวณอาคารอื่น ๆ โดยรอบ ที่เรารู้สึกว่าเหมือนเป็นมหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษามากกว่าการเป็นหน่วยงานวิจัยด้านอวกาศ คือมีอาคารต่าง ๆ เรียงรายกัน ด้านหน้าอาคารก็จะมีรถจอดอยู่
Spacecraft Assembly Facility
หลังจากที่เดินทางประมาณ 2 นาทีเราก็ได้มาถึงด้านหน้าของอาคาร Spacecraft Assembly Facility ซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่สูงหลายชั้น
เราได้เดินขึ้นไปผ่านทางเดินแคบ ๆ เพื่อไปยังบริเวณที่เราจะสามารถมองลงมาแล้วเห็นยานอวกาศที่กำลังประกอบอยู่ในห้อง Cleanroom ได้ ระหว่างทางเดินขึ้นก็ไม่วายพบกับภาพเขียนสีเทียนในตำนานได้ถูกแขวนอยู่ที่ Spacecraft Assembly Facility แห่งนี้ นั่นก็คือภาพ First TV Image ของดาวอังคาร ซึ่งเราเคยเล่าไว้ในบทความ ภาพวาดสีเทียน สัญญาณภาพแรกจากดาวอังคาร ซึ่งภาพนี้นั้นเกิดจากการที่ทีมนักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถอดใจรอการประมวลผลของคอมพิวเตอร์หลังจากที่ยาน Mariner 4 ได้ถ่ายภาพระยะใกล้ภาพแรกของดาวอังคารในปี 1965 และส่งกลับมายังโลก
สุดท้ายภาพถ่ายภาพแรกของดาวอังคารในระยะใกล้จึงเป็นภาพที่ถูก Decode ด้วยมือโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ JPL ก่อนที่คอมพิวเตอร์จะประมวลผลเสร็จและพบว่าภาพที่พวกเขา Decode ด้วยมือนั้นมีความใกล้เคียงกับภาพถ่ายจริง ๆ มาก แสดงถึงความบ้าและความเนิร์ดในการสำรวจอวกาศ
และแล้วหลังจากเดินทางผ่านโถงแคบ ๆ เราก็เดินทางมาถึงประตูที่เปิดอ้ารอให้เราได้เห็นกับจุดกำเนิดของยานอวกาศลำแล้วลำเล่าที่กำลังสำรวจอวกาศอยู่ตอนนี้
ในห้องนี้นั้นเคยถูกใช้ในการประกอบยานอวกาศมาหลากหลายลำ และใครที่เคยได้มาเยี่ยมเยือนในช่วงต่าง ๆ ก็จะได้เห็นยานอวกาศในระหว่างการประกอบที่แตกต่างออกไป ใครที่มาในปี 2010 ก็อาจจะได้เห็น Curiosity ใครที่มาช่วงปี 2016 ก็อาจจะได้เห็น Mars 2020 (Perseverance) ส่วนเราที่มาในปี 2023 ก็จะได้เห็นยาน Europa Clipper
และด้านหน้าของเรานั้นก็คือยาน Europa Clipper ที่กำลังประกอบอยู่นั่นเอง อีก 20 ปีหลังจากนี้ยานอวกาศลำนี้จะกลายเป็นยานอวกาศที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยไขปริศนาชีวิตในระบบสุริยะ หรืออาจค้นพบจุลชีพแรกนอกโลกของเราก็เป็นได้
ภายใน Cleanroom จะมีการแบ่งโซนอย่างชัดเจน สามารถประกอบยานอวกาศพร้อมกันได้หลายลำ หรือกั้นโซนสำหรับประกอบอุปกรณ์ที่แตกต่างกันออกไป ในอีกมุมหนึ่งของห้องเราจะเห็น High-Gain Antenna ของ Europa Clipper ซึ่งเป็นจานรับส่งสัญญาณขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 เมตร วางอยู่รอการประกอบ
Europa Clipper จะนับว่าเป็นยานอวกาศของ NASA ที่หนักที่สุดที่เคยถูกส่งไปยังวงโคจรของดาวพฤหัสบดี โดยมีมวลกว่า 3,250 กิโลกรัม เป็นรองเพียงแค่ยาน JUICE ของ ESA ที่มีมวล 3,600 กิโลกรัม ที่จะเดินทางไปยังวงโคจรของดาวพฤหัสบดีเช่นเดียวกัน
