ข่าวใหญ่สำหรับวงการอวกาศอีกหนึ่งข่าวในช่วงที่สหรัฐฯ กำลังเตรียมพร้อมกับโครงการ Artemis เมื่อจีนประกาศเตรียมส่งนักบินอวกาศลงสู่พื้นผิวของดวงจันทร์ภายในปี 2030 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ILRS หรือ International Lunar Research Station
วันที่ 29 พฤษภาคม 2023 ในงาน Press Conference ของภารกิจเสินโจ่ว Shenzhou-16 ขึ้นสู่สถานีอวกาศเทียนกง หลิน ซีเฉียง (林西强) หัวหน้าฝ่าย Chinese Manned Space Agency (CMSA) ได้ประกาศเป้าหมายของจีนในการเดินทางสู่ดวงจันทร์โดยมนุษย์ ซึ่งหากสำเร็จจีนจะกลายเป็นประเทศที่สองในหน้าประวัติศาสตร์ที่สามารถส่งมนุษย์ลงสู่ดวงจันทร์ได้ หลังจากสหรัฐฯ ที่เป็นผู้ริเริ่มโครงการ Apollo ในปี 1969 และ Artemis ที่ตั้งเป้านำมนุษย์กลับสู่ดวงจันทร์ในปี 2025
แม้ทางการจีนจะยังไม่ได้ประกาศข้อมูลออกมาว่าจะเดินทางอย่างไร ลงจอดตรงไหน และจะปฏิบัติภารกิจอะไรบ้าง แต่การประกาศนี้ก็สมเหตุสมผลกับเป้าหมายระยะยาวของจีนในการตั้งสถานีวิจัยบนดวงจันทร์
ข่าวดังกล่าวได้ถูกนำไปลงในสื่อหลักโดยรัฐบาลจีนอย่าง Xin Hua ในชื่อ China to realize manned lunar landing by 2030
เป็นที่ทราบกันดีว่าจีนนั้นมีเป้าหมายในการสำรวจดวงจันทร์ตั้งแต่การส่งยานอวกาศตระกูลฉางเอ๋อ (Chang’e) ไปยังดวงจันทร์ โดยเริ่มต้นจากฉางเอ๋อ 1 ในปี 2007 ที่ไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้สำเร็จ และสามารถส่งยานฉางเอ๋อ 3 ไปลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จในปี 2013 ที่ผ่านมา ซึ่งในตอนนั้นนับว่าเป็นการลงจอดบนดวงจันทร์ในรอบกว่า 37 ปี หลังจากที่ในปี 1976 สหภาพโซเวียตส่งยานอวกาศ Luna 24 ไปลงจอด หลังจากนั้นจีนก็ได้กระหน่ำพัฒนาโครงการฉางเอ๋อมาเรื่อย ๆ และได้มีความสำเร็จสำคัญหลายอย่าง เช่น การลงจอด ณ ด้านไกลของดวงจันทร์ครั้งแรกโดยฉางเอ๋อ 4 ในปี 2019 และภารกิจการทำ Sample Return (นำตัวอย่างหินจากดวงจันทร์กลับโลก) ในปี 2020 โดยฉางเอ๋อ 5
ในปี 2019 จีนและรัสเซียได้เซ็นสัญญาภายใต้ความร่วมมือที่มีชื่อว่า ILRS หรือ International Lunar Research Station ซึ่วางเป้าตั้งฐานสำรวจบนดวงจันทร์ในช่วงหลังจากปี 2030 เป็นต้นไป โดยระหว่างนั้นจีนและรัสเซียจะส่งยานอวกาศอีกหลายลำไปลงจอดเพื่อเตรียมความพร้อม และรัสเซียก็จะเริ่มกลับมาส่งยานอวกาศตระกูล Luna อีกครั้ง โดยยาน Luna 25 ถูกวางเป้าหมายในการปล่อยไว้ในปี 2023
จรวดที่น่าจะเป็นจรวดลำสำคัญที่จะนำส่งนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์ให้กับจีนก็คงหนีไม่พ้นจรวด Long March 10 โดยทางการจีนได้ประกาศว่า Long March 10 ที่กำลังอยู่ในระหว่างพัฒนานี้จะถูกใช้ในการส่งนักบินอวกาศ ร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทางจีนกำลังพัฒนาอยู่ ตั้งแต่ยานอวกาศสำหรับการปฏิบัติภารกิจในรูปแบบ Deep Space (ภารกิจในอวกาศห้วงลึก คล้ายกับยาน Orion ของ NASA) ระบบลงจอดบนพื้นผิว และชุดนักบินอวกาศสำหรับการเดินบนดวงจันทร์
ที่สำคัญคือยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าในโครงการนี้รัสเซียจะเข้ามามีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน หากมองตามประวัติศาสตร์แล้ว รัสเซียเองมีเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อต่อสู้กับสหรัฐฯ ในการส่งนักบินอวกาศไปดวงจันทร์ ในช่วงสงครามเย็น แต่ด้วยอายุของเทคโนโลยีที่มากกว่า 50 ปี ทำให้จริง ๆ หากรัสเซียให้ความช่วยเหลือ ก็น่าจะต้องมีการทำวิจัยและพัฒนาแทบจะใหม่เกือบหมด และภารกิจการลงจอดบนดวงจันทร์ของรัสเซียเองก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริง
บทบาทการสำรวจดวงจันทร์ของรัสเซียในช่วงนี้นั้นลดลงไปมาก แม้กระทั้งโครงการสถานีอวกาศนานาชาติเอง จากเดิมที่รัสเซียประกาศถอนตัวออกจากโครงการในปี 2024 เพื่อไปสร้างสถานีอวกาศของตัวเอง รัสเซียก็ต้องกลับคำ และขอร่วมโครงการไปจนถึงปี 2028 (และอาจต่อไปอีก) ข่าวดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ นักข่าวด้านอวกาศชื่อดัง Jeff Frost ได้รายงานไว้ในบทความ Russia commits to ISS extension to 2028 ว่า Roscosmos ได้ส่งจดหมายถึง NASA โดย NASA ก็กลับไม่ได้ชี้แจงเนื้อหาของจดหมาย ว่ารัสเซียมีเหตุผลอะไรที่ทำให้กลับมาร่วมมือบน ISS อีกครั้ง ทั้งเอกสารจากทางการของรัสเซียก็ไม่ได้รับการเปิดเผยให้สาธารณชนด้วย อย่างไรก็ตาม Roscosmos ภายใต้การนำของ Yuri Borisov ผู้อำนวยการคนใหม่นั้นมีการสงวนท่าทีอย่างมาก เมื่อเทียบกับในยุคของ Dimitry Rogozin ที่กล่าวโจมตี NASA และชาติพันธมิตรไม่เว้นวัน
ในขณะที่รัสเซียเองนั้นไม่ค่อยมีอัพเดทอะไรใหม่ ๆ แต่ในฝั่งของจีน มีการประกาศนู่นนี่ออกมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นโครงการสถานีอวกาศเทียนกงที่เริ่มสมบูรณ์แบบและมีการส่งนักบินอวกาศขึ้นไปประจำตลอด โครงการกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Xuntian Space Telescope (CSST / Chinese Survey Space Telescope) ที่จะถูกปล่อยในปี 2024 และการส่งยานอวกาศซิงจี่ค่วยเชอ (Interstellar Express) เดินทางออกนอกระบบสุริยะในปี 2025
หากแผนของจีนสำเร็จ ในช่วงก่อนปี 2030 เราจะได้เห็นการลงจอดดวงจันทร์ของ 2 ชาติมหาอำนาจ ได้แก่สหรัฐฯ และทีมนานาชาติฝั่ง Artemis และจีน ภายใต้ทีมนานาชาติฝั่ง ILRS ในขณะที่ไทยเองนั้น แม้จะมีการพูดคุยกับทั้งสองฝั่งแต่ก็ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนว่าจะเลือกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (มีการส่งตัวแทนจากทั้ง ILRS และ Artemis มาคุยกับทางการไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอย่างโจ่งแจ้ง) ซึ่งการที่โลกแบ่งขั้วอย่างชัดเจนนี้ ก็ต้องรอดูต่อไปว่าอะไรจะเกิดขึ้น และแม้ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) จะมีความร่วมมือกับทาง Chinese Academy of Science ในการพัฒนาดาวเทียมและ Payload ต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่ได้มีความร่วมมือกับ CNSA โดยตรงในปัจจุบัน ซึ่งก็ต้องคอยจับตาดูโครงการฉางเอ๋อต่อ ๆ ไปของจีนว่าจะได้ปรากฎ Payload ของไทยอยู่บนฉางเอ๋อด้วยหรือไม่
ในขณะที่ฝั่ง Artemis เอง ไทยเราก็ยังไม่ได้เซ็น Artemis Accords เช่นกัน โดยในปี 2023 ได้มีการจัดประชุมเพื่อหาตัวแทนเป็น Point-of-Contact ในการติดต่อ ซึ่งก็ได้ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ มาเป็นตัวแทน ส่วนเพื่อนบ้านของเราด้านอวกาศอย่างสิงคโปร์ ได้มีการเซ็น Artemis Accords ไปแล้ว (ทั้งนี้ทั้งนั้นการเซ็ต Artemis Accords ไม่ได้หมายความว่าจะมีบทบาทกับตัวโครงการโดยตรง เหมือน ESA และ JAXA แต่เป็นนัยทางการเมืองมากกว่า)
การที่จีนประกาศเป้าหมายที่เรียกได้ว่าถ้าไม่กล้าทำก็จะไม่ประกาศกันง่าย ๆ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่แสดงว่าจีนนั้นจริงจังกับการสำรวจดวงจันทร์แค่ไหน และเป็นการแสดงศักยภาพที่จะนำไปสู่โครงการ ILRS
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co