เราอาจจะเคยเรียนวิชา “ดาราศาสตร์” แต่ทุกวันนี้เราก้าวข้ามไปกว่านั้นหลายขั้นแล้ว เป้าหมายของเราคือการเดินทางสำรวจอวกาศ รวมถึงโอกาสที่จะเดินทางสู่ “โลกใหม่” ไม่ว่าจะดวงจันทร์ ดาวอังคาร ในระบบหรือนอกระบบสุริยะ การเรียนเรื่องอวกาศจึงไม่ใช่แค่ ดูดาวหรือฟิสิกส์อีกต่อไป แต่เป็นการเอาทุกศาสตร์มารวมกันโดยมีวิทยาศาสตร์เป็นตัวผสาน
ชื่อของ Astrobiotech นั้น มาจาก 3 ศาสตร์ด้วยกัน ได้แก่ Astronomy, Biology และ Technology ในต่างประเทศนั้น คำว่า Biotech กลายเป็นเรื่องปกติมาซักพักนึงแล้ว คือการเอาเทคโนโลยีมารวมกับชีวิต เช่น อุปกรณ์สวมใส่ หรือการเขียนโปรแกรมในระดับ DNA หรือที่ได้ยินกันบ่อย ๆ ก็คือการเอาคอมพิวเตอร์เชื่อมกับสมองของมนุษย์
การที่ Freak Lab ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ ตั้งแต่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล และอื่น ๆ เปิดสอนคอร์ส Astrobiotech ครั้งแรกของเมืองไทย นับว่าเป็นการผลักดันการสำรวจอวกาศไทยให้ไปสู่ระดับ Frontier จริง ๆ
คอร์สระดับโลก เปิดให้โหลดฟรี เรียนฟรี
คอร์ส Astrobiotechnology นี้เปิดการสอนในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี แต่เนื่องจากทีมต้องการทำให้ความรู้เหล่านี้เข้าถึงได้ง่ายที่สุด จึงได้เปิดหน้าเว็บ astrobio.freaklab.org ปล่อย Resource ทั้งหมดเป็น Open Source ให้เข้าไปศึกษาได้ฟรี ๆ
องความรู้เหล่านี้ ประกอบด้วยตั้งแต่ ประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศโดยมนุษย์, เทคโนโลยีอวกาศ Biodesign และ Biodigital เรื่องของ Space Agriculture การแพทย์ในอวกาศ ไปจนถึงองค์ความรู้ในการทำ Terraforming หรือการเปลี่ยนดาวทั้งดวงให้อำนวยต่อสิ่งมีชีวิต
จะสังเกตว่าความรู้พวกนี้ไม่เคยปรากฏอย่างชัดเจนในการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัย และไม่มีคณะไหนเลยที่สอนเรื่องนี้ คอร์สนี้จึงเป็นก้าวแรกของวงการอวกาศระดับ Frontier ในไทย และเป็นการวมตัวกันของอาจารย์ระดับโหด ๆ ในวงการเช่น
- วีระศักดิ์ สุระเรืองชัย (อ่านบทสัมภาษณ์กับ The MATTER – อยู่อย่างไรบนดาวดวงอื่น? คุยเฟื่องเรื่อง ‘เทคโนโลยีชีวภาพต่างดาว’ กับ FREAK Lab )
- ป๋วย อุ่นใจ จากภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล (อาจารย์เคยพูด TEDxChiangmai ในหัวข้อ An artistic view of practicing science )
- วเรศ จันทร์เจริญ เจ้าของบริษัท Space Zab ทำเรื่องการวิจัยอวกาศขั้นสูง
- นิธิพนธ์ พุทธรักษา และ ภาสกร เมืองพรหม จากฝั่ง Nanoscience และ Nanotechnology
- ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร จาก Remediation Laboratory (RMT)
- ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ สาย Bioinnovation
- พีรพงศ์ ต่อฑีฆะ สาย Celestial Mechanics and Applied Astrometry Engineering
ทุกท่านที่บอกมานี้ล้วนมีผลงานบนเวทีระดับโลกในสายงานที่แตกต่างกันออกไปตั้งแต่ ฟิสิกส์ ชีววิทยา เทคโนโลยีนาโน วิศวกรรม แต่ทั้งหมดมารวมตัวกันทำหลักสูตร Astrobiotechnology ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ใหม่และต้องจับตามองจริง ๆ ว่าหลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น
ภาพรวมของเทคโนโลยีอวกาศระดับสูงในไทย
หลายคนอาจจะมองว่าความสำเร็จของประเทศนับกันที่สิ่งประดิษฐ์หรือจำนวนงานวิจัย แต่จริง ๆ แล้วเรามองว่าหลาย ๆ อย่างเองในไทยที่เป็นเทคโนโลยีในระดับสูงแต่คนไม่รู้ เช่น มีคนไทยที่ส่งการทดลองขึ้นสู่อวกาศแล้วหลายคน รวมถึงทำงานร่วมกับองค์กรระดับโลกตั้งแต่ NASA, ESA และ JAXA
สิ่งที่สำคัญตอนนี้คือการสร้างองค์ความรู้และการลงทุนในการพัฒนาคน พัฒนาที่ความคิดจริง ๆ ไม่ใช่แค่ปริญญา ไม่ใช่แค่จำนวนของเด็กที่จบคณะวิทยาศาสตร์ในแต่ละปี แต่ต้องทำให้เกิด cycle ของการสร้างสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน รวมถึงตั้งเป้าหมายแล้วทำให้เกิดผลนั้นจริง ๆ
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co