อพอลโล 13 ภารกิจที่ความผิดพลาดไม่ใช่ตัวเลือก

11 เมษายน 1970 อพอลโล 13 ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ ด้วยความหวังจะเป็นภารกิจที่ 3 ของมนุษย์ชาติในการลงเดินบนดาวต่างดวง แต่มันกลับจบลงด้วยอุบัติเหตุที่เกือบพรากชีวิตนักบินอวกาศทั้ง 3 ไปแล้ว มาย้อนดูกันว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างการเดินทางไปดวงจันทร์ของอพอลโล 13 และทีมงานที่ภาคพื้นโลกได้ช่วยชีวิตภารกิจนี้ได้อย่างไรกัน

เปลี่ยนตัวลูกเรือในวินาทีสุดท้าย

ตามเดิมนั้นภารกิจอพอลโล 13 จะประกอบไปด้วยผู้บัญชาการ Jim Lovell หนึ่งในสามคนแรกที่ออกเดินทางไปดวงจันทร์เมื่อปี 1968 กับภารกิจอพอลโล 8 Fred Haise นักบินยานลงดวงจันทร์ (Lunar Module) และ Ken Mattingly จะเป็นนักบินยานควบคุม (Command Module) ซึ่งทั้งสองคนจะได้ขึ้นบินในภารกิจนี้เป็นภารกิจแรกอีกด้วย

และในระหว่างการฝึกก่อนขึ้นบิน ชุดนักบินตัวจริงกับตัวสำรองอีก 3 คน อันได้แก่ John Young, Jack Swigert และ Charles Duke ก็ได้ฝึกซ้อมไปพร้อม ๆ กัน และปัญหาก็เกิดขึ้นจาก Charles Duke ที่ดันไปติดโรคหัดเยอรมันจากลูก ๆ ของเขา ทำให้ลูกเรือทั้งตัวจริงและตัวสำรองมีโอกาสติดโรคนี้ได้

นั่นทำให้ทีมแพทย์ต้องไปนั่งไล่เช็คประวัติลูกเรือทุกคน ก่อนจะพบว่า Ken Mattingly คือคนเดียวที่ไม่เคยเป็นโรคนี้ และเขานั้นเสี่ยงที่จะเป็นหัดเยอรมันระหว่างเดินทางไปดวงจันทร์ ซึ่งนาซาเองไม่อาจปล่อยให้ลูกเรือป่วยในอวกาศได้ จึงตัดสินใจเปลี่ยนตัวเขากับ Jack Swigert นักบินยานควบคุมตัวสำรอง เพียง 3 วันก่อนที่อพอลโล 13 จะออกเดินทางเท่านั้น

ลูกเรือทั้งสามคน เพียงหนึ่งวันก่อนขึ้นบิน – ที่มา NASA

Ken Mattingly ไม่เคยเป็นหัดเยอรมันเลยหลังจากนั้น ก่อนจะได้ไปดวงจันทร์กับภารกิจอพอลโล 16 ในภายหลัง พร้อมกับ John Young และ Charles Duke ก๊วนลูกเรือตัวสำรองของภารกิจนี้นั่นเอง

ฮูสตัน เรามีปัญหาแล้ว…

14 เมษายน หลังจากปล่อยยานไปได้ราว 55 ชั่วโมง อพอลโล 13 อยู่ห่างจากโลกไปราว ๆ 330,000 กิโลเมตร Sy Liebergot ทีมงานในห้องควบคุมบนโลกได้พบว่ามีสัญญาณเตือนความดันต่ำในถังไฮโดรเจนของยาน Odyssey (ชื่อของยานควบคุม) ซึ่งพวกเขาก็ได้สั่งการให้ลูกเรือเปิดสวิตช์คนถังไฮโดรเจนและออกซิเจน โดยนี่เป็นขั้นตอนปกติที่ทีมภาคพื้นสั่งให้ลูกเรือทำ และนี่คือครั้งสุดท้ายที่บรรดาลูกเรืออพอลโล 13 มีความหวังว่าพวกเขาจะได้ลงดวงจันทร์…

