ดาวหาง ATLAS ที่เคยผ่านโลกเมื่อ 5,000 ปีก่อน วนมาเจอกับโลกอีกครั้ง แล้วแตกสลายตลอดกาล

ดาวหาง ATLAS (C/2019 Y4) ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกเมื่อต้นปี 2020 โดยระบบเฝ้าระวังอุกกาบาต Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System (ATLAS) ที่มหาวิทยาลัยฮาวาย จากการสำรวจเพิ่มเติมด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble พบว่า ATLAS คือ เศษชิ้นส่วนของวัตถุดาวหางที่เคยโคจรผ่านโลกเมื่อ 5,000 ปีก่อน ในระยะที่น่าจะมองเห็นได้จากโลกบริเวณแทวีปยูเรเชียและแอฟริกาเหนือ ซึ่งเมื่อ 5,000 ปีก่อน อยู่ในช่วงของยุคหินปลาย

ภาพของดาวหาง ATLAS (C/2019 Y4) ถ่ายเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2020 – ที่มา Martin Gembec/Wiki Commons

อย่างไรก็ตาม อ้างอิงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เราเชื่อถือได้ทั้งหมดกลับไม่เคยมีการบันทึกการพบเห็นดาวหางดวงนี้ในยุคหินเมื่อ 5,000 ปีก่อนเลย ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเพราะยุคหินเป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์ หลักฐานแบบลายลักษณ์อักษรจึงยังน้อยมาก

ข้อมูลจาก Hubble ระบุว่า ATLAS โคจรในเส้นทาง “Railroad track” เดียวกับดาวหางที่เคยถูกบันทึกในปี 1844 โดย “Railroad track” หมายถึงรางรถไฟของวงโคจร วัตถุที่อยู่ในรางวงโคจรนี้จะมีคุณสมบัติวงโคจรใกล้เคียงกัน หมายความว่า ATLAS มีวงโคจรคล้ายกับดาวหางที่เคยเห็นเมื่อปี 1844 ซึ่งมีการบันทึกลงในหลักฐานประวัติศาสตร์ และมีความเป็นไปได้ว่า ATLAS และดาวหางปี 1844 อาจจะเป็นญาติกันก็ได้ หมายความว่ามันแตกออกมาจากวัตถุแม่ชิ้นเดียวกัน (Parent body)

วิถีโคจรของดาวหาง ATLAS (C/2019 Y4) เมื่อสำรวจจากโลกทุก ๆ 7 วัน (ในรูปแสดงให้เห็น Retrograde Loop หรือการหมุนย้อนกลับซึ่งเกิดจากการที่โลกโคจรรอบ ๆ ดวงอาทิตย์) – ที่มา Tomruen/WikiCommons

กรณีแบบนี้เกิดขึ้นได้ง่ายมาก อย่างเช่นดาวหาง Shoemaker-Levy 9 (SL9) เมื่อปี 1994 ที่เข้ามาติดในวงโคจรของดาวพฤหัส ก่อนจะถูกแรงโน้มถ่วงของดาวพฤหัสฉีกเป็นชิ้น ๆ เกินเป็นขบวนรถไฟดาวหาง หน้าเสียดายที่จุดจบของรถไฟขบวนนี้คือการพุ่งลงไปเผาไหม้ในบรรยากาศของดาวพฤหัสเดือน กรกฎาคม 1994

ภาพของดาวหาง Shoemaker-Levy 9 (SL9) ที่แตกเป็นชิ้น ๆ อยู่ในลักษณะของ Railroad Track ก่อนจะชนเข้ากับดาวพฤหัสเมื่อเดือน กรกฎาคม 1994 – ที่มา Hubble Space Telescope/NASA, ESA, and H. Weaver and E. Smith (STScI)

ส่วนดาวหาง ATLAS ก็มีจุดจบที่คล้ายกัน คือ การแตกสลายกลายเป็นเศษน้ำแข็งเมื่อกลางปี 2020 แต่นักดาราศาสตร์ไม่ได้คาดการณ์การแตกสลายครั้งนี้เพราะว่ามันแตกตัวตอนที่มันอยู่ใกล้จากดวงอาทิตย์กว่า 160 ล้านกิโลเมตร ซึ่งไกลกว่าระยะห่างจากดวงอาทิตย์มายังโลก ถือเป็นเรื่องที่แปลกมากเพราะดาวหางส่วนใหญ่จะสลายตัวก็ต่อเมื่ออยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มาก ๆ นอกจากนี้ ATLAS เคยผ่านดวงอาทิตย์ที่ระยะประมาณนี้ (และอาจใกล้กว่านี้) มาแล้วเมื่อ 5,000 ปีที่แล้ว แล้วมันรอดครั้งนั้นมาได้อย่างไร

ภาพของดาวหาง ATLAS (C/2019 Y4) จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble ขณะที่ดาวหางกำลังแตกกระจายเหนือท้องฟ้าในปี 2020 – ที่มา Science: NASA, ESA, Quanzhi Ye (UMD); Image Processing: Alyssa Pagan (STScI)

ถือเป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์พบการแตกสลายของดาวหางก่อนการบินผ่านดวงอาทิตย์ เบื้องต้นจากการสังเกตการณ์การแตกตัวของดาวหาง นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่า ATLAS น่าจะเป็นดาวหางประเภทที่ปกคลุมด้วยฝุ่นและน้ำแข็งเปราะที่แตกได้ง่าย

อ้างอิงจากงานวิจัย Disintegration of Long-period Comet C/2019 Y4 (ATLAS). I. Hubble Space Telescope Observations พบว่าแกน หรือ Nucleus ของ ATLAS นั้นแข็งแรงกว่าส่วนอื่น ๆ เนื่องจาก Nucleus ของมันใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะสลายไปหมด ในขณะที่ชิ้นอื่น ๆ นั้นใช้เวลาเพียงไม่กี่วันก่อนที่จะสลายไป

ดาวหาง ATLAS (C/2019 Y4) สังเกตได้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2020 ก่อนที่หายไปตลอดกาล

ภาพเคลื่อนไหวของดาวหาง ATLAS (C/2019 Y4) ขณะกำลังละลายและสลายตัว – ที่มา Raysastrophotography/WikiCommons

เป็นไปได้ที่การระเหยของสารบนดาวหางอาจจะสร้างแรงที่ทำให้ตัวดาวหางหมุนจนแรงหนีศูนย์กลางของมันรุนแรงมากพอที่จะทำให้ส่วนประกอบของมันแตกกระจายเป็นชิ้น ๆ และกว่าเราจะได้ศึกษาดาวหางที่คาดว่าน่าจะเป็นญาติของมันก็จะต้องรอไปจนถึงศตวรรษที่ 50 เลยทีเดียว ดาวหาง ATLAS จึงจะยังเป็นปริศนาไปอีกนาน

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง

Comet Atlas May Have Been a Blast From the Past

Disintegration of Long-period Comet C/2019 Y4 (ATLAS). I. Hubble Space Telescope Observations

Chief Science | A 20-year-old biologist with a passion for space exploration, science communication, and interdisciplinarity. Dedicated to demystifying science for all - Since 2018.