ทำไมการเมืองถึงพามนุษย์ไปดวงจันทร์​: We came in peace for all mankind?

เราเลือกที่จะไปดวงจันทร์ในทศวรรษนี้และทำสิ่งต่าง ๆ ไม่ใช่เพราะสิ่งเหล่านี้มันง่าย แต่เพราะพวกมันยาก

จอห์น เอฟ เคนเนดี้, 1962

กลางแดดอันร้อนระอุของเดือนกันยายนปีคริสศักราช 1962 ที่มหาวิทยาลัยไรซ์ รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ได้กล่าวสุนทรพจน์ยาวกว่า 17 นาทีที่เรียกขอเสียงสนับสนุนจากอเมริกันชนในการส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ หลังจากนั้น 7 ปี รอยเท้าแรกของมนุษย์ชาติก็ได้ถูกประทับลง ณ ทะเลแห่งความเงียบสงบบนพื้นผิวของดวงจันทร์ และสุนทรพจน์นี้ก็กลายเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างหนึ่งมาจนถึงในปัจจุบัน

แต่นั่นก็แค่เหรียญด้านเดียวของประวัติศาสตร์ เพราะสุดท้ายแล้วมนุษย์ก็ไม่ได้ไปอวกาศเพียงแค่สนองความต้องการอันยิ่งใหญ่เหนือจินตนาการของตน หากแต่เป็นเครื่องมือที่ถูกขับเคลื่อนด้วยการเมืองและสังคมเพื่อผลประโยชน์บางอย่างเช่นกัน

เคนเนดี้และผู้คนที่ Rice Stadium วันที่ 12 กันยายน 1962 – ที่มา John F. Kennedy Presidential Library & Museum

การเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 1960

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 1960 จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ในฐานะวุฒิสภาจากรัฐแมสซาชูเซตส์ได้เริ่มหาเสียงเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตลงสมัครเป็นประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐอเมริกา ภายใต้สโลแกนว่า “Let’s get this country moving again” แข่งขันกับริชาร์ต นิกสันที่เป็นตัวแทนจากฝั่งของรีพับลิกันหลังจากดไวต์ ดี. ไฮเซนฮาวร์จากพรรคได้กำลังจะครบลิมิตการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 34 สองสมัยแล้ว

โดยประเด็นสำคัญจุดหนึ่งที่เคนเนดี้นำมาเป็นจุดสำคัญในการโจมตีไอเซนฮาวร์ (และรีพับลิกัน) คือการละเลยด้านการพัฒนาเทคโนโลยีทางทหารจนทำให้เกิด Missile Gap หรือคือการปล่อยให้สหภาพโซเวียตแซงหน้าในเรื่องการพัฒนา Intercontinental Ballistic Missile ไปซึ่งอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาได้หากโซเวียตต้องการที่จะโจมตีขึ้นมา (โดยในความเป็นจริงแล้ว Missile Gap นี้สุดท้ายแล้วก็ได้มีการค้นพบว่าเป็นแค่เรื่องผิดพลาดจากการประมาณการณ์ที่สูงกว่าความเป็นจริงของ CIA และกองทัพอากาศเท่านั้น) ประกอบกับการประกาศสนับสนุนงานด้านอวกาศเพิ่มขึ้นหลังจากที่เป็นรองโซเวียตอยู่หลังจากการพ่ายแพ้ในการปล่อยดาวเทียมดวงแรกไป

หนึ่งในการดีเบตของเคนเนดี้และนิกสันก่อนการเลือกตั้ง – ที่มา United Press International

ซึ่งในประเด็นเรื่อง Space Race นี้ขัดกับแนวคิดของไอเซนฮาวร์ที่สนับสนุนให้การพัฒนาเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าโดยไม่ต้องใช้รัฐเป็นตัวเร่งปฎิกิริยาเนื่องจากไม่เห็นความจำเป็นในการรีบร้อนตัวเองไปกับการแข่งขันในจินตนาการนี้ เพื่อที่จัดสรรทรัพยากรไปกับงานด้านสังคมอื่น ๆ ได้มากขึ้น

