C/2020 F3 NEOWISE ดาวหางที่เห็นได้ด้วยตาในช่วงนี้ สรุปทุกข้อมูล

แม้ไม่ใช่เรื่องประหลาดมากมายที่จะมีดาวหางสักดวงโคจรมาใกล้กับโลก แต่ด้วยปัจจัยและอุปสรรคหลายอย่าง ก็ไม่บ่อยครั้งนักที่ดาวหางที่มีความสว่างสูงจะปรากฎมาให้เราได้เห็นกันสักครั้ง

เมื่อวันที่ 27 มีนาคมปีนี้ ดาวหาง C/2020 F3 (NEOWISE) หรือที่ถูกเรียกสั้น ๆ ว่าดางหาง NEOWISE ได้ถูกค้นพบที่ความห่าง 312 ล้านกิโลเมตรจากดวงอาทิตย์ ที่ Magnitute ความสว่าง +17 (เลขยิ่งน้อยยิ่งสว่าง โดยดาวที่จางริบหรี่ที่สุดที่เห็นได้ในเวลาค่ำคืนคือที่ Magnitute +6 หรือดาวศุกร์อยู่ที่ความสว่าง -4.6) มันได้กลายเป็นดาวหางดวงใหม่ที่อยู่ในความสนใจและวัตถุที่เป็นความหวังที่มนุษย์จะได้เห็นมันจากบนพื้นโลก หลังจากที่โลกพลาดโอกาสของดาวหาง 2 ดวงไปเมื่อตอนต้นปี: ดาวหาง ATLAS ได้แตกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อนที่จะมาถึงและดาวหาง SWAN จางกว่าที่มันจะโดดเด่นกลางผืนฟ้า

C/2020 F3 NEOWISE ในรูปแบบของสายของจุดสีแดง จากการประกอบรูปภาพอินฟราเรดจาก NEOWISE หลายภาพเข้าด้วยกัน – ที่มา NASA/JPL-Caltech

C/2020 F3 NEOWISE

ในช่วงแรก ๆ หลังจากการค้นพบมันในเดือนมีนาคม มันก็ได้ถูกสังเกตการณ์จากวิธีการต่าง ๆ แต่มันก็ไม่ได้ถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นดาวหางที่สว่างมากมายอะไรนัก (ที่ประมาณ Magnitude ประมาณ +9 ถึง +10 ที่สังเกตได้จากกล้องโทรทัศน์หรือกล้องส่องทางไกลเมื่อมองจากบนโลก) จนกระทั่งเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาได้มีการพบการเพิ่มของ Magnitude ของมันอย่างรวดเร็ว จนนักดูดาวหลายคนได้หันมาสนใจดาวหางดวงนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ

ดาวหาง NEOWISE ได้อยู่รอดปลอดภัยผ่านจุดมันเข้าใกล้กับดวงอาทิตย์ที่สุด (ที่มีความเสี่ยงสูงในการจะส่งอิทธิพลให้ดาวหางแตกออกจากกัน) แล้วในวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ภายใต้ความร้อนเกือบ 600 องศาเซลเซียส มันได้ออกห่างจากดวงอาทิตย์เรื่อย ๆ ตามวงโคจรของมัน จะผ่านโลกไปในระยะใกล้ที่สุดที่ 64 ล้านกิโลเมตรก่อนที่จะโคจรออกจากระบบสุริยะไปในช่วงกลางเดือนสิงหาคม

การโคจรของ C/2020 F3 (NEOWISE) ในช่วงวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา – ที่มา JPL Small Body Database

Comet NEOWISE Sizzles as It Slides by the Sun, Providing a Treat for Observers
Comet NEOWISE could give skywatchers a dazzling show this month. Here’s what to know.

อยากชมดาวหาง NEOWISE ต้องทำอย่างไร

อ้างอิงจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ในประเทศไทยเราจะสามารถสังเกตดาวหาง NEOWISE ในช่วงตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 ในช่วงเช้ามืดจนถึงก่อนดงอาทิตย์โผล่พ้นของฟ้า ใกล้กับเส้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือหลังจากวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป

ช่วงที่เหมาะสมที่สุดในการสังเกตคือประมาณวันที่ 20-23 กรกฎาคมหลังจากออกห่างจากดวงอาทิตย์พอสมควรแล้ว (และยังเป็นช่วงคืนเดือนมืดที่ดาวหางจะไม่ถูกบดบังโดยแสงรบกวนจากดวงจันทร์) โดยจะสว่างที่สุดประมาณวันที่ 23 กรกฎาคมก่อนที่จะเลือนรางลงเรื่อย ๆ และหายไปในที่สุด

