สรุปบรรยากาศ การปล่อย Europa Clipper หลังพายุเฮอริเคนถล่ม

14 ตุลาคม 2024 เวลาประมาณเที่ยงตรง ณ ฐานปล่อย หรือประมาณห้าทุ่มตามเวลาประเทศไทย จรวด Falcon Heavy ได้บินขึ้นจากฐานปล่อย LC-39A ใน NASA Kennedy Space Center แหลมคะเนอเวอรัล ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา พาเอายาน Europa Clipper เดินทางสู่ดาวพฤหัสบดี เพื่อเริ่มต้นการสำรวจดวงจันทร์ยูโรปา ที่จะเปลี่ยนความเข้าใจที่เรามีต่อการก่อกำเนิดของชีวิตในระบบสุริยะในทศวรรษถัดไป แต่กว่าการเดินทางของ Europa Clipper จะเริ่มต้นได้นั้น เรียกได้ว่าไม่ง่ายเลยทีเดียว จากปัญหามากมาย ดราม่า คิวจรวด ปัญหาการถูกสั่งห้ามบินของ SpaceX และที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือพายุเฮอริเคน Helene และ Milton ที่พัดล่มไม่กี่วันก่อนการปล่อย

Europa Clipper บินขึ้นด้วยจรวด Falcon Heavy จากฐานปล่อย LC-39A ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

ในตอนนี้ทีมงานจะพาเดินทางไปยังแหลมคะเนอเวอรัล เพื่อเก็บบรรยากาศการปล่อยยานอวกาศ Europa Clipper ลำนี้กัน และก็ถือเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ไปในตัวด้วยเพราะเชื่อว่า เราคงจะได้พูดถึงยานอวกาศลำนี้ยาว ๆ ไม่ต่ำกว่าสามสิบปีข้างหน้า

สำหรับเรื่องราวการปล่อยในทางเทคนิค ให้อ่านในบทความ ทำไมการส่ง Europa Clipper เป็นภารกิจแพงและยากที่สุดของ SpaceX

ก่อนอื่น คงต้องไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ให้ฟังกันก่อนว่า Europa Clipper นั้นสร้างเสร็จตั้งแต่ช่วงกลางปี 2024 และได้ถูกเคลื่อนย้ายจาก NASA Jet Prospulsion Laboratory หรือ JPL ในแคลิฟอร์เนีย มายัง NASA Kennedy Space Center เพื่อรอการปล่อย โดยในขั้นตอนสุดท้ายนี้ NASA ก็จะติดตั้งแผง Solar Arrays ขนาดใหญ่เป็นอุปกรณ์ชิ้นสุดท้าย ก่อนที่จะนำมาประกอบกับ Payload Adapter ของจรวด Falcon Heavy และเข้าสู่กระบวนการปิดฝาครอบยานหรือ Encapsulation ที่เกิดขึ้นหลักสัปดาห์ก่อนกำหนดการเดิม

ยิ่งภารกิจใหญ่ ก็ยิ่งเจอปัญหามากมาย

กำหนดการการปล่อยเดิมของ Europa Clipper นั้นคือวันที่ 10 ตุลาคม 2024 โดยตัวเลขนี้มาจาก Launch Window หรือห้วงเวลาของการปล่อย ซึ่งเปิดตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม ไปจนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน หมายความว่าหากมีการเลื่อนการปล่อยหรือเกิดปัญหา NASA จะต้องปล่อยภายในต้นเดือนพฤศจิกายน ไม่เช่นนั้นอาจต้องรออีกหลักปี