แนวคิดนี้สนับสนุนกับนักสังคมวิทยาหลายต่อหลายคน ยกตัวอย่างชื่อที่มักจะได้ถูกกล่าวถึงมากในหนังสือและบทความหลายต่อหลายที่คนหนึ่งคือคุณเอมิไท เอตชิโอนิ ที่ได้เขียนวิพากษ์ไว้ในงานเขียนเรื่อง The moon-doggle : domestic and international implications of the space race ในปี 1964 ว่านอกจากจำนวนเม็ดเงินแล้ว มันสมองที่ล้ำเลิศที่สุดทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมจะถูกใช้ในงานด้านอวกาศและมันจะไม่ดีกว่าหรือหากเรานำทรัพยากรเหล่านี้ไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของอเมริกันชน

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วแล้วผลการเลือกตั้งปี 1960 จอห์น เอฟ. เคนเนดี้จากเดโมแครตชนะริชาร์ต นิกสันจากรีพับลิกันไปด้วยคะแนนนำระยะห่างแคบ ๆ ที่ 112,827 จากกว่า 68 ล้านคะแนนของคนใช้สิทธิเลือกตั้ง

การรับตำแหน่งของจอห์น เอฟ. เคนเนดี้

ฮิวจ์ ไซดี้ นักเขียนและนักข่าวชาวอเมริกันได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเคนเนดี้ในปี 1964 ในชื่อ John F. Kennedy, President โดยได้มีประโยชน์พูดถึงเคนเนดี้ในช่วง 100 วันแรกของการทำงานว่าจากปัญหาทั้งหมดที่เขากำลังเผชิญ อวกาศอาจจะเป็นเรื่องที่เขารู้และเข้าใจน้อยที่สุด หรือในอีกคำพูดหนึ่งจากหนังสือเรื่อง Apollo’s Legacy: Perspectives on the Moon Landings ของโรเจอร์ ดี. ลอนนิอัส อดีต Chief Historian ของ NASA ว่าการที่เคนเนดี้รันแคมเปญเกี่ยวกับเรื่องอวกาศไม่ได้จำเป็นว่าเค้าใส่ใจกับเรื่องอวกาศเลยซะทีเดียว (อาจมองได้ว่าเป็นเครื่องมือในการสร้างภาพลักษณ์ต่อสาธารณะชนมากกว่า)

การสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของเคนเนดี้ – ที่มา JFK Library

ในช่วงอาทิตย์ก่อนการรับตำแหน่งก่อนการรับตำแหน่งเคนเนดี้ได้เรียกรวมตัวที่ปรึกษาเฉพาะกิจนำโดยศาสตราจารย์เจอร์โรม บี. วิสเนอร์แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) โดยตามบันทึก Report to the President-Elect of the Ad Hoc Committee on Space แล้วที่ปรึกษาเฉพาะกิจได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของกิจการทางด้านอวกาศแต่ขณะเดียวกันก็แสดงความกังวลถึงความปลอดภัยในการส่งมนุษย์ขึ้นไปบนอวกาศเมื่อเทียบกับองค์ความรู้ที่จะได้รับ

หลังจากนั้นไม่นานเคนเนดี้ได้ติดต่ออย่างเป็นทางการกับนิกิต้า ครุสชอฟผู้นำสูงสุดของสหภาพโซเวียตในเรื่องเสนอความร่วมมือทางอวกาศระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม จากบันทึก Project Apollo: A Retrospective Analysis ของ NASA ได้วิเคราะห์ไว้ว่ามันมีลักษณะที่เป็นไปในทางเกมการเมือง คือ หากโซเวียตปฎิเสธที่จะร่วมมือ โซเวียตจะเสียภาพลักษณ์ในการแสดง goodwill ต่ออเมริกาและถูกมองว่าพยายาม monopolize อวกาศ แต่หากโซเวียตยอมรับ เคนเนดี้ก็จะได้ภาพลักษณ์ในการเป็นผู้สมานไมตรีระหว่างสองประเทศแทนการทำสงครามกัน

เคนเนดี้และครุสชอฟที่ Vienna Summit ในเดือนมิถุนายน ปี 1961 – ที่มา U.S. Department of State

การไปอวกาศของกาการินและความล้มเหลวของการบุกอ่าวหมู

เจอร์โรม วีสเนอร์เคยกล่าวไว้ว่า “หากเคนเนดี้สามารถยกเลิกโครงการอวกาศได้โดยไม่ทำร้ายประเทศในทางใทางหนึ่ง เขาก็คงจะทำ” คำขอเพิ่มงบประมาณประจำปีให้นาซ่าของเจมส์ อี. เว็บบ์ในเดือนมีนาคมปี 1963 เป็นสิ่งที่สะท้อนความลังเลในการผลักดันโครงการอวกาศอย่างรีบเร่งของเคนเนดี้เมื่อเขาไม่ได้ที่จะเพิ่มงบประมาณจำนวนมากตามที่เว็บบ์ขอแต่เพียงเพิ่มจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น ตามคำคัดค้านของเดวิด อี. เบลล์ Budget Director ของเคนเนดี้ที่สงสัยในคุณค่าของการเร่งให้เกิดโครงการอวกาศไปถึงขั้นไปดวงจันทร์

