กุมภาพันธ์ 2024 เราได้มีโอกาสเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น เพื่อตามติดกิจกรรม Asian Try Zero-G กิจกรรมที่จัดโดย JAXA ร่วมมือกับหน่วยงานอวกาศในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงไต้ (และ ออสเตรเลีย ไต้หวัน) ให้เยาวชนได้มีโอกาสทำการทดลองร่วมกับนักบินอวกาศญี่ปุ่นในโมดูล Kibo ของสถานีอวกาศนานาชาติฝั่งญี่ปุ่น ซึ่งในปี 2023-2024 นี้ เยาวชนไทย 3 กลุ่ม จำนวน 7 คน มีโอกาสได้ผ่านการคัดเลือก และได้เดินทางไปทำการทดลองยัง Tsukuba Space Center ของ JAXA ในเมือง Tsukuba ประเทศญี่ปุ่น
โอกาสนี้ เราได้ร่วมเดินทางตามติดบรรยากาศ เพื่อนำเอาเรื่องราวของโครงการมาบอกเล่าให้กับทุกคนได้ฟังกัน โดยสิ่งแรกที่ต้องรู้ก็คือโครงการ Asian Try Zero-G นั้นดำเนินต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว โดยมีตัวแทนในไทยที่เข้ามาดูแลโครงการก็คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
สำหรับองค์การอวกาศญี่ปุ่นหรือ JAXA นั้น เรียกได้ว่ามีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนอยู่เสมอ ๆ ตัวอย่างเช่น โครงการ Kibo Robot Programming Challenge ที่เป็นการแข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์บนสถานีอวกาศนานาชาติ หรืออย่างโครงการ Asian Try Zero-G ซึ่งทั้งหมดก็มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนหันมาสนใจเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศ รวมถึงได้มีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับสถานีอวกาศนานาชาติจริง ๆ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยาก
Asian Try Zero-G ทดลองอะไร
สำหรับโครงการ Asian Try Zero-G นั้น มีวัตถุประสงค์คือต้องการให้เยาวชนออกแบบการทดลองที่สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยนักบินอวกาศ 1 คน (ก็คือโดยนักบินอวกาศญี่ปุ่นที่ประจำการอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ณ ตอนนั้น) ซึ่งเยาวชนจะต้องเสนอไอเดีย และผ่านกระบวนการต่าง ๆ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ JAXA เพื่อออกแบบให้การทดลองนั้นง่ายและเป็นไปได้มากที่สุด หลังจากที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทดลองจะถูกส่งขึ้นไปพร้อมกับภารกิจตระกูล Resupply เช่น Commercial Resupply Service ที่ทาง JAXA นั้น จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการส่ง
อย่างกรณีของโครงการ Asian Try Zero-G ในปี 2023 นี้นั้นอุปกรณ์ก็จะถูกส่งไปกับภารกิจ CRS-29 ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2023 รวมทั้งสิ้น 16 การทดลองจากประเทศ ไทย ออสเตรเลีย บังคลาเทศ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และไต้หวัน ซึ่งอุปกรณ์การทดลองทั้งหมดจะต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัยของ NASA และ JAXA เพื่อให้ไม่เป็นอันตรายต่อนักบินอวกาศและสถานีอวกาศนานาชาติ