ดาวหาง C/2020 F3 NEOWISE ดวงนี้ได้ถูกค้นพบโดยยานอวกาศ NEOWISE อดีตกล้องโทรทัศน์อวกาศ WISE (The Wide-field Infrared Survey Explorer) ที่ถูกส่งขึ้นไปในเดือนธันวาคมปี 2009 เข้าสู่ภาวะจำศีลในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2011 ก่อนที่จะถูกปลุกขึ้นในเดือนกันยายนปี 2013 ภายใต้ชื่อใหม่คือ NEOWISE ในภารกิจการช่วยเหลือ NASA สำรวจวัตถุใกล้โลก (Near Earth Objects คือดาวหางและดาวเคราะห์น้อยที่ได้รับอิทธิพลจากแรงดึงดูดของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะให้โคตรเข้ามาใกล้โลก)

ภาพจำลองของกล้องโทรทัศน์ WISE – ที่มา NASA/JPL-Caltech

ตั้งแต่ที่มันถูกปลุกขึ้นมาในปี 2013 จนถึงในปัจจุบัน มันได้เก็บภาพถ่ายนับล้านชิ้นเก็บเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ถูกนำไปวิเคราะห์ต่อ ฐานข้อมูลนี้ ร่วมกับข้อมูลจากภารกิจตั้งแต่ยานอวกาศลำนี้ยังเป็น WISE ยังได้ถูกเปิดเป็นสาธารณะเพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าใช้สำรวจและนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้อีกด้วย

NASA – NEOWISE

ตั้งแต่เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาที่ดาวหางดวงนี้เริ่มเผยตัวเองให้เห็นบนฟากฟ้ามากขึ้น ได้มีช่างภาพจากทั่วโลกออกมาถ่ายรูปดางหางดวงนี้ในสถานที่ต่าง ๆ เป็นภาพทิวทัศน์ที่งดงาม รวมถึงนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติในปัจจุบันทั้งฝั่งของอเมริกาและรัสเซียก็ได้ทวิตภาพถ่ายจากบนอวกาศของมัน โดยคุณ Ivan Vagner จากฝั่งรัสเซียยังได้ทวีตกล่าวว่ามันคือดาวหางที่สว่างที่สุดในรอบ 7 ปี

ทวีตภาพถ่ายของคุณ Ivan Vagner ของดาวหาง C/2020 F3 (NEOWISE) จากสถานีอวกาศนานาชาติ

ตั้งแต่ในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ดาวหางยังคงเป็นความตระการที่ลึกลับอยู่เช่นเคย ต่างจากดาวฤกษ์ที่อยู่คงทนแทบไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นเวลาหลายร้อยพันปีตั้งแต่มนุษย์ได้เริ่มมองท้องฟ้า ดาวหางดวงแล้วดวงเล่าได้ผ่านเข้ามาแวะเวียนใกล้ถิ่นที่อยู่ของเราในระบบสุริยะนี้ของเราแล้วก็หายไป บางดวงอาจโคจรจากไป บางดวงอาจแตกออกเป็นชิ้น บางดวงเราเห็นเป็นแสงจรัสในยามค่ำคืน บางดวงอาจเลือนรางจนไม่เห็นด้วยตา หรือกระทั่งไม่มีทางจะถูกรับรู้ถึงการมีอยู่

ดาวหาง C/2020 F3 (NEOWISE) ที่เห็นจากโครเอเชียในวันที่ 8 กรกฎาคม – ที่มา PRadovan

เราบอกกันว่าดาวหางคือความไม่แน่นอน ในค่ำคืน ๆ หนึ่งมีดาวหางหลายดวงที่วาดผ่านผืนนภาสีฟ้าของเรา แต่ก็ไม่บ่อยครั้งนักที่ดาวหางที่มีความสว่างสูงจะปรากฎมาให้เราได้เห็นกันสักครั้ง เราอาจเจอเมฆบงบัง เจอแสงจากดวงจันทร์ หลายต่อหลายครั้งเราไม่สามารถคาดการณ์การมองเห็นดาวหางล่วงหน้าเป็นเวลานับปี เราไม่สามารถตรวจจับวัตถุเล็ก ๆ ที่ล่องลอยไปในจักรวาลได้มากมายนัก อย่างที่เราเพิ่งรู้ของการมีอยู่ของวัตถุก้อนหนึ่งที่ชื่อ C/2020 F3 NEOWISE

อาจเรียกได้ว่าเป็นความงดงามของธรรมชาติที่รังสรรและกำหนดตัวแปรจำนวนมหาศาลไว้อย่างพอดิบพอดี สร้างสิ่งต่าง ๆ และปรากฎการณ์ต่าง ๅ มากมาย สร้างมนุษย์ที่มีสัมปชัญญะที่พอจะเห็นสิ่งเหล่านี้แล้วเข้าใจความรู้สึกของความงามในแบบของตัวเอง มีชีวิตที่ยาวพอที่จะได้เห็นมัน แต่ก็ไม่ยาวเกินไปที่จะละเลยคุณค่าของมัน จนถูกร้อยเรียงขึ้นถึงจุดนี้ที่เราได้แหงนหน้ามองบนท้องฟ้าแล้วมีความสุขไปกับแสงดวงเล็ก ๆ บนฝุ่นผงที่ล่องลอยอยู่ภายใต้ความกว้างใหญ่ของจักรวาล

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

แมว วาราบิโมจิ ปิศาจสปาเกตตี้บินได้