สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศตั้งแต่ปี 1998 และได้เริ่มมีมนุษย์ขึ้นไปอยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา และก็ได้มีการขยายต่อเติมโครงสร้างของตัวสถานีฯ ต่อมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน ที่ตัวสถานีฯ มีพื้นที่มากกว่า 900 ลูกบาศก์เมตร หรือประมาณบ้านเดี่ยวขนาดกลางหนึ่งหลัง บ้านหลังนี้มีผู้คนเข้าออกและอยู่อาศัยมาเป็นเวลากว่า 24 ปีแล้ว รวมนักบินอวกาศที่เดินทางมายังสถานีอวกาศมากกว่า 280 คน (สถิติในช่วงต้นปี 2024) จากมากกว่า 21 ประเทศ มากหลากหลายภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อและความเป็นอยู่ ดังนั้น พื้นที่ตรงนี้นอกจากจะเป็นห้องวิจัยในสภาวะไร้น้ำหนักแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นทั้งบ้าน ที่อยู่อาศัย ห้องกินข้าว ห้องนั่งเล่น ห้องดูหนัง ให้กับคนเกือบสามร้อยคนในเวลา 20 ปี นักวิจัยหลายคนจึงเชื่อว่า สถานีอวกาศนานาชาตินั้น มีคุณค่าในเชิงโบราณคดีในตัวมันเอง และสามารถใช้กระบวนการในทางโบราณคดี ศึกษาพฤติกรรมและความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับพื้นที่แห่งนี้
หัวข้อวิจัยนี้ได้สร้างความสนใจให้กับ Justin Walsh ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาตร์ศิลปะ โบราณคดี จาก Chapman University ในแคลิฟอร์เนีย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ Alice Gorman นักโบราณคดีจาก Flinders University ในออสเตรเลีย ให้ได้เริ่มศึกษาและทำงานวิจัยหลายชิ้นโดยศึกษาสถานีอวกาศนานาชาติผ่านกระบวนการทางโบราณคดี
ทั้งสองยังได้ก่อตั้ง The International Space Station Archaeological Project (ISSAP) และเปิดรับทุนวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ นำมาซึ่งหลากหลายงานวิจัยที่น่าสนใจ ตั้งแต่ปี 2022 และในปี 2024 นี้เราก็ได้เห็นงานวิจัยหลายชิ้นถูกตีพิมพ์ออกมาและเริ่มถูกนำมาพูดถึงในแวดวงวิชาการ
ก่อนอื่น ต้องอธิบายเรื่องของกระบวนการทางโบราณคดีก่อน วัตถุประสงค์ของโบราณคดีก็คือต้องการศึกษาพฤติกรรมของสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ว่าส่งผลหรือเชื่อมโยงจากสิ่งที่เราพบในปัจจุบันอย่างไร ซึ่งกระบวนการของมันก็คือ การเลือกจุดที่ต้องการศึกษา (ที่เราจะชอบเรียกกันว่า แหล่งโบราณคดี) และเริ่มต้นการขุดค้น (Excavation) ซึ่งขุดในที่นี้อาจไม่ได้หมายความว่าเป็นการเอาจอบไปขุดดินเสมอไป แต่คือการรวบรวมสิ่งที่เจอให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อนำสิ่งเหล่านั้นไปวิเคราะห์และตีความตามลำดับนั่นเอง
การทำงาน ISSAP จึงเรียกได้ว่าเป็นการใช้กระบวนการทางโบราณคดีในการศึกษาสถานีฯ และพยายามอธิบายวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่เกิดขึ้นบนสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งบางอย่างอาจจะไม่ได้ถูก “จดบันทึก” เอาไว้