สองนาทีให้หลัง ลูกเรือบนยานระบุว่าพวกเขาได้ยิงเสียงระเบิดที่ค่อนข้างดัง ไฟในยานตก และระบบขับดันทำงานขึ้นในทันที ยานทั้งลำสั่นไหวราวกับถูกพุ่งชนด้วยอะไรบางอย่าง การสื่อสารกับโลกขาดหายไปเกือบ 2 วินาทีด้วยกัน ในตอนนี้เองที่ Swigert รายงานกับศูนย์ควบคุมว่าบนยานได้เกิดปัญหาขึ้นแล้ว ถังออกซิเจนอ่านค่าได้เป็น 0 และเซลล์เชื้อเพลิงที่สร้างพลังงานให้กับยานด้วยการผสมไฮโดรเจนรวมกับออกซิเจนเองก็ถูกปิดลงไป เนื่องจากไม่มีออกซิเจนให้ใช้

ภาพจำลองยานลงดวงจันทร์ (ซ้ายสุด) ยานควบคุม (ตรงกลาง) และยานบริการ (ขวาสุด) ในภารกิจอพอลโล 13 – ที่มา NASA

ลูกเรือไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องปิดยานควบคุมลงในทันที และหลังว่าจะสามารถเปิดมันกลับขึ้นมาใช้ได้ในภายหลัง ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ในยานลงดวงจันทร์ ชื่อ Aquarius ซึ่งได้กลายมาเป็นเรือชูชีพสำหรับภารกิจนี้แล้ว และนั่นแปลว่าอพอลโล 13 จะไม่ได้ลงดวงจันทร์ไปโดยปริยาย

แต่นั่นก็คงไม่สำคัญมากแล้ว เพราะตอนนี้พวกเขาต้องหาทางกลับมาให้ถึงโลกอย่างปลอดภัยเสียก่อน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายสักเท่าไหร่

ทางกลับบ้านที่แสนยากเย็น

หลังจากที่ถังออกซิเจนเกิดระเบิดขึ้นมานั้น อพอลโล 13 อยู่ไกลกว่าโลกเกินที่จะหันหัวกลับได้ในทันทีแล้ว นั่นทำให้พวกเขาต้องใช้วิธี Free-return trajectory ซึ่งก็คือการใช้แรงดึงดูดของดวงจันทร์เหวี่ยงยานกลับสู่โลกนั่นเอง

แน่นอนว่าวิธีนี้อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากทรัพยากรบนยานที่ร่อยหรอลง แต่ก็ไม่มีวิธีไหนที่อาจช่วยลูกเรือได้ดีกว่านี้อีกแล้ว (และถ้าไม่ทำอะไร พวกเขาจะอยู่บนเส้นทางที่จะเฉียดโลกไป 4,000 กิโลเมตร ซึ่งนั่นก็คือการสิ้นสุดภารกิจที่สุดแสนจะเศร้าโศก) ดังนั้นพวกเขาจะมุ่งหน้าต่อไปอ้อมหลังดวงจันทร์ และใช้เวลาอีกราว 3 วันเพื่อเดินทางกลับโลก ปัญหาก็คือ ตอนนี้ลูกเรือทั้ง 3 คนกำลังอยู่ในยานลงดวงจันทร์ ที่ถูกออกแบบมาสำหรับนักบินอวกาศแค่ 2 คน สำหรับการทำภารกิจแค่ 1 วันครึ่งเท่านั้น

แผนภาพของวงโคจรแบบ Free-return trajectory – ที่มา NASA

สิ่งที่ลูกเรือเผชิญในตอนนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่แบตเตอรี่มือถือเหลืออยู่เพียงแค่ 5% แต่ต้องหาทางกลับที่พัก ขณะกำลังท่องเที่ยวอยู่ในเมืองที่ไม่รู้จัก พลังงานบนยานลงดวงจันทร์นั้นถูกใช้สอยอย่างคุ้มค่าที่สุด นั่นหมายความว่าพวกเขาต้องปิดอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็นทุกอย่าง เพื่อรีดเอาพลังงานมาใช้สอยให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

