Axiom Mission 2 เมื่ออวกาศเอกชนเติบโต และเที่ยวบินแรกของซาอุดิอาระเบีย

วันที่ 22 พฤษภาคม 2023 จรวด Falcon 9 ได้พาเอายาน Crew Dragon เดินทางสู่สถานีอวกาศนานชาติอีกครั้งเป็นภาพที่เห็นได้ชินตาปกติ หลังจากที่ SpaceX ประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าแรกในรอบกว่าทศวรรษในการพานักบินอวกาศอเมริกันเดินทางสู่สถานีอวกาศจากฐานปล่อยในอเมริกา

แต่ในภารกิจนี้ผู้ที่ว่าจ้างนั้นไม่ใช่ NASA แต่เป็นบริษัทอวกาศเอกชน Axiom ที่ก่อตั้งในปี 2016 ที่ธุรกิจหลักในตอนนี้คือการดีลการส่งนักบินอวกาศขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติให้กับเอกชนรายอื่น ๆ รวมถึงหน่วยงานรัฐ เช่น กรณีการเดินทางขึ้นสู่สถานีอวกาศของ นักบินอวกาศชาวเอมิเรตส์ Al Neyadi  ก็เป็นดีลผ่านบริษัท Axiom เช่นกัน (อ่าน – เบื้องหลังดีลภารกิจนักบินอวกาศอาหรับ ที่จะอยู่ในอวกาศนานที่สุด จากมุมของเอมิเรตส์)

ในครั้งนี้ Axiom นั้นได้ส่งภารกิจที่มีชื่อว่า AM-2 หรือ Axiom Mission 2 ขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ นับเป็นภารกิจที่ใช้รหัส AM ภารกิจที่ 2 (เป็นการเหมาลำขึ้นสถานี ไม่ได้ฝากนักบินอวกาศ) ต่อจากภารกิจ Axiom Mission 1 ในเดือนเมษายน 2022 ที่ผ่านมา

ภารกิจ AM-2 นั้นประกอบไปด้วยนักบินอวกาศ Peggy Whitson และ John Shoffner จากฝั่งสหรัฐฯ โดย Whitson นั้น เราจะคุ้นเคยชื่อจากการเป็นอดีตนักบินอวกาศ NASA ที่ในครั้งนี้จะนับว่าเป็นการเดินทางขึ้นสู่อวกาศครั้งที่ 4 ของ Whitson ในขณะที่ Shoffner นั้นเดินทางสู่อวกาศครั้งแรก เขาเป็นเศรษฐีนักลงทุน นักบินพลเรือน (General Aviation) และนักแข่งรถ ซึ่งซื้อพื้นที่ในโครงการ Axiom ในครั้งนี้

Ali AlQarni และ Rayyanah Barnaw สองนักบินอวกาศกลุ่มแรกของซาอุดิอาระเบียภายใต้ Saudi Space Commission (SSC) ที่มา – Axiom Space

และที่พิเศษก็คือ Ali AlQarni และ Rayyanah Barnawi สองนักบินอวกาศชายหญิงที่นับว่านี่เป็นภารกิจสำรวจอวกาศโดยมนุษย์สามัญชนครั้งแรกของซาอุดิอาระเบีย (หากไม่นับ Sultan bin Salman Al Saud) ตามติด ๆ คู่แข่งในประเทศกลุ่มอาหรับด้วยกันอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไปอย่างใกล้ชิด ที่ก่อนหน้านี้ Al Neyadi  ก็ได้ขึ้นไปเพื่อประจำบนสถานีอวกาศนานชาติในระยะเวลาใกล้เคียงกับนักบินอวกาศจากสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และรัสเซีย

ที่บอกว่าไม่นับ Sultan bin Salman Al Saud นั้นก็เพราะว่าพระองค์ทรงเป็นเจ้าชายแห่งซาอุดิอาระเบีย และปัจจุบันเป็น Chairman of the Board of Directors ของ Saudi Space Commission (SSC) ในตอนนั้นทรงขึ้นบินกับกระสวยอวกาศภารกิจ STS 51-G ในปี 1985 เพื่อไปดูแลการปล่อยดาวเทียม ARABSAT-1A และได้สถิติว่าเป็นชาวมุสลิมคนแรกในอวกาศ ชาวอาหรับคนแรกในอวกาศ และราชวงศ์พระองค์แรกในอวกาศ (หลายสถิติมาก)