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่มีดราม่าเรื่อง Transistor ที่ใช้ในแผงวงจรของยานดันหลุดเสป็ค ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นเมื่อตัวยานต้องบินผ่านสนามแม่เหล็กของดาวพฤหัสบดี ซึ่งเราเคยรายงานไปในบทความ Europa Clipper เจอปัญหาใหญ่ในขั้นสุดท้ายก่อนปล่อย หลังพบอุปกรณ์ไม่ตรงเสป็ค แต่ทาง NASA ก็ออกมาบอกว่ากรณีดังกล่าว ไม่ส่งผลต่อการทำงานของตัวยาน และเลือกที่จะไม่รื้อ Europa Clipper ออกมาแล้วประกอบใหม่ (ก็แน่หล่ะ เพราะประกอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว)

ยาน Europa Clipper ขณะถูกประกอบในห้องคลีนรูมของ JPL ในแคลิฟอร์เนีย เดือนมิถุนายน 2023 ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

จริง ๆ แล้ว Europa Clipper เป็นภารกิจที่สำคัญมาก ๆ (ภายในจะเรียกกันว่า High Profile Mission) ทำให้ตารางคิวของ Europa Clipper ถูกเซ็ตให้เป็น Priority แรก ๆ ซึ่งในปี 2024 นี้ก็ดันเกิดหลายเหตุการณ์บันเทิงขึ้นเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนปล่อยภารกิจ Crew-9 จากกรณี Starliner อ่าน – Crew-9 ภารกิจที่สร้างประวัติศาสตร์หลาย ๆ อย่างให้กับวงการอวกาศ มาเป็นวันที่ 28 กันยายน 2024 ซึ่ง SpaceX ถึงกับต้องย้ายการปล่อยจากเดิมที่จะปล่อยในฐานปล่อย LC-39A ใน NASA Kennedy Space Center ไปเป็น SLC-40 ใน Cape Canaveral Space Force Station แทน เนื่องจากไม่ต้องการให้ตารางการปล่อยใกล้กับ Europa Clipper เกินไป

และอีกอย่างก็คือ จรวด Falcon 9 ในปีนี้นั้นเกิดเหตุที่ทำให้ต้องถูกสั่งห้ามบินจาก FAA ถึงสองครั้ง จากปัญหา Second Stage ทั้งคู่ ซึ่งกำหนดการเดิมของ Europa Clipper นั้น อยู่ในช่วงที่ FAA กำลังให้ SpaceX ตรวจสอบปัญหาพอดี แต่ก็มีการอนุโลมให้ SpaceX ดำเนินภารกิจต่อไปได้เนื่องจาก Profile ของภารกิจ ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว ทำให้ SpaceX สามารถปล่อยยานอวกาศ Europa Clipper และ Hera ยานของ ESA ที่ถูกปล่อยก่อน Europa Clipper ไม่กี่วันได้

ทีมงานสเปซทีเอช ได้รับเชิญจาก NASA ให้ร่วมเข้าชมการปล่อยยาน Europa Clipper โดยทาง NASA ได้ส่งจดหมายเชิญสื่อในช่วงกลางเดือนกันยายน 2024 ระบุวันปล่อยไว้ว่าเป็นวันที่ 10 ตุลาคม 2024

พายุเฮอริเคน Milton พัดถล่ม NASA อย่างรุนแรง ก่อนการปล่อย

7 ตุลาคม 2024 เพียงแค่ 1 วันก่อนเราเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาทาง NOAA และศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติสหรัฐฯ ​(National Hurricane Center) ได้ประการเตือนภัยพายุเฮอริเคน Milton ซึ่งกำลังก่อตัวในอ่าวเม็กซิโกและมีทิศทางเคลื่อนที่เข้าสู่คาบสมุทรฟลอริดา จากทิศตะวันตกสู่ตะวันออก เส้นทางของพายุพาดผ่านเมืองใหญ่อย่างเทมปา โอลันโด และจะออกสู่มหาสมุทรแอตแลนติกบริเวณแหลมคะเนอเวอรัล ที่ตั้งของ NASA Kennedy Space Center พอดี ทาง NOAA ได้ประเมินสถานการณ์ว่าจำเป็นต้องมีการอพยพ แจ้งเตือนภัยเฮอริเคนระดับ 5 โดยพายุจะพัดขึ้นฝั่งเริ่มต้นในวันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม จนถึงวันที่ 11 ตุลาคม

