พฤศจิกายน 2019 สำนักข่าว XinHua ของจีนได้เผยภาพการทดสอบยานสำรวจดาวอังคารของจีน ซึ่งมีข่าวมาก่อนหน้านี้ว่าจะถูกส่งขึ้นในปี 2020 ซึ่ง 2020 นี้เป็นปีที่ดาวอังคารเข้ามาใกล้เหมาะสมที่จะส่งยานไปสำรวจ ทั้งทาง NASA และ ESA ก็ได้มีการวางแผนส่งยาน Mars 2020 และ ExoMars Rover (จะสังเกตว่าการส่งยานสำรวจดาวอังคารจะเกิดขึ้นทุก 2 ปี เช่นยาน InSight ของ NASA ในปี 2018) แต่ในปีหน้านี้ นี่จะเป็นครั้งแรกที่จีนจะเป็นประเทศที่ 3 ที่ส่งยานไปลงจอดบนดาวอังคารนับจากอดีตสหภาพโซเวียตหรือรัสเซีย, สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศยุโรป (ไม่ใช้คำว่าสหภาพยุโรปเนื่องจากอังกฤษยังอยู่ใน ESA แม้จะไม่อยู่ใน EU แล้ว)
ในปี 2019 ผลงานอันน่าทึ่งของจีนที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ก็คือการส่งยาน Chang’e 4 ไปลงจอดที่ด้านไกลบนดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นชาติแรก โดยอาศัยเทคโนโลยีการส่งยานไป Relay สัญญาณเพื่อให้ยานสามารถสื่อสารกับโลกได้
สำหรับภาพที่ออกมาก็คือภาพของหอสำหรับทดสอบการลงจอดของยาน พร้อมกับแบบจำลองของยานที่ใกล้เคียงกับยานหั่วซิง (火星) ภาษาจีนแปลว่าดาวอังคาร ซึ่งเป็นยานสำรวจดาวอังคารที่มีข่าวก่อนหน้านี้ว่าจีนอยู่ระหว่างพัฒนา
CNSA หรือองค์กรอวกาศของจีนเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับตัวยานลำนี้มาซักพักแล้ว แต่อย่าลืมว่าขั้นตอนการไปสำรวจดาวอังคารที่ยากก็เพราะการลงจอดนี่แหละ
การลงจอดบนดาวอังคารถึงยากและฆ่ายานกว่า 50% เคยพยายาม
แม้กระทั่งอดีตสหภาพโซเวียตหรือรัสเซียที่เป็นเจ้าแรกที่พยายามส่งยานตระกูล Mars ไปลงจอดบนดาวอังคารเป็นเจ้าแรกตั้งแต่ปี 1962 จนถึงปัจจุบันที่ทำโครงการร่วมกับ ESA ใน ExoMars ในปี 2018 ก็ไม่สำเร็จ (และต้องมาลุ้นกันว่า 2020 จะสำเร็จไหม) ส่วนสหรัฐอเมริกาซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าเดียวที่ลงจอดบนดาวอังคารสำเร็จ ผลงานของทีม JPL ซึ่งรับทุนจาก NASA ทำการลงจอดบนดาวอังคารมาตั้งแต่ปี 1975 ด้วยยาน Viking 1 และ 2 ตามมาด้วยยานลำล่าสุดคือ InSight ในปี 2018 และ Mars 2020 ซึ่งเราคาดว่าจะลงได้แน่ ๆ เพราะใช้วิธีการที่สำเร็จมาแล้วของ Curiousity ในปี 2012
ถามว่าทำไมการลงจอดบนดาวอังคารถึงยากขนาดนั้น ก็เพราะว่า
- ความร้อนระหว่างชั้นบรรยากาศหากเข้าในองศาที่ไม่ถูกต้องจะทำให้ยานถูกเผาไหม้
- ดาวอังคารมีชั้นบรรยากาศเพียงแค่ 1% ของโลก มีแรงโน้มถ่วงเพียงแค่ 38% ของโลกเท่านั้น ทำให้การลงจอดบนดาวอังคารยากกว่าดวงจันทร์เสียอีก
- ด้วยเหตุผลด้านบน ทำให้ยานไม่สามารถใช้ร่มชูชีพช่วยลงจอดได้ต้องใช้ร่วมกับจรวดและระบบลงจอดที่ใช้เครื่องยนต์จรวดช่วย