นักบินอวกาศที่จะทำการทดลองให้ ก็คือ Satoshi Furukawa ซึ่งเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติในภารกิจ Crew-7 ในวันที่ 26 สิงหาคม 2023 อยู่ในลูกเรือกลุ่ม Expedition 69/70 ของสถานีอวกาศนานาชาติ (ซึ่งได้เดินทางกลับโลกแล้วในวันที่ 12 มีนาคม 2024) และการทดลองจะเกิดขึ้นในโมดูล Kibo ของญี่ปุ่น ซึ่งระหว่างการทดลองจะมีการถ่ายทอดสดลงมายังโลก พร้อมจะมีเจ้าหน้าที่ Capsule Communication หรือ Capcom (ญี่ปุ่นจะเรียกว่า J-Com) คอยเป็นตัวกลางพูดคุยติดต่อสื่อสารระหว่างนักบินอวกาศบนสถานี กับเยาวชนที่จะรับชมการทดลองอยู่ในห้อง Mission Control Center พร้อมกับเจ้าหน้าที่ JAXA Flight Control Team (JFCT) เต็มรูปแบบ
โดยการทดลองที่ JAXA กำหนดไว้นั้น จะแบ่งเป็น 2 ลักษณะได้แก่ Category A: Physics experiments เป็นการทดลองโดยอาศัยการศึกษาคอนเซปของฟิสิกส์อย่างง่ายในสภาวะไร้น้ำหนัก และ Category B: Exercise in space เป็นการเสนอแนวคิดการออกกำลังกายในสภาวะไร้น้ำหนัก ซึ่งทั้งสองรูปแบบจะต้องถูกประเมินและวัดผลได้ด้วยตา (Visual) เนื่องจากวิดีโอการทดลองจะถูกบันทึกผ่านกล้องและถ่ายทอดสดหรือส่งกลับมานั่นเอง
สวทช. ได้บอกว่าปีนี้มีผู้ส่งใบสมัครจำนวน 45 เรื่อง ประกอบด้วยเยาวชน 117 คน รวมจำนวนใบสมัครทั้งสิ้น 152 เรื่อง และมีเยาวชนไทยเข้าร่วมโครงการจำนวน 338 คน ซึ่งเป็นจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
โดยการทดลองในปี 2024 นี้ก็จะได้นักบินอวกาศ Satoshi Furukawa นักบินอวกาศกลุ่ม Expedition 69/70 ที่เดินทางขึ้นสู่สถานีอวกาศกับยาน Dragon ของ SpaceX ในภารกิจ Crew-7 ในวันที่ 26 สิงหาคม 2023 (และเดินทางกลับสู่โลกวันที่ 24 มีนาคม 2024) ซึ่งคุณ Furukawa ถือว่าเป็นนักบินอวกาศมากประสบการณ์ เพราะเคยเดินทางไปอวกาศแล้วในปี 2011 นับเป็น Expedition 28/29 ทำให้เขามีเวลาอยู่บนอวกาศ รวม 2 รอบยาวนานกว่า 366 วันเลยทีเดียว
ทำการทดลอง ณ Tsukuba Space Center
ผมเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2024 โดยที่กิจกรรมการติดต่อสื่อสารกับนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาตินั้น จะเกิดขึ้นในเวลา 17:25 ณ เวลาที่ Tsukuba Space Center ประเทศญี่ปุ่น หรือ 08:25 เวลา UTC หรือ Coordinated Universal Time ซึ่งเป็นเวลาที่สถานีอวกาศนานาชาติใช้
ในช่วงเช้าของวันที่ 12 เยาวชนจากทุกประเทศที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับการต้อนรับจากทีมโครงการ Asian Try Zero-G และทีม Flight Operation ของ JAXA ที่ทำหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติงาน และติดต่อสื่อสารกับนักบินอวกาสบนสถานีอวกาศนานาชาติ สำหรับใครที่สนใจความรู้พื้นฐาน จนถึงระดับเจาะลึกการทำงานของทีม Flight Operation แนะนำให้อ่านบทความ การติดต่อสื่อสาร และจัดการงานกับลูกเรือบนสถานีอวกาศนานาชาติ