ก่อนหน้านี้แค่หลักสัปดาห์ สหรัฐฯ เองก็เพิ่งบอบช้ำจากพายุเฮอริเคน Helene ที่พัดถล่มฟลอริดา และตอนกลางของสหรัฐฯ ไป NASA เองก็ถือว่าเป็นผู้ประสบภัยเช่นกัน และต้องเลื่อนการปล่อยภารกิจ Crew-9 ไปเป็นช่วงหลังพายุ

ด้วยการแจ้งเตือนดังกล่าว เราได้รับอีเมลภายในจาก NASA ว่าให้เตรียมตัวสำหรับ “การเลื่อนปล่อย” ซึ่ง NASA ประเมินว่าการปล่อยจะเกิดขึ้นได้ในวันที่ 12 ตุลาคม ล่าช้าจากกำหนดเดิมไป 2 วัน ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น NASA ก็ประกาศอย่างเป็นทางการบนเว็บไซต์ว่า การปล่อยภารกิจ Europa Clipper ได้ถูกเลื่อนออกไป โดยตัวยานจะถูกเก็บรักษาอย่างปลอดภัยในอาคารของ SpaceX ใน Launch Complex 39A สถานที่ที่มันได้ถูกประกอบเข้ากับจรวด Falcon Heavy

ทีมงานแวะไปยัง NASA Jet Propulsion Laboratory บ้านของยาน Europa Clipper

และนั่นเองที่ทำให้นำมาสู่อีเมลฉบับที่สอง แจ้งเตือนสื่อว่า “อย่าเพิ่งเดินทางมายัง NASA Kennedy Space Center” เนื่องจากทาง NASA อยู่ระหว่างการรับมือกับพายุ และจะปิดตัวลง มีเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่จำเป็นเท่านั้นที่เข้ามายังพื้นที่ได้ ทำให้เราต้องปรับแผนการเดินทาง เข้าสู่สหรัฐฯ ในทางฝั่งตะวันตกในรัฐแคลิฟอร์เนีย และพักคอยที่เมือง Los Angeles ก่อน ระหว่างวันที่ 8 จนถึง 11 ตุลาคม เพื่อรอสัญญาณจาก NASA

ในโอกาสนี้เอง เราจึงได้เดินทางไปยัง NASA Jet Prospulsion Laboratory ใน Pasadena แคลิฟอร์เนีย บ้านเกิดของ Europa Clipper ที่ในปีที่แล้ว เราเองก็เคยพาทุกคนมาเยี่ยมเยือนขณะที่ Europa Clipper กำลังถูกประกอบขึ้น สามารถย้อนกลับไปอ่านได้ในบทความ เยือน NASA Jet Propulsion Laboratory จากห้องควบคุม สู่โรงเก็บโรเวอร์

สถานการณ์ตอนนั้นเรียกได้ว่ากดดันมากสำหรับทั้งฝั่ง International Media และฝั่ง NASA เอง เนื่องจากการปล่อย Europa Clipper มีข้อจำกัดด้านเวลามาก ๆ ในส่วนของ Launch Window และที่สำคัญคือ Europa Clipper ได้ถูกเติมเชื้อเพลิงเข้าไปแล้วในวันที่ 3 ตุลาคม 2024 ที่ผ่านมา ทำให้ยังไง NASA และ SpaceX ต้องหาเวลาปล่อย Europa Clipper ให้เร็วที่สุดทันทีหลังพายุผ่านไป

ภาพถ่ายจากเฮลิคอปเตอร์ที่มีมงานบินถ่ายบรรยากาศวันที่สดใสที่กลับมาสู่คะเนอเวอรัล ที่มา – Nattanon Dungsuneanrn/Spaceth