ท่าทีของแนวคิดการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปถูกเปลี่ยนแปลงโดยเหตุการณ์สำคัญสองอย่างคือการโคจรรอบโลกของยูริ กาการินในภารกิจ Vostok 1 และการที่สหรัฐล้มเหลวในการบุกอ่าวหมูในสงครามกับคิวบา (ที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์สหรัฐโดยตรงในสงครามเย็น) โดยนักประวัติศาสตร์หลายคนได้แสดงความเห็นว่าการบุกอ่าวหมูมีนัยยะสำคัญที่มากกว่า

การโต้กลับของกองทัพปฏิวัติคิวบาในวันที่ 19 เมษายน 1961

โดย 2 วันหลังจากการไปอวกาศของกาการินในวันที่ 12 เมษายน เคนเนดี้ได้เว็บบ์ในความเป็นไปได้ของโครงการไปดวงจันทร์ แต่เมื่อได้เห็นประมาณการค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า 20 พันล้านดอลล่าห์สหรัฐ เขาก็ได้ดีเลย์การตัดสินใจไว้ก่อน แต่ในช่วงอาทิตย์ถัดมาหลังเกิดเหตุการณ์ที่อ่าวหมู (19 เมษายน) เคนเนดี้ได้ปรึกษาให้ลินดอน บี. จอห์นสัน รองประธานาธิบดีและ Chairman ของ National Aeronautics and Space Council ในประเด็นของการแข่งขันด้านอวกาศกับโซเวียต โดยเป็นที่ชัดเจนว่าหนึ่งในโปรแกรมสำคัญที่เคนเนดี้ขอให้จอห์นสันนำไปพิจารณาคือ Lunar Program หรือการส่งคนไปดวงจันทร์ และหลังจากนั้น 1 วัน (20 เมษายน) เคนเนดี้ก็ได้ส่ง Memorandum ให้จอห์นสันไปอีกฉบับโดยมีประเด็นสำคัญคือ

มีความเป็นไปได้ที่จะชนะโซเวียตในการส่งห้องแล็บไปบนอวกาศ หรือทำภารกิจโคจรรอบดวงจันทร์หรือส่งจรวดพาคนไปกลับดวงจันทร์หรือไม่ หรือมีโครงการอวกาศอย่างอื่นที่เราพอจะมีโอกาสชนะอย่างแน่นอนหรือไม่?

John F. Kennedy, Memorandum for Vice President, 20 April 1961

ในวันที่ 21 เมษายน เคนเนดี้ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อถึงแนวคิดของโครงการอวกาศว่า “จากเรามีโอกาสที่จะไปถึงดวงจันทร์ก่อนพวกรัสเซีย เราก็ควรจะทำ” ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่เคนเนดี้พูดถึง Lunar Program ต่อสาธารณะชนก่อนการประกาศอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม และด้วยท่าทีนี้ก็เป็นที่ชัดเจนของบทบาทของ Moon Race ในทัศนะของเคนเนดี้ในการแสดงอำนาจของสหรัฐอเมริกาต่อการแข่งขันกับโซเวียตในระหว่างสงครามเย็น

การสำรวจความคิดเห็นของลินดอน บี. จอห์นสัน

ภายในช่วง 2 อาทิตย์หลังจากการพูดคุยกับเคนเนดี้ จอห์นสันก็ได้เริ่มทำการพิจารณาโครงการอวกาศอย่างถี่ถ้วน เริ่มจากการปรึกษากับทางเทคนิคกับ National Aeronautics and Space Council และ NASA ณ จุดนั้นก็เป็นจุดที่เวอร์เนอร์ ฟอน บราวน์ อดีตนักวิทยาศาสตร์นาซีผู้คิดค้นจรวด V-2 ในฐานะหัวหน้าของ Marshall Space Flight Center เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นจากการตอบรับจอห์นสันไปว่า “เรามีโอกาสที่จะส่งนักบิน 3 คนไปโคจรรอบดวงจันทร์ก่อนพวกโซเวียต” และ “โอกาสอันดีที่จะชนะโซเวียตในการพายานนำมนุษย์ไปลงจอดบนดวงจันทร์” โดยหากทุ่มหมดหน้าตัก ก็มีโอกาสที่จะทำสำเร็จภายในปี 1967 หรือ 1968