เยาวชนที่มาร่วมโครงการ จะพูดพาไปเยี่ยมชมบริเวณ Space Dome ซึ่งเป็นนิทรรศการจัดแสดงการสำรวจอวกาศของ JAXA ซึ่งเราเคยพาไปชมกันในวิดีโอ พาเที่ยวนิทรรศการอวกาศที่ JAXA Tsukuba Space Center และยังได้เข้าไปยังพื้นที่หวงห้าม ที่มีแค่เจ้าหน้าที่ของ JAXA เท่านั้นที่สามารถเข้าได้ เช่น อาคาร C-5 ซึ่งเป็นอาคารสำหรับใช้ในการฝึกและทดสอบ และคัดเลือกนักบินอวกาศของ JAXA ซึ่งถือว่าพิเศษมาก ๆ เพราะได้ทีม Flight Operation มาคอยอธิบายจุดต่าง ๆ ให้ฟังได้โดยตรง
หลังจากการเยี่ยมชมต่าง ๆ แล้ว ในช่วงบ่ายก็จะเป็นการรับประทานอาหารร่วมกัน และพาทุกคนมายังอาคาร W-3 ทางตะวันตกของ Tsukuba Space Center ซึ่งตั้งอยู่ข้าง ๆ อาคาร W-2 อันเป็นที่ตั้งของ JEM Mission Control Room (JEM MCR) ซึ่งเป็นศูนย์ควบคุมของภารกิจบนสถานีอวกาศนานาชาติฝั่งญี่ปุ่น
ในห้องประชุมของอาคาร W-3 นี้ ก็จะมีพิธีการเปิดโครงการ Asian Try Zero-G โดย ศาสตราจารย์ Masaki Shirakawa หัวหน้าโครงการ Kibo Utilization Center ซึ่งคอยวางแผนการใช้งานโมดูล Kibo ตามด้วยการกล่าวต้อนรับโดยนักบินอวกาศ Norishige Kanai ลูกเรือ Expedition 54/55 ที่ปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศนานาชาติระหว่างวันที่ 17 ธันวาคม 2017 จนถึง 3 มิถุนายน 2018 ซึ่งคุณ Kanai เองก็ได้เคยทำการทดลองให้กับเยาวชนในโครงการ Asian Try Zero-G มาแล้ว
ซึ่งในโอกาสนี้เองคุณ Kanai ก็ยังได้ร่วมถ่ายภาพและแจกลายเซ็นพร้อมโปสเตอร์ให้กับเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการด้วย ถือว่าเป็นการให้กำลังใจและสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนรู้สึกว่าตัวเองนั้นใกล้ชิดกับภารกิจการสำรวจอวกาศระดับโลก
และเพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจการปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศนานาชาติ รวมถึง Protocal ต่าง ๆ ในการสื่อสาร ก็ได้มีคุณ Sakurako Takahashi ผู้เป็น JAXA Flight Director หรือ JFD ขึ้นมาอธิบายความรู้พื้นฐานให้ฟังด้วย โดยหลัก ๆ ก็จะอธิบายการสื่อสาร การผลัดเปลี่ยนเวรของนักบินอวกาศ (ที่เรียกว่า Expedition และ Increment) ซึ่งเราเคยอธิบายไว้แล้วในบทความ สถานีอวกาศนานาชาติ มีขั้นตอนการผลัดเปลี่ยนลูกเรืออย่างไร รู้จัก Direct และ Indirect Handover
รวมถึงข้อจำกัดในการสื่อสารกับสถานีอวกาศนานาชาติ อะไรคือ AOS (Acquisition of Signal) และ LOS (Loss of Signal) รวมถึงห้องควบคุมสถานีอวกาศนานาชาติของชาติพันธมิตรทั่วโลก ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ต้องรู้หากต้องการติดต่อสื่อสารกับสถานีอวกาศนานาชาติ