จนในที่สุด เราก็ได้รับแจ้งจาก NASA ในวันที่ 11 ตุลาคม ว่าสถานการพายุได้ผ่านไปแล้ว NASA อยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์หลังพายุเพื่อดำเนินการต่อ และการปล่อยน่าจะเกิดขึ้นได้ในวันที่ 13 ตุลาคม

เราเดินทางเข้ามายังแหลมคะเนอเวอรัลในวันที่ 11 ตุลาคม 2024 บรรยากาศท้องฟ้าสดใส ไม่น่าเชื่อว่านี่เป็นเพียแค่หนึ่งคืนหลังพายุพัดถล่ม พบเห็นความเสียหายกับบ้านเรือนสิ่งปลูกสร้างบ้าง รวมถึงมีเศษซากต้นไม้ ใบไม้ ล้มเละทะกระจัดกระจายตามเส้นทางต่าง ๆ

จรวด Falcon Heavy ถูกเคลื่อนมายังฐานปล่อย LC-39A เรียบร้อย ในวันที่ 12 ตุลาคม ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

แต่ในวันที่ 12 ตุลาคม ซึ่ง NASA Kennedy Space Center ได้กลับมาเปิดทำการอย่างเป็นทางการ NASA ก็ตัดสินใจเลื่อนการปล่อยจากวันที่ 14 ตุลาคมเนื่องจาก SpaceX พบปัญหาเพียงเล็กน้อยในตัวจรวด Falcon Heavy และต้องการเช็คให้มั่นใจ NASA และ SpaceX เรียกการตัดสินใจเช่นนี้ว่า “Paranoia Scrub” การเลื่อนการปล่อยนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับพายุเฮอริเคน Milton แต่อย่างใด ในวันเดียวกันนั้น SpaceX ได้เคลื่อนเอาจรวด Falcon Heavy มาตั้งบนฐานปล่อย LC-39A เตรียมพร้อมสำหรับการปล่อย และพยากรณ์อากาศสำหรับการปล่อยอยู่ที่ 95% เรียกได้ว่าอากาศไม่ใช่ปัญหาสำหรับการปล่อยในรอบนี้เลย

วันปล่อยยาน เริ่มต้นการเดินทางยาวนานหกปี

14 มิถุนายน 2024 ทีมงาน NASA พาเราเข้าสู่พื้นที่ NASA Kennedy Space Center โดยนัดหมายสื่อเวลา 6 โมงตรง เพื่อเตรียมเข้าไปตั้งกล้อง Remote Camera ในรอบนี้ ทีมงานเลือกจุดตั้งกล้องเป็นบริเวณข้างรั้วฐานปล่อย ใกล้กับ Liquid Oxygen Farm ที่ใช้เติมเข้าตัวจรวด เพื่อบันทึกภาพจรวด Falcon Heavy บินขึ้นโดยมีกล้องจากสำนักข่าวต่าง ๆ เป็นฉากหน้า ต้องบอกว่ารอบนี้เพื่อน ๆ สื่อไม่ได้มากนัก เนื่องจากหลายคนได้เดินทางไปยังฐานปล่อย Starbase ของ SpaceX ในเท็กซัส เพื่อรายงานข่าวการปล่อย Starship เที่ยวบินที่ 5 ลงจอดบนแขนกลช่วยจับสำเร็จกลางอากาศสำเร็จ

จรวด Falcon Heavy พร้อมกับยาน Europa Clipper ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

ในรอบนี้เราจะเห็นว่า Falcon Heavy ไม่ได้มีการติดตั้งขาตั้งสำหรับลงจอดเลยทั้งในส่วน Side Booster ทั้งสองและจรวดท่อนกลางหรือ Core Booster เนื่องจากในภารกิจนี้ SpaceX จะต้องรีดเอาประสิทธิภาพของ Falcon Heavy ในการส่งยานอวกาศหนักกว่า 6 ตันไปยังวงโคจรไกลว่าดาวอังคาร ทำให้ไม่เหลือเชื้อเพลิงสำหรับกลับมาลงจอด ทำให้นี่เป็นภารกิจในรูปแบบ Fully Expendable