เวอร์เนอร์ ฟอน บราวน์, จอห์น เอฟ. เคนเนดี้และลินดอน บี. จอห์นสันที่ Redstone Arsenal Airfield ในปี 1962 – ที่มา NASA

หลังจากได้คำปรึกษาจากทางฝั่งวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีแล้ว จอห์นสันได้เริ่มไปคุยกับภาคการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐลำดับสูง ๆ และได้ค้นพบว่าหลายคนเห็นด้วยที่จะซัพพอร์ตการเร่งพัฒนาโครงการอวกาศแต่ก็มีบางคนบ้างที่ลังเลอยู่ เชื่อได้ว่าการที่มีสมาชิกระดับสูงของภาคการเมืองมีทิศทางที่ค่อนข้างเห็นด้วยก็คงเป็นมุมมองจากสถาวะของสงครามเย็นที่เห็นว่าอเมริกาต้องสร้างภาพลักษณ์อะไรสักอย่างในการแสดงอำนาจและความเหนือขั้นกว่าของสหรัฐอเมริกา หลังจากถูกมองว่าเป็นแต้มต่อในเรื่องอวกาศมานักต่อนัก

Urgent National Needs, 25 พฤษภาคม 1961

ก่อนสิ้นสุดทศวรรษนี้ กับการพาคนไปสู่ดวงจันทร์และพากลับมาอย่างปลอดภัย ไม่มีโครงการอวกาศใดที่จะน่าประทับใจต่อมนุษยชาติ หรือสำคัญต่อการสำรวจอวกาศในระยะยาว และจะไม่มีโครงการอื่นใดที่จะยากและราคาสูงเท่านี้ในการบรรลุผล

​Urgent National Needs

เคนเนดี้ประกาศโครงการไปดวงจันทร์อย่างเป็นทางการในการประชุม Joint Session of Congress ในวันที่ 25 พฤษภาคม 1961 เท็ด ซอเรนเซนที่ปรึกษาและผู้ร่างสุนทรพจน์ของเขาตั้งแต่สมัยเป็นวุฒิสภาได้บันทึกไว้ว่าหลังจากการประชุม Joint Session of Congress เคนเนดี้ได้ดูมีความกังวลต่อท่าทีของสภากับการประกาศของเขา แต่ซอเรนเซนก็ได้คาดการณ์ไว้ว่ามันเป็นเพียงรูปการตอบสนองทั่วไปของสภาเท่านั้น ซึ่งก็เป็นไปตามที่ซอเรนเซนกล่าวไว้ จากการสำรวจของลินดอน บี. จอห์นสันในช่วงก่อนหน้าก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าผู้มีอำนาจส่วนใหญ่ในสมัยนั้นค่อนข้างซัพพอร์ตโครงการอันหลุดโลก (จริง ๆ ) ชิ้นนี้

การสนับสนุนของผู้มีอำนาจไม่ใช่เรื่องที่อยู่คงทนนัก หลังจากที่โครงการเริ่มไปได้ไม่นานพวกเขาเหล่านั้นก็เริ่มเห็นการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลและเริ่มที่จะคัดค้านและเสนอการตัดงบมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงในฝั่งของประชาชนจากที่ค่อนข้างมีความสนใจก็เริ่มมีการเปลี่ยนท่าทีไปในทิศทางเดียวกันจนเมื่อประมาณกลางยุค 60 โครงการอวกาศก็เป็นหนึ่งในโครงการที่ประชาชนอยากให้ตัดงบมากที่สุด เนื่องจากเห็นว่าเม็ดเงินนี้ควรถูกนำไปใช้กับกิจการเพื่อผลประโยชน์ทางตรงของประชาชนมากกว่า เคนเนดี้เคยสนทนากับเว็บบ์ในเดือนกันยายน 1963 ถึงปัญหาของโครงการอวกาศว่า “มันไม่เป็นแง่บวกในเชิงการเมืองเท่าไหร่ (ในสถานการณ์ตอนนั้น)”

จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ต่อสภาคอนเกรส – ที่มา National Air and Space Museum