หากว่ากันตามขนาดแล้ว Cleanroom ของ JPL มีขนาดไม่ได้ใหญ่มากนัก เป็นห้องสูง 14 เมตร และมีความกว้างและยาวประมาณ 21 เมตร เป็น Cleanroom Class 10,000 (หมายความว่าทุก ๆ 1 ลูกบาศก์ฟุตจะมีอนุภาคฝุ่นขนาด 0.5 ไมครอนได้ไม่เกิน 10,000 อนุภาค ยิ่งตัวเลขน้อยแปลว่าห้องยิ่งสะอาด) ซึ่งห้องนี้ถูกสร้างขึ้นใหม่ในปี 2002 เพื่อรองรับภารกิจการสำรวจอวกาศที่มากขึ้นของ JPL
หลังจากที่ได้ชม Europa Clipper อย่างจุใจแล้ว (และถ้าหากยังไม่จุใจทาง JPL มีถ่ายทอดสดบรรยากาศในห้อง Spacecraft Assembly Facility ให้ได้ชมกันใน Live From the Clean Room – Building Europa Clipper ) เราได้เดินทางไปต่อที่ Mars Yard และโรงเก็บโรเวอร์
Mars Yard และ Engineering Model ยานสำรวจดาวอังคาร
เราเดินทางกลับขึ้นรถก่อนที่จะมันจะพาเราขึ้นเขาไปเป็นเวลาประมาณ 4 นาที เพื่อไปยังบริเวณที่เรียกว่า Mars Yard ซึ่งเป็นลานกว้างที่จำลองดาวอังคาร เพื่อทดสอบยานอวกาศให้ได้มาลองปีน วิ่ง และเจอกับอุปสรรคต่าง ๆ รวมถึงเป็นที่ตั้งของโรงเก็บที่ใช้เก็บยานอวกาศที่เป็น Engineering Model ของยานอวกาศโรเวอร์สองลำที่กำลังปฏิบัติภารกิจอยู่บนดาวอังคารได้แก่ Curiosity และ Perseverance
โดยเราจะขอเล่าเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็คือ ยาน Engineering Model ของ Perseverance นั้นตั้งชื่อว่า OPTIMISM ซึ่งย่อมาจาก Operational Perseverance Twin for Integration of Mechanisms and Instruments Sent to Mars พร้อมกับ Engineering Model ของ Curiosity ที่ชื่อว่า MAGGIE ที่ย่อมาจาก Mars Automated Giant Gizmo for Integrated Engineering (ทั้งคู่จะฝืนไปไหน) ซึ่งเรากำลังจะได้ไปเจอในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า
เราเดินเข้าสู่บริเวณ Mars Yard เพื่อพบกับภาพที่คุ้นเคยตามสารคดีและคลิปฟุตเทจต่าง ๆ ของ JPL โดยเฉพาะการทดสอบตัว OPTIMISM สำหรับภารกิจ Mars 2020 โดยเนินเขาด้านขวามือของภาพ ก็คือเนินที่วิศวกรให้ยานได้มาลองปีนเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ หรือในปัจจุบัน หากโรเวอร์เกิดปัญหาบนดาวอังคาร วิศวกรก็จะจำลองสถานการณ์บน Mars Yard แห่งนี้เพื่อระดมสมองช่วยกันแก้ปัญหาว่าจะต้องส่งคำสั่งไปยังตัวโรเวอร์อย่างไร
ในระหว่างที่เรากำลังเดินกันอยู่บริเวณ Mars Yard นั้นประตูของอาคารที่เหมือนโรงรถขนาด 2 คันจอด ก็เปิดขึ้น เผยให้เราเห็นถึง OPTIMISM และ MAGGIE โดยเราได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำในส่วนของ OPTIMISM เท่านั้นเพราะฝั่งที่ MAGGIE อยู่ ทีมวิศวกรกำลังทำงานอยู่เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวน
โดยในโอกาสนี้เราได้เห็นรายละเอียดของ Perseverance ในแบบที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ยิ่งกว่าการดูในภาพถ่ายมาก ทุกอย่างมาให้เห็นตรงหน้า การร้อยสายไฟ ระบบมอเตอร์และเซอร์โวต่าง ๆ ที่เป็นแบบ 100% เหมือนกับของยานที่กำลังปฏิบัติภารกิจอยู่บนดาวอังคาร รวมถึง Instrument ต่าง ๆ เช่น Mastcam-Z ระบบยิงเลเซอร์เพื่อตรวจองค์ประกอบของธาตุ ซึ่งในภาพถูกปิดเอาไว้ด้วยแผ่นปิดเลนส์สีแดง
รวมถึงตัวแขนกลที่มีส่วนสำคัญสำหรับภารกิจ Mars Sample Return ที่จะเก็บตัวอย่างหินไปหย่อนไว้ในบริเวณต่าง ๆ ของดาวอังคารเพื่อรอภารกิจในอนาคตมาเก็บ อ่านได้ใน Mars Sample Return ส่งตัวอย่างดินดาวอังคารกลับโลกได้อย่างไร สรุปวิธีโดย NASA และ ESA หรืออ่านเรื่องราวทั้งหมดของ Perseverance ที่เรารวมรวมไว้ได้ใน ข่าวสารทั้งหมดเกี่ยวกับ Perseverance
สิ่งที่เราได้เห็นเพิ่มเติมก็คือตัวอย่างหินที่นำมาทดสอบอุปกรณ์เจาะ หัวเจาะ (Drill bits) ให้ลองจินตนาการภาพดูว่า Perseverance กำลังเจาะหินในลักษณะนี้ ด้วยรูแบบเดียวกันอยู่บนพื้นผิวของดาวอังคาร
หลังจากที่ถ่ายทำเรียบร้อยแล้ว เรายังได้เห็นวิศวกรสั่งการตัวโรเวอร์ให้ขยับ กล้องและ Mastcam-Z โชว์เล็กน้อย ซึ่งก็อยากให้จินตนาการเช่นเดียวกันว่า สิ่งเดียวกันนี้กำลังเกิดขึ้นบนพื้นผิวของดาวอังคาร นับว่าเป็นความทะเยอทะยานของมนุษย์ในการสำรวจอวกาศมาก
หลังจากที่บอกลา OPTIMISM และ MAGGIE เรียบร้อยแล้ว เราก็เดินทางต่อไปยัง Charles Elachi Mission Control Center ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งเพราะเป็นศูนย์ควบคุมหลักของภารกิจสำรวจอวกาศโดย JPL
Charles Elachi Mission Control Center
Charles Elachi เป็นผู้อำนวยการ JPL ในช่วงปี 2001-2016 ต่อจาก Edward Stone หลังจากที่ร่วมงานกับ JPL มาตั้งแต่ยุค 70s และมีบทบาทสำคัญต่อทิศทางของ JPL และทิศทางการสำรวจอวกาศปัจจุบัน ชื่อของเขาได้รับการนำมาตั้งเป็นชื่อของ Mission Control Center
Mission Control Center อยู่ภายใน Space Flight Operations Facility เป็นอีกหนึ่งอาคารขนาดใหญ่สูงหลายชั้น มีโครงสร้างที่ค่อนข้างดูเก่าและขลัง และในปี 1985 ยังได้รับการจดทะเบียนให้เป็นหนึ่งใน National Historic Landmark of the United States of America โดย Department of the Interior ด้วย
และเมื่อเดินเข้าข้างใน Space Flight Operations Facility นี้เองก็ได้เป็นที่ตั้งของ ป้าย JPL อันโด่งดัง ที่ใครเห็นก็ต้องมาถ่ายรูปกันตรงนี้ ซึ่งแม้อาคารด้านหน้าจะดูเก่า แต่ภายในตกแต่งอย่างล้ำสมัย มีจอ LED แสดงภาพต่าง ๆ ที่รู้สึกว่าสมกับเห็นหน่วยงานด้านอวกาศที่ล้ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และดูเหมือนเซ็ตในฉากภาพยนตร์เรื่อง The Martian มาก