งานชิ้นแรกที่เราอยากชวนมาดูก็คืองานที่ชื่อว่า Visual Displays in Space Station Culture An Archaeological Analysis เป็นการศึกษา ภาพถ่ายของบุคคลอันเป็นฮีโร่ หรือสัญลักษณ์ทางศาสนา วัฒนธรรม ที่ถูกแปะไว้ตามผนังยานของโมดูลฝั่งรัสเซียของสถานีอวกาศนานาชาติ โดยการศึกษาภาพถ่ายในช่วงปี 2000–2014 ที่ได้มีการรวบรวมมา รวมถึงได้มีการศึกษาว่า ภาพแบบไหน หรือของแบบไหน ที่จะถูกนำมาแปะไว้ ซึ่งเป็นมรดกทางแนวคิดมาตั้งแต่ยุคที่รัสเซีย เริ่มสร้างสถานีอวกาศ (ช่วงประมาณปี 1970 เป็นต้นมา) ด้วยเช่นกัน
ภาพที่ถูกนำมาศึกษา มีจำนวน 48 ภาพ ระหว่างภารกิจ Expedition 1 ในเดือนพฤศจิกายน 2000 ซึ่งเป็นภารกิจแรกที่มนุษย์เดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ จนถึง Expedition 39 ในเดือนเมษายนปี 2014 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 14 ปี
จากการศึกษาพบว่า การเอาอะไรไปแปะในสถานีฯ เกิดขึ้นตั้งแต่ภารกิจแรกที่มนุษย์เดินทางไปใช้ชีวิตในสถานีอวากศนานาชาติในภารกิจ Expedition 1 เลยทีเดียว เป็นการเอาภาพพระเยซู 10 เซนติเมตรไปแปะบริเวณด้านบน (OVHD หรือ Overhead) เหนือประตูที่เป็นชุดเชื่อมต่อกับยานด้านหลังสุดของสถานีในฝั่งรัสเซีย และนี่ก็ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเอาภาพถ่าย สติกเกอร์ หรือสัญลักษณ์ทางศาสนาเข้าไปแปะตาม ๆ กัน
ในสถานีอวกาศนานาชาติฝั่งรัสเซีย เราจะสังเกตเห็นภาพถ่ายของนักบินอวกาศที่เป็นฮีโร่ ได้แก่ ภาพถ่ายของ Yuri Gagarin นักบินอวกาศคนแรกของสหภาพโซเวียต Konstantin Tsiolkovsky บิดาแห่งสมการจรวดชาวรัสเซีย Sergei Korolev บิดาแห่งจรวดของรัสเซีย โมเดลยานอวกาศ Kliper (กระสวยอวกาศขนาดเล็กของรัสเซียที่ถูกยกเลิกการพัฒนาไปในปี 2006) ภาพของ โบสถ์ Troitse-Sergieva Lavra นักบุญเซอร์เกแห่งราโดเนียช (Saint Sergius of Radonezh) พระเยซู, พระแม่มารี และไม้กางเขนที่อยู่ในบริเวณที่กลางที่สุดของทุกอย่าง และใต้นั้นมีธงชาติรัสเซียอยู่
ทีมวิจัยพบว่าภาพถ่าย และสิ่งของตกแต่งเหล่านี้ บางชิ้นยังถูกเคลื่อนย้าย ถูกเปลี่ยนที่ ตามการเวลา แสดงว่ามีความพยายามในการจัดระเบียบ แตกต่างจากอะไรที่แปะอยู่ในฝั่งของสหรัฐฯ ที่จะไม่ค่อยพบการเคลื่อนย้ายเท่าไหร่
ทีมวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าการที่สิ่งของต่าง ๆ ภาพถ่ายเหล่านี้ ถูกนำมากองรวมอยู่ในบริเวณเดียวกัน เป็นการสะท้อนการสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ (Hierotopy) หรือบริเวณที่มีความสำคัญ ที่ถูกใช้อยู่ในภาพถ่าย หรือจุดที่เรามักจะเห็นการถ่ายทอดสดลงมายังโลก หรือเป็นพื้นหลังให้กิจกรรมสำคัญ ๆ ซึ่งในกรณีของผนังยานในโมดูล Zvezda นี้ เป็นจุดที่ใช้ในการเชื่อมต่อกับยานส่งเสบียง Progress หรือยานส่งนักบิน Soyuz และเป็นพื้นที่ที่ใช้ในการรับประทานอาหารร่วมกันของนักบินอวกาศ