นักขายเที่ยวบินเนื้อหอมแห่งประเทศกำลังพัฒนาด้านอวกาศ

จะสังเกตว่า มีเรื่องราวอันคล้ายคลึงกันของนักบินอวกาศกลุ่มแรกของชนชาติอาหรับ สองชาตินี้คือทั้งคู่ จ่ายเงินให้กับบริษัท Axiom Space สำหรับดีลเหมือนกัน แม้จะไม่มีการเปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการว่า Saudi Space Commission (SSC) นั้นจ่ายเงินให้กับ Axiom ไปในราคาเท่าไหร่ แต่ก็เชื่อว่าน่าจะเป็นมูลค่ามหาศาล โดยข้อมูลที่ผ่านมา ถ้าอ้างอิงจากตัวเลขที่มีการซื้อขายดีลของ Axiom นั้น จะอยู่ที่ประมาณเก้าอี้ละ 55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณหนึ่งพันเก้าร้อยล้านบาท) ซึ่งดีลนี้ก็ได้เกิดขึ้นในงาน International Astronautical Congress ณ กรุงปารีส ประเทศฝรังเศส ปลายปี 2022 ที่ผ่านมา (ที่เราไม่ได้ไปดูเพราะเมาไวน์อยู่กับทีม PR ของ Lockheed Martin)

อย่างไรก็ตามนี่เป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า Axiom เอง ตอนนี้มีพลังในการเจรจากับ NASA และ SpaceX ในการจัดเที่ยวบิน Commercial ในลักษณะก้ำกึ่ง Space Tourism ก้ำกึ่ง Space Mission จริง ๆ ให้กับประเทศที่ต้องการจะผลักดันการสำรวจอวกาศ และต้องการจะมีนักบินอวกาศเป็นของตัวเอง (ซึ่งซีนมันดีกว่าการบอกว่าเป็น Space Tourism มาก) และ Axiom ยังสามารถจัดหานักบินอวกาศที่มีประสบการณ์ขึ้นบินเพื่อเป็น Mission Commander ให้ด้วย (จำเป็นมาก เพราะสามารถแก้ไขและบัญชาการภารกิจได้ในขณะเกิดเหตุฉุกเฉิน – อย่างไรก็ดีภารกิจ Inspiration 4 สามารถทำลายข้อจำกัดนี้ด้วยการสร้าง First Civilian Spaceflight โดยที่ทุกคนเป็นพลเรือน และเดินทางสู่อวกาศครั้งแรกได้ในปี 2021)

ลูกเรือในภารกิจ Axiom Mission 2 ได้แก่ Rayyanah Barnawi, Peggy Whitson, John Shoffner และ Ali AlQarni ตามลำดับ ที่มา – Axiom Space

ซึ่งพอเป็นแบบนี้ SpaceX ก็สบาย ไม่ต้องขายเก้าอี้เอง ไม่ต้องจัดทัวร์เอง แต่มีบริษัทมาจัดทัวร์ ในขณะที่ NASA เอง ก็ดูแลเรื่อง Regulation กับชาติสมาชิกของโครงการ International Space Station และ International Relation ไป ไม่ต้องมาจับอะไรเงิน ๆ ทอง ๆ ให้มีข่าวดราม่าออกมา ประเทศที่มีเงินก็สบายเพราะดีลผ่านบริษัทเหล่านี้เอา ไม่ต้องคุยกับรัฐบาล (นึกภาพดีลรัฐ ก็จะมีการเซ็น MOU ส่งเอกสารวุ่นวาย ต้องเจอฝ่ายการเมืองอีก) ทีนี้เก้าอี้ขึ้นสู่สถานีอวกาศนานชาติ (และสถานีอวกาศอื่น ๆ ในอนาคตที่เป็นเอกชน) ก็จะซื้อง่ายขายคล่อง ชาติที่ไม่ได้มีอำนาจด้านอวกาศมากก็สามารถส่งนักบินได้