แม้ออกซิเจนจะไม่ใช่ปัญหาสำหรับอพอลโล 13 เนื่องจากในยานลงดวงจันทร์มีสำรองไว้อยู่เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว แต่คาร์บอนไดออกไซด์ที่ลูกเรือหายใจออกมาต่างหากที่น่ากลัว เนื่องจากบนยานลงดวงจันทร์มีกระป๋องลิเธียมไฮดรอกไซด์ ซึ่งใช้สำหรับดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์อยู่อย่างจำกัด ซึ่งทำให้ลูกเรือและทีมภาคพื้นต้องประยุกต์หาวิธีที่จะนำกระป๋องของยานควบคุม ที่เป็นทรงลูกบาศก์ ให้เข้ากับช่องบนยานลงดวงจันทร์ ที่เป็นทรงกระบอกให้ได้ (และดันไปตรงกับสำนวนของอังกฤษที่ว่า “Square peg in a round hole” แบบไม่ได้ตั้งใจอีกด้วย)

ระหว่างที่ลูกเรือกำลังปรับแต่งให้กระป๋องดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์บนยานควบคุม เข้ากับบนยานลงดวงจันทร์ให้ได้ – ที่มา NASA

อุปสรรคมากมายที่ผ่านเข้ามา

แม้ทีมของนาซาและลูกเรือจะสามารถต่อเวลานาทีสุดท้ายของภารกิจนี้มาได้จนเกือบถึงโลกแล้ว แต่ก็ยังมีอุปสรรคสำคัญอีกหลายอย่างที่รอคอยอยู่ และอย่างแรกก็คือ พวกเขาจะต้องเปิดระบบบนยานควบคุมขึ้นมาใหม่ก่อนจะกลับถึงโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยถูกทดสอบมาก่อนระหว่างภารกิจ และก็ไม่มีใครสามารถรับประกันว่าจะสำเร็จหรือไม่อีกด้วย

ทีมในศูนย์ควบคุมบนพื้นโลก ขณะกำลังแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับภารกิจอพอลโล 13 – ที่มา NASA

John Aaron วิศวกรของนาซา ผู้ช่วยชีวิตภารกิจอพอลโล 12 ให้รอดจากการยกเลิกมาแล้ว Ken Mattingly ชายผู้ถูกดีดออกจากภารกิจเพียง 3 วันก่อนเดินทาง พร้อมกับวิศวกรอีกหลาย ๆ คน ได้มารวมตัวกันทดสอบแก้ปัญหากับยานจำลองบนโลก โดยพวกเขาต้องจำลองสภาพอากาศที่หนาวเหน็บเกือบเท่าจุดเยือกแข็ง เนื่องจากยานต้องรักษาพลังงานไว้ ซึ่งนั่นทำให้ไอน้ำในอากาศควบแน่นเกาะตามแผนควบคุมบนยาน และทำให้เกิดความหวาดกลัวกันว่าจะเกิดไฟฟ้าลัดวงจรขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากบทเรียนที่นาซาได้รับจากภารกิจอพอลโล 1 ทำให้มีการป้องกันระบบอิเล็กทรอนิกส์บนยานได้ดียิ่งขึ้น และนี่ก็เป็นหนึ่งในตัวแปรที่ช่วยชีวิตภารกิจอพอลโล 13 ด้วยเช่นกัน

เมื่อยานควบคุมสามารถเปิดติดอีกครั้ง ลูกเรือก็พร้อมแล้วที่จะย้ายจากยานลงดวงจันทร์กลับมาเพื่อเตรียมตัวกลับโลก เนื่องจากยานควบคุมเป็นยานลำเดียวที่มีแผ่นกันความร้อน ซึ่งจำเป็นสำหรับการฝ่าชั้นบรรยากาศเพื่อกลับมาลงจอดได้อย่างปลอดภัย ซึ่งระหว่างนี้วิศวกรของนาซากับวิศวกรจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต ได้ร่วมมือกันหาวิธีแยกตัวระหว่างยานควบคุมกับยานลงดวงจันทร์อย่างปลอดภัย เพื่อไม่ให้ยานทั้งสองชนกันระหว่างกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก ที่อาจส่งผลต่อชีวิตของลูกเรือได้

