Bartolomeo Platform บน ISS ที่ให้ประเทศกำลังพัฒนา ทดลองงานอวกาศ ในราคาแค่หลักสิบล้าน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สถานีอวกาศนานาชาติได้กลายเป็นสถานที่สำคัญในการส่งงานวิจัยและโครงการต่าง ๆ ขึ้นไปเพื่อทำการทดลองในสภาวะไร้น้ำหนัก นอกจากรัฐบาลหรือองค์กรชั้นนำของโลก สถานศึกษาและหน่วยงานวิจัยไปจนถึงภาคธุรกิจเองก็เริ่มที่จะสามารถใช้งานพื้นที่ของสถานีอวกาศนานาชาติได้ด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกับโครงการ Cube Sat และ Nanorack ที่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าอวกาศได้เปิดให้กับผู้คนทั่วไปสามารถใช้งานได้อย่างจริงจังแล้ว

และแน่นอนว่าโครงการ Commercialize Space หรือโครงการพัฒนาการใช้งานอวกาศเพื่อภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป ที่นำโดยองค์การอวกาศชั้นนำอย่าง NASA และ ESA ก็ยิ่งเร่งกระบวนการของโครงการนี้ให้เร็วยิ่งขึ้นไปอีก

ในปี ค.ศ. 2020 นี้ สถานีอวกาศนานาชาติกำลังจะได้รับอุปกรณ์เสริมชิ้นใหม่ล่าสุดในนาม Bartolomeo ที่จะช่วยทำให้การเข้าถึงอวกาศของทุก ๆ คนนั้นง่ายมากขึ้นกว่าเดิม

Bartolomeo – External Payload Platform

Bartolomeo / Bartolomeo Facility คือ External Payload Platform หรือระบบเก็บ Payload ภายนอก ที่ผลิตโดยฝ่ายงานอวกาศของ Airbus (ใช่ครับ ที่ผลิตเครื่องบินโดยสารนั่นเอง) สำหรับติดตั้งที่โมดูล Columbus ของทาง ESA บนสถานีอวกาศนานาชาติ เพื่อพัฒนาโครงการ Commercialize Space ที่กำลังดำเนินการอยู่ในช่วงนี้ โดยทาง Airbus จะเป็นผู้ดูแลรวมถึงให้บริการ “ลูกค้า” ในการส่ง Payload ขึ้นไปยัง Bartolomeo แบบครบวงจรเลยทีเดียว เรียกได้ว่าอำนวยความสะดวกให้แบบสุด ๆ ไปเลย

เป้าหมายหลักของ Bartolomeo คือการเป็นพื้นที่หรือห้องทดลองสำหรับ Payload ที่ถูกส่งขึ้นมาบนสถานีอวกาศนานาชาติเพื่อทดลองภายใต้สภาวะไร้น้ำหนัก หรือสภาวะแวดล้อมของอวกาศ โดยกลุ่มเป้าหมายที่จะใช้งานนั้นถูกโฟกัสไปที่ภาคเอกชนโดยเฉพาะ

Bartolomeo ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมากับยาน Dragon ของ Spacex และกำลังอยู่ในระหว่างการติดตั้งเข้ากับด้านข้างของโมดูล Columbus ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเวลาประมาณ 3 เดือน

Bartolomeo EPP ในตำแหน่งพักข้างใต้โมดูล Destiny ระหว่างกำลังรอการติดตั้ง – NASA

สำหรับชื่อ Bartolomeo นั้นเป็นชื่อของน้องชายของ Columbus นั่นเอง งานนี้สองพี่น้องกำลังจะได้ไปโคจรรอบโลกด้วยกันแล้ว หลังจากที่พี่ชายขึ้นไปรอก่อนเป็นเวลาถึง 12 ปี

Bartolomeo ทำงานอย่างไร

Bartolomeo นั้นนับได้ว่าเป็นหนึ่งในหลาย ๆ External Payload Platform (พื้นที่เก็บของภายนอก – ก็คือสัมผัสกับอวกาศตรง ๆ นั่นเอง) ที่มีอยู่ก่อนแล้วบนสถานีอวกาศนานาชาติ ตัวอย่างเช่น Experiment Logistics Module-Exposed Section ของโมดูล Kibo จากประเทศญี่ปุ่น หรือแม้แต่ External Storage ที่ใช้เก็บอะไหล่ของสถานีอวกาศนานาชาติและส่วนยึดอุปกรณ์ของแต่ละโมดูลก็นับเป็นรูปแบบหนึ่งของ External Payload Platform ด้วยเช่นกัน