โดยคุณ Takahashi ก็ถือว่ามีประสบการณ์อย่างมาก และได้ทำตำแหน่ง Flight Director ให้กับลูกเรือ Expedition 56, 63, 65 และ 70 ดูแลนักบินอวกาศอย่าง Akihito Hoshide และ Satoshi Furukawa (ภารกิจปัจจุบัน)
หลังจากที่อธิบายความรู้พื้นฐานกันไปแล้ว JAXA ก็จะให้เยาวชนจากประเทศต่าง ๆ ขึ้นมาอภิปรายการทดลองของตัวเองว่า วัตถุประสงค์คืออะไร ทำการทดลองอย่างไร และต้องการที่จะศึกษาอะไร โดยจาก 16 การทดลองทั้งหมด เป็นการทดลองของเยาวชนไทย 3 การทดลอง
การทดลองแรกนั้นเป็นของ ชญานิน เลิศอุดมศักดิ์ (ฟุง) นักเรียน ชั้น ม. 5 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เรื่องก้อนน้ำทรงกลมกับแรงไฟฟ้า (Water spheres and electrostatic force) ซึ่งต้องการศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างแรงไฟฟ้าต่อลูกบอลน้ำในสภาวะไร้น้ำหนัก โดยใช้ไม้บรรทัดนำมาทำให้เกิดไฟฟ้าสถิตจากนั้นนำมาอยู่ใกล้ลูกบอลน้ำ ซึ่งเกิดขึ้นได้ในสภาวะไร้น้ำหนักจากแรงตึงผิวของน้ำ
ไอเดียการทดลองที่ 2 เป็นของ ณัฐภูมิ กูลเรือน (เฟรม), จิรทีปต์ มะจันทร์ (ต้นกล้า), ฟ้าใหม่ คงกฤตยานุกุล (เพียว) และภูมิพัฒน์ รัตนวัฒน์ (ต้นน้ำ) ทีมนักเรียนชั้น ม. 5 จากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยจังหวัดเชียงราย เรื่องการศึกษาการเคลื่อนที่แบบวงกลมของลูกบอลสองลูกบนเส้นเชือกในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Stranger Things Two Ball on string)
ไอเดียของการทดลองคือ เป็นการศึกษาการเคลื่อนที่แบบวงกลมของลูกบอลในเส้นเชือก โดยออกแรงให้ลูกบอลเคลื่อนที่เป็นลักษณะเพนดูลัมทรงกรวย และมีมวลอยู่สองจุด โดยลูกบอลทั้งสองจะเคลื่อนที่เป็นวงกลมที่อยู่ตรงข้ามกัน และอยู่ในระนาบที่ขนานกันด้วยแรงเข้าสู่ศูนย์กลางของแต่ละลูก แรงดึงเชือก และแรงโน้มถ่วงที่ทำให้ลูกบอลอยู่ระนาบที่ขนานกัน จึงทำให้เกิดความสงสัย เมื่อนำการทดลองนี้ไปทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำบนอวกาศ ลูกบอลทั้งสองลูกจะมีการเคลื่อนที่แตกต่างจากบนพื้นโลกอย่างไร
โดยการทดลองของสองทีมแรกนั้นจัดอยู่ในหมวด Category A: Physics experiments ซึ่งทีมเยาวชนไทยอีกทีม เป็นทีมที่สามก็ได้เสนอไอเดียในหมวดที่สองได้แก่ Category B: Exercise in space
การทดลองที่สาม เป็นของ วรรณวลี จันทร์งาม (มุก) และพุทธิมา ประกอบชาติ (เอม) นักเรียน ชั้น ม. 6 โรงเรียนระยองวิทยาคม เรื่องการออกกำลังกายท่าดาวทะเลภายใต้สภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Starfish Exercise for Microgravity) ไอเดีย คือ การออกแบบท่าการออกกำลังกายให้นักบินอวกาศสามารถออกแรงต้านภายใต้สภาวะไร้แรงโน้มถ่วงได้อย่างไร ซึ่งก็ได้มีการนำเอายางยืด (Resistance Band) มาประกอบการออกกำลังกาย
ดูกิจกรรมที่เกิดขึ้นภาคพื้นในวันนั้นได้จาก The ground event was held together with the Asian Try Zero G 2023 in-orbit experiment
