ยาน Mars Curiosity Rover ถูกส่งไปลงจอดบนดาวอังคารในปี 2011 และลงจอดสำเร็จในเดือนสิงหาคมปี 2012 ตามมาด้วยในปี 2013 มีการส่งยานสำรวจดาวอังคารที่ต้นทุนถูกที่สุดในโลกคือมังคลายานของอินเดียที่ปล่อยไปในปี 2013 และเข้าสู่วงโคจรสำเร็จในปี 2014 ช่วงเดียวกันกับยาน MAVEN ของ NASA ที่ไปถึงในปี 2014 เช่นเดียวกัน ส่วนปี 2016 ก็มีการส่งยาน ExoMars ขององค์กรอวกาศยุโรปซึ่งภายหลัง ภารกิจสำเร็จเพียงครึ่งนึงเมื่อยาน Schiaparelli ไม่สามารถลงจอดบนดาวอังคารสำเร็จ มีเพียงแค่ยาน Trace Gas Orbiter เท่านั้นที่โคจรรอบดาวอังคารสำเร็จ ปี 2018 ที่ผ่านมา ก็เป็นข่าวใหญ่สำหรับยาน InSight ที่ส่งไปศึกษาธรณีวิทยาของดาวอังคารโดย NASA และลงจอดได้อย่างสำเร็จไปได้ด้วยดี
เราจะเห็นข้อสังเกตที่ชัดมาก ๆ อย่างหนึ่งก็คือ ทำไมการปล่อยยานสำรวจดาวอังคารจะมีการปล่อยอยู่ที่ทุกสองปี เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะว่าเว้นระยะให้สวย ๆ หรือรอจังหวะของบใหม่ แต่เป็นเพราะว่าจังหวะในการโคจรระหว่างโลกกับดาวอังคารที่จะมีช่วงเวลาที่เรียกว่า Opposition ซึ่งเป็นช่วงที่โลกและดาวอังคารเข้ามาอยู่ใกล้กันมากที่สุด ซึ่งในช่วงนั้นเป็นจังหวะที่จะมีการส่งจรวดพานำยานสำรวจต่าง ๆ ไปยังดาวอังคารและใช้เชื้อเพลิงในการส่งน้อยกว่าการส่งในช่วงที่ไม่ได้เป็น Opposition
ด้วยเหตุนี้ทุกสองปี จึงเป็น “เทศกาลการส่งยานไปดาวอังคาร” นั่นเอง
ภารกิจสำรวจดาวอังคารของปี 2020 ที่น่าสนใจกว่าช่วงใด ๆ ที่ผ่านมา และความซวยจากโคโรนาไวรัส
สำหรับภารกิจในการส่งยานไปดาวอังคารในช่วงปี 2020 นี้ นับได้ว่าพิเศษหน่อย เพราะมีชาติที่วางแผนในการส่งยานสำรวจดาวอังคารหน้าใหม่ถึงสองชนชาติ นอกจากสหรัฐอเมริกาเจ้าเก่าแล้ว เรายังจะได้เห็นความพยายามในการสำรวจดาวอังคารครั้งแรกของจีน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
เราได้เคยสำเสนอเรื่องราวของยาน Hope ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไว้ในบทความ พลังแห่งความรวยและฉลาด มาดูแผนไปดาวอังคารของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งใจความสำคัญก็คือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นั้น มองว่าชนชาติอาหรับ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่โลกในด้านศิลปะ วิทยาการ และความรู้สำคัญ ๆ แก่มวลมนุษยชาติ ทั้งด้านดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ ศิลปะ และอื่น ๆ อีกมาก ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ชนชาติอาหรับจะเดินทางไปอวกาศบ้าง
ส่วนจีนนั้น เราเคยพูดถึงไว้ในบทความ ยานหั่วซิง ความบ้าบิ่นของจีนสู่ชาติที่ 2 บนดาวอังคาร ในความพยายามครั้งแรก 2020 ซึ่งยานหั่วซิงนี่เอง คือโครงการสำรวจดาวอังคารโครงการแรกของจีน และจีนเองก็บ้าบิ่นในการออกแบบตัวยานให้เป็นยานแบบลงจอด ย้ำว่าแบบลงจอด ไม่ใช่การเข้าสู่วงโคจรเหมือนกับยาน Hope ของเอมิเรตส์ และต้องอย่าลืมว่า นอกจากบรรดาทวยเทพ JPL ของ NASA แล้ว ยังไม่มีหน่วยงาน ประเทศ หรือกลุ่มชาติใด ๆ เลยที่ลงจอดบนดาวอังคารสำเร็จ ถ้าเกิดจีนก้าวเข้ามาเป็นชาติที่ 2 ก็แสดงว่า ในด้านของการพัฒนาเทคโนโลยีลงจอดดาวอังคารแล้วจีนนั้นนำชาติที่พยายามมาหลายต่อหลายครั้ง (และยังไม่สำเร็จซักที) อย่าง ESA และ Roskosmos ได้ในความพยายามครั้งแรก อย่างไรก็ตาม CNSA ได้อัพเดทชื่อของตัวยานเป็น เทียนเวิ่น (คำถามจากสวรรค์) แทน แต่ก็ยังเรียกสลับไปสลับมากับหั่วซิงอยู่