แต่ Bartolomeo นั้นแตกต่างไปจาก Platform ที่มีอยู่ก่อนแล้วในหลาย ๆ ด้าน อย่างแรกเลยคือการออกแบบและสร้างเพื่อรองรับ Payload ที่มีขนาดและน้ำหนักสูงในปริมาณมากได้ (รับน้ำหนักได้ถึง 450 กิโลกรัม ต่อ Payload) ตัวพื้นที่สำหรับเก็บ Payload ระหว่างภารกิจถูกออกแบบให้ใช้งานในภาคธุรกิจโดยเฉพาะ มีการแบ่งและจัดสรรพื้นที่ Slot ด้วยระบบ ArgUS Multi Payload Adapter นี่หมายความว่าองค์กรต่าง ๆ ที่ใช้บริการ Bartolomeo แล้วส่ง Payload ไปในขนาดที่ต่างกันก็สามารถถูกจัดรวมไว้ด้วยกันได้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของพื้นที่ (ที่มีจำกัด ถึงจะนับว่าเยอะมากก็ตาม) ดังนั้น Bartolomeo จึงสามารถรับ “ออเดอร์” จากลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องและหลากหลายขึ้นกว่าเดิม

ภาพจำลองด้านบนของ Bartolomeo EPP ที่ติดตั้งเข้ากับโมดูล Columbus เรียบร้อยแล้ว แสดงให้เห็นพื้นที่เก็บ Payload ที่แสดงในลักษณะลูกบาศก์ – Airbus

พื้นที่เก็บ Payload นั้นถูกเรียงตามลำดับคือ ฝั่งซ้าย – 1A 1B 2A 2B กลาง – 4 5 7 8 ฝั่งขวา 5A 5B 6A และ 6B รวมทั้งหมด 12 พื้นที่หลักในการเก็บ Payload แต่ละพื้นที่สามารถรับ Slot ที่มีขนาดสูงสุดที่ 700 x 800 x 1000 มม. พร้อมระบบจ่ายไฟที่ 180 – 800 W ขึ้นอยู่กับพื้นที่

ลองจินตนาการว่า Bartolomeo คือล็อกเกอร์อัจฉริยะสำหรับให้ฝากของไว้กลางห้วงอวกาศเพื่อทำการทดลองดูสิครับ นี่แหละคือแนวคิดและหลักการของ Bartolomeo

ไม่เพียงแค่นั้น การที่ Bartolomeo ถูกติดตั้งไว้ในตำแหน่งยอดของสถานีอวกาศข้างโมดูล Columbus ก็ทำให้วิวที่เห็นจาก Platform นั้นกว้างแบบสุด ๆ (ในกรณีที่ Payload ที่ส่งไปนั้นติดกล้องไปด้วย)

ระบบการส่งข้อมูลของ Bartolomeo ใช้แสงเลเซอร์สำหรับสื่อสารโดยตรงกับภาคพื้นดิน โดยอัตราการส่งข้อมูลนั้นสูงถึง 2 TB / วัน เลยทีเดียว หาก Payload ต้องทำการบันทึกข้อมูลอยู่ตลอดเวลา ข้อมูลเหล่านี้ก็สามารถส่งถึงพื้นโลกได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้จบภารกิจหรือรอคิวการถ่ายทอดสัญญาณแต่อย่างใด นอกจากนี้ระบบควบคุมส่วนกลางของ Bartolomeo จะทำการดูแลและตรวจสอบ Payload ที่ถูกเก็บไว้ในแต่ละจุดเป็นระยะ

แขนกล Canadarm 2 ของสถานีอวกาศนานาชาติ และยาน Dragon ในการทำ Commercial Resupply ให้กับสถานีอวกาศนานาชาติ

สำหรับรูปแบบภารกิจนั้น ตัว Payload จะถูกส่งขึ้นไปกับเที่ยวบินบำรุงสถานีอวกาศนานาชาติทุก ๆ ประมาณ 3 เดือน กับยานขนส่ง เมื่อ Payload ถึงสถานีอวกาศนานาชาติแล้ว จะถูกขนส่งไปไว้ภายนอกสถานี ก่อนที่แขนกลจะทำการติดตั้ง Payload นั้นเข้ากับพื้นที่เก็บ Payload ของ Bartolomeo

ตัว Payload จะถูกติดตั้งเอาไว้จนกว่าจะสิ้นสุดภารกิจตามที่ตกลงกันไว้ โดยหากจำเป็นก็สามารถส่ง Payload กลับมายังโลกได้ด้วย โดยทาง Airbus จะเป็นผู้ดูแลและช่วยเหลือตลอดภารกิจตั้งแต่ต้นจบจบ รวมถึงดูแลเรื่องการส่งข้อมูลให้เช่นกัน

