อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร ท้องฟ้าจำลอง หอดูดาว ห้องวิจัยระดับโลก เข้าชมฟรี ที่เชียงใหม่

เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT ได้ชวนทีม Spaceth.co ไปร่วมงานแถลงข่าวและพาชมอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร ที่จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนที่จะเปิดให้กับประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้

ชื่อของ AstroPark อาจคุ้นหูใครหลายคนเมื่อพูดถึงกิจกรรมด้านดาราศาสตร์ของ NARIT แต่ต่อจากนี้อุทยานดาราศาสตร์สิรินธรได้ถูกตั้งเป้าให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษา ค้นคว้าวิจัย พัฒนา และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางดาราศาสตร์ของประเทศ รวมไปถึงในระดับอาเซียนเลย วันนี้เรามาดูกันว่ามีอะไรบ้างใน AstroPark กันแบบเต็ม ๆ

อาคารนิทรรศการและฉายดาวของอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร

อาคารหอดูดาวอเนกประสงค์ จัดงานก็ได้ ฉายหนังก็ได้ ฉายดาวก็ได้

NARIT ได้เนรมิตท้องฟ้าจำลองที่จุผู้คนได้ 160 คน ซึ่งตัวท้องฟ้าจำลองนั้นเป็นระบบดิจิทัล 360 องศา ความคมชัดสูงสุด 8K มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 17 เมตร ทำให้ที่นี่กลายเป็นท้องฟ้าจำลองที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภาคเหนือ รวมทั้งยังสามารถดัดแปลงให้เป็นห้อง Auditorium สำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้อีกด้วย

นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีการนำนิทรรศการต่าง ๆ มาร่วมจัดแสดงอยู่ภายในอาคารแห่งนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็จะมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา

นอกจากนิทรรศการต่าง ๆ แล้วยังมี Collection อุกกาบาต ที่ทาง NARIT ได้รวมรวมไว้ จัดแสดงอยู่ ตรงนี้เราสามารถเข้าไปจับ สัมผัส (ยกเว้นเอากลับบ้านหรือเอาไปโยนลงคลอง) ได้เลย มีหินอุกกาบาตของจริงที่เจอจากแห่งต่าง ๆ ทั้งในไทยและนอกเมืองไทยมาแสดงให้เราดูอย่างใกล้ชิด

ตรงท้องฟ้าจำลองนี้มีห้องอาหารด้วย ชื่อว่า The Planets แนะนำให้ไปลองทานกันดูครับ อาหารอร่อยมาก!!

เชียงใหม่ไม่ได้มีแค่กล้องโทรทรรศน์ 2.4 เมตรที่ดอยอินทนนท์แต่เพียงอย่างเดียว เพราะที่ AstroPark นั้นก็มีกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตรติดตั้งไว้อยู่ ควบคู่ไปกับกล้องโทรทรรศน์อีก 5 ตัวที่ถูกติดตั้งไว้ให้ผู้คนทั่วไปมาใช้งานได้ ซึ่งในส่วนนี้มีเปิดให้เข้ามาสังเกตเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Public Night ที่จัดขึ้นทุก ๆ คืนวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 6 โมงถึง 4 ทุ่ม

พี่แจ๊ค ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ คนเก่าคนเดิม ที่ถ้าใครมาดูดาวแล้วไม่ได้รู้จักกับพี่แจ๊คนี่ถือว่ามาไม่ถึงสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
กระจกของกล้องดูดาว 0.7 เมตร ซึ่งสามารถดูวัตถุท้องฟ้าต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน ตั้งแต่วัตถุในระบบสุริยะไปจนถึง Deep Sky Object ต่าง ๆ

ห้องวิจัยฟิสิกส์ด้านแสง และ Facility สำหรับการผลิตอุปกรณ์ความแม่นยำสูง

นอกจากในฝั่งที่ให้บริการกับภาคประชาชนแล้ว ทาง NARIT เองก็ยังมีฝั่งที่พัฒนาเทคโนโลยีดาราศาสตร์ขึ้นมาเองด้วยเช่นกัน โดยมีความสามารถที่จะเคลือบกระจกของกล้องโทรทรรศน์บนดอยอินทนนท์ได้ที่อาคารปฏิบัติการของ AstroPark แห่งนี้ รวมทั้งยังได้ผลิตและขึ้นรูปชิ้นงานต่าง ๆ สำหรับใช้งานขึ้นมาเองได้

เครื่องเคลือบกระจกด้วยเทคนิค Sputtering ซึ่งเรามีความสามารถในการเคลือบกระจกกล้องดูดาวได้เอง
กระจกทรง Honeycomb ซึ่งเกิดจากการเคลือบเองด้วยเทคนิค Sputtering โดยการผลิตเครื่องของคนไทยเอง กระจกนี้จะถูกนำไปใช้กับโครงการ Cherenkov Telescope Array ซึ่ง NARIT เป็นหนึ่งในทีมที่เข้าไปให้ความร่วมมือ

