จันทรุปราคา จันทร์สีเลือด คู่ดาวอังคาร 28 กรกฎาคม สรุปทุกข้อมูล

เป็นเรื่องบังเอิญที่เหตุการณ์จันทรุปราคาครั้งที่ 2 ของปี เกิดในค่ำคืนเดียวกับที่ดาวอังคารเข้าใกล้โลกที่สุด แถมปรากฏให้เห็นในเฟรมเดียวกัน มาดูว่าปรากฏการณ์นี้สำคัญแค่ไหน แล้วดูอย่างไร 28 กรกฎาคมนี้ จะเกิดปรากฏการณ์ “จันทรุปราคาเต็มดวง” ซึ่งจันทรุปราคาเต็มดวงก็จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ Blood Moon หรือพระจันทร์สีเลือด ซึ่งเกิดจากการกระเจิงของแสงที่ผ่านชั้นบรรยากาศของโลก

วันนี้ทีมงาน SPACETH.CO ภายใต้คำแนะนำจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ อยากจะขอชวนทุกคนมาร่วมสังเกตการณ์ปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจมากปรากฎการณ์หนึ่งคือการเกิดจันทรุปราคา แต่ไม่ใช่แค่จันทรุปราคาอย่างเดียว ในปรากฎการณ์นี้มีหลายสิ่งซ่อนอยู่ ซึ่งทำให้ปรากฎการณ์ในครั้งนี้มีความน่าสนใจและน่าตื่นเต้นไม่แพ้จันทรุปราคาที่เกิดเมื่อช่วงต้นปีเลย

จันทรุปราคาในคืนดาวอังคารใกล้โลก

ถ้าจำกัดได้ นี่เป็นการเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งที่ 2 ของปี โดยครั้งแรก คือปรากฏการณ์ Super Blue Blood Moon ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในครั้งนั้นเรียกได้ว่าก็สร้างความตื่นตัวให้กับคนไทยออกมาชมปรากฎการณ์ดังกล่าวอยู่ไม่น้อย

ประจวบกับช่วงนี้ เป็นช่วงที่ดาวอังคารเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบ 13 ปี ทำให้เราเห็นดาวอังคารปรากฏสว่างบนท้องฟ้าชัดเจนกว่าช่วงอื่น เราจะสังเกตเห็นความส้มนวลของดาวอังคารได้อย่างชัดเจนในเวลากลางคืน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสรุปคร่าว ๆ ก็คือ

  • ดวงจันทร์ปรากฏเป็นสีเลือดเริ่มต้นเวลา 2:30
  • ดาวอังคารจะปรากฏสว่างส้ม อยู่ใต้ดวงจันทร์
  • ทั้งสองสามารถถ่ายภาพได้ในเฟรมเดียวกัน

รวมระยะเวลาปรากฏการณ์ทั้งหมด ยาวนาน 6 ชั่วโมง ประมาณหลังเที่ยงคืนไปจนถึงดวงจันทร์ลับขอบฟ้า

ทำไมพระจันทร์เป็นสีเลือด

Blood Moon แปลตรงตัวเลยก็คือ พระจันทร์สีเลือด ฟังแล้วอาจจะดูน่ากลัว แต่ไม่ต้องตกใจปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง เมื่อดวงจันทร์ค่อย ๆ เคลื่อนที่เข้าไปในเงามัวของโลกดวงจันทร์จะค่อย ๆ มืดลงและเห็นเป็นแต่เมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้ามาในเงามืด (โลกบังดวงจันทร์ 100%) นั้น สิ่งที่เราคาดหวังคือดวงจันทร์จะต้องมืดหมดทั้งดวง

แต่จริง ๆ แล้ว ดวงจันทร์จะไม่มืดทั้งดวง เพราะยังมีแสงอาทิตย์บางส่วนส่องผ่านชั้นบรรยากาศของโลกมาเฉพาะแสงช่วงคลื่นสีแดง ทำให้เราเห็นดวงจันทร์เป็นสีส้มหรือสีแดง เรียกว่า Blood Moon นั่นเอง (ปรากฏการณ์นี้คล้ายกับตอนที่โลกเห็นดวงอาทิตย์เป็นสีส้มหรือสีแดงตอนพระอาทิตย์ขึ้นหรือพระอาทิตย์ตก)

Micro-moon ทำให้ปรากฎนานกว่าปกติ

เพิ่มเติมคือ การเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วง Micro Lunar หรือ Micro Moon ซึ่งเป็นช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลกมาก ดังนั้นความสว่างของดวงจันทร์จะมีไม่มากเท่าตอน Super Blood Moon

แต่ สิ่งที่เป็นผลพลอยได้ก็คือ เนื่องจากดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลกกว่าตอนนั้น ปรากกฎการณ์จึงมีความยาวนานยิ่งขึ้น จนนับได้ว่า จะเกิดจันทร์สีเลือดนานถึง 1 ชั่วโมง 42 นาที ยาวที่สุดในรอบ 100 ปี!!! ซึ่งคนไทยโชคดีมากที่ได้เห็น

สรุปเวลาการเกิด

สรุปตารางเวลาของปรากฎการณ์ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่เวลา 02:30 – 04:13 น

  • เริ่มเงามั วตอนเที่ยงคืนสิบสี่นาที
  • ปรากฎเงามืดบางส่วน ตีหนึ่งยี่สิบนาที
  • ปรากฎจันทร์สีเลือด ตีสองครึ่ง
  • เลิกปรากฎจันทร์สีเลือด ตีสี่สิบสามนาที
  • สิ้นสุดเงามืดบางส่วน ตีห้าสิบเก้านาที

จากนั้นดวงจันทร์จะตกจากขอบฟ้าทำให้เราไม่เห็นการคลายเงามัว ซึ่งเป็นการสิ้นสุดปรากฎการณ์อย่างแท้จริง โดยตลอดปรากฎการจะมีดาวอังคารเป็นสักขีพยานอยู่ใต้มุมล่างของดวงจันทร์

ดังนั้นสรุปของปรากฎการณ์ในครั้งนี้ก็คือ เราจะได้ดูจันทรุปราคาแบบเต็มดวงกันโดยที่ระยะเวลาปรากฎก็จะนานกว่าปกติเนื่องจากดวงจันทร์อยู่ในช่วงที่ห่างจากโลกที่สุป และด้วยโอกาสที่เหมาะกับในช่วงที่ดาวอังคารโคจรเข้ามาใกล้โลกมากที่สุดและอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์พอดี ทำให้เรามีโอกาสได้เห็นดวงจันทร์คู่กับดาวอังคาร ที่ความพิเศษก็คือเราสามารถสร้างสรรค์ภาพถ่ายที่อาจจะมีเพียงไม่กี่ครั้งในชีวิตที่ทำได้คือถ่ายภาพดาวอังคารคู่กับดวงจันทร์สีเลือดในปรากฎการณ์จันทรุปราคา

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ยังได้บอกว่า เนื่องจากดวงจันทร์มีความสว่างไม่มาก ทำให้เราสามารถถ่ายภาพทางช้างเผือกไปพร้อมกับการเกิดปรากฎการณ์ได้โดยไม่เกิด Over Exposure ทำให้ในครั้งนี้เราสามารถสร้างสรรค์ภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ได้แล้วแต่เราจะออกแบบ ซึ่งเราก็หวังว่าจะได้เห็นภาพถ่ายสวย ๆ จากบรรดาช่างภาพดาราศาสตร์ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นมาให้ได้ชมกัน

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

ข้อมูลเชิงตัวเลขและการคำนวณจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.