Airbus ตั้งเป้าว่าการทำงานของ Bartolomeo นั้นจะต้องเป็นกระบวนการที่ครบวงจร โฟกัสไปที่ลูกค้าหรือผู้ใช้งาน รวมถึงมีความสะดวก และประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการส่ง Payload ด้วยกระบวนการแบบเดิม ทั้งนี้ก็เพื่อให้ตอบโจทย์กับฐานลูกค้าในวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะกับภาคเอกชนและการศึกษา

โครงการนี้มีมี UN เป็นผู้สนับสนุน UNOOSA คืออะไร

Airbus ร่วมมือกับ UNOOSA (United Nations Office for Outer Space Affairs) เพื่อให้โอกาสกับทุก ๆ ประเทศที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติในการขอส่ง Payload ไปไว้บน Bartolomeo Facility ได้ในเที่ยวบินแรก ๆ ของปี ค.ศ. 2020 นี้ โดย Airbus และ UN สนับสนุนให้องค์กรเอกชนและสถานศึกษาในประเทศที่กำลังพัฒนาสมัครเข้าร่วมโครงการนี้เป็นพิเศษอีกด้วย

AIRBUS และ UNOOSA ลงนามร่วมกันในโครงการสนับสนุนภารกิจ Bartolomeo – Airbus

โครงการความร่วมมือนี้เป็นไปตามแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals – SDGs) ดังนั้นโครงการลักษณะนี้น่าจะมีการจัดอีกเป็นระยะในอนาคต

การส่ง Payload หรืองานวิจัย มีเงินแค่หลักสิบล้านก็ส่งได้

ขั้นตอนการส่ง Payload ขึ้นไปยัง Bartolomeo นั้นนับว่าสะดวกสบายขึ้นมาก ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อไปยัง Airbus ได้โดยตรงเพื่อตกลงราคาและรายละเอียด หากข้อเสนอผ่านและตกลงค่าใช้จ่ายรวมถึงรายละเอียดเรียบร้อยแล้ว ทาง Airbus จะเข้ามาประกบเพื่อดูแลภารกิจตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ นับเป็นการเริ่มต้นภารกิจระยะที่หนึ่ง (Ticketing Phase) การเซ็นสัญญาและงานภาคพื้นดินส่วนใหญ่นั้นจะอยู่ในระยะนี้

ในกรณีที่ Payload พร้อม และผ่านการตรวจสอบแล้ว ก็จะเข้าสู่ระยะที่สองของภารกิจ (Boarding Phase) ที่จะเป็นการจองเที่ยวบิน จัดการ Payload และติดตั้งในยานขนส่งเพื่อเตรียมยิงขึ้นไปสู่สถานีอวกาศนานาชาติ

ระยะสุดท้าย (In-Flight phase) เริ่มตั้งแต่การส่ง Payload ขึ้นสู่อวกาศจนกระทั่งสิ้นสุดภารกิจ ในระยะนี้จะเน้นไปที่การดำเนินงานกับ Payload ตั้งแต่การขนส่ง ติดตั้งบน Bartolomeo และส่งข้อมูลกลับมายังโลก เมื่อสิ้นสุดภารกิจแล้ว Payload สามารถถูกส่งกลับมายังโลก หรือทำลายทิ้งก็ได้ ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของผู้ส่งและ Payload นั้น ๆ

ต้องย้ำกันอีกครั้งนะครับว่าขั้นตอนทั้งหมดนี้ Airbus ช่วยดูแลให้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นด้านโปรแกรมมิ่งหรือทดสอบความแข็งแรงของ Payload ทาง Airbus พร้อมให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ

รูปแบบของชนิด Payload ที่ส่งขึ้นไปได้นั้นก็เปิดกว้างมาก ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นงานด้าน Remote Sensing, Astrophysics – Heliophysics / Atmospheric Research / Space Weather / On-orbit Assembly / Robotics Testing / In-orbit Testing / Propulsion Testing / Material Science / Spacecraft Deployment / In-space manufacturing – ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของประเภทงานที่ Bartolomeo รองรับ ด้วยความที่การทำงานนั้นเป็นแบบเอกชน แน่นอนว่าข้อจำกัดย่อมลดลงไปด้วย ตราบใดก็ตามที่ Payload นั้นปลอดภัยและไม่ละเมิดกฎ ก็สามารถส่งขึ้นไปเพื่อทดลองบน Bartolomeo ได้

สุดท้ายแล้วราคาของการส่ง Payload / ภารกิจบน Bartolomeo ณ ตอนนี้ถูกคาดการณ์อยู่ที่ประมาณ 300,000 – 3,500,000 ยูโร (ประมาณ 10,594,089 – 123,597,709.80 บาท) นี่อาจจะเป็นตัวเลขที่ดูแพงระยับ แต่ก็นับว่าเป็นตัวเลขที่ภาคเอกชนสามารถจับต้องได้ โดยเฉพาะกับบริษัทขนาดใหญ่ที่ตัวเลขนี้ก็เทียบเท่าได้กับการลงทุนครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งเท่านั้นเอง

