NASA เริ่มงัดตัวอย่างหินดวงจันทร์ที่ดองไว้จากโครงการ Apollo เมื่อ 50 ปีที่แล้วมาศึกษา

ครั้งสุดท้ายในโครงการ Apollo ที่มนุษย์ได้เหยียบบนดวงจันทร์นั้นคือภารกิจ Apollo 17 ซึ่งประทับรอยเท้ารอยสุดท้ายไว้บนดวงจันทร์เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 1972 และหลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็ไม่มีมนุษย์คนใดได้เหยียบดวงจันทร์อีกเลย แต่ภารกิจ Apollo นั้นก็ไม่ได้กลับมาจากดวงจันทร์มือเปล่า แต่มีตัวอย่างหินดวงจันทร์เป็นจำนวนมากกลับมาด้วย

ภาพของนักบินอวกาศ Harrison H. Schmitt ขณะกำลังเก็บตัวอย่างหินบนดวงจันทร์ในภารกิจ Apollo 17 วันที่ 11 ธันวาคม 1972 – ที่มา Eugene A. Cernan, Apollo 17 Commander

แน่นอนว่าหินดวงจันทร์นั้นก็เหมือนกับของเล่นใหม่ของนักวิทยาศาสตร์ที่พวกเขาไม่เคยได้แตะต้องหรือทดลองอะไรกับมันมาก่อน พอได้มา ใคร ๆ ก็อยากได้ นักวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานอวกาศอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ NASA ก็อยากได้ด้วยเช่นกัน แต่ NASA ก็เป็นเหมือนเด็กใจดี แบ่งของเล่นให้เพื่อน แจกจ่ายตัวอย่างหินดวงจันทร์ไปให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วทุกมุมโลก รวมถึงไทยเราด้วย (แต่อยู่ไหนไม่รู้เหมือนกัน)

การทดลองกับหินดวงจันทร์นั้นมีทั้งแบบที่ทดลองแล้วสามารถนำหินนั้น ๆ มาใช้ทดลองใหม่ได้ (non-destructive) กับแบบที่ทดลองแล้วตัวอย่างชิ้นนั้น ๆ ไม่ควรหรือไม่สามารถนำกลับมาทดลองอย่างอื่นได้อีก (destructive) แต่ก็ยังเก็บไว้ได้อยู่ แค่มันจะกลายเป็นตัวอย่างที่ปนเปื้อนแล้วเท่านั้นเอง และแน่นอนว่าผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ด้วยตัวอย่างหินที่มีจำกัดนั้นทำให้หินส่วนใหญ่ถูกใช้ทดลองไปหมดแล้ว

ภาพ 3 มิติของตัวอย่างหินดวงจันทร์ 10021 จากโครงการ Apollo 11 – ที่มา NASA/Astromaterials 3D

โชคดีที่ NASA ในตอนนั้นคิดว่าด้วยเทคโนโลยีที่มนุษย์มีก่อนศตวรรษที่ 21 นั้น พวกเขาอาจไม่สามารถขุดทุกรายละเอียดของหินดวงจันทร์อย่างที่เทคโนโลยีในอนาคตสามารถทำได้ จึงเกิดเป็นโครงการ “Apollo Next Generation Sample Analysis Program” หรือ “ANGSA” ภายใต้ ARES (Astromaterials Research and Exploration Science Division) ที่เก็บตัวอย่างหินดวงจันทร์ส่วนหนึ่งไว้อย่างดี ห้ามแตะ ห้ามทดลอง ซีลไว้เป็นเวลา 50 ปี ไว้สำหรับให้คนในรุ่นใหม่มาศึกษา ด้วยเทคโนโลยีใหม่และชุดความรู้ใหม่

ภาพของนักวิทยาศาสตร์ขณะกำลังเคลื่อนย้ายหลอดเก็บตัวอย่าง ANGSA 73001/73002 – ที่มา NASA

ตัวอย่างหินดวงจันทร์ในโครงการนี้คือ “ANGSA 73001” ซึ่งเป็นตัวอย่างหินที่เก็บมาจากโครงการ Apollo 17 ซึ่งเป็นโครงการ Apollo สุดท้าย โดย ANGSA 73001 เป็นส่วนของท่อสำหรับเก็บตัวอย่างดินดวงจันทร์ ใช้สำหรับปักลงไปในดินเพื่อเก็บตัวอย่างของหินดวงจันทร์ในแต่ละความลึก ก่อนกลับโลกนั้น ANGSA 73001 ถูกซีลในสุญญากาศของดวงจันทร์และมันก็ไม่ถูกเปิดอีกเลย อีกครึ่งหนึ่งของท่อนั้นคือที่เก็บตัวอย่างสำหรับตัวอย่าง “ANGSA 73002” ซึ่งเป็นส่วนของท่อที่ไม่ถูกซีล

ภาพของนักบินอวกาศ Gene Cernan ของโครงการ Apollo 17 ขณะกำลังจะเก็บตัวอย่าง 73001 และ 73002 – ที่มา NASA

ANGSA 73001 และ 73002 นั้นเป็นหินดวงจันทร์ที่เก็บจากบริเวณ Tauras-Littrow Valley บนดวงจันทร์ โดย ANGSA 73001 นั้นหนัก 809 กรัม ส่วน ANGSA 73002 นั้นหนัก 430 กรัม

