SpaceX เผยดีไซน์ยานอวกาศสำหรับ Deorbit สถานีอวกาศนานาชาติ ลงสู่บรรยากาศโลก

หลังจากที่ NASA ได้ทำการศึกษาแผนในการจัดการกับสถานีอวกาศนานาชาติ หลังจากปี 2030 ก็ได้ข้อสรุปออกมาว่า ทางเลือกที่ดีที่สุด ก็คือการบังคับให้สถานีอวกาศนานาชาติ ตกกลับลงมาสู่บรรยากาศของโลก โดยตัวเลือกนี้ เป็นหนึ่งในอีกหลาย ๆ ตัวเลือกที่ NASA ได้ศึกษาไว้ใน International Space Station Deorbit Analysis Summary โดยตัวเลือกอื่น ๆ นั้น ก็เช่น การค่อย ๆ แยกชิ้นส่วนของสถานีฯ และนำกลับมายังโลก หรือการผลักให้สถานีฯ ขึ้นไปอยู่ในวงโคจรที่สูงขึ้น หรือแม้กระทั่งการส่งต่อตัวสถานีอวกาศนานาชาติให้เอกชนเข้ามาดูแลต่อ

อย่างไรก็ตาม เป็นที่แน่ชัดแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ NASA ได้ประกาศว่า SpaceX จะเป็นบริษัทเอกชนที่เข้ามารับหน้าที่ศึกษาและพัฒนายานอวกาศที่จะใช้สำหรับการจุดเครื่องยนต์ในทางตรงกันข้ามกันการเคลื่อนที่ (Retrograde) ทำให้สถานีอวกาศนานาชาติ ตกกลับลงมาเผาไหม้ในบรรยากาศ NASA Selects International Space Station US Deorbit Vehicle โดยประกาศดังกล่าว ได้เกิดขึ้นในวันที่ 26 มิถุนายน 2024

วันที่ 18 กรกฎาคม 2024 SpaceX ได้ออกมาเปิดเผยภาพ ในขณะที่ NASA มีการจัดแถลงข่าว NASA Provides Background on Space Station Deorbit Planning โดยมี Sarah Walker ผู้จัดการโครงการ Dragon ของ SpaceX เข้าร่วมการแถลงข่าวด้วย

ภาพจำลองยานอวกาศ Dragon รุ่นพิเศษ ที่จะใช้ในการ Deorbit สถานีอวกาศนานาชาติ ที่มา – SpaceX

SpaceX ได้เปิดเผยแผนในการสร้างยานอวกาศ Dragon รุ่นพิเศษ แต่ในส่วนของ Trunk นั้น จะยาวกกว่ายาน Dragon ในรุ่นปกติ และมีแผง Solar Arrays ขนาดใหญ่ ติดมาเพิ่มเติมนอกเหนือจากแผงที่ติดอยู่กับบริเวณ Trunk โดยท้ายของตัว Trunk นั้น จะมีเครื่องยนต์จำนวนมาก ซึ่ง SpaceX ได้ระบุว่าจะใช้เครื่องยนต์แบบ Draco Engine ทั้งหมด 46 ตัว (16 ตัวอยู่ที่บริเวณ Capsule และ 30 บริเวณ Trunk) จะมีแรงขับมากกว่า 6 เท่าและสามารถจุเชื้อเพลิงได้มากกว่าถึง 4 เท่า ของยาน Dragon ในรุ่นปกติ โดยจะมีแรงขับรวมกันอยู่ที่ประมาณ 10,000 นิวตัน

NASA ได้คำนวณออกมาว่า ในการ Deorbit สถานีอวกาศนานาชาตินั้น จะต้องใช้ Delta-V (การเปลี่ยนแปลงความเร่ง) อยู่ที่ 57 เมตรต่อวินาที (m/s) เพื่อบังคับให้สถานีตกลงมาอยู่ในวงโคจรที่จะเกิดการ Decay หรือการลดความเร็วจากแรงเสียดทานในบรรยากาศ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นจากการ Burn เป็นซีรีส์หลาย ๆ ครั้ง

โดยจุดที่สถานีอวกาศนานาชาติตกกลับลงมานั้นจะอยู่ในบริเวณมหาสมุทรที่ห่างไกลผู้คน ชิ้นส่วนโดยมากจะถูกเผาไหม้ในบรรยากาศและชิ้นส่วนที่หลงเหลือจะตกกลับลงสู่ทางตอนใต้มหาสมุทรแปซิฟิก

สถานีอวกาศนานาชาติในปัจจุบัน ถ่ายจาก Docking Port ของยาน Dragon ที่มา – NASA

Sarah Walker จาก SpaceX ได้กล่าวในงานแถลงข่าวว่า ข้อดีของการใช้การออกแบบแบบนี้นั้น อยู่ตรงที่ SpaceX ไม่ต้องพัฒนายานอวกาศใหม่ขึ้นมาทั้งหมด และสามารถใช้ชิ้นส่วนของยานที่ได้รับ Certificate จาก NASA แล้วได้ รวมถึงระบบ Avionics และระบบ Docking ที่จะใช้การเชื่อมต่อกับ International Docking Adapter ฝั่งหน้าสุดของสถานีอวกาศนานาชาติ

สำหรับสัญญาการ Operate ตัวยาน US Deorbit Vehicle นี้ จะมีวิธีการ Operate ที่แตกต่างจากสัญญาการว่าจ้างในโครงการอย่าง Commercial Resupply Program (CRS) หรือ Commercial Crew โดย NASA จะว่าจ้างให้ SpaceX ศึกษา พัฒนา และส่งมอบเท่านั้น คนที่จะ Operate จะเป็น NASA ร่วมกับ SpaceX จะไม่เหมือนกรณีของ CRS หรือ Commercial Crew ที่เป็นการว่าจ้างแบบ 100% โดยการปล่อย ก็จะเกิดขึ้นผ่านการว่าจ้างจรวดจากโครงการ NASA Launch Services Program (อ่าน – NASA เลือกจรวดสำหรับปล่อยยานอวกาศอย่างไร รู้จัก Launch Services Program) ซึ่งก็เดาไม่ยากว่าก็คงเป็น Falcon 9 หรือ Falcon Heavy อยู่ดี เนื่องจากดีไซน์มันมีรากฐานมาจากยาน Dragon เดิม

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.