NASA วางแผนภารกิจต่อให้ New Horizons หลังปี 2025

นับตั้งแต่การเดินทางถึงดาวพลูโตในเดือนกรกฎาคม 2015 ที่ทำให้มนุษยชาติได้เห็นภาพดาวพลูโตในระยะใกล้ครั้งแรก ยาน New Horizons ที่ถูกปล่อยขึ้นไปตั้งแต่ปี 2006 ก็ยังคงทำงานด้านวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาสภาพแวดล้อมบริเวณขอบของระบบสุริยะ และแถบไคเปอร์ และยังได้บินโฉบวัตถุในแถบ Kuiper ที่ชื่อ Ultima Thule ในปี 2019 อีกด้วย แต่ภารกิจของ New Horizons จะยังไม่จบแต่เพียงเท่านี้ เพราะยานอวกาศอายุ 17 ปีลำนี้ ยังมีเชื้อเพลิงสำหรับปรับวงโคจร และพลังงานเหลือใช้อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ NASA วางแผนภารกิจต่อไปของ New Horizons ได้อย่างง่ายดาย

ปัจจุบัน (ตุลาคม 2023) New Horizons อยู่ห่างจากโลกออกไปมากกว่า 8,500 ล้านกิโลเมตร และยังคงสามารถรับส่งสัญญาณกับระบบ Deep Space Network ได้อย่างดีเยี่ยม ใช้เวลาในการรับส่งข้อมูล ไป-กลับ ประมาณ 15 ชั่วโมง

ภาพจำลองยานอวกาศ New Horizons ที่มา – NASA

NASA ได้ออกมาประกาศผ่านเว็บไซต์หัวข้อ NASA’s New Horizons to Continue Exploring Outer Solar System ระบุว่า NASA วางแผนภารกิจของ New Horizons หลังจากปีงบประมาณ 2025 ให้เน้นไปที่งานด้าน heliophysics (การศึกษาปรากฎการณ์ที่เกิดจากดวงอาทิตย์ ลมสุริยะ และระบบสุริยะ) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ไม่ได้ใช้พลังงานมากนัก ในขณะที่ก็จะยังเปิดโอกาสให้กับการบินโฉบวัตถุใหม่ ๆ ในแถบ Kuiper แม้ในปัจจุบัน New Horizons จะยังไม่ได้มีทิศทางพุ่งเข้าหาวัตถุใดโดยตรง แต่หากมีวัตถุที่น่าสนใจในอนาคต ก็สามารถปรับทิศทางการโคจรได้ โดย New Horizons จะเดินทางเลยบริเวณแถบ Kuiper ในช่วงปี 2029 และมุ่งหน้าออกจากระบบสุริยะคล้ายกับยาน Voyager 1 และ 2

ภารกิจ New Horizons นั้นพัฒนาโดยห้องวิจัย APL (Applied Physics Laboratory) Johns Hopkins University ดูแลโครงการภายใต้ NASA’s Marshall Space Flight Center และ Southwest Research Institute ซึ่งมี Alan Stern นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกันรับหน้าที่เป็น Principal Investigator ฝั่งงานวิทยาศาสตร์ (เจ้าของหนังสือ Chasing New Horizons – แปลไทยโดยคุณปั๊บ ชยภัทร อาชีวระงับโรค)

หลังจากที่ได้รับการประกาศต่ออายุภารกิจ Nicky Fox ผู้ดูแลโครงการด้านวิทยาศาสตร์ของ NASA (Science Mission Directorate) ได้ออกมากล่าวทาง X (Twitter) ว่า ภารกิจต่อไปของ New Horizons คือการศึกษาข้ามศาสตร์ (Multidisciplinary Science) และภารกิจจะยังคงดำเนินต่อไปหลังจากปี 2028-2029

ทีมโครงการ New Horizons ฉลองความสำเร็จการบินโฉบ Pluto ในปี 2015 ไล่จากซ้ายไปขวาคือ Alan Stern จาก SwRI, Will Grundy จาก Lowell Observatory และ Ralph Semmel ผู้อำนวยการ APL ที่มา – NASA

ในขณะที่ Alan Stern ก็ได้ออกมากล่าวขอบคุณการตัดสินใจของ NASA ผ่านทาง X เช่นกันว่า ขอบคุณ NASA, คุณ Fox และ NASA Science Mission Directorate (SMD) แทนทีมโครงการ New Horizons ทุกคน พวกเขาตื่นเต้นที่จะได้ทำการศึกษา บริเวณแถบ Kuiper และบริเวณขอบเขตของระบบสุริยะ และฟิสิกส์ดวงอาทิตย์ ต่อไป

New Horizons นั้นจัดอยู่ในภารกิจสำรวจอวกาศกลุ่ม New Frontiers ซึ่งหมายถึงภารกิจที่เน้นการศึกษาสิ่งใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน เป็นการเปิดพรมแดนใหม่ ๆ ให้กับการสำรวจ ก่อนที่จะมีการนำเอาทรัพยากรไปทุ่มสำรวจสิ่งนั้น ตัวอย่างของภารกิจในกลุ่ม New Frontiers เช่น ภารกิจ OSIRIS-Rex ที่ไปนำตัวอย่างหินจากดาวเคราะห์น้อย Bennu กลับโลก

การสานต่อภารกิจให้กับ New Horizons นับว่ายิ่งเป็นการตอกย้ำความสำเร็จของโครงการที่ครั้งหนึ่งเคยเกือบถูกยกเลิก และต้องเผชิญกับแรงกดดันหลายครั้ง เนื่องจาก Pluto ถูกมองว่าไม่มีความน่าสนใจ แม้กระทั่งโครงการ Voyager เองเดิมทีก็ถูกวางแผนให้บินโฉบพลูโต แต่ก็ถูกเปลี่ยนในภายหลัง เนื่องจากต้องการสำรวจดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์มากกว่า

ในปี 2030 เป็นต้นไป ชื่อของ New Horizons ก็จะยังคงถูกพูดถึงอยู่ และอาจสร้างการค้นพบใหม่ ๆ ที่เรายังไม่อาจจินตนาการได้

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.