บรรยากาศการตั้งกล้องช่วงเช้านั้นเป็นไปได้ด้วยดี ซึ่งเอาจริง ๆ ต้องถือว่าโชคดีมากสำหรับบรราดาสื่อต่าง ๆ เนื่องจากกำหนดการเดิม จะเป็นการตั้งกล้อง 24 ชั่วโมงก่อนเวลาการปล่อย ทำให้มีความเสี่ยงทั้งในเรื่องของแสง, สภาพอากาศ, แบตเตอร์รี่ของกล้อง ที่จะต้องถูกตั้งทิ้งไว้หลักวัน แต่พอเป็นการตั้งกล้องตอนเช้า ถ่ายตอนเที่ยงเก็บตอนบ่าย ทำให้โอกาสที่จะพลาดน้อยลงมาก บางคน (รวมถึงทีมงานสเปซทีเอชเอง) เลือกที่จะไม่คลุมกล้องด้วยถุงพลาสติกด้วยซ้ำ เนื่องจากไม่มีโอกาสที่ฝนจะตก (แต่ไม่แนะนำเนื่องจากกล้องอาจเสียหายจากฝุ่นและของเหลว ของแข็งต่าง ๆ ที่ปลิวกระจุยจากแรงของเครื่องยนต์จรวด)

กล้องจากสำนักต่าง ๆ จับต้องไปที่ Falcon Heavy บนฐานปล่อย LC-39A ของ SpaceX ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

หลังจากการตั้งกล้อง Remote Camera เรียบร้อย ช่วงเวลาประมาณ 8 โมงเช้า เราก็เดินทางกลับมายังบริเวณ Press Site ซึ่งอยู่ห่างจากฐานปล่อย 7 กิโลเมตร และเป็นที่ตั้งของนาฬิกานับถอยหลังอันโด่งดัง และภาพการถ่ายทอดสดการปล่อยที่คุ้นเคย สิ่งที่น่าสนใจคือในวันนี้ NASA ไม่ได้มีการชักธงชาติสหรัฐฯ ขึ้นสู่ยอดเสา คาดว่าธงชาติน่าจะปลิวหายไปแล้วจากพายุเฮอริเคน แต่ก็น่าสนใจว่าทำไมไม่มีใครไปซื้อมาใหม่ ทั้งที่เวลาก็ผ่านไปแล้วกว่าสองวัน

ภาพจากบริเวณ Press Site ที่คุ้นเคย จะสังเกตว่าธงชาติสหรัฐฯ บนยอดเสานั้นหายไป ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

การปล่อยในวันนี้เป็นไปอย่างเรียบง่าย ในบริเวณ Press Site นั้น ได้มีเจ้าหน้าที่ผู้บริหารจากทั้ง NASA Jet Propulsion Laboratory และ Applied Physics Laboratory หรือ APL จาก John Hopkins University สองผู้สร้างยาน Europa Clipper มาร่วมเป็นสักขีพยานและชมการปล่อย และแน่นอนว่า APL แจกของเยอะมาก ทั้งสติกเกอร์ แผ่นพับ โปสการ์ดที่ระลึกต่าง ๆ ในขณะที่ JPL ไม่เอาอะไรมาแจกเลย แต่เอา “Lucky Peanuts” มาตั้งเพื่อเป็นสิริมงคล

Lucky Peanuts ของดีประจำ JPL เสริมดวงชะตา สร้างเสริมสิริมงคล ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

