ในที่สุดภารกิจการกลับสู่ดวงจันทร์โดยมนุษย์อีกครั้งในรอบครึ่งศตวรรษก็ได้รายชื่อของนักบินอวกาศกลุ่มแรกที่จะเปิดฉากการเดินทางในภารกิจ Artemis II ซึ่งจะเป็นภารกิจทดสอบการบินยาน Orion รอบดวงจันทร์ ที่ NASA ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะเริ่มต้นการเดินทางในปี 2024 ซึ่งวันที่ 3 เมษายน 2022 NASA ก็ได้ประกาศรายชื่อนักบินอวกาศทั้ง 4 ที่จะเดินทางไปกับยาน Orion ได้แก่ Christina Koch, Victor Glover, Gregory Wiseman จากฝั่งสหรัฐอเมริกา และ Jeremy Hansen จาก Canadian Space Agency ประเทศแคนาดา
นักบินอวกาศทั้งสามนั้น เป็นการผสมผสานกันระหว่างนักบินอวกาศจากการคัดเหลือก (Astronaut Selection) หลากหลายรุ่นจากหลายยุคสมัย
Christina Koch
Mission Specialist แห่งภารกิจ Artemis II
นักบินอวกาศหญิงของ NASA ผ่านการคัดเลือกเข้ามาเป็นนักบินอวกาศในปี 2013 รวมประสบการณ์ในอวกาศมากกว่า 328 วัน จากการเดินทางไปอวกาศครั้งแรกในภารกิจ Soyuz MS-12 ตลอดภารกิจบนสถานีอวกาศนานาชาติ Koch ออกไปทำ EVA มากกว่า 6 ครั้ง กินระยะเวลากว่า 42 ชั่วโมง และอยู่ในรายชื่อบุคคลทรงอิทธิพลประจำปี 2020 ของนิตยสาร TIME (TIME’s Influential People of 2020)
Koch นั้นอยู่ในตำแหน่ง Mission Specialist แห่งภารกิจ Artemis II
Jeremy Hansen
นักบินอวกาศชาวแคนาดา จาก Canadian Space Agency นักบินรบเครื่องบิน F-18 กองทัพอากาศแคนาดา Hansen จะเป็นชาวแคนาดาคนแรก และมนุษย์คนแรกที่ไม่ใช่เชื้อชาติสหรัฐฯ ที่เดินทางไปยังดวงจันทร์ และนี่จะยังเป็นภารกิจการเดินทางในอวกาศครั้งแรกของ Hasen หลังจากที่เขาได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักบินอวกาศในปี 2009
Hansen นั้นอยู่ในตำแหน่ง Mission Specialist แห่งภารกิจ Artemis II
Victor Glover
นักบินอวกาศ NASA ที่เราจะรู้จักจากภารกิจ SpaceX Crew-1 สำหรับภารกิจนี้จะเป็นการเดินทางไปยังอวกาศเป็นครั้งที่สองของ Glover ตลอดเวลาที่เขาปฏิบัติภารกิจอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ Glover ทำ EVA ไปทั้งหมด 4 ครั้ง รวมระยะเวลากว่า 26 ชั่วโมง
Glover รับหน้าที่ Pilot แห่งภารกิจ Artemis II ผู้ช่วย Commander สำหรับภารกิจ
สัมภาษณ์พิเศษ Victor Glover มนุษย์กลุ่มแรกที่จะกลับไปดวงจันทร์ในภารกิจ Artemis II
Gregory Wiseman
อีกหนึ่งนักบินอวกาศมากประสบการของ NASA รวมระยะเวลาในการเดินทางในอวกาศ 165 วัน ประจำการบนสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งเขาจะเข้ามาเป็น Commander ในภารกิจ Artemis II นี้ ซึ่ง Wiseman นั้นเคยเดินทางท่องอวกาศมาแล้วในภารกิจ Soyuz TMA-13M ในปี 2014
Commander แห่งภารกิจ Artemis II คนนี้จะเป็นผู้รับตำแหน่งควบคุมยานอวกาศ และปฏิบัติการทั้งหมด
สำหรับในภารกิจ Artemis II นั้นเป้าหมายคือการทดสอบความพร้อมของยานอวกาศ Orion และขีดศักยภาพในการเดินทางระยะไกล ซึ่งจะนับว่าเป็นการเดินทางของมนุษย์ที่ไกลที่สุดนับตั้งแต่ Apollo 17 ในปี 1972 ของ Eugene Cernan, Ronald Evans และ Harrison Schmitt สามนักบินอวกาศกลุ่มสุดท้ายในยุค Apollo
Artemis II จะกินระยะเวลาภารกิจทั้งสิ้น 10 วัน เริ่มต้นจากการจุดจรวด Space Launch System (SLS) จรวดที่ทรงพลังที่สุดในโลกทะยานขึ้นจากโลก ด้วยเครื่องยนต์ของ SLS และ Interim Cryogenic Propulsion Stage (ICPS) ซึ่งจะมีกำลังขับให้ยาน Orion โคจรอยู่บนวงโคจรในลักษณะ High-Earth Orbit ในช่วงนี้ นักบินอวกาศทั้งสี่จะเช็คความพร้อมของยาน ก่อนทีเครื่องยนต์ของยาน Orion ที่มีแรงขับสูงถึง 25.7 kN จะจุดเร่งความเร็วพาเอายาน Orion และส่วน European Service Module (ESM) พาเข้าสู่วิถีโคจรแบบ Trans-Lunar Injection ซึ่งในการเดินทางจะใช้เวลา 4 วันโดยประมาณ ก่อนที่จะถึงดวงจันทร์ในลักษณะ Free Return Trajectory ซึ่งเป็นการบินโฉบรอบดวงจันทร์ในระยะใกล้ ที่หากเกิดปัญหาขึ้นกับยาน Orion ตัวยานจะสามารถกลับสู่โลกได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องอาศัยการจุดเครื่องยนต์
Orion จะบินโฉบดวงจันทร์ในะระยะ 7,000 – 10,000 กิโลเมตร เหนือพื้นผิวโดยประมาณ ที่ด้านไกลของดวงจันทร์ ก่อนที่จะเดินทางกลับสู่โลก โดยกินระยะเวลาอีกประมาณ 4 วันและลงจอดในมหาสมุทรแปซิฟิกนอกชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย
แม้ปัจจุบัน NASA จะยังไม่ประกาศวันที่ชัดเจนของภารกิจ แต่ตามแผนเดิมนั้น NASA จะต้องเริ่มภารกิจ Artemis II ให้ทันในช่วงปลายปี 2024 เพื่อให้ภารกิจ Artemis III ที่จะเป็นการลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งแรกของโครงการ Artemis นั้น สำเร็จทันในปี 2025 ซึ่งก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าจะมีการเลื่อนหรือไม่ เพราะภารกิจ Artemis I ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2022 นั้น ก็ถูกเลื่อนมานานนับปีจากกำหนดการเดิมเช่นกัน
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co