ยูริ อเล็กเซเยวิช กาการิน หนึ่งในชื่อของนักบินอวกาศที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ตามประวัติศาสตร์ กาการินคือมนุษย์คนแรกที่เดินทางสู่อวกาศ และยังเป็นชายคนแรกที่โคจรรอบโลก เที่ยวบินของกาการิน ตัดหน้าการขึ้นสู่อวกาศของอลัน แชพเพิร์ด จากฝั่งอเมริกันในหลักสัปดาห์ จากการแข่งขันการสำรวจอวกาศที่ร้อนระอุในยุคสงครามเย็น สองขั้วอำนาจต่างแข่งขันครอบครองเทคโนโลยีอันสูงสุดที่พามนุษย์ชึ้นไปสู่อวกาศได้ แต่สุดท้ายไม่ว่าจะจากฝั่งอเมริกาหรือสหภาพโซเวียต ทั้งสองขั้วความคิดก็ต่างพบกับสิ่งเดียวกันเมื่อสายตาของมนุษย์มองทอดกลับลงมายังโลก ประสบการณ์ที่มนุษย์ร้อยปี พันปี หมื่นปี ไม่เคยมีใครได้พบได้เห็นมาก่อน
ในบทความนี้ เราจะมาย้อนดูความคิดที่เกิดขึ้นในวันที่มนุษย์เดินทางสู่ดินแดนใหม่ ว่าสุดท้ายแล้วมันเปลี่ยนวิธีคิดของเราอย่างไร โดยเราอาจจะไม่ได้เล่าถึงตัวเทคโนโลยี แต่ตอนนี้เราจะพูดกันถึงเรื่องสัญญะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในวันที่สวรรค์กับโลกมนุษย์กลายเป็นโลกเดียวกัน
ปี 1961 วันที่ 12 สิงหาคม ที่ภายหลังรัสเซียเลือกให้เป็น “วันนักบินอวกาศ” คือวันแรกที่มนุษย์เดินทางออกนอกแผ่นดินแม่เป็นครั้งแรก แผ่นดินแม่นี้ไม่ได้หมายถึงสหภาพโซเวียต ไม่ได้หมายถึงการค้นพบทวีปใหม่ แต่หมายถึง “โลก” ของเรา ก่อนหน้านี้การท่องอวกาศถูกวาดฝันไว้มานานแล้วผ่านนิยายวิทยาศาสตร์ เรื่องราวต่าง ๆ ถูกเสริมเติมแต่งด้วยจินตนาการของมนุษย์ผู้ยังไม่เคยก้าวเท้าพ้นออกจากโลก การตั้งถิ่นฐานในอวกาศ การบุกยึดโลกของมนุษย์ต่างดาว การตั้งอานานิคม ที่จินตนาการพาเราไปไกล อย่างไรก็ดี 12 สิงหาคม 1961 คือวันสำคัญที่แบ่งมนุษย์ออกเป็น 2 ยุคด้วยกัน คือยุคก่อนที่จะมีการสำรวจอวกาศ และยุคหลังจากที่มนุษย์ก้าวเท้าออกจากโลกของพวกเขาเป็นครั้งแรก
“Vostok” คือชื่อยานอวกาศลำแรกที่พามนุษย์เดินทางสู่ดินแดนใหม่นี้ รากศัพท์ของมัน วอสโต หรือวอสตอก แปลว่าทิศตะวันออก ซึ่งหลายคนอาจจะอ๋อว่าทำไมชื่อเมืองในรัสเซียที่อยู่ทางทิศตะวันออกถึงมีคำนี้ เช่น วลาดิวอสตอก หรือฐานปล่อยจรวดฝั่งตะวันออกที่ตั้งชื่อว่าวอสโตชินึย แต่อีกหนึ่งความหมายของคำว่าวอสตอก ยังแปลได้อีกว่า “ย่ำรุ่ง” หรือ “รุ่งอรุณ” ซึ่งเป็นหนึ่งในชื่อที่ถูกใช้งานบ่อยในจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญทางประวัติศาสตร์ NASA เองยังมีภารกิจที่ชื่อว่า “Dawn” ซึ่งแปลว่าย่ำรุ่งเช่นเดียวกัน เป็นภารกิจแรกที่นำเอาเทคโนโลยี Ion-Drive มาใช้กับยานอวกาศ การตีความคำว่าย่ำรุ่งในบริบทของการสำรวจอวกาศในภารกิจแรกจึงนับว่ามีความน่าสนใจ เพราะหลังจากยาน “ย่ำรุ่ง” นี่แล้ว ยานรุ่นต่อไปของโซเวียตถูกตั้งชื่อว่า Vodkhod หรือพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งมีความหมายไปทางเดียวกัน
The Atlantic เคยนำบทสุนทรพจแรกของกาการินหลังจากกลับจากอวกาศมาตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ แปลจากต้นฉบับภาษารัสเซีย ในต้นบทความนั้น มีการยกเอาคำพูดของ Alexander Nesmeyanov ซึ่งตอนนั้นเป็นประธาน Academy of Sciences of the Soviet Union บอกว่า “ในความสำเร็จครั้งนี้ทุกอย่างเป็นสัญญะหมดเลย ยานอวกาศชื่อว่าย่ำรุ่ง การที่เที่ยวบินถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศในตอนเช้า เปรียบเสมือนรุ่งอรุณแห่งยุคใหม่”
สำหรับใครที่ไม่คุ้นชิน การตีความแบบนี้เรียกว่า Semiology หรือสัญญวิทยา ซึ่งแนวคิดหลัก ๆ ของมันก็คือความหมายของสรรพสิ่งมิได้ดำรงอยู่ในตัวของสิ่งนั้นแต่อยู่ที่ความสัมพันธ์ของสิ่งนั้นกับสิ่งอื่น ๆ ภายใต้ระบบเดียวกัน ดังนั้นเวลาเราพิจารณาประวัติศาสตร์ เราจะไม่ได้มองแค่ว่าใครทำอะไรที่ไหน แต่เราจะมองไปถึงบริบทต่าง ๆ ประกอบ ลงไปถึงจิตนึกคิด ความรู้สึกของคน ว่าเหตุใดมันจึงออกมาเช่นนั้น
ที่เราเล่าเรื่องสัญญวิทยาก่อนก็เพราะว่าในบทความนี้เราจะต้องพิจารณา Context ต่าง ๆ เยอะมาก และไม่มีผิดมีถูก ขึ้นอยู่กะว่าเราจะตีความอย่างไร
โบกา เนียต! บนนี้ไม่มีพระเจ้า
“บนนี้ไม่มีพระเจ้า” หรือ “ผมมองไม่เห็นพระเจ้าข้างบนนี้เลย” เป็นหนึ่งในคำพูดที่ถูกบอกเล่าว่ากาการินได้พูดคำนี้ มีการทำโปสเตอร์ Propaganda ต่าง ๆ โดยใช้คำว่า “โบกา เนียต” ที่แปลว่า ไม่มีพระเจ้า เป็นคำพูดคู่กับรูปของนักบินอวกาศ อย่างไรก็ดี Firstorbit.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่จัดทำขึ้นในตอนครบรอบ 50 ปี การขึ้นสู่อวกาศของกาการิน (ในปี 2007) ได้มีการจัดทำเอกสารรวบรวมบทสนทนาระหว่างกาการิน กับศูนย์ควบคุม (ที่สื่อสารตรงกับ เซอร์เกย์ คาราลอฟ หัวหน้าโครงการอวกาศโซเวียตในตอนนั้น) ก็ไม่ได้มีหลักฐานปรากฎว่า กาการิน กล่าวถึงพระเจ้าแต่อย่างใด ทำให้เราอาจจะสงสัยว่า แล้ววาทกรรม (ที่ดูซ่อนสัญญะอย่างมีนัยสำคัญ) นี้มีที่มาจากไหนกันแน่ ?
ลองค้นลึกไปเรื่อย ๆ ก็เจอว่า วาเลนติน เปตรอฟ นักบินอวกาศเพื่อนสนิทของกาการิน เคยให้สัมภาษณ์ เอาไว้ เขาคาดว่าวาทกรรมที่อาจไม่มีอยู่จริงนี้มาจากผู้นำสหภาพโซเวียตเสียเองคือนิกิตา ครุชอฟ ซึ่งเป็นการดิสเครดิตศาสนาในตอนนั้น (ตามแนวคิดแบบสังคมนิยม) ซึ่งก็ถูกเป็นคำอธิบายที่เข้าท่าที่สุด ณ ตอนนี้
กรณีนี้เป็นตัวอย่างว่า การสำรวจอวกาศในตอนนั้นนอกจากใช้เพื่อแสดงอำนาจแล้วยังถูกใช้เป็น Counterexample กับศาสนา ด้วยการบอกว่า กาการิน เป็นนักบินอวกาศขึ้นไปถึงอวกาศ แต่กลับไม่พบพระเจ้าเลย ซึ่งในบริบทไทย ๆ เราก็อาจจะเคยได้ยินคนพูดกันว่า “ฝรั่งมันไปเหยียบพระจันทร์แล้ว คนไทยเราจะยังไหว้พระจันทร์อยู่อีกเหรอ?”
สวรรค์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกมนุษย์แล้ว
หนึ่งในวาทกรรมคล้าย ๆ กัน กับกรณีของกาการิน ได้แก่ตอนที่นักบินอวกาศในโครงการ Apollo 11 เดินทางไปเหยียบดวงจันทร์ ในตอนนั้นประธานาธิบดีนิกสัน ได้โทรศัพท์ครั้งประวัติศาสตร์ไปหานักบินทั้งสองบนดวงจันทร์ นิกสันได้พูดว่า “เพราะสิ่งที่พวกคุณได้ทำสวรรค์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกมนุษย์แล้ว” ซึ่งก็เป็นสัญญะอย่างหนึ่งที่มีนัยสำคัญมาก ๆ แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนาโดยตรง (เพราะสหรัฐฯ เองก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับศาสนา แถมยังมีวาทกรรมเกี่ยวกับศาสนาโดยรัฐเสียเองเช่นการมีคำว่า In god, we trust บนธนบัตรเสียอีก) การที่นิกสันพูดเช่นนั้น จึงอาจตีความได้ค่อนข้างตรงไปตรงมาว่า ตอนนี้อำนาจของมนุษย์นั้นได้ขยับขยายไปจนถึงดินแดนที่ครั้งหนึ่งเคยถูกเรียกว่าเป็นสวรรค์ หรือดินแดนอันมิอาจเอื้อมของมนุษย์ ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบ (Analogy) เดียวกับที่ Carl Sagan เคยเทียบการค้นพบภูเขาบนดวงจันทร์ ดวงจันทร์บรวารของดาวพฤหัส หรือการที่มนุษย์สร้างกฎที่อธิบายจักรวาล การโคจรของดาว ว่าเป็นครั้งแรกที่ดาวบนท้องฟ้าไม่ใช่สวรรค์ แค่พวกเราค้นพบโลกอีกโลกหนึ่งที่เพียงแค่รอวันไปเยี่ยมเยือน
อ่าน – สุสานบนดวงจันทร์
ในบทความนี้ เราไม่ได้จะมาบอกว่าสรุปแล้วมีพระเจ้าหรือไม่มีพระเจ้า หรือสวรรค์อยู่ตรงไหน แต่เราอยากให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้สัญญะ ในการสำรวจอวกาศ ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ ก็ไม่ได้มีแค่เรื่อง Apollo หรือเรื่องกาการิน แต่ ณ ปัจจุบัน การสำรวจต่าง ๆ ยังถูกใช้เป็นสัญญะเช่นกัน เช่น กรณีของอินเดียที่มองว่า การสำรวจอวกาศคือการปลดแอกทางเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่ง ภาพถ่าย Pale Blue Dot ที่เราอาจจะหยิบมาพูดจนทุกคนเบื่อแล้ว หรือ บทพูดของอดีตประธานาธิบดี Reagan หลังโศกนาฏกรรมกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์
จะสังเกตว่า แม้กระทั้งเรื่องอวกาศที่ดูเหมือนจะเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นวิชาการ แต่สุดท้ายแล้วมันมีนัยทางด้านการเมือง สังคม วัฒนธรรมซ่อนอยู่ เพียงแต่ว่าเราต้องมองสัญญะให้ออก และเราต้องไม่ตัดสินอะไรจากเฉพาะแค่สิ่งที่เห็น แต่ควรวิเคราะห์ถึงบริบท ที่มาที่ไป และเหตุปัจจัย ไม่เช่นนั้นเราจะไม่สามารถมองอะไรได้ออกเลย แล้วเราก็จะถามว่าสำรวจอวกาศไปทำไม ทำแบบนี้ทำไม ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วคำตอบมันอยู่ที่การอ่านสัญญะให้ออก ไม่ว่าจะเป็นในโลกที่มีการแบ่งขั้วอำนาจในสงครามเย็น โลกยุคใหม่ที่มีการสนับสนุนความเป็นพลเมืองโลก สิทธิมนุษยชน หรือความยั่งยืนก็ตาม
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co