หลังจากการอธิบายแล้ว เวลา ทำการทดลองก็มาถึง จะมีการแบ่งเยาวชนออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน โดยแต่ละกลุ่มจะผลัดกันเข้าและออกห้อง VIP Room ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลัง JEM Mission Control Room (JEM MCR) ในอาคาร W-2 ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการควบคุมภารกิจสถานีอวกาศนานาชาติจากฝั่งญี่ปุ่น
และเนื่องจากทาง JAXA นั้นจะค่อนข้างเคร่งด้านความปลอดภัย ทำให้ในการทดลองครั้งนี้ เราทุกคนจะถูกยึดมือถือ และห้ามถ่ายภาพเข้าไปใน Mission Control Room ทำให้ภาพที่เห็นด้านล่างนี้จะถูกถ่ายโดยทีมช่างภาพของ JAXA ทั้งสิ้นครับ อย่างไรก็ตาม ผมได้ลองหยิบเอาภาพถ่ายในห้อง Mission Control Room ในคลังของ JAXA มาเป็นตัวอย่างให้พอเห็นภาพว่าในการทดลองเราเห็นอะไรบ้าง
สำหรับการแบ่งทีมเป็น 3 ทีมนั้นก็เนื่องจากสถานีอวกาศนานาชาติ จะมีช่วงเวลา LOS หรือ Loss of Signal ทำให้เราจะมีเวลาสำหรับทำการทดลองรอบละ 45 นาที และพักอีก 45 นาที โดยรวมการทดลองทั้งหมดที่ถูกทำรวมเวลาพัก จะใช้เวลาตั้งแต่ 17:05 จนถึง 21:25 หรือ 4 ชั่วโมงกว่า ๆ เลยทีเดียว ถือว่าเป็นการใช้เวลาของนักบินอวกาศบนสถานีไปเยอะมาก ๆ แสดงให้เห็นว่า JAXA ให้ความสำคัญกับกิจกรรมนี้มากจริง ๆ
และเนื่องจากผมเอง ได้เดินทางไปในฐานะพี่เลี้ยงทำให้เปิดสูตรโกง ขอนั่งอยู่ตลอดทั้ง 4 ชั่วโมงของการทดลองได้เลย (ฮา) ซึ่งตัวแทนพี่เลี้ยงจากประเทศไทยนั้นก็ประกอบไปด้วย พี่เบ้ง ปริทัศน์ เทียนทอง ผู้ดูแลโครงการความร่วมมือกับ JAXA ในไทย พี่อาร์ม หรือ อาจารย์อาร์ม ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยไทยผู้มีผลงานวิจัยด้านอวกาศหลายชิ้น และตัวผมเอง เติ้ล ณัฐนนท์ บรรณาธิการบริหารสื่อออนไลน์สเปซทีเอช
หลังจากที่เยาวชนแต่ละกลุ่มได้แก่ A, B และ C เดินเข้ามาในห้อง นาฬิกาบนหน้าจอที่แสดงข้อความ LOS พร้อมนับถอยหลังเข้าสู่ AOS ก็จะค่อย ๆ นับถอยหลัง พอสัญญาณมา หรือ AOS แล้วนั้น เราก็จะได้พูดคุยและทักทายกับนักบินอวกาศ Satoshi Furukawa ซึ่งอยู่ในโมดูล Kibo ของ JAXA
โดยคนที่จะทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารหลักนั้นก็คือ J-COM หรือที่เราจะรู้จักกันในนาม CAPCOM ซึ่งรับหน้าที่พูดคุยหลักกับนักบินอวกาศนั่นเอง ความน่าตื่นเต้นก็คือ ทีม J-COM นั้นก็คือทีมเดียวกับที่ดูแลเยาวชนและจัดกิจกรรมให้เราก่อนหน้านี้ อธิบายง่าย ๆ คือ เมื่อกี้ยังคอยช่วยแจกข้าวแจกน้ำ พาตั้งแถวอยู่เลย แต่พอเดินเข้าไปในห้อง Mission Control ก็ไปนั่งเก้าอี้ J-COM และคุยกับนักบินอวกาศเฉย (เป็นภาพที่เท่และน่าประทับใจมาก)
กิจกรรมก็จะดำเนินต่อแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบทุกลุ่ม ซึ่งในห้อง VIP นอกจากตัวแทนเยาวชนแล้ว ก็จะยังมีนักบินอวกาศคุณ Kanai อยู่คอยอธิบายให้ความรู้ว่าในห้อง Mission Control กำลังทำอะไรกันอยู่ด้วย