เราสามารถเดินขึ้นบันไดเพื่อไปยังจุดสังเกตการณ์ที่เมื่อมองลงมาเราจะเห็นห้องควบคุมภารกิจได้อย่างชัดเจน ซึ่งด้านบนนี้เองก็คือบริเวณที่เวลามีเหตุการณ์สำคัญ จะมีนักข่าวหรือบุคคลสำคัญมานั่งสังเกตการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการลงจอดของยานอวกาศ หรือการส่งคำสั่งสุดท้าย (End of Mission) ในห้องนี้ เราจะได้เห็นกันในคลิปอำลายาน Cassini และ Opportunity ที่มีคนขึ้นมาร้องไห้
หากใครที่สังเกตดี ๆ จะเห็นว่าภายใน Mission Control Center จะถูกแบ่งออกเป็นห้องย่อยอีก 2 ห้องได้แก่ บริเวณห้องด้านหลังจอที่แสดง Deep Space Network กับ บริเวณด้านซ้ายมือที่มีธงชาติสหรัฐฯ แขวนอยู่ ห้องนั้นคือห้องที่ถูกใช้ในการทำ EDL หรือ Entry Descent and Landing สำหรับภารกิจสำรวจดาวอังคาร หรือภารกิจ Cassini Grand Finale
เราได้ลงไปยังพื้นล่างของห้อง Mission Control Center ซึ่งโชคดีที่เราไปในเวลาที่ยังไม่มีภารกิจหรืองานสำคัญ จึงสามารถเดินถ่ายบรรยากาศโดยรอบได้อย่างอิสระ โดยจะมีเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งคอยนั่งดูสถานะต่าง ๆ ของยานอวกาศเพียงเท่านั้น ซึ่งในห้องนี้ ก็จะเป็นห้องที่ใช้ควบคุมการติดต่อสื่อสารกับยานอวกาศผ่านระบบ Deep Space Network (DSN) ด้วย อ่านเรื่อง Deep Space Network ได้ที่ Deep Space Network คืออะไร เบื้องหลัง การสื่อสารของภารกิจสำรวจอวกาศห้วงลึก
สิ่งหนึ่งที่อยากชี้ให้ดูคือ หน้าจอที่แสดงระยะเวลาการติดต่อสื่อสารกับภารกิจ ซึ่งในวันที่เราเข้าไปถ่ายทำ Voyager 2 นั้นดำเนินภารกิจมาแล้ว 45 ปี 307 วัน กับอีก 2 ชั่วโมง เป็นภารกิจการสำรวจอวกาศที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ตามมาด้วยยาน Voyager 1 และยาน 2001 Mars Odyssey
เรียกได้ว่าเป็นห้องที่โด่งดังมากที่สุดในวงการการสำรวจอวกาศก็ว่าได้ ซึ่งก็คือ ห้องที่ถูกใช้สำหรับการควบคุมภารกิจที่ฝ่ายต่าง ๆ จะต้องมานั่งประจำสถานีของตัวเอง ภาพที่โด่งดังที่สุดของห้องนี้คือตอนที่โรเวอร์ตระกูล Mars Exploration Rover คือ Spirit และ Opportunity ลงจอดสำเร็จในปี 2004 ยาน Curiosity สามารถลงจอดบนดาวอังคารได้สำเร็จในปี 2012 ยาน Cassini ทำภารกิจสุดท้ายใน Cassini Grand Finale เมื่อปี 2017 และตอนที่ Perseverance ลงจอดสำเร็จบนดาวอังคารในปี 2021
และในห้องนี้สิ่งที่จะขาดไม่ได้ก็คือตำนานถั่วโชคดี (Lucky Peanut) ที่เชื่อกันว่าหากกินถั่วในระหว่างที่กำลังลุ้นให้กับภารกิจอะไรบางอย่างอยู่ ภารกิจนั้นจะสำเร็จเรียบร้อย ตั้งแต่การปล่อยไปจนถึงการลงจอด จึงเป็นธรรมเนียมของ JPL ที่จะมีการวางถั่วนี้ไว้ ในภารกิจก็จะได้กินกัน เราเลยเล่าเรื่องนี้ไว้ในบทความ อาถรรพ์การปล่อยยานอวกาศ กับถั่วลิสงนำโชค
และในวันนี้เราก็ได้มีโอกาสรีวิวกินถั่ว Lucky Peanut ด้วย ซึ่งรสชาติของมันก็คือถั่วนั่นแหละไม่ได้มีอะไรพิเศษ แต่กินแล้วก็รู้สึกว่าจะโชคดีวันนี้ ซึ่งก็โชคดีจริง ๆ ไฟล์งานไม่เสีย ไม่ลืมอุปกรณ์ใด ๆ ไว้