ยังมีห้องสำรับการผลิตอุปกรณ์ความแม่นยำสูง ซึ่งแน่นอนว่าอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ จะต้องมีความแม่นยำในระดับนาโนเมตร เราไม่สามารถไปให้ร้านกลึงทั่วไปขึ้นรูปวัสดุให้ได้ จึงต้องมีการใช้เทคนิคและอุปกรณ์แบบพิเศษ ขีดความสามารถของวิศวกรหรือ Engineering Team ของ NARIT ทำให้เราสามารถสร้างอุปกรณ์ที่มีความแม่นยำ ละเอียดอ่อน และซับซ้อนได้เองโดยที่ไม่ต้องไปซื้อมาจากต่างประเทศ

เครื่อง CNC สำหรับการตัดวัสดุแบบทั้งแท่งเพื่อให้เป็นตามที่เราต้องการด้วยความแม่นยำสูง

ห้องปฏิบัติการด้านแสง หรือ Optic Lab ของ NARIT นั้นได้มาตรฐานระดับโลก ภายในเป็นห้อง Clean Room ที่ก่อนจะเข้าต้องใส่เสื้อและหมวกรวมถึงแผ่นครอบรองเท้าเพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นจากตัวเราเข้าไปทำให้อุปกรณ์ใน Lab เกิดความคลาดเคลื่อน เพราะเวลาที่มีการทดลองในห้องนี้จะปิดไฟมืดหมด วันที่เราไปได้เจอกับ Dr.Christophe Buisset ซึ่ง Dr. Buisset ก็ได้พาเราดูผลงานด้าน Optic Research ต่าง ๆ ของ NARIT ที่จะช่วยเพิ่มสมรรถนะของกล้องโทรทรรศน์ที่เรามีอยู่ ให้สามารถทำงานด้าน Optical Physics ระดับสูง เช่น Spectrography, Interferometry ที่เป็นหลักการที่ใช้ในการศึกษาวัตถุท้องฟ้า ยกตัวอย่างเช่น การแยกแสงจากวัตถุท้องฟ้าไกลโพ้นเพื่อหา Exoplanet

อุปกรณ์ใน Optic Lab ก็คล้ายกับที่เราเรียนกันมาตอน ม.ต้น ไม่ว่าจะเป็น ปริซึม หรือเลนส์ต่าง ๆ แต่มีความแม่นยำสูง และมีแหล่งกำเนิดแสงที่จำลองแสงจากวัตถุท้องฟ้า
Dr.Christophe Buisset กำลังพาเราชมห้องทดลองฟิสิกส์ด้านแสง ซึ่งจะนำไปสู่การผลิตอุปกรณ์สำหรับใช้ร่วมกับกล้องโทรทรรศน์ต่าง ๆ ทั้งที่เรามีและที่ทั่วโลกต้องการ
ฐานของโต๊ะที่วางอุปกรณ์ต่าง ๆ มีอุปกรณ์ Stabilizer เพื่อให้ไม่เกิดการสั่นในระหว่างที่ทำการทดลอง ซึ่งการสั่นอาจมาจากการเดิน หรือปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เนื่องจาก Lab ด้านแสง ต้องอาศัยความแม่นยำในระดับนาโนเมตร ทำให้แม้การสั่นเล็ก ๆ ก็อาจทำให้ผลการทดลองผิดเพี้ยนได้

สำนักงานใหญ่ของ NARIT ก็ได้มาตั้งอยู่ที่ AstroPark แห่งนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งภายในนั้นประกอบไปด้วยห้องปฏิบัติการ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ ห้องวิจัยและพัฒนา ที่ทาง NARIT ได้เปิดให้พวกเราเข้าไปชมและพูดคุยกับนักดาราศาสตร์กันแบบสุด Exclusive

เรียกว่าในประเทศไทยกำลังจะมีสถานที่สำคัญในด้านดาราศาสตร์เพิ่มขึ้นมาอีกแห่ง ที่ไม่ได้มีเพียงแค่ไว้ให้บุคคลที่ชื่นชอบเข้าไปเยี่ยมชม แต่ยังเป็นพื้นที่ให้กับนักดาราศาสตร์และผู้ที่กำลังศึกษาได้เข้ามาใช้งานทรัพยากรได้ด้วยเช่นกัน

Astropark จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พร้อมกับกิจกรรม NARIT AstroFest 2020 มหกรรมดาราศาสตร์ครั้งแรกในไทย ระหว่างวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ ที่จะมีกิจกรรมตลอดทั้งวัน

  • สนุกกับนิทรรศการดาราศาสตร์ 19 โซนการเรียนรู้
  • ท่องเอกภพในท้องฟ้าจ าลองฟูลโดมดิจิทัล ขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในไทย
  • เปิดหลังบ้าน ชมห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีดาราศาสตร์ขั้นสูง อาทิ วิศวกรรมเมคาทรอนิกส์ เทคโนโลยีการเคลือบ
    กระจกที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงต่างๆ มากมาย
  • NARIT Family Camp ค่ายครอบครัวดาราศาสตร์เพื่อทุกคนในครอบครัว ครั้งแรกในเชียงใหม่
  • Meet the Astronomers ล้อมวงคุยเฟื่องทุกเรื่องที่สงสัยกับนักดาราศาสตร์ตัวจริงเสียงจริง
    ช่วงเวลา 14:00-15:00 น.
  • ชมดาวเคล้าดนตรีในสวนสวย ฯลฯ

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

อวกาศ การเมือง กีฬา เพลง | Spaceth.co | Main Stand | แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ | Bangkok Uni. Int'l | OSK138