จริง ๆ แล้ว ต้องบอกว่ามีอีกกลุ่มชาติหนึ่งที่มีแผนจะส่งยานไปดาวอังคารในปี 2020 นี้ ซึ่งก็คือยุโรป หรือ ESA แต่ประเด็นก็คือ ตอนนี้ยุโรปเองกลายเป็นแหล่งแพร่ระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส ทำให้การทำงานหลาย ๆ อย่างไม่สามารถทำได้ ทั้งความพร้อมในด้านบุคคล การขนส่ง ทุกสิ่งอย่าง กลายเป็นว่าตอนนี้ยุโรปกลายเป็นโดน Lockdown ทั้งทวีป ทำให้การปล่อยยาน ExoMars 2020 ซึ่งเป็นโครงการต่อของ ExoMars 2018 ต้องถูกเลื่อนไปปล่อยในปี 2022 แทน (เห็นไหมว่าเป็นการปล่อยสองปีเว้น) โดย ExoMars 2020 นั้น Highlight สำคัญจะอยู่ที่การลงจอดของยาน Rosalind Franklin ที่เป็น Rover ตัวแรกจากชาติยุโรปที่ออกแบบมาให้ลงดาวอังคาร หลังจากที่ ESA เคยเสียยาน Beagle 2* ไปในปี 2003 และ Schiaparelli ในปี 2016
*มีเกร็ดเสริมให้ว่ายาน Beagle 2 นั้น ไม่มี Beagle 1 เพราะ Beagle คือชื่อเรือที่ Charls Darwin ใช้เดินทางแล้วค้นพบสิ่งมีชีวิตใหม่ ๆ ดังนั้น Beagle ก็คือเรือ Beagle จริง ๆ ส่วน Beagle 2 คือยานลงดาวอังคาร
นอกจากผู้ท้าชิงใหม่ทั้งจีนและงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อดไม่ได้ที่จะไม่พูดถึง Mars 2020 เดิม หรือในชื่อใหม่ Perseverance rover ยานน้องสาวของ Curiosity ที่นำไปก่อนแล้ว 8 ปีก่อนหน้านี้ (ฟังดูยาวนานไหม เราเพิ่งจะรู้สึกว่า Curiosity เพิ่งลงจอดไปเอง) โดย Perseverance นั้นจะเหมือนกับพี่สาวของเธอทุกประการ แต่บรรจุชุดการทดลองที่แตกต่างกันออกไป
สิ่งสำคัญที่สุดที่ Perseverance จะทำก็คือการศึกษาความเป็นไปได้ในการอยู่อาศัยบนดาวอังคาร และสร้างความเข้าใจในระบบ In-Situ Resource Utilization หรือ แผนการบริหารทรัพยากรบนดาวอังคาร ดังนั้น Perseverance จึงเป็นยานที่มีความสำคัญแก่การไปสำรวจดาวอังคารของมนุษย์นั่นเอง อีกหนึ่งทีเด็ดที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือเฮลิคอปเตอร์โดรน ซึ่ง NASA ออกแบบยานอวกาศที่สามารถ “บิน” บนดาวดวงอื่นได้เป็นครั้งแรกดังนั้น ถ้าแนวคิดของการส่งโดรนไปบินบนดาวที่มีบรรยากาศเบาบางอย่างดาวอังคารสำเร็จ การใช้โดรนในการสำรวจต่างดาวก็น่าจะเป็น Trend ที่มาแรงมาก ๆ หลังจากนี้ (ซึ่ง NASA เองก็มีทีเด็ดรอไว้อีกเยอะ เช่นเรือดำน้ำ ที่จะเอาไปดำในทะเลต่างดาว)
สรุปวันและเวลาปล่อยยานสำรวจดาวอังคาร
จากเหตุผลด้านบนทำให้ตอนนี้ ยานอวกาศทั้ง 3 ลำ จาก 3 ผู้ท้าชิง NASA JPL เจ้าเก่าเจ้าเดิม จีนที่ฟื้นฟูโคโรนาไวรัสกลับมาทำงานกันเหมือนเดิมแล้วและความพยายามครั้งแรกในการลงจอดบนดาวอังคาร และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กับภารกิจ Make Arab Great Again ที่วางเป้าหมายระยะยาวในการตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคาร ก็ได้ลงวันที่ในการปล่อยยานเรียบร้อยแล้ว
- ยาน Perseverance จะปล่อยในวันที่ 20 กรกฎาคม 2020 ด้วยจรวด Atlas V 541 จากฐานทัพอากาศเคอเนเวอรัล และจะเดินทางถึงดาวอังคารในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 อ้างอิงจากประกาศอย่างเป็นทางการของ JPL
- ยานหั่วซิง หรือเทียนเวิ่น ของจีน จะปล่อยในวันที่ 23 กรกฏาคม 2020 ด้วยจรวด Long March 5 จากฐานปล่อยบนเกาะไหหลำซึ่งก็หวังว่ารอบนี้จีนจะหัดมีความรับผิดชอบในการไม่ปล่อยจรวดตกใส่ประเทศชาวบ้านเขาอีก (ฝากพี่ ๆ ทาง GISTDA, NARIT และกองทัพอากาศช่วยกันดูด้วยนะครับว่าจะตกใส่ไทยหรือเปล่า) โดยรายงานนี้อ้างอิงจากเว็บไซต์ China Daily
- ยาน Hope ของเอมิเรตส์ จะปล่อยในวันที่ 14 กรกฏาคม 2020 ด้วยจรวด H-IIA ของ JAXA ณ ฐานปล่อยที่ทาเนกาชิมา ซึ่งก็เป็นการโชว์ความสามารถของญี่ปุ่นด้วยว่าจรวด H-IIA สามารถนำส่งยานไปดาวอังคารได้ อิงจาก MBRSC
ส่วนกำหนดการใหม่ของ ExoMars 2020 ที่โดนพิษโคโรนาทำให้เลื่อนไป ก็คงต้องรออัพเดทใหม่กันอีกครั้ง
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co