ความผิดพลาดไม่ใช่ตัวเลือก

หลังจากแยกตัวออกจากยานบริการหรือ Service Module นี่เป็นครั้งแรกที่ลูกเรือได้เห็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับยานแบบจัง ๆ โดยแผงด้านข้างทั้งแผงได้ระเบิดออกมาเลย ซึ่งทำให้เกิดความกังวลขึ้นมาว่าแผ่นกันความร้อนของยานอาจมีความเสียหายเกิดขึ้น และนั่นก็คือจุดสิ้นสุดของภารกิจที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ร่องรอยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับยานบริการ – ที่มา NASA

อพอลโล 13 ขาดการติดต่อกับโลกไปราว 6 นาที ซึ่งนานกว่าที่ยานปกติจะเผชิญระหว่างกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกเกือบ 2 นาทีด้วยกัน และนั่นคือความหวาดกลัวที่ทีมงานภาคพื้นไม่อยากให้เกิดขึ้น

เมื่อยานควบคุมโผล่ออกมาจากกลีบเมฆ พร้อมกับร่มชูชีพทั้งสามกางออกอย่างปลอดภัย เสียงเฮเฉลิมฉลองดังก้องขึ้นทั้งศูนย์ควบคุมที่ฮูสตัน อพอลโล 13 กลับโลกอย่างปลอดภัย เมื่อวันที่ 17 เมษายน 1970 ปิดฉากภารกิจกู้ภัยอันยิ่งใหญ่นี้ลงอย่างสวยงาม

อพอลโล 13 ลงจอดบนมหาสมุทรแปซิฟิคอย่างปลอดภัย – ที่มา NASA

เรื่องราวที่หลายคนอาจไม่ค่อยรู้ก็คือ เมื่อกลับมาถึงโลกแล้วนั้น Fred Haise นักบินยานลงดวงจันทร์ ติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะของเขา เนื่องจากศูนย์ควบคุมกลัวว่าการปล่อยปัสสาวะของลูกเรือออกสู่อวกาศอาจทำให้ยานหลุดออกจากเส้นทางกลับโลกได้ และบังคับให้ลูกเรือต้องเก็บปัสสาวะของพวกเขาเอาไว้ในยานตลอดการเดินทางกลับ ซึ่ง Haise แก้ปัญหาส่วนนี้ด้วยการดื่มน้ำน้อยกว่าปกติ

อุปสรรคที่อพอลโล 13 เผชิญนั้นไม่ใช่เรื่องที่แก้ได้ง่าย ๆ แต่ก็เป็นข้อพิสูจน์อีกครั้งว่า หากเราไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาหรือปัญหาที่ถาโถมเข้ามา มันก็ย่อมมีหนทางที่จะให้เราก้าวข้ามมันไปได้ แม้เราอาจจะต้องสูญเสียอะไรบางอย่างไปก็ตาม ดั่งเช่นภารกิจนี้ที่สูญเสียโอกาสลงเดินบนดวงจันทร์ แต่ก็ได้กลับมาพบเจอกับคนที่พวกเขารักอีกครั้งได้สำเร็จนั่นเอง

ภาพของ Jim Lovell ขณะกำลังฝึกซ้อมปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์ ดินแดนที่เขาไม่เคยได้ลงไปสัมผัส – ที่มา NASA

เรียบเรียงโดยทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง:

NASA | Apollo 13

NASA | Apollo 13 Press Kit

Space.com | Apollo 13: Facts About NASA’s Near-Disaster

Universe Today | 13 Things that Saved Apollo 13

อวกาศ การเมือง กีฬา เพลง | Spaceth.co | Main Stand | แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ | Bangkok Uni. Int'l | OSK138