หลายคนคงได้เห็นกันไปแล้วกับงาน Zhuhai Airshow หรือที่รู้จักกันในชื่อ 珠海航展 ซึ่งเป็นงานมหกรรมจัดแสดง Airshow และงานแสดงสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการบินและอวกาศที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ที่มีการจัดแสดงเครื่องบินรบรุ่นต่าง ๆ ทั้งจากทางกองทัพจีนเองหรือแม้แต่เครื่องบินรบจากประเทศรัซเซีย รวมไปถึงระบบป้องกันภัยทางอากาศและขีปนาวุธรุ่นต่าง ๆ แต่นอกเหนือจากพาหนะและเครื่องจักรสงครามเหล่านี้ ในงานก็ได้มีโซนหนึ่งที่มีไว้จัดแสดงและอัพเดทความคืบหน้าของโครงการอวกาศจีนด้วยเช่นกัน
โดยในวันนี้เราจะพาทุกคนไปดูไฮไลท์สำคัญสำหรับภารกิจด้านอวกาศในงานนี้กัน แน่นอนว่าการมาถึงของยุคที่มนุษยชาติต่างตัดสินใจที่จะกลับขึ้นไปบนดวงจันทร์อีกครั้งทั้งในฝั่งชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและฝั่งของทางจีนเอง การชู Hardware สำหรับโครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีนและโครงการอวกาศอื่น ๆ ของจีนก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่จะไม่หยิบยกมาจัดแสดงไม่ได้เลยในงานนี้
สำหรับส่วนของจรวด หลังจากที่องค์การอวกาศจีนใช้จรวดรุ่น Long March 3 และ Long March 5 เป็นจรวดของรุ่นที่ถูกใช้ในการส่งยานสำรวจแบบไร้คนขับมาตั้งแต่ปี 2007 ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ทางการจีนจึงได้ตั้งเป้าที่จะขยับจากการส่งยานไร้คนขับไปเป็นการส่งมนุษย์ไปเยือนดวงจันทร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่จรวดรุ่นเดิม ๆ ที่มีอยู่นั้นไม่สามารถทำให้ได้ ทางสถาบันเทคโนโลยีพาหนะนำส่งของจีนหรือ China Academy of Launch Vehicle Technology จึงได้เริ่มพัฒนาจรวดรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าจรวด Long Match 5 ออกมาด้วยกันสองรุ่น
จรวด Long March 9 ที่อัพเดทดีไซน์คล้ายกับยาน Starship
ในปีนี้ ตัว Mockup ได้ถูกดัดแปลงด้วยการนำของเดิมที่ถูกจัดแสดงในงาน Zhuhai Airshow เมื่อปี 2022 มาติดตั้งครีบสี่ชิ้นที่มองยังไงก็ไม่ต่างอะไรกับยาน Starship ที่อยู่ภายใต้การพัฒนาโดยบริษัท SpaceX โดยขนาดยังคงไม่ต่างจากข้อมูลที่ถูกแสดงเมื่อปี 2022 นั่นคือตัวจรวดจะมีความสูง 114 เมตรและมีเส้นผ่านศูนย์กลางที่ 10.6 เมตร โดยทาง ทางสถาบันเทคโนโลยีพาหนะนำส่งของจีนตั้งเป้าว่ามันจะต้องส่งของหนักร่วม 150 ตันไปที่วงโคจรต่ำของโลกและของหนัก 50 ตันเข้า Trans-lunar injection หรือ TLI ซึ่งเชื่อว่าอาจมีการปรับเปลี่ยนอีกครั้งในอนาคตอันใกล้เหมือนกัน Starship ของ SpaceX ที่ยังไม่มีตัวเลขที่แน่นอนสำหรับขีดความสามารถในการส่งของ
โดยตัวจรวด Long March 9 กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาด้วยกันสามรุ่นย่อย ประกอบไปด้วยรุ่นมาตรฐานที่จะมีท่อนจรวดด้วยกันสามท่อน โดยส่วนของจรวดท่อนบนทั้งสองจะเป็นแบบใช้แล้วทิ้งซึ่งคาดว่านี่จะเป็นรุ่นที่สามารถส่งของได้หนักที่สุดจากจรวดทั้งสามรุ่น ในขณะที่อีกรุ่นจะถูกลดขนาดลงมาเหลือแต่จรวดสองท่อน ซึ่งคาดว่าจรวดรุ่นนี้จะเป็น Proof of Concept ให้กับรุ่นที่จะติดตั้งครีบสี่ชิ้นที่มีการยืนยันว่าจะเป็นจรวดที่สามารถใช้งานซ้ำได้ทุกส่วน จรวดทั้งสามรุ่นย่อยดังกล่าวจะมีจุดร่วมที่เหมือนกันคือจรวดท่อนแรกที่จะสามารถใช้งานซ้ำได้ด้วยการทำ Propulsive Landing กลับมาลงจอดที่ภาพพื้น ซึ่งจะอาศัยการใช้อุปกรณ์ Grid Fin สำหรับควบคุมทิศทางในการลงจอด แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มีการรายงานว่าตัวจรวดท่อนบนที่มีการติดตั้งครีบจะมีความจำเป็นต้องใช้งานระบบเติมเชื้อเพลิงในอวกาศแบบยาน Starship หรือไม่