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าตัวอย่าง ANGSA 73001 นั้นมีอุณหภูมิต่ำมากในตอนที่มันถูกเก็บ หมายความว่าสารระเหย ไม่ว่าจะเป็น น้ำแข็ง หรือ แก๊สอย่างแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ก็อาจจะถูกเก็บไว้ในนั้นด้วย แต่ถึงมี พวกเขาก็คาดว่าน่าจะมีปริมาณน้อยมากขนาดที่เทคโนโลยีในตอนนั้นไม่น่าเอาอยู่ จึงควรรอให้เรามีเทคโนโลยีที่มีความสามารถในการแยกแก๊สที่มีปริมาณอันน้อยนิดออกมาวิเคราะห์ได้ด้วยอุปกรณ์อย่าง Mass Spectrometry ได้

กว่าครึ่งศตวรรษที่นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่รอคอย

มาจนถึงศตวรรษที่ 21 ANGSA 73001 และ 73002 ไม่เคยถูกแตะต้องแม้แต่ครั้งเดียว โดยทั้งคู่ถูกเก็บไว้ที่ Johnson Space Center จนกระทั่งในปี 2019 ที่ ANGSA 73002 นั้นถูกนำออกมาศึกษาก่อน โดยมันเป็นตัวอย่างที่ไม่ได้ถูกซีลไว้ จึงมีความสำคัญน้อยกว่า ANGSA 73001 ที่ถูกซีลไว้ในสภาพแวดล้อมของดวงจันทร์

ภาพของทีมนักวิทยาศาสตร์ AREA ขณะที่กำลังทำการแยกตัวอย่างหินดวงจันทร์ ANGSA 73002 – ที่มา NASA/Astromaterials 3D

หนึ่งในการศึกษาตัวอย่าง ANGSA 73002 นั้นคือการใช้เทคโนโลยี X-ray Computer Tomography (XCT) เพื่อถ่ายรูป 3 มิติของตัวอย่างในหลอด หลังจากการทำ XCT นั้น ANGSA 73002 ก็ถูกนำออกมาแบ่งเป็นส่วน ๆ เพื่อแจกจ่ายให้กับนักวิทยาศาสตร์นำไปศึกษาต่อ

ภาพ X-Ray Computed Microtomgraphy ของหลอดเก็บตัวอย่าง ANGSA 73002 – ที่มา NASA

ส่วน ANGSA 73001 จะถูกเก็บไว้จนกว่าจะครบ 50 ปี และ 50 ปีนั้นก็ได้มาถึงแล้วก็คือปี 2022 นั่นเอง

ทุกวันนี้เรามีเทคโนโลยี Mass Spectrometry ที่มีความไวพอที่จะสามารถตรวจจับและวิเคราะห์ในปริมาณที่น้อยมาก ๆ ได้ หมายความว่าที่ปริมาณตัวอย่างหนึ่ง ๆ เราสามารถแบ่งไว้ทดลองได้มากขึ้น นั่นเป็นสิ่งหนึ่งที่เทคโนโลยีในยุค Apollo ทำไม่ได้ แต่ทำได้ยุคนี้ นอกจากนี้เรายังมีอุปกรณ์ที่สามารถแยกแก๊สออกจากตัวอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอุปกรณ์ดังกล่าวนั้นถูกพัฒนาโดย ESA (European Space Agency) ซึ่งเป็นที่เจาะหลอดเก็บตัวอย่างสำหรับแยกแก๊สออกจากหลอดตัวอย่างโดยไม่ให้มีอนุภาคใด ๆ จากในหลอดหลุดหลอดออกไปได้

เหมาะเจาะกับที่มนุษยชาติกำลังจะกลับไปยังดวงจันทร์อีกครั้งกับภารกิจ Artemis การศึกษาหินดวงจันทร์ชิ้นนี้ก่อนที่มนุษย์จะกลับไปดวงจันทร์อาจทำให้เราค้นพบรายละเอียดใหม่ที่เราไม่เคยพบมาก่อนก็เป็นได้

ภาพขณะที่ทีมนักวิทยาศาสตร์ AREA กำลังแยกแก๊สออกจากหลอดเก็บตัวอย่าง ANGSA 73001 – ที่มา NASA

กระบวนการเปิดหลอดตัวอย่าง ANGSA 73001 นั้นเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2022 ซึ่งใช้เวลาเป็นเดือนในการค่อย ๆ เปิดหลอดตัวอย่างชั้นนอกออกเพื่อแยกแก๊สในหลอดชั้นนอกออก โดยหลอดชั้นนอกนั้นมีไว้เผื่อซีลของหลอดชั้นในนั้นรั่ว อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่าไม่มีแก๊สอยู่ในหลอดชั้นนอก นั่นหมายความซีลของหลอดชั้นในยังอยู่ดี

ภาพของทีมนักวิทยาศาสตร์ AREA ขณะกำลังใช้อุปกรณ์ในการเจาะหลอดเก็บตัวอย่างเพื่อแยกแก๊สในหลอดเก็บตัวอย่าง ANGSA 73001 ออกมา – ที่มา NASA

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2022 นั้น ทีมนักวิทยาศาสตร์เริ่มเจาะรอดชั้นในเพื่อค่อย ๆ แยกแก๊สที่อยู่ในหลอดออก (ที่พวกเขาหวังว่าจะมี) ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลากว่าหลายสัปดาห์กว่าที่จะเสร็จ ก่อนที่จะเริ่มขั้นตอนการแยกตัวอย่างของแข็งในหลอดออกมาเพื่อแจกจ่ายให้กับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ไปศึกษาต่อนั่นเอง

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง

NASA Studies ‘New’ 50-Year-Old Lunar Sample to Prep for Return to Moon

NASA Opens Previously Unopened Apollo Sample Ahead of Artemis Missions

Sample 73001 of Apollo 17

Chief Science | A 20-year-old biologist with a passion for space exploration, science communication, and interdisciplinarity. Dedicated to demystifying science for all - Since 2018.