- ต้องอาศัยการคำนวณขั้นสูงแบบ Realtime โดยทั้งหมดต้องทำโดยคอมพิวเตอร์และอัลกอริทึม ไม่สามารถควบคุมจากบนโลกได้ เพราะสัญญาณใช้เวลาเดินทางถึง 8 นาทีจากโลกไปยังดาวอังคาร
การลงจอดบนดาวอังคารจึงเป็นความท้าทายทั้งความสามารถในการออกแบบยาน และในการออกแบบโปรแกรมที่ใช้ควบคุมยาน ซึ่งทั้งใน 2 กรณีทีม JPL และ NASA ที่ว่าเจ๋งยังพลาดมาแล้วผ่านชะตากรรมของยาน Mars Polar Lander หรือ ESA ยังไม่เคยทำสำเร็จซักครั้งเดียว ส่วนอดีตสหภาพโซเวียตก็ส่งยานไปโหม่งดาวอังคารเล่นจนทุกวันนี้ยังไม่สำเร็จ
ถ้าจีนทำสำเร็จในความพยายามครั้งแรก สถิติความสำเร็จการลงจอดบนดาวอังคารของจีนจะกลายเป็น 100% ในทันที และถือว่าชนะ ESA และรัสเซียได้อย่างแท้จริงสำหรับศึกชิงดาวอังคาร อาจจะตามหรือเทียบเท่า NASA ในทันที
หลายคนอาจจะถามว่า แล้วที่อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือชาติอื่น ๆ ส่งยานไปโคจรดาวอังคารนั้นยากไหม คำตอบก็คือก็ยากอยู่ดี แต่ไม่เท่าการลงจอด ปัจจุบันอินเดียก็ยังไม่ได้ลงจอดบนดาวอังคาร หรือมีแผนในเร็ววัน ถ้าจีนจะส่งยานแบบ Orbitor หรือโคจรรอบไปก่อนในปี 2020 ก็ไม่น่าจะใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรหากจีนทำสำเร็จ ก็จะไม่ต่างจากอินเดีย แต่ครั้งนี้จีนเลือกที่จะเล่นใหญ่ตังแต่ก้าวแรก
ความสามารถในการสำรวจอวกาศปัจจุบันของจีน และยานหั่วซิง
ปัจจุบันความสามารถในการสำรวจอวกาศของจีนนั้นถือว่าน่าชื่นชมมาก และเทียบเท่ากับหน่วยงานระดับโลกอื่น ๆ NASA, Roskosmos, ESA, JAXA ซึ่งฝากผลงานตั้งแต่ดวงจันทร์ ดาวอังคาร ไปจนถึงอุกกาบาตและดาวหางกันหมดแล้ว
ในปี 2009 จีนเคยจับมือกับ Roskosmos ในการส่งยานแบบโคจรไปสำรวจดาวอังคารร่วมกับยาน Fobos-Grunt แต่จรวดของรัสเซียแต่จรวดดันมีปัญหาทำให้ยานไม่หลุดพ้นไปจากวงโคจรของโลกจนจีนเลือกที่จะเริ่มโครงการสำรวจดาวอังคารด้วยตัวเอง
ปัจจุบันจีนนั้น มีความเด่นอยู่ตรงที่ว่าไม่รวมหัวกับใครเลยและไม่ได้เป็นสมาชิกของสถานีอวกาศนานาชาติด้วย แถมยังมีสถานีอวกาศของตัวเอง และยานที่ใช่ส่งนักบินและเสบียงของตัวเองอีก จากอดีตที่จีนใช้เทคโนโลยีส่วนมากทั้งยานอวกาศและจรวดเป็นภูมิปัญญาตกทอดมาจากฝั่งรัสเซีย แต่ทุกวันนี้จีนเป็นเจ้าของเทคโนโลยีของตัวเองเยอะมาก อย่างยาน ฉางเอ๋อ 4 ที่ไปลงจอดด้านไกลของดวงจันทร์ก็พิสูจน์แล้วว่าจีนใช้เทคโนโลยีของตัวเองจริง ๆ
ข้อมูลของยานหั่วซิงนั้นเราจะอ้างอิงจาก Xinhua เป็นหลัก และรายงานผ่าน GB Times รวมถึงมี Paper ที่ถูกนำมานำเสนอในงาน IAC2018 ชื่อ The subsurface penetrating radar on the rover of China’s Mars 2020 mission ซึ่งกล่าวถึงหนึ่งในอุปกรณ์ที่จะถูกนำไปติดตั้งบนยาน rover ของภารกิจการไปดาวอังคารของจีนในปี 2020