อนาคตของ Bartolomeo และอวกาศที่ใกล้ตัวพวกเรามากขึ้นอีกระดับ

การเข้ามาของ Bartolomeo น่าจะเป็นการพลิกกระดานเกมของวงการอวกาศที่น่าจับตามองอีกครั้งหนึ่ง เทียบเคียงได้กับโครงการ Dragon ของ Spacex เลยก็ว่าได้ จริงอยู่ที่ในตอนนี้ภาคเอกชนมีตัวเลือกในการส่ง Payload กับหลาย ๆ หน่วยงานด้านอวกาศ แต่ Airbus เข้ามาพร้อมนโยบายและแนวคิดที่จะปรับให้กระบวนการทุกอย่างนั้นง่ายและจบลงในที่เดียว ด้วยราคาที่ต่ำลงไปอีก นี่เป็นสัญญาณที่ชัดเจนพอสมควรเลยว่าการแข่งขันในตลาดอวกาศนั้นกำลังจะร้อนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีกในอนาคตอันใกล้นี้ ผู้เล่นระดับสูง ๆ ในภาคเอกชนอย่าง SpaceX, Blue Origin (Amazon), Boeing ที่มีฮาร์ดแวร์เป็นของตัวเองอยู่แล้ว ก็มีโอกาสที่จะเปิดบริการที่คล้าย ๆ กันนี้มาแข่งขันกับ Airbus ได้ด้วยเช่นเดียวกัน

ภาพจำลอง Payload ที่ติดตั้งอยู่กับ Bartolomeo บนสถานีอวกาศนานาชาติ ที่มา – ESA/UNOSA

สถานีอวกาศนานาชาติกำลังจะเปิดบ้านต้อนรับภาคเอกชนอย่างจริงจังในอีกไม่นาน ไม่เพียงแค่ Bartolomeo เท่านั้น แต่ยังมีโมดูลภาคเอกชนที่กำลังอยู่ในการพัฒนาและเตรียมติดตั้งอีกหลายรายการ รวมไปถึงเที่ยวบิน Commercial ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้านี้อีกด้วย

ตัวเลือกกับราคาที่สมเหตุสมผลมากขึ้นจะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้าถึงอวกาศได้มากขึ้นตามไปด้วย เราอาจจะได้เห็นงานวิจัยและบริษัทด้านอวกาศเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อมีฮาร์ดแวร์ที่ดีและเข้าถึงได้เข้ามารองรับ (Space Infrastructure) เช่นเดียวกับกรณีศึกษาของ Cube Sat ที่นำพาเอางานวิจัยแทบทุกแขนงมาทำงานร่วมกันกับแนวคิดของดาวเทียมขนาดนาโนนี้ได้อย่างเต็มที่

อ่านเพิ่มเติม – ทิศทางการพัฒนาด้านอวกาศในไทยควรไปทางไหน อวกาศถูกลงจริง แต่ไม่ได้ง่ายขึ้น

สำหรับบุคคลทั่ว ๆ ไป นี่อาจจะไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นอะไรมากไปกว่าการที่สถานีอวกาศนานาชาติได้อัพเกรดเพิ่มชิ้นส่วนสำหรับภาคเอกชนเข้าไปอีกชิ้น

แต่การเปิดโอกาสให้มนุษย์ได้ทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการในห้องทดลองลอยฟ้าแห่งนี้ คืออีกก้าวหนึ่งที่จะนำพาพวกเราไปสู่การเป็นเผ่าพันธุ์ที่ใช้ชีวิตร่วมกับสภาวะแวดล้อมของอวกาศได้ในอนาคต

แน่นอนว่าทาง Airbus จัดทำคู่มือและโบรชัวร์เพื่ออธิบายโครงการ Bartolomeo เอาไว้อย่างละเอียด สำครับใครก็ตามที่สนใจ สามารถเข้าไปอ่านกันแบบจริงจังได้เลยตามลิ้งค์ด้านล่างนี้

AIRBUS and Bartolomeo
UNOOSA and Bartolomeo

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

นานุ | ชายผู้หลอมรวมความชอบในด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะเข้าด้วยกัน | นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ (ไส้แห้ง) ที่ชื่นชอบในการวาดรูป, แอนิเมชั่น, 3D Modeling และกราฟฟิกดีไซน์ ไปจนถึงการถ่ายทำภาพยนตร์สั้น