ในงานวิจัย Visual Displays in Space Station Culture An Archaeological Analysis นั้น รวมสิ่งของที่ถูกรวบรวมและศึกษาอยู่ที่ 75 ชิ้น ในสถานการณ์ 414 รูปแบบที่แตกต่างกัน และได้ทำกราฟเพื่อแสดงจำนวนของสิ่งของที่ปรากฎในบริเวณผนังโมดูล Zvezda พบ Pattern ที่น่าสนใจว่า การเพิ่มเข้ามาและออกไปของสิ่งของจะเกิดขึ้นเป็นคลื่น คือพอไปถึงจุดพีคสุด จะลดลงมา (ก็คือแกะออก) และมีการติดกลับเข้าไปใหม่ เป็นแบบนี้เรื่อย ๆ (ซึ่งเราคิดว่าน่าสนใจมาก เพราะเมื่อก่อนนี้เราก็คิดว่า สิ่งของมันจะถูกแปะและทับต่อ ๆ กันไปเรื่อย ๆ – นึกถึงการแปะสติ๊กเกอร์หลัง MacBook เหมือนกันนะ)
นอกจากนี้ยังพบว่าสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับศาสนา มีอัตราส่วนเป็นถึง 1 ใน 3 ของภาพถ่ายหรือสัญลักษณ์ทั้งหมด และก็พบว่าสัญลักษณ์ทางศาสนา บางทีก็ปรากฎกลับไปกลับมา ถ้าดูในแผนภาพเราจะสังเกตว่าบางช่วง สัญลักษณ์ทางศาสนาถูกแกะออกไปหมดเลยก็มี
นอกจากนี้ยังมีการสังเกต Pattern ของการวาง กล่าวคือในบริเวณนี้ จะมีโซนที่กระเถิบเข้าไปในกำแพง เรียกว่าเป็นซอก (niche) และบริเวณบนสุดที่ยื่นออกมา (top area) เรายังได้เห็น Pattern การเลือกของมาวางในสองบริเวณนี้ที่แตกต่างกันด้วย ได้แก่ ภาพถ่าย, สิ่งของทางศาสนา และที่สำคัญคือไม้กางเขน จะอยู่ในบริเวณซอกที่ลึกเข้าไป แต่ธงชาติ ป้ายภารกิจ (patch) ต่าง ๆ จะปรากฎในส่วนบนสุดที่ยื่นออกมา
สุดท้าย Walsh และทีม ก็ได้อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาพถ่ายเหล่านี้กันบริบททางประวัติศาสตร์ในหลากหลายมิติ รวมถึงการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ที่ในยุคของโซเวียตนั้นศาสนาเป็นสิ่งต้องห้าม ทำให้ในยุคของการสำรวจอวกาศโซเวียตเราแทบไม่เห็นการนำเอาศาสนามาพูดถึงเลย แต่ก็มีการพูดถึงศาสนาในเชิงสัญญะทางการเมือง เช่น การที่ Gagarin เคยพูดบนวงโคจรว่า I Don’t See God Up Here หรือบนนี้ไม่มีพระเจ้า (เราเคยพูดถึงสัญญะนี้ไว้ในบทความ “บนนี้ไม่มีพระเจ้า” สัญญะสำคัญที่อวกาศถูกใช้เพื่อการเมือง)
แต่พอการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 เราก็ได้เห็นการนำเอาสัญลักษณ์ทางศาสนาเข้ามาผูกกับอวกาศมากขึ้นในรัสเซีย รวมถึงบนสถานีอวกาศ Mir ของรัสเซียด้วย
และสุดท้ายสิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ สัญลักษณ์ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “Trinity” หรือตรีเอกภาพ ที่ไม่ใช่แห่งพระเจ้าแต่เป็นแห่งการสำรวจอวกาศรัสเซีย นั่นก็คือ Tsiolkovsky บิดาแห่งสมการจรวด, Gagarin นักบินอวกาศคนแรก และ Korolev บิดาแห่งจรวดและการสำรวจอวกาศรัสเซีย ที่บอกได้เลยว่า มีอวกาศรัสเซียที่ไหน ก็จะต้องเจอสามคนนี้อยู่ด้วยเสมอ