Axiom Mission 2

ภารกิจ Axiom Mission 2 นั้น เริ่มต้นเดินทางขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติในช่วงเช้าของวันที่ 22 พฤษภาคม 2023 เวลาประเทศไทย โดยจรวด Falcon 9 หมายเลข B1080 ซึ่งเป็นจรวดลำใหม่แกะกล่องไม่เคยเดินทางสู่อวกาศมาก่อน ได้นำเอายาน Dragon เดินทางจากฐานปล่อย LC-39A ณ แหลมคะเนอเวอรัล สหรัฐฯ ขึ้นสู่อวกาศ ภายหลังจรวดลำนี้เดินทางกลับมาลงจอด ณ Landing Zone 1 ได้สำเร็จไม่กี่นาทีหลังปล่อยตัว

จรวด Falcon 9 บินขึ้นจากฐานปล่อย LC-39A ในภารกิจ Axiom Mission 2 ที่มา – SpaceX

ยาน Dragon พาเอานักบินอวกาศทั้ง 4 เดินทางเทียบท่าสถานีอวกาศนานาชาติในช่วงเย็นของวันเดียวกัน โดยใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมง ณ โมดูล Harmony หรือ Node 2 ด้านหน้าสุดของสถานีอวกาศนานาชาติ ก่อนที่นักบินอวกาศทั้ง 4 จะออกมาทักทายนักบินอวกาศที่ประจำอยู่บนสถานี

โดยจากภารกิจครั้งนี้ ทำให้อัตราส่วนของนักบินอวกาศบนสถานีในขณะที่ยานเข้าเทียบท่าเป็นดังนี้ได้แก่ Andrey Fedyaev, Dmitriy Petelin, Sergey Prokopyev จากรัสเซีย (3 คน) Sultan Al Neyadi จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (1 คน) และ Francisco Rubio, Warren Hoburg, Stephen Bowen จากสหรัฐอเมริกา (3 คน) จากเดิม 7 คน บวกไปอีก 4 คนมาใหม่ เป็น สหรัฐอเมริกา 2 และซาอุดิอาระเบียอีก 2 ทำให้อันตราส่วนระหว่าง สหรัฐ:รัสเซีย:อาหรับ เป็น 5:3:3 นับว่ามีความแปลกใหม่เป็นประวัติกาล เพราะมีชนชาติอาหรับอยู่มากกว่า 1/4 ลองลูกเรือ จัดว่าเป็นความก้าวหน้าของการสำรวจอวกาศในภูมิภาคอาหรับเป็นอย่างมาก

โดยภารกิจ Axiom 2 นั้นจะใช้เวลาอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติทั้งสิ้น 10 วัน ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าวจะมีการทดลองและวิจัยในสภาวะไร้น้ำหนัก (อย่างที่บอกภารกิจช่วงหลัง ๆ ต่อให้จ่ายเงินก็จะมีความเป็น Mission มากขึ้น)

อนาคตสถานีอวกาศเอกชนที่น่าจับตามอง

อย่างที่เราทราบกันดี Axiom เองยังอยู่ระหว่างการพัฒนาสถานีอวกาศของตัวเอง ที่ชื่อว่า Axiom Station โดยในช่วงแรกตัวสถานีจะเป็นส่วนหนึ่งของสถานีอวกาศนานาชาติก่อนที่จะแยกตัวออกไปเมื่อสถานีอวกาศานานาชาติถึงช่วงเวลาที่ต้องปลดประจำการ

ดังนั้นกิจกรรมการซื้อขายที่นั่งเพื่อไปปฏิบัติภารกิจในอวกาศจึงมีความชัดเจนและน่าจะเป็นธุรกิจที่เติบโตมาขึ้นในอนาคตและมาถึงจุดที่เรียกได้ว่าสถานีอวกาศนานาชาตินั้นมีตลาดเป็นของตัวเองที่สำคัญมาก ๆ และช่วยผลักดันการเติบโตของกิจกรรมอวกาศสำหรับประเทศที่กำลังก้าวเข้ามาเป็นผู้เล่นในแวดวงอวกาศที่เราเรียกว่า Space Emerging Country นั่นเอง

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.