โดยทางจีนได้ระบุว่าจรวดรุ่นนี้จะขึ้นบินครั้งแรกในปี 2030 และจะทำให้มันสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ภายในช่วงระหว่างปี 2033 และ 2035 แน่นอนว่าพอเป็นจรวดรุ่นใหม่ที่ใหญ่ขึ้นแบบที่ทางจีนไม่เคยทำมาก่อน การพัฒนาเครื่องยนต์ที่มีความเหมาะสมกับจรวดรุ่นใหม่ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ทำให้ทางสถาบันเทคโนโลยีการบินและอวกาศด้านระบบขับดันด้วยเชื้อเพลิงเหลวหรือ Academy of Aerospace Liquid Propulsion Technology ก็ได้ออกมาประกาศว่ากำลังพัฒนาเครื่องยนต์จรวดรุ่น YF-215 ซึ่งจะถูกใช้งานบนจรวด Long March 9 โดยมันเป็นเครื่องยนต์ที่จะใช้เชื้อเพลิงมีเทนร่วมกับออกซิเจนแบบระบบ Full-Flow Staged Combustion โดยในปีนี้ได้มีการอัพเดทเพิ่มเติมว่าตัวเครื่องยนต์จะสร้างแรงขับมากถึง 200 ตัน (Ton-force) ในสภาวะสุญญากาศ โดยเครื่องยนต์จะทำงานแบบเต็มประสิทธิภาพที่ความดันของ Combustion Chamber ที่ 18 เมกะพาสคาล (MPa) และจะมี Specific Impulse อยู่ที่ 341 วินาที โดยเครื่องยนต์จะมีขนาดอยู่ที่เส้นผ่านศูน์กลางราว 2 เมตรและความสูงราว 4 เมตรซึ่งมีขนาดโดยรวมที่ใหญ่กว่าเครื่องยนต์ Raptor ของ SpaceX แต่ในขณะเดียวกันความสามารถของมันก็ยังตามหลังเครื่องยนต์ Raptor โดยเฉพาะรุ่น Raptor 2 อยู่มาก
Long March 10 และเครื่องบินอวกาศรุ่นใหม่จองจีน
นอกจากนี้แล้วทางสถาบันเทคโนโลยีพาหนะนำส่งของจีนยังได้อัพเดทความคืบหน้าของจรวดรุ่นรองอย่าง Long March 10 ที่จะใช้ในโครงการสำรวจดวงจันทร์จีนร่วมกับจรวดรุ่นพี่อย่าง Long March 9 อีกด้วย ซึ่งจะเป็นจรวดสำหรับส่งนักบินอวกาศรุ่นถัดไปของจีนต่อจาก Long March 2F โดยในปีนี้ในงานได้มีการนำเสนอจรวดรุ่นย่อยอย่าง Long March 10A ว่าจะเริ่มทำการบินครั้งแรกในปี 2026 และมันจะเป็นจรวดที่ตัวจรวดท่องแรกจะสามารถกลับมาลงจอดได้ ซึ่งจะอาศัยระบบขึงตาข่ายในการรับการลงจอดของจรวด
โดยในตอนนี้ทางสถาบันการเทคโนโลยีการบินและอวกาศของจีนหรือ Academy of Aerospace Science and Technology อยู่ในช่วงปรับปรุงประสิทธิภาพของจรวดรุ่นนี้ โดยมันถูกออกแบบให้มีความสามารถในการส่งของหนักร่วม 70 ตันไปที่วงโคจรต่ำของโลกและ 27 ตันเข้า TLI
อีกไฮไลท์ที่น่ำสนใจในงานนี้คือการประกาศพัฒนายานอวกาศแบบ Spaceplane รุ่นใหม่ของจีนอย่าง “ฮ่าวหลง” หรือ 昊龙 เป็นยานอวกาศที่มีการติดตั้งปีกสำหรับกานร่อนลงจอด ซึ่งคาดว่าถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานซ้ำตามวัตถุประสงค์ของยานอวกาศประเภทนี้ ซึ่งจะทำให้มันมีค่าใช้จ่ายในการส่งแต่ละครั้งที่ถูกกว่ายานอวกาศแบบเดิม ๆ ที่ทางจีนเคยใช้งานเพราะยานอวกาศหลายรุ่นก่อนหน้านี้ไม่ได้ถูกออกแบบให้สามารถใช้งานซ้ำได้ โดยในตอนนี้ยังไม่มีรายงานรายละเอียดของยานอวกาศรุ่นใหม่นี้ออกมามากนักแต่มันจะถูกใช้งานร่วมกับสถานีอวกาศเทียนกงร่วมกับยานเสินโจวที่เป็นยานอวกาศสำหรับส่งมนุษย์และยานเทียนโจวที่้เป็นยานเติมเสบียง
การแสดงในงาน Zhuhai Airshow ในปีนี้ไม่เพียงแต่เปิดเผยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการทหารเท่านั้น แต่ยังเป็นเวทีสำคัญในการนำเสนอความสามารถทางอวกาศของจีน ซึ่งมีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับโครงการอวกาศของจีนที่มุ่งมั่นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ สำหรับการสำรวจดวงจันทร์และการขนส่งในอวกาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาจรวด Long March รุ่นใหม่ ที่มีความสามารถในการนำมนุษย์ไปดวงจันทร์และการสร้างเครื่องยนต์ใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น การเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของจีนในด้านอวกาศ แต่ยังช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในความสามารถของเทคโนโลยีอวกาศจีนที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในเวทีโลก ขณะที่โครงการพัฒนายานอวกาศแบบ Spaceplane อย่าง “ฮ่าวหลง” ก็เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่อาจจะเปลี่ยนแปลงการขนส่งในอวกาศไปในอนาคต สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าในอนาคตอันใกล้ จีนจะสามารถเป็นผู้นำในการสำรวจอวกาศอย่างแท้จริง
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co