และท้ายที่สุด เวลา 12 นาฬิกา 6 นาที เครื่องยนต์ Merlin Engine จำนวน 27 ตัวของ Falcon Heavy ก็ได้ถูกจุดขึ้นในวินาทีที่ 0 ของการปล่อย และเราก็ได้เห็นจรวด Faclon Heavy พุ่งทะยานออกจากฐานปล่อย LC-39A อย่างสวยงาม ท่ามกลางท้องฟ้าสดใส และการปล่อยที่ราบรื่นไม่มีปัญหาใด ๆ เลย

Falcon Heavy พุ่งทะยานขึ้นเริ่มต้นการเดินทางหกปีของ Europa Clipper ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

องศาการบินขึ้นของ Falcon Heavy ในรอบนี้ได้รับการ Pitch to Down Range หรือการเอียงตัวเข้าหาทิศทางการบินแบบขนานกับพื้นโลกอย่างรวดเร็ว ตามปกติของการปล่อยในลักษณะ High Energy Orbit เพื่อส่งให้ Europa Clipper มีอัตราเร็วสูงสุดทันทีหลังจากที่แยกตัวกับจรวด โดยในภาพด้านล่างเราจะเห็นการ Pitch เกิดขึ้นเพียงแค่ไม่กี่เมตรจากการบินขึ้นเลยทีเดียว และเนื่องจาก Booster ทั้งสองไม่ต้องกลับมาลงจอด ทำให้ Profile การปล่อยรอบนี้ เน้นไปที่การเพิ่มอัตราเร็วให้กับ Europa Clipper สูงสุด

Falcon Heavy บินขึ้นในวินาทีที่ 16 หลังจากการปล่อย ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

และจรวด Falcon Heavy ก็ได้บินลับขอบฟ้าไปอย่างรวดเร็ว เป็นความตื่นเต้นทางเสียงและทางภาพสุดท้ายในวันนี้ที่เราจะสัมผัสได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากไม่มีการกลับมาลงจอดที่ฐานปล่อยแต่อย่างใด ช่างภาพ นักข่าวหลากหลายสำนัก ทยอยเดินเข้าสู่อาคารเพื่อติดตามบรรยากาศการปล่อยผ่านทางการถ่ายทอดสด ในห้องปรับอากาศ ดีกว่ายืนอยู่บนสนามหญ้าท่ามกลางแดดร้อนของรัฐฟลอริดา

Falcon Heavy บินขึ้นประมาณวินาทีที่ 30 หลังการปล่อย และค่อย ๆ หายลับขอบฟ้าไป ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

การถ่ายทอดสดของ NASA ดำเนินต่อไปจนถึงการแยกตัวออกจากจรวดของ Europa Clipper ประมาณ 1 ชั่วโมงหลังจากการปล่อย เริ่มต้นการเดินทางสู่ดาวพฤหัสบดี ซึ่งหลังจากนั้น Europa Clipper ได้เชื่อมต่อตัวเองเข้ากับระบบ Deep Space Network เรียบร้อยสมบูรณ์ ทำให้การควบคุมตัวยานหลังจากนี้จะเกิดขึ้นโดยห้อง Mission Control ของ JPL ในรัฐแคลิฟอร์เนีย

หลังจากนั้นเวลาบ่ายสองโมง NASA ก็ได้เริ่มพานักข่าวหลากหลายสำนักกลับขึ้นรถอีกครั้งเพื่อไปเก็บกล้อง Remote Camera ที่ได้ตั้งไว้ ทำให้เราสามารถเห็นภาพบรรยากาศการปล่อย Falcon Heavy ได้อย่างใกล้ชิด ซึ่งภาพที่ทีมงานถ่ายออกมาในรอบนี้ก็จะเป็นในลักษณะเบื้องหลังการทำงานของทีมสื่อเป็นหลัก

จรวด Falcon Heavy บินขึ้นจากฐานปล่อย ท่ามกลางการจับจ้องของกล้องจากสื่อหลากหลายเจ้า ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

ภาพนี้บอกอะไรเราได้บ้าง จุดที่เราตั้งกล้องอยู่ตรงนี้ห่างจากตัวจรวดที่ 400 เมตรเพียงเท่านั้น นับว่าใกล้ที่สุดทีมงานเคยถ่ายมา โดยหากดูว่าเสียงเดินทางด้วยความเร็ว 343 เมตรต่อวินาที แปลว่าภาพแรกที่กล้องจะถ่ายได้ก็จะอยู่ที่ประมาณวินาทีกว่า ๆ หลังจากเสียงจากตัวจรวดเดินทางมายังอุปกรณ์สั่งลั่นชัตเตอร์ด้วยเสียง บวกกับเวลาการตอบสนองของกล้องประมาณหนึ่งวินาทีนิด ๆ ทำให้ภาพนี้เกิดขึ้นหลังจากจรวดบินขึ้นได้ประมาณ 3-4 วินาที

Falcon Heavy ทะยานขึ้นทิ้งไว้เพียงฝุ่นควันที่เกิดขึ้นจากพลังมหาศาลของเครื่องยนต์ Merlin Engine 27 ตัว ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

และทั้งหมดนี้ก็เป็นอันจบสิ้นภารกิจการเดินทางมาส่งยาน Europa Clipper ในเที่ยวบินเดินทางสู่ดาวพฤหัสบดี Europa Clipper จะเดินทางถึงดาวอังคารในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2025 ใช้เวลาแค่ 4 เดือนนิด ๆ เท่านั้น เป็นหนึ่งในการเดินทางสู่ดาวอังคารที่เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์

หลังจากนั้นตัวยานจะบินโฉบดาวอังคารแล้วใช้ Gravity-Assists เหวี่ยงมันกลับมาที่โลก และใช้ Gravity-Assists ของโลกสองครั้งเหวี่ยงไปยังดาวพฤหัสบดี ซึ่งท้ายที่สุดจะเดินทางถึงดาวพฤหัสบดีในปี 2030

ท่ามกลางอุปสรรคมากมายความท้าทายในเชิงวิศวกรรม และสภาพอากาศที่ไม่สามารถคาดเดาได้ การได้เห็น Europa Clipper บินขึ้นในที่สุด เป็นสิ่งที่มีทีมงานรู้สึกว่าพลาดไม่ได้ เนื่องจากยานอวกาศลำนี้ จะอยู่กับเราไปอีกไม่ต่ำกว่า 30 ปี เปรียบเหมือนยานอวกาศอย่าง Cassini ที่เดินทางไปสำรวจดาวเสาร์และสร้างความรู้ความเข้าใจมากมายอันเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์หรือ Planetary Science ปัจจุบัน

ทีมงาน ถ่ายภาพกับจรวด Falcon Heavy บอกลาจรวด Booster ทั้งสามลำ และยานอวกาศ Europa Clipper ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

จวบจนปัจจุบัน มียานอวกาศที่เคยเดินทางไปโคจรรอบดาวพฤหัสบดีเพียงแค่ 1 ลำเท่านั้นคือยาน Juno ที่เดินทางไปถึงในปี 2016 นอกจากนี้มีแค่ยาน Voyager 1, 2 ที่ทำการสำรวจอย่างละเอียดผ่านการบินโฉบ Europa Clipper จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่เราจะวางรากการศึกษา Planetary Science ให้กับคนยุคต่อ ๆ ไปมากกว่าร้อยปี การมาส่ง Europa Clipper ในวันนี้ จึงเป็นภารกิจที่เราจะไม่ลืม

“จากที่เห็นตั้งแต่ยังถูกสร้าง วันนี้เราได้มาส่งเธอแล้วนะ ขอให้นำพาซึ่งความรู้และปัญญาสู่มวลมนุษยชาติ เหมือนกับที่รุ่นพี่ของเธอได้ฝากเอาไว้ จนกว่าจะมีองค์ความรู้ใหม่ ที่ดีกว่า”

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.