อย่างไรก็ตามเขาก็ได้คิดกลยุทธ์ในการนำเสนอโครงการอวกาศต่อประชาชนในการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 1964 ที่จะมาถึงโดยการโยงเข้ากับเรื่องการเพิ่มความมั่นคงของชาติต่อการรับมือกับสงครามเย็น น่าเสียดายที่เขาไม่ได้อยู่พิสูจน์ว่าเขาคิดถูกเกี่ยวกับกลยุทธนี้หรือไม่ เคนเนดี้ถูกลอบสังหารในเวลา 2 เดือนต่อมาในเดือนพฤศจิกายน คริสตศักราช 1963 ลินดอน บี. จอห์นสันขึ้นเป็นรักษาการณ์แทนและได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 36 ของสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการในปี 1964

ในยุคหลัง ๆ ได้มีการวิเคราะห์กันว่าหากเคนเนดี้ไม่ถูกลอบสังหารในปี 1963 โฉมหน้าของโครงการไปดวงจันทร์ก็อาจเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงจากที่ประจักษ์ในปัจจุบันจากท่าทีของเคนเนดี้ต่อโครงการอวกาศในช่วงที่เขามีชีวิตอยู่

การพยายามรักษาชีวิตของโครงการของเจมส์ อี. เว็บบ์

จากเสียงคัดค้านที่มากยิ่งขึ้น ทำให้เจมส์ อี. เว็บบ์ในฐานะของผู้อำนวยการนาซ่าต้องพยายามหาวิธีทำให้โครงการไปดวงจันทร์อยู่ได้ตลอดรอดฝั่งเช่นกัน เขาได้ใช้วิธีต่าง ๆ ในการรักษาชีวิตของโครงการตั้งแต่กลยุทธในการของบเกินจริงเพื่อให้พิจารณาลดลงมาแล้วยังอยู่ในเกณฑ์ที่ทำให้โปรเจกต์ดำเนินต่อได้ไปจนถึงการใช้เส้นสารและการเจรจาต่าง ๆ กับผู้มีอิทธิพล

ด้วยเม็ดเงินมหาศาลที่จำเป็นต้องใช้ เว็บบ์ได้โน้มน้าวทั้งฝั่งของประธานาธิบดี, สภาและหน่วยงานรัฐอื่น ๆ เมื่อเว็บบ์สามารถล็อบบี้สมาชิกสภาและหน่วยงานรัฐได้มันก็ทำให้การดำเนินงานเป็นไปได้อย่างราบรื่นมากขึ้น และการล็อบบี้ฝั่งของประธานาธิบดีทำให้เว็บบ์สามารถโน้มน้าวในการใช้คำสั่งประธานาธิบดีในเรื่องที่มีสภาขวางอยู่ได้เพิ่มเติม ในปี 1965 งบของ NASA เป็นอัตราส่วนถึง 5.3% ของงบประมาณประจำปีนั้น โดย NASA ได้ใช้งบส่วนนี้ในการพัฒนาโปรเจกต์และจ้างบุคลากรจำนวนมหาศาลเพื่อทำงานให้เสร็จภายใน deadline หรือก่อนปี 1970

เจมส์ อี. เว็บบ์และลินดอน บี. จอห์นสันในห้องทำงานรูปไข่ ทำเนียบขาว ปี 1967 – ที่มา Yoichi Okamoto

ท่ามกลางการการพัฒนาของโครงการไปดวงจันทร์ กระแสความไม่พอใจก็ยังคงดำเนินต่อไปแต่เว็บบ์ก็ยังคงรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของโครงการให้ยังพอเดินต่อไปได้ โปรเจกต์ได้หยุดชะงักไปครั้งหนึ่งหลังจากโศกนาฎกรรมของภารกิจ AS-204 หรือที่เราอาจรู้จักกันในชื่อ Apollo 1 ที่นักบินทั้ง 3 เสียชีวิตภายในยาน แต่หลังจากนั้นปีกว่า ๆ โครงการก็เริ่มดำเนินการต่อจนปลายปี 1968 ยาน Apollo 8 ก็ได้โคจรรอบดวงจันทร์ได้สำเร็จ

We came in peace for all mankind?