จากการสอบถาม ได้ความเพิ่มเติมมาว่าในห้องนี้ เมื่อพนักงาน JPL เข้ามาทำงานใหม่ ๆ จะมีกิจกรรมคือให้ทุกคนมานั่งรวมกันแล้วเปิดวิดีโอจำลองบรรยากาศในภารกิจต่าง ๆ เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจและสะท้อนว่าภารกิจการสำรวจอวกาศที่พวกเขาทำนั้นยิ่งใหญ่และมีคุณค่าแค่ไหน
และสุดท้ายที่เราอยากชี้ให้ดูก่อนออกจาก Charles Elachi Mission Control Center ก็คือแผ่นป้ายที่พื้น ที่เขียนไว้ว่า The Center of the Universe และ Dare Mighty Things ซึ่งเป็นคำขวัญของ JPL นั่นเอง เพราะถ้าจะพูดถึงภารกิจการสำรวจอวกาศที่มุ่งหน้าไปยังทิศทางต่าง ๆ บนฟากฟ้าแล้ว ที่แห่งนี้ ก็นับว่าเป็นจุดกึ่งกลาง และจุดเริ่มต้นของภารกิจเหล่านี้จริง ๆ
หลังจากนั้นเราได้เดินทางออกจากห้องควบคุมภารกิจและจบการถ่ายทำในที่สุด ซึ่งจริง ๆ ก็ยังเหลือสถานที่ภายใน JPL อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นห้อง Lab หรือห้องทดสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ในโอกาสหน้าเราจะค่อย ๆ มาพาดูกันไป
จบการทัวร์ NASA Jet Propulsion Laboratory
NASA Jet Propulsion Laboratory เป็นเหมือนสถานที่พิเศษที่หนึ่งบนโลกที่สะท้อนสายเลือดของนักสำรวจอวกาศ ทุกคนที่นี่ดูเนิร์ดและมีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองทำ โดยเฉพาะการได้เป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจอวกาศที่เป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันมนุษยชาติไปข้างหน้า
นอกจากนี้เราจะยังได้เห็น Element ของความสนุกสนาน การทำอะไรแปลก ๆ สร้างสรรค์ตามความชอบ เช่น ป้ายบอกทางไปยังยานอวกาศที่เราชี้ให้ดูในตอนแรก และในภาพนี้ที่เราเก็บมาให้ชม ก็คือไฟเส้น LED ที่แสดงสถานะบอกว่าตอนนี้ระบบ Deep Space Network กำลังติดต่อสื่อสารกับยานอวกาศอะไรอยู่ Uplink หรือ Downlink ด้วยปริมาณของข้อมูลมากน้อยแค่ไหน
เราเชื่อว่าในอนาคตเราจะได้พาทุกคนเดินทางไปยังสถานที่ที่เต็มไปด้วยดีเอ็นเอแห่งการสำรวจอวกาศแบบนี้อีก สำหรับในรอบนี้ขอขอบคุณทีม Media ของ JPL และคุณ Mark Petrovich รวมถึงทีมวิศวกรที่เราไปรบกวนระหว่างการถ่ายทำในครั้งนี้ และที่ขาดไม่ได้คือ ดร.ปุณณทัศน์ บดีนิธิเกษม ที่เป็นผู้ชี้ช่องทางสำหรับการได้เข้ามาถ่ายทำในรอบนี้
สุดท้ายก็คงทิ้งความหมายของคำขวัญของ JPL ที่บอกว่า Dare Mighty Things คือให้แสวงหาสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ทรงคุณค่า และไม่เหมือนใคร คงไม่มีคำไหนที่จะเหมาะสำหรับการสำรวจอวกาศไปมากกว่าคำนี้อีกแล้ว ขอให้ทุกคน Dare Mighty Things (ข้อความนี้ถูกซ่อนเป็น Binary code ไว้บนร่มชะลอความเร็วในภารกิจการลงจอดของ Perseverance)
แสวงหาสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ทรงคุณค่า ขอบคุณ Jet Propulsion Laboratory
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co