ข้อมูลของยานยานหั่วซิงนั้น ณ ที่ทราบตอนนี้หั่วซิงจะเดินทางไปดาวอังคารประมาณเดือนสิงหาคม 2020 ระยะใกล้ ๆ กับการปล่อยยาน Mars 2020 ของ NASA โดยจะใช้จรวดของจีนเองที่ชื่อว่า Long March 5 ซึ่งเป็นจรวดที่ทรงพลังที่สุดที่จีนพัฒนาขึ้นมา ปล่อยจากฐานปล่อยเหวินฉาง บนเกาะไหหลำของประเทศจีน
หั่วซิงจะประกอบไปด้วยยานแบบลงจอดหรือ Lander พร้อมกับรถ Rover ที่ติดไปด้วย รูปแบบนี้จะคล้ายกับยานฉางเอ๋อ 4 ที่ไปลงดวงจันทร์เมื่อต้นปี 2019 ที่พอลงแล้วก็จะมีรถวิ่งออกมาสำรวจ
อย่างไรก็ตามยานของจีนนั้นถ้าดูจาก Instrument บนยานก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้โฟกัสที่เรื่องใดเป็นพิเศษ แต่เป็น Platform สำหรับทำการทดลองและเก็บข้อมูลดาวอังคารด้วยเทคโนโลยีของจีนเองซึ่งจะเป็นประโยชน์มากสำหรับการส่งยานลำต่อไปในอนาคต
ประเด็นที่น่าสนใจและน่าจับตามองตอนนี้ก็คือ
- จีนยังไม่มีประสบการณ์ในการลงจอดบนดาวดวงอื่นที่ไม่ใช่ดวงจันทร์หรือโลกมาก่อน ซึ่งการเลือกลงจอดบนดาวอังคารในความพยายามครั้งแรกของจีนนั้นถือว่ากล้ามาก ๆ
- จีนยังไม่ได้เปิดเผยเทคโนโลยีแผ่นกันความร้อนที่ใช้ระหว่างเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งสำคัญมาก ๆ และยานส่วนมาก “ตาย” ในขณะที่เข้าสู่ชั้นบรรยกาศ หรือถ้ารอดก็จะไป “ตาย” ระหว่างจุดเครื่องลงจอด
- อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีจรวดนำส่งและรถ Rover และวิศวกรรมยานอวกาศของจีนไม่แพ้ใครแน่นอน ดังนั้นเราจึงโฟกัสที่กระบวนการลงจอดมาก ๆ
- NASA มียานที่ทำงานอยู่บนดาวอังคารแค่ 2 ลำ ได้แก่ Curiousity และ InSight หลังจากที่ยาน Opportunity เพิ่งตายไปเมื่อปี 2018 ถ้า NASA ลงจอด Mars 2020 สำเร็จ และ ESA ลงจอด ExoMars ได้ อัตราส่วนจะเป็น 3:1:1 สำหรับ สหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป
จนถึง ณ ตอนนี้ (อัพเดท พฤศจิกายน 2019) จีนก็ยังไม่ได้ประกาศจุดลงจอดของยานหั่วซิง ข้อมูลที่เราทราบนั้นน้อยมาก ๆ แต่ภารกิจหั่วซิงนี้แทบจะเป็นภารกิจชี้ชะตาของจีนในการสำรวจดาวอังคารเลยก็ว่าได้ เพราะจีนสำรวจดาวอังคารเป็นครั้งแรกก็จัดเต็ม ส่ง Lander พร้อม Rover ไปเลย และถ้าจีนทำสำเร็จจะกลายเป็นชาติที่ 2 อย่างเป็นทางการที่สามารถลงจอดบนดาวแดงที่วันหนึ่งอาจเป็นอนาคตของมนุษยชาติ
จีนที่ปัจจุบันก็มีอิทธิพลต่อการสำรวจอวกาศอยู่แล้ว ถ้าไปถึงพื้นดาวอังคารได้ก่อนยุโรปหรือรัสเซียหรือญี่ปุ่นนั้นจะเป็นเรื่องช็อคโลกแค่ไหน ต้องรอติดตามกันต่อไป
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co