JAXA, มหิดล และ สวทช. ส่งเมล็ดพันธุ์ราชพฤกษ์ และโหระพา ของไทย เดินทางไปกับภารกิจ Dragon Crew-1

นอกจากเที่ยวบิน Dragon Crew-1 จะนับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาของ Space Commercialization ที่เปิดทางสู่การสำรวจอวกาศโดยเอกชนแล้ว หนึ่งในเรื่องน่าตื่นเต้นในเที่ยวบินนี้ก็คือการเดินทางสู่อวกาศของการทดลองชุด “Asian Herb in Space (AHiS)” ซึ่งนำโดย JAXA ของประเทศญี่ปุ่น ที่รวมรวมเอาการทดลองของชาติพันธมิตร ซึ่งรวมถึงไทยด้วย เดินทางไปพร้อมกับยาน Dragon สู่สถานีอวกาศนานาชาติ หรือ International Space Station

ยาน Dragon ในเที่ยวบิน Crew-1 ขณะนอนเพื่อนำ Payload ต่าง ๆ บรรจุเข้าในตัวยาน

สำหรับโครงการ Asian Herb in Space (AHiS) นี้ เป็นโครงการเพื่อศึกษาพืชในสภาวะอวกาศ เหมือนที่เราทราบกันว่าการปลูกพืชในอวกาศนั้นกำลังเป็นที่สนใจของบรรดานักวิทยาศาสตร์ เพราะนอกจากจะเป็นการตั้งคำถามถึงการใช้ชีวิตบนอวกาศที่ใกล้เคียงกับบนโลกแล้ว พืชบนโลกส่วนหนึ่งยังถูกใช้ในการรักษาโรคหรือเป็นแหล่งอาหารที่มีประโยชน์ให้กับมนุษย์ได้อีกด้วย เดิมที JAXA กับทาง สวทช. นั้นก็ได้เคยมีโครงการความร่วมมือในแนว ๆ นี้ออกมาเรื่อย ๆ และความพิเศษของโครงการพวกนี้คือ สวทช. ก็พยายามให้เด็กและเยาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทดลอง ด้วยการออกแบบการทดลองที่ควบคู่กันไปคือ ปลูกพืชบนโลก แล้วเปรียบเทียบกับอวกาศ ทำให้โรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยต่าง ๆ สามารถช่วย Contribute ให้กับการทดลองเหล่านี้ได้ โดย Data จากฝั่งอวกาศจะถูก Provide ให้โดย JAXA ร่วมกับ สวทช. และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย มหิดล และถ้าผลงานศึกษาของเราน่าสนใจ ก็อาจจะสามารถร่วมกันตีพิมพ์เป็น Paper ขึ้นมาก็ได้

Asian Herb in Space โหระพา และราชพฤกษ์

สำหรับพืชที่ถูกนำมา Study ในรอบนี้ก็ได้แก่ “โหระพา” ซึ่งคนไทยเราคงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ทาง JAXA จะอนุญาตให้เยาชนได้ทำการทดลองควบคู่ไปกับการทดลองปลูก “โหระพา” ในอวกาศด้วย อีกหนึ่งสิ่งที่ถูกส่งขึ้นไปพร้อมกับกับ “โหระพา” ก็ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ราชพฤกษ์ ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำชาติของไทย ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า ประเทศไทยเราจะได้มีต้นราชพฤกษ์ที่ครั้งหนึ่งเคยเดินทางสู่อวกาศ ส่งไปปลูกตามที่ต่าง ๆ เป็นการสร้างการรับรู้และแรงบันดาลใจด้านอวกาศที่ทำให้อวกาศใกล้ตัวเรามากขึ้น

สำหรับการส่งเมล็ดพันธุ์ของต้นไม้ใหญ่ไปยังอวกาศนั้นเป็นเหมือนกับธรรมเนียมที่ปฏิบัติต่อกันเพื่อสร้างแรงบันดาลใจเรื่อยมา ตั้งแต่ในสมัยโครงการ Apollo ก็ได้มีการนำเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ ไปโคจรรอบดวงจันทร์ในโครงการ The Moon Trees ก็น่าตื่นที่ประเทศไทยจะได้มี Space Tree ส่งไปให้กับโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อสร้าง Story สร้างแรงบันดาลใจให้กับการสำรวจอวกาศไทยเช่นกัน เพราะหินจากดวงจันทร์ของไทยเราก็หายไปไหนแล้วก็ไม่รู้

เมล็ดพันธุ์ราชพฤกษ์ที่ถูกส่งขึ้นไปกับภารกิจ Crew-1 โดยยาน Dragon ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง NASA กับ JAXA ประเทศญี่ปุ่น
ชุดปลูกเมล็ดพันธุ์ที่จะถูกส่งให้กับเยาวชนและสถานศึกษาต่าง ๆ ได้นำไปทดลองปลูกและบันทึกผลการปลูกคู่กับบนสถานีอวกาศนานาชาติ

หลังจากนี้ ถ้าใครที่สนใจโครงการ Asian Herb in Space และอยากจะทำการทดลองควบคู่ไปไปกับบนสถานีอวกาศนานาชาติ ก็สามารถติดตามข่าวสารหลังจากนี้ได้จากทั้งทาง เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของโครงการ จาก สวทช. และ จางทางสเปซทีเอช ว่าจะต้องมีการสมัครเข้ามาขอรับอย่างไร

ความร่วมมือในการพัฒนาพืชอวกาศในไทย

สำหรับการทดลองในครั้งนี้ ก็เป็นความร่วมมือกันระหว่าง JAXA กับ สวทช. โดยในรอบนี้มีทาง GISTDA และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย มหิดล ที่ Plant Biology and Astrobotany (PBA) Lab ซึ่งนำโดย ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ ผู้เคยมีผลงานการส่งการทดลองด้านชีววิทยาไปอวกาศหลายชิ้นแล้ว ร่วมกับเยาวชน นักศึกษา จากมหาวิทาลัยมหิดล

นอกจากนี้ การทดลองยังได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน อย่างบริษัท กรีน อินโนเวทีฟ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด (Green Innovative Biotechnology) มาสนับสนุน และทำงานร่วมกับทีมวิจัยจากมหิดลฯ ในการศึกษาผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืชในอวกาศด้วย

ความสำคัญของการทดลองในภารกิจ Asian Herb in Space นี้จะเห็นว่านอกจากจะเป็นการสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับพืชในอวกาศแล้ว ก็นับว่าจะเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของไทยที่น่าสนใจเพราะไทยเราจะได้มีต้นไม้ประจำชาติที่เคยเดินทางไปอวกาศแล้วกลับลงมาปลูกบนโลก เป็นการวางหมุดหมายเรื่องราวการสำรวจอวกาศของประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเรา และจะเป็นเหมือนกับเส้นทางสู่การสำรวจอื่น ๆ อีกมากมายในอนาคต ที่สุดท้ายต้องฝากความหวังไว้กับเด็กและเยาวชน ในการสานต่อโครงการเหล่านี้ต่อไปในแบบที่พวกเขาเชื่อ

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.