กลางแดดอันร้อนระอุของเดือนกันยายนปีคริสศักราช 1962 ที่มหาวิทยาลัยไรซ์ รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ได้กล่าวสุนทรพจน์ยาวกว่า 17 นาทีที่เรียกขอเสียงสนับสนุนจากอเมริกันชนในการส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ หลังจากนั้น 7 ปี รอยเท้าแรกของมนุษย์ชาติก็ได้ถูกประทับลง ณ ทะเลแห่งความเงียบสงบบนพื้นผิวของดวงจันทร์ และสุนทรพจน์นี้ก็กลายเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างหนึ่งมาจนถึงในปัจจุบัน

ในช่วงเวลาสั้น ๆ งบประมาณและผลกระทบต่าง ๆ ของโครงการอวกาศได้หลงลืมไป ความยินดีได้เข้ามาสู่สหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศแรกของโลกที่สามารถนำมนุษย์ไปยืนบนเทหฟากฟ้าอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นทางการฑูตหรือข้อความแสดงความยินดีทั้งอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ แผ่นป้ายเล็ก ๆ ได้ถูกยึดติดบนขาข้างหนึ่งของ Lunar Module สลักข้อความว่า “ณ ที่นี้มนุษย์จากโลกได้ก้าวเท้าแรกบนดวงจันทร์ กรกฎาคม คริสตศักราช 1969 เรามาอย่างสันติเพื่อมนุษยชาติทั้งมวล”

หลังจากเรื่องราวทั้งหมด เรื่องของการเมืองสงครามและการแสดงอำนาจ สิ่งที่ถูกนำขึ้นไปบนดวงจันทร์คือข้อความว่าเรามาอย่างสันติเพื่อมนุษยชาติทั้งมวล, Apollo 11 Lunar Plaque – ที่มา NASA

ความปิติยินดีผ่านไปได้ไม่นาน โครงการ Apollo 12 ได้เกิดขึ้นกับความสนใจของมวลชนที่น้อยลงเรื่อย ๆ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับ Apollo 13 ทำให้เราเริ่มตระหนักว่าอวกาศไม่ได้เป็นการเดินทางที่ปลอดภัยและสะดวกสบายเหมือนอย่างการเดินทางแบบอื่น ๆ ทั่วไป หลังจากนั้นไม่นาน โครงการ Apollo ได้ถูกตัดงบลงไปทำให้ต้องยกเลิกภารกิจ 3 ภารกิจสุดท้ายหรือ Apollo 18, 19 และ 20 ไป

การเมืองส่งผลต่อโครงการ Apollo อย่างชัดเจนอย่างความกังวลของการรักษาตำแหน่งและภาพลักษณ์ของผู้มีอำนาจ การล็อบบี้บุคคลและองค์กรเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ หรือแม้แต่การสร้าง Propaganda เพื่อปลุกใจความรักชาติอเมริกัน แต่ในทางอ้อมแล้ว มันก็ยังสะท้อนถึงปัญหาด้านสังคมต่าง ๆ ตั้งแต่ในความกังวลถึงความจำเป็นของโครงการอวกาศที่จะดูดกลืนทรัพยากรอันมีค่าจำนวนมากของประเทศไป จนถึงความไม่พอใจของภาคประชนชนในรูปแบบการเรียกร้องให้ลดงบประมาณของโครงการอวกาศนี้ลงเพื่อนำใช้ในสิทธิต่าง ๆ ที่พวกเขาสมควรได้รับ

เพลง Whitey On the Moon ที่ตั้งคำถามว่าคนผิวขาวได้ขึ้นไปดวงจันทร์ขณะที่หลายคนยังต้องรับผลกระทบจากความยากจน

เราคงไม่รู้ว่าหรือมันเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องหรือไม่ หรือหากอเมริกาไม่ตัดสินใจไปดวงจันทร์เมื่อ 60 ปีที่แล้วผลลัพธ์มันจะเป็นไปในทิศทางใด แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่ามันจะเป็นเรื่องของการเมืองสงครามและการแสดงอำนาจอย่างไร ประวัติศาสตร์ก็ได้ถูกจารึกไปแล้ว เคนเนดี้ก็เลือกประกาศที่จะไปดวงจันทร์ในปี 1961 และถูกลอบสังหารในปี 1963 นีล อาร์มสตรองได้เป็นมนุษย์คนแรกที่เหยียบดวงจันทร์ในปี 1969 วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็เติบโตอย่างก้าวกระโดดในเวลาต่อ ๆ มา และด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผลของการกระทำในครั้งนั้นได้เปลี่ยนโฉมหน้าของประวัติศาสตร์มนุษยชาติไปตลอดกาล

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

แมว วาราบิโมจิ ปิศาจสปาเกตตี้บินได้