ในระหว่างการทดลองนั้น ทาง J-COM ก็จะหันมาหาเยาวชนในห้อง VIP และทำท่าสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น โอเคไหม ใช่ไหม ถูกต้องไหม อยู่ตลอดเวลา ก่อนที่จะหันไปพูดคุยสื่อสารกับนักบินอวกาศ Furukawa ต่อ ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่า นี่มันไม่ใช่การทดลองปกติ โดยปกติแล้วในการใช้นักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติ จะต้องมีการรวบรวมคู่มืออย่างละเอียด และจริง ๆ ผู้ที่ส่งการทดลองก็แทบจะไม่รู้ว่าการทำลองถูกทำตอนไหน หรือไม่ได้มานั่งเห็นสด ๆ ในห้อง Mission Control แบบนี้ ทำให้เราบอกได้เลยว่าโอกาสที่จะได้มานั่งชมการทดลองของตัวเองสด ๆ พร้อมพูดคุยกับทีม J-COM ได้ใกล้ ๆ แบบนี้หายากมาก ๆ
และสุดท้ายเมื่อการทดลองจบสิ้นลง เราก็ได้เห็นนักบินอวกาศ Satoshi Furukawa กล่าวให้กำลังใจและบอกให้เยาวชนทุกคนนำการทดลองไปแปรผล ออกมาเป็นข้อสรุป และเขาเองก็รอฟังผลการทดลองจากเยาวชนทุกคน เรียกได้ว่าเป็นการแสดงถึงความสำคัญของงานของเยาวชนอย่างมาก และฉากสุดท้ายที่น่าประทับใจไม่แพ้กันก็คือพอสัญญาณตัด LOS ทัั้งทีมเยาวชนและพี่เลี้ยงในห้อง VIP ต่างลุกขึ้นปรบมือให้กับ ทีม Flight Operation ของ JAXA ที่จัดกิจกรรมที่ล้ำค่าขนาดนี้ให้กับเยาชนได้สร้างแรงบันดาลใจและส่งต่อความเป็นนักสำรวจอวกาศให้กับคนรุนใหม่
โครงการ Asian Try Zero-G นั้นเป็นโครงการที่จัดต่อเนื่องมายาวนานหลายปี ซึ่งพอได้มาสัมผัสดูแล้วผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไม JAXA ถึงลงทุนในโครงการนี้ ทั้งที่จริง ๆ การขนส่งการทดลองขึ้นไปบนสถานีอวกาศนานาชาติ เป็นสิ่งที่มีราคาแพงมาก ยังไม่รวมค่าเวลา ต้นทุนที่นักบินอวกาศจะต้องใช้ ค่าใช้จ่ายในการทำ Flight Operation ในแต่ละครั้ง เรียกได้ว่าไม่ถูกเลย มีมูลค่ามหาศาล แต่สิ่งที่สำคัญไปมากกว่านั้นคือการส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับคนที่วันนึงจะเข้ามาทำหน้าที่เดียวกับคนเหล่านี้ ทั้งทีม Flight Control ภาคพื้นดิน นักวิจัยที่ออกแบบการทดลองส่งขึ้นไปยังอวกาศ และแม้กระทั่งนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศ
สำหรับการเดินทางมายังประเทศญี่ปุ่นรอบนี้ถือว่าสร้างความประทับใจและรู้สึกขอบคุณทั้ง JAXA, สวทช. และผู้สนับสนุนโครงการทุกคน ที่พาให้เยาวชนไทยได้เข้าใกล้สิ่งประดิษฐ์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดของมนุษยชาติ นั่นคือสถานีอวกาศนานาชาติ หรือ International Space Station
สำหรับบรรยากาศการทดลองทั้งหมด สามารถดูได้จาก Conducting in-orbit experiments for Asian Try Zero-G 2023
ผมยังเล่าเรื่องราวนี้ไว้ใน Podcast ตอน ประสบการณ์การเยือน JAXA กับโครงการ JAXA Asia Try Zero-G EP.127 Starstuff เรื่องเล่าจากดวงดาว
ที่เรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co