นอกจากนี้ทีมวิจัยก็ยังได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องของ “ความผู้ชาย” ในการเลือกแปะสิ่งของเหล่านี้ ซึ่งบริบทก็มีนักบินอวกาศที่เดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ 14% เท่านั้นที่เป็นผู้หญิง ดังนั้นเราจึงไม่ได้สังเกตเห็นความเป็น “ผู้หญิง” บนสถานีโดยเฉพาะกับฝั่งรัสเซีย มีข้อสังเกตก็คือเราไม่ได้เห็นภาพ “Valentina Tereshkova” นักบินอวกาศหญิงคนแรกของโซเวียต ปรากฎเลยในผนังของ Zvezda
แต่ก็มีการวิเคราะห์เช่นกันว่าที่ Tereshkova ยังไม่ปรากฎเพราะเนื่องจาก Tereshkova นั้นยังมีชีวิตอยู่ ไม่เหมือนกับ Gagarin ที่เสียชีวิตไปแล้ว หรืออีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ นักบินอวกาศ Alexei Leonov นักบินอวกาศคนแรกที่ออกไปทำ EVA นอกยาน ก็ได้ขึ้นไปปรากฎบนผนัง Zvezda ครั้งแรกในช่วงปี 2020 ซึ่งเกิดจากการที่เขาเพิ่งเสียชีวิตไปในปี 2019
อีกงานวิจัยนึงที่เพิ่งตีพิมพ์สด ๆ ร้อน ๆ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2024 ก็คืองานที่มีชื่อว่า Archaeology in space: The Sampling Quadrangle Assemblages Research Experiment (SQuARE) on the International Space Station หรือโครงการที่ชื่อว่า SQuARE โดยโครงการนี้ จะแบ่งจุดที่ต้องการศึกษาเป็นบริเวณต่าง ๆ ของสถานีอวกาศนานาชาติ เป็นสี่เหลี่ยม จำนวนทั้งหมด 6 บริเวณด้วยกัน โดยมีระยะเวลาในการทำการศึกษา 60 วัน ทุกวัน จะมีการบันทึกภาพในมุมเดิม จุดเดิมไปเรื่อย ๆ เพื่อดูการเคลื่อนย้าย การเข้ามาและออกไปของสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งจากข้อมูล สามารถรวมบรวมสถานการณ์ที่แตกต่างกันได้มากกว่า 5,438 รูปแบบ
งานวิจัยนี้เริ่มต้นในปี 2022 และถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการ Setup บริเวณสำหรับการขุดค้น (Excavation) บนสถานีอวกาศนานาชาติจริง ๆ และมีการใช้งานลูกเรือบนสถานีจริง ๆ ไม่ได้แค่ใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายที่ไม่ได้ตั้งใจเอามาใช้เพื่องานนี้ตั้งแต่แรก ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากนักบินอวกาศ Kayla Barron ลูกเรือ Expedition 67 ระหว่างวันที่ 21 มกราคม จนถึง 21 มีนาคม 2022
โดยพื้นที่ที่ทำการศึกษานั้น จะเลือกจากบริเวณที่ถูกออกแบบมาเพื่อมี Function การใช้งานอะไรซักอย่าง เช่นการทำ Maintenance หรือการเก็บสิ่งของที่ “ควรจะถูกใช้บริเวณนั้น” โดยพื้นที่ที่ศึกษาก็เช่น บริเวณ Node 2 ของสถานีหรือโมดูล Harmony และบริเวณ Square 05 ที่เป็นทางลงไปยังโมดูล Cupola และเป็นที่ตั้งของจุดออกกำลังกายและห้องน้ำของตัวสถานีอวกาศนานาชาติ
โดยความสัมพันธ์ที่ทีมวิจัยพบเจอก็ได้แก่ บริเวณพวกนี้ มักจะไม่ได้ถูกใช้งานตาม Function ของมัน แต่จะมีสิ่งของที่ไม่น่าจะอยู่ตรงนั้นก็ได้ ไปอยู่ และพื้นที่ส่วนมากมักจะถูกใช้สำหรับการ “เก็บสิ่งของ” แม้ว่าสิ่งของบางอย่างจะมีที่เก็บของมันอยู่แล้วก็ตาม
หรือพื้นที่ตรงหน้าห้องน้ำ เราก็จะเห็นการวางของใช้ส่วนตัวสำหรับใช้ในห้องน้ำ เช่น ทิชชู่เปียก ผ้าเช็ดหน้า อุปกรณ์โกนหนวด แต่ก็จะมี ของอะไรที่ไม่น่าจะอยู่ตรงนั้นด้วย เช่น คอมพิวเตอร์ (ฮา) นั่นหมายความว่าจริง ๆ แล้ว สถานีอวกาศนานาชาตินั้น มันรกด้วยนิยามในเชิงอัตวิศัย ด้วยข้อมูลจริง ๆ ไม่ได้แค่พวกเรามองภาพแล้วคิดไปเองว่ามันรก
ปัจจุบันทีมวิจัยกำลังอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ และเริ่มตีพิมพ์ Paper ออกมาเรื่อย ๆ ว่าพวกเขาพบเจอ Pattern อะไรที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจัดการพื้นที่บนสถานีอวกาศนานาชาตินี้บ้าง (โดยผลชิ้นแรก ๆ ก็ได้ออกมาแล้วใน Paper ด้านบน)
เรามองว่าวิธีการรวบรวมข้อมูลและการทำงานของทีม Walsh รวมถึงความจริงจังในการตีความข้อมูลโดยอาศัย Dataset จริง ๆ (และมีการเปิดเผยข้อมูลให้คนอื่นเอาไปใช้ด้วย) นั้นถือว่าจะเป็นประโยชน์ต่ออนาคตของการออกแบบสถานีอวกาศเป็นอย่างมาก ทั้งสถานีอวกาศ Lunar Gateway ที่กำลังจะไปโคจรรอบดวงจันทร์ หรือสถานีอวกาศเอกชนอื่น ๆ เช่น Axiom Space ที่อยู่ระหว่างการวางแผนพัฒนา (อ่าน – Axiom Space พัฒนาการและเบื้องหลังสู่ความพยายามสร้างสถานีอวกาศเอกชน)
สิ่งแรกที่เรานึกออกก็คือเหมือนเวลาเราจัดบ้านเหมือนกัน ว่าแต่ละที่มันมี Function ของมันตามที่สถาปนิก หรือนักตกแต่งภายในได้ออกแบบเอาไว้ แต่สุดท้ายพอใช้งานไปจริง ๆ เราก็จะพบกับ Function ของการใช้งานพื้นที่บางอย่าง เช่น อยู่ดี ๆ บันไดกลายเป็นที่วางของ หรือจะต้องมีเก้าอี้ตัวนึงที่เราเอาไว้วางเสื้อผ้าที่พึ่งซัก หรือของบางอย่างดันไปอยู่ในที่ที่ไม่ได้ออกแบบไว้ แต่เราก็จะจำได้ว่ามันอยู่ของมันตรงนี้ แม้มันจะไม่เข้ากับหมวดหมู่อื่นก็ตาม (ฮา)
หากเราทำความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ผ่านการใช้งานพื้นที่อย่างสถานีอวกาศได้ล่ะก็ ในอนาคตเราจะสามารถออกแบบสถานีอวกาศที่มีประสิทธิภาพขึ้นได้ และช่วยให้การท่องอวกาศไม่ได้เป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับคนจำนวนมาก
สำหรับใครที่ต้องการติดตามงานของ Walsh และทีม ก็สามารถเข้าไปติดตามผลงานวิจัยชิ้นใหม่ ๆ ได้จาก เว็บของโครงการ ISS Archeology ได้
และสุดท้ายในเมื่อเราก็คงหนีความจริงไม่พ้นว่า NASA เพิ่งประกาศแผนการเอาสถานีอวกาศนานาชาติกลับมาเผาไหม้ในบรรยากาศของโลกในช่วงปี 2030 เป็นต้นไป ก็ทำให้การศึกษาประวัติศาสร์เชิงพฤติกรรมของนักบินอวกาศกับสถานีอวกาศนานาชาตินั้น น่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญและควรได้รับการจดบันทึกไว้ในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญของการสำรวจอวกาศ
SpaceX เผยดีไซน์ยานอวกาศสำหรับ Deorbit สถานีอวกาศนานาชาติ ลงสู